นักวิทยาศาสตร์ไขปริศนา เหตุใดจึงมีสุสานไดโนเสาร์นับพันตัวที่ “แม่น้ำมรณะ” ของแคนาดา

ที่มาของภาพ : Kevin Church / BBC

การขุดค้นซากกระดูกไดโนเสาร์ที่ลำธาร Pipestone Creek

  • Author, รีเบกกา มอเรลล์ และ อลิสัน ฟรานซิส
  • Characteristic, บรรณาธิการและผู้สื่อข่าวอาวุโส ข่าววิทยาศาสตร์
  • Reporting from อัลเบอร์ตา, แคนาดา

ทีมนักบรรพชีวินวิทยาของแคนาดา ค้นพบสุสานขนาดใหญ่ของไดโนเสาร์หลายพันตัว ซ่อนอยู่ใต้เนินเขาที่อุดมไปด้วยแมกไม้เขียวขจีของรัฐอัลเบอร์ตา ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ โดยเบื้องต้นคาดว่าไดโนเสาร์เคราะห์ร้ายฝูงใหญ่นี้ ต้องเสียชีวิตลงทั้งหมดในพริบตาด้วยภัยธรรมชาติ เมื่อราว 72 ล้านปีก่อน

บริเวณที่มีการค้นพบสุสานไดโนเสาร์ดังกล่าว คือลำธาร “ไปป์สโตนครีก” (Pipestone Creek) ซึ่งตอนนี้ถูกตั้งฉายาว่า “แม่น้ำมรณะ” ตามเหตุโศกนาฏกรรมที่เคยเกิดขึ้นกับฝูงพาคีไรโนซอรัส (Pachyrhinosaurus) ที่ทิ้งซากฟอสซิลกระดูกจำนวนมหาศาลนับหมื่นชิ้นเอาไว้ตรงนั้น

การขุดค้นเริ่มต้นด้วยการใช้ค้อนทุบหิน (sledgehammer) ทุบทำลายชิ้นหินหนาด้านบนอย่างสุดกำลัง เพื่อให้มันแตกออกและเผยให้เห็นซากฟอสซิลที่อยู่ด้านล่าง โดยศาสตราจารย์ เอมิลี แบมฟอร์ธ ผู้นำทีมขุดค้นเรียกซากฟอสซิลอันล้ำค่านี้ว่า “ทองคำยุคบรรพกาล”

เมื่อพบซากฟอสซิลแล้ว ทีมขุดค้นจะเริ่มทำความสะอาดอย่างเบามือ เพื่อเอาเศษดินและฝุ่นละอองที่ติดอยู่ออก จนชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ “กระดูกชิ้นใหญ่ที่โผล่ขึ้นมาตรงนี้ คาดว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสะโพก” ศ.แบมฟอร์ธกล่าว ซึ่งในขณะที่เธอและทีมขุดค้นกำลังทำงานอยู่นั้น “แอสเตอร์” สุนัขเพศเมียของ ศ.แบมฟอร์ธ จะรับหน้าที่เฝ้าระวังภัยจากหมีในป่าให้กับมนุษย์ โดยมันจะเห่าเตือนเสียงดังหากเห็นสัตว์ร้ายเข้ามาใกล้

ที่มาของภาพ : Kevin Church / BBC

กระดูกสะโพกของพาคีไรโนซอรัส เป็นหนึ่งในฟอสซิลหลายพันชิ้นที่ขุดพบบริเวณลำธาร Pipestone Creek

“กองกระดูกตรงนี้ คือกระดูกซี่โครงชิ้นยาวเรียวทั้งหมดที่เราขุดพบ ส่วนอันนี้น่าสนใจมาก คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งกระดูกหัวแม่เท้า ส่วนอันนี้ยังไม่รู้ว่าเป็นชิ้นส่วนไหน” ศ.แบมฟอร์ธกล่าว “นี่คือตัวอย่างฟอสซิลอันน่าทึ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในปริศนาลึกลับแห่งลำธารไปป์สโตนครีก”

Skip ได้รับความนิยมสูงสุด and proceed studyingได้รับความนิยมสูงสุด

Cease of ได้รับความนิยมสูงสุด

ทีมข่าวบีบีซีได้มีโอกาสติดตามไปชมการทำงานของเหล่านักบรรพชีวินวิทยา รวมทั้งได้บันทึกภาพและเรื่องราวของการไขปริศนายุคบรรพกาล เพื่อถ่ายทำเป็นสารคดีตอนใหม่ในซีรีส์ “เดินไปกับไดโนเสาร์” (Walking With Dinosaurs) ซึ่งใช้เทคนิคพิเศษสร้างภาพชีวิตยุคบรรพกาลด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อจำลองเรื่องราวในอดีตของพาคีไรโนซอรัสฝูงใหญ่นี้

ที่มาของภาพ : Kevin Church/BBC News

หมาน้อย “แอสเตอร์” ของ ศ.แบมฟอร์ธ รับหน้าที่เฝ้าระวังภัยจากหมีในป่า ให้กับทีมขุดค้นซากฟอสซิล

พาคีไรโนซอรัสเป็นไดโนเสาร์กินพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปลายยุคครีเทเชียส และเป็นญาติใกล้ชิดกับไดโนเสาร์สามเขา “ไทรเซราทอปส์” (Triceratops) พาคีไรโนซอรัสมีลำตัวยาว 5 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 2 ตัน มันมีศีรษะใหญ่และมีแผงคอที่มีกระดูกอยู่ภายใน นอกจากนี้มันยังมีสามเขาเหมือนไทรเซราทอปส์ แต่มีสันจมูกนูนเป็นโหนกใหญ่ที่เรียกว่า boss อีกด้วย

ฤดูกาลขุดค้นซากฟอสซิลในสถานที่แห่งนี้ เริ่มขึ้นในช่วงอากาศอบอุ่นปลายฤดูใบไม้ผลิ ไปจนถึงฤดูใบไม้ร่วงของแต่ละปี โดยที่ผ่านมานักบรรพชีวินวิทยาพบว่า พื้นที่ที่พวกเขากำลังขุดค้นนั้นมีซากฟอสซิลฝังอยู่หนาแน่นมาก โดย ศ.แบมฟอร์ธคาดว่า อาจมีกระดูกไดโนเสาร์ถึง 300 ชิ้น ในทุกหนึ่งตารางเมตรเลยทีเดียว

ในตอนแรกพวกเขาเริ่มขุดค้นในพื้นที่กว้างเท่าสนามเทนนิส แต่ในเวลาต่อมากลับพบว่า สุสานไดโนเสาร์แห่งนี้กว้างใหญ่กว่าที่คาดไว้อย่างเหลือเชื่อ โดยปัจจุบันพื้นที่ขุดค้นได้ขยายออกไปไกลกว่าเดิมถึง 1 กิโลเมตร จนไปจรดกับบริเวณเชิงเขาที่ไกลจากลำธารแล้ว

“ความหนาแน่นของซากฟอสซิล ทำให้เราต้องตะลึงจนอ้าปากค้างกันเลยทีเดียว เราเชื่อว่านี่คือแหล่งฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคอเมริกาเหนือ” ศ.แบมฟอร์ธ กล่าว “กว่าครึ่งของไดโนเสาร์ชนิดพันธุ์ต่าง ๆ ที่ถูกค้นพบจากทั่วทุกมุมโลก นักวิทยาศาสตร์สามารถจะระบุถึงตัวตนของมันได้ จากการวิเคราะห์กระดูกที่พบเพียงชิ้นเดียว ส่วนในกรณีของเรานั้น ได้พบกระดูกของพาคีไรโนซอรัสจำนวนมหาศาลที่นี่”

ที่มาของภาพ : Kevin Church/BBC News

ทีมนักบรรพชีวินวิทยาบอกว่า ลำธาร Pipestone Creek ยังคงมีความลับอีกมากที่รอการค้นพบ

ทีมนักบรรพชีวินวิทยาภายใต้การนำของ ศ.แบมฟอร์ธ เชื่อว่าพาคีไรโนซอรัสที่เคราะห์ร้ายฝูงนี้ กำลังอพยพกลับขึ้นมาจากทางตอนใต้ของรัฐอัลเบอร์ตา เพื่อคืนสู่ถิ่นฐานทางตอนเหนือ หลังจากการอพยพหนีหนาวสิ้นสุดลงและถิ่นฐานเดิมทางตอนเหนือเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน

แหล่งที่อยู่อาศัยของพาคีไรโนซอรัสในยุคบรรพกาลนั้น คาดว่ามีภูมิอากาศอบอุ่นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยน่าจะมีพืชพรรณที่เป็นอาหารของมันขึ้นอยู่เต็มอย่างอุดมสมบูรณ์ “นี่คือฝูงหนึ่งของไดโนเสาร์ชนิดพันธุ์เดียว ที่ดำรงอยู่ในชั่วขณะสั้น ๆ ของกาลเวลา แต่มันก็เป็นกลุ่มตัวอย่างสำหรับการศึกษาวิจัยที่มีขนาดใหญ่มาก แทบจะไม่เคยมีการค้นพบแบบนี้มาก่อน ในบันทึกสถิติการค้นพบฟอสซิล” ศ.แบมฟอร์ธกล่าว

ที่มาของภาพ : Walking with Dinosaurs/BBC Studios

ภาพจำลองที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นว่า พาคีไรโนซอรัสมีเขาเล็ก ๆ ที่หน้าผากคล้ายยูนิคอร์น

ไดโนเสาร์ตัวใหญ่ให้ร่องรอยหลักฐาน

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของแคนาดาเมื่อหลายสิบล้านปีก่อน ไม่ได้มีเพียงพาคีไรโนซอรัสเป็นไดโนเสาร์ชนิดเดียวที่อาศัยอยู่ในแถบนั้น แต่ยังมีไดโนเสาร์ชนิดพันธุ์อื่นที่ตัวใหญ่ยักษ์กว่า ดำรงชีวิตและเที่ยวหากินในระบบนิเวศเดียวกันด้วย

ห่างออกไปจากลำธารไปป์สโตนครีกโดยใช้เวลาขับรถนาน 2 ชั่วโมง ทีมข่าวบีบีซีได้เดินทางมาถึง “เดดฟอลฮิลส์” (Deadfall Hills) หรือ “ผามรณะ” ซึ่งมีแหล่งฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ที่เข้าถึงได้ยากลำบาก เพราะต้องไต่เขาบุกฝ่าป่ารกทึบและลุยข้ามลำธารที่กระแสน้ำไหลเชี่ยว รวมทั้งปีนป่ายข้ามก้อนหินลื่น แม้กระทั่งหมาน้อย “แอสเตอร์” ของ ศ.แบมฟอร์ธ ยังต้องสวมรองเท้าเพื่อบุกฝ่าพื้นที่ทุรกันดารนี้เช่นกัน

ทว่าการเก็บซากฟอสซิลจากสถานที่แห่งนี้นั้นง่ายดาย ไม่ต้องออกแรงขุดค้นลงไปในชั้นหินหนาเหมือนที่ไปป์สโตนครีก เพราะมีลำธารช่วยกัดเซาะชะล้างชั้นหิน จนชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์หลุดออกมากระจายอยู่เต็มที่ริมฝั่งน้ำ ในตอนที่ทีมข่าวบีบีซีไปเยือน นักบรรพชีวินวิทยาสังเกตเห็นกระดูกสันหลังชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งในทันที นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนซี่โครงและฟันกระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นโคลน

ที่มาของภาพ : Kevin Church/BBC News

กระดูกหัวแม่เท้าชิ้นนี้ ถูกพบที่ Deadfall Hills หรือ “ผามรณะ” แหล่งที่อยู่อาศัยของเอ็ดมอนโตซอรัส

แจ็กสัน สวีเดอร์ หนึ่งในทีมนักบรรพชีวินวิทยาของ ศ.แบมฟอร์ธ ให้ความสนใจกับกะโหลกศีรษะขนาดยักษ์ชิ้นหนึ่งเป็นพิเศษ “ฟอสซิลกระดูกส่วนใหญ่ที่เราพบในบริเวณนี้ เป็นของไดโนเสาร์ปากเป็ดที่เรียกว่าเอ็ดมอนโตซอรัส (Edmontosaurus) หากชิ้นส่วนนี้เป็นกะโหลกศีรษะจริง มันจะมีลำตัวใหญ่ยักษ์ได้ถึง 10 เมตรเลยทีเดียว”

เอ็ดมอนโตซอรัสเป็นไดโนเสาร์กินพืชอีกชนิดหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในป่าแห่งเดียวกับถิ่นฐานของพาคีไรโนซอรัส โดยการศึกษาความเป็นอยู่ของพวกมันในยุคบรรพกาล จะสามารถให้ข้อมูลที่เป็นเบาะแส เกี่ยวกับการดำรงชีวิตในอดีตของพาคีไรโนซอรัสได้ด้วย

เมื่อได้พบและเก็บชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์แล้ว สวีเดอร์จะนำมันไปยังพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟิลิป เจ. คูร์รี (Philip J Currie Dinosaur Museum) ที่เขาทำงานเป็นผู้จัดการคลังสะสมฟอสซิลอยู่ เพื่อทำความสะอาดและศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติม ในตอนนี้เขากำลังทุ่มเทศึกษากะโหลกของพาคีไรโนซอรัส ที่มีความยาวถึง 1.5 เมตร โดยเขาตั้งชื่อเล่นให้มันว่า “บิ๊กแซม” (Immense Sam)

ที่มาของภาพ : Kevin Church/BBC News

แจ็กสัน สวีเดอร์ กำลังตรวจสอบฟอสซิลกะโหลกศีรษะขนาดยักษ์ของ “บิ๊กแซม” พาคีไรโนซอรัสอีกตัวหนึ่ง

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทีมนักบรรพชีวินวิทยาของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เก็บสะสมฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์จากสถานที่ทั้งสองแห่งได้ถึงกว่า 8,000 ชิ้นแล้ว จนมีกระดูกของพาคีไรโนซอรัสทุกขนาดและทุกวัย เรียงรายอยู่ทั่วพื้นของห้องปฏิบัติการเต็มไปหมด ทว่าการที่สามารถค้นพบฟอสซิลของไดโนเสาร์ชนิดพันธุ์หนึ่งเป็นจำนวนมาก ก็ช่วยให้เราได้เรียนรู้มากขึ้นถึงข้อมูลทางชีววิทยาของมัน ทั้งการเจริญเติบโตและลักษณะของสังคมในฝูง

ภัยพิบัติที่มาเยือนอย่างกะทันหัน

ที่มาของภาพ : Walking with Dinosaurs/BBC Studios

พาคีไรโนซอรัสฝูงใหญ่ที่มีสมาชิกหลายพันตัว ต้องเสียชีวิตลงทั้งหมดในพริบตาด้วยภัยธรรมชาติ

ศ.แบมฟอร์ธตอบเรื่องข้อสงสัยที่เป็นปริศนา เกี่ยวกับการเสียชีวิตหมู่ของพาคีไรโนซอรัสฝูงนี้ว่า “เราเชื่อว่าฝูงไดโนเสาร์อพยพได้เจอเข้ากับภัยพิบัติใหญ่หลวงอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นสาเหตุให้พวกมันต้องเสียชีวิตลงทั้งฝูง หรือต้องสูญเสียสมาชิกส่วนใหญ่ของฝูงไปเป็นจำนวนมากในคราวเดียว”

ร่องรอยหลักฐานที่พบ ชี้ว่าน่าจะเกิดน้ำท่วมฉับพลันหรือน้ำป่าไหลหลาก อย่างเช่นน้ำท่วมที่เกิดหลังมีพายุใหญ่บนภูเขา ทำให้เกิดกระแสน้ำไหลบ่าที่ถอนรากถอนโคนต้นไม้ใหญ่ และพัดพาเอาหินก้อนยักษ์ลงมาด้วย ซึ่งเหตุร้ายที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันเช่นนี้ ทำให้ฝูงพาคีไรโนซอรัสแทบจะไม่มีโอกาสรอดชีวิตเลย

“สัตว์พวกนี้เคลื่อนที่ได้ช้าและวิ่งหนีภัยอย่างรวดเร็วแทบจะไม่ได้ เพราะนอกจากจะอยู่รวมกันเป็นฝูงอย่างแน่นขนัดแล้ว ส่วนหัวของมันยังหนักมาก ซ้ำยังว่ายน้ำไม่เก่งอีกด้วย” ศ.แบมฟอร์ธอธิบาย

ที่มาของภาพ : Kevin Church/BBC News

เนื้อหินในลำธารยังคงมีร่องรอยของดินตะกอน ที่ถูกกระแสน้ำป่าพัดพามาอย่างรวดเร็วและรุนแรง

ทีมวิจัยยังพบหลักฐานจากเนื้อหินในลำธารหลายก้อน ซึ่งยังคงมีร่องรอยของดินตะกอน ที่ถูกกระแสน้ำป่าพัดพามาอย่างรวดเร็วและรุนแรง จนปรากฏเป็นลวดลายของกระแสคลื่นปั่นป่วน เหลือทิ้งไว้ในชั้นหินโบราณที่ถูกลำธารยุคปัจจุบันกัดเซาะจนหลุดออกมา

ศ.แบมฟอร์ธกล่าวทิ้งท้ายว่า “ทุกครั้งที่เรามาที่นี่ เรามั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะพบฟอสซิลกระดูกชิ้นใหม่ ๆ อย่างแน่นอน และทุกปีเราจะค้นพบสิ่งใหม่ ๆ เกี่ยวกับไดโนเสาร์ชนิดพันธุ์นี้เสมอ นั่นคือเหตุผลที่เราหวนกลับมาขุดค้นอีกเรื่อย ๆ เพราะเรายังคงค้นพบสิ่งใหม่ในทุกครั้ง”

สารคดี Walking With Dinosaurs จะเริ่มออกอากาศในวันอาทิตย์ที่ 25 พ.ค. นี้ ทางช่อง BBC One และสามารถรับชมทุกตอนทางออนไลน์ได้ทาง BBC iPlayer

ที่มาของภาพ : Walking With Dinosaurs/BBC Studios

ภาพจำลองชั่วขณะก่อนวินาทีมรณะ ฝูงพาคีไรโนซอรัสน่าจะกำลังอพยพผ่านมาในเส้นทางของน้ำป่าพอดี