เกษียร-ประจักษ์ มองนิติสงคราม เมื่อประชาธิปไตย “บ้านใหญ่” ปะทะ “พรรคใหญ่”

ที่มาของภาพ : Thai Files Pix

เกษียร เตชะพีระ ชี้ให้เห็นปัญหาจากการที่ “นักเลือกตั้ง” ใช้เครื่องมือที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาทำลายกันเอง

Article data

  • Writer, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าว.

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากสำนักธรรมศาสตร์สะท้อนปัญหาประชาธิปไตยไทยภายหลังการเลือกตั้ง 2566 ซึ่งปัจจุบันเกิดศึก “3 เส้า” โดยมี “ประชาธิปไตยบ้านใหญ่” กับ “ประชาธิปไตยพรรคใหญ่” เป็น 2 เครือข่ายหลักที่กำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือด และคาดว่าสังคมการเมืองไทยจะอยู่ภายใต้สภาวะ “เละเทะ” และ “อึมครึม” เช่นนี้ไปอีกระยะหนึ่ง

ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ และ รศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ เห็นตรงกันว่า การจัดรัฐบาลผสมข้ามขั้วภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย (พท.) วางอยู่บนเงื่อนไขที่ “เปราะบาง” และ “ไม่ไว้วางใจกัน”

ทว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดการห้ำหั่นกัน หนีไม่พ้น การที่ “ประชาธิปไตยบ้านใหญ่” สามารถยึดวุฒิสภาได้

แต่สิ่งที่ทำให้นักรัฐศาสตร์ “ขำไม่ออก” คือการที่นักเลือกตั้งฉวยใช้ “เครื่องมือต่อต้านอำนาจเสียงข้างมาก” ที่ฝ่ายอำมาตย์วางไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาทำลายล้างกันเอง

.สรุปมุมมองของ 2 นักรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในงานเสวนา “ประชาธิปไตยบนทางแพร่ง” จัดขึ้นวันนี้ (23 พ.ค.) ที่คณะรัฐศาสตร์ มธ.

Skip ได้รับความนิยมสูงสุด and proceed finding outได้รับความนิยมสูงสุด

ได้รับความนิยมสูงสุด

“ประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต”

ในทัศนะของ ศ.ดร.เกษียร การที่การเมืองมีปัญหาเพราะมาจาก “ประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต” (Doubly-Licensed Democracy) โดยอาการที่แสดงออกชัดเจนที่สุดคืออำนาจกับความพร้อมรับผิดอยู่คนละที่กัน ต่อให้ทำผิดก็ไม่ต้องถูกลงโทษเพราะมีอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถวายสัตย์ปฏิญาณโดยไม่เป็นไปตามบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ต้องพร้อมรับผิด หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี มี “นาฬิกายืมเพื่อน” 20 เรือน ไม่ต้องพร้อมรับผิด แต่คนที่พร้อมรับผิดคือหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และคณะกรรมการบริหารพรรค

2 ประเด็นสำคัญที่ ศ.ดร.เกษียร บอกว่าต้องมองในรัฐสมัยคือ มีอำนาจอธิปไตย และมีตัวแทน ต้องตกลงกันว่ามอบอำนาจสูงสุดของประเทศนี้ให้คน ๆ นี้ นั่นแปลว่าจะมีอำนาจที่ 2 ไม่ได้ เหตุเรายอมให้อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่เดียว เพราะมันคือที่มาของความสงบและยุติความขัดแย้ง และเพราะเขาเป็นตัวแทนเรา แต่การมี 2 ใบอนุญาต ทำให้เกิด “อำนาจอธิปไตยพันลึกคู่” (Deep Dual Sovereignty) และการแทนตนก็มีปัญหา เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและไม่มีอำนาจนำ

“ถ้าอยากรู้ทิศทางฝ่ายบริหาร ควรฟังนายกฯ อุ๊งอิ๊ง หรือพ่อ อยากรู้ทิศทาง สว. ควรฟังประธานวุฒิสภา หรือเนวิน (ชิดชอบ เจ้าของฉายา “ครูใหญ่” พรรคสีน้ำเงิน) มันอยู่พันลึก และดูเหมือนคนที่มีอำนาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นคนข้างนอก อันนี้เป็นปัญหา เพราะถ้าเราเลือกเขาให้มีอำนาจ แล้วเขาใช้อำนาจผิด เขาจ่าย หนหน้ากูไม่เลือกมึง แต่ถ้าการแทนตนไม่มีอยู่จริง เราจ่าย แล้วเขาก็มีอำนาจต่อไปในรอบหน้า” เขาระบุ

ที่มาของภาพ : สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร กับ 6 หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลหลัก

การจัดตั้งรัฐบาลภายหลังเลือกตั้ง 2566 ด้วย “ใบอนุญาตที่ 2” ทำให้นักรัฐศาสตร์รายนี้มองไม่เห็นนโยบายทางการเมืองที่สำคัญ ๆ ของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย (พท.) มีเพียงนโยบายที่ทำได้จากการรอมชอม-ทับซ้อน-จำกัด กลายเป็น “ใครไม่เอามาตรา 112 มาร่วมรัฐบาล” แต่ไม่มีการตกลงในเรื่องใหญ่ ๆ เช่น เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะเอาอย่างไร ฮั้วเลือก สว. จะเอาอย่างไร ฉันทามติที่มีอยู่จึงเปราะบางมาก และวางอยู่บนฐานความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน และไม่ไว้ใจประชาชนด้วย

สำหรับคำว่า “ประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต” เป็นแนวคิดที่ รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรค อนค. และเลขาธิการคณะก้าวหน้า นำเสนอไว้ โดย “ใบอนุญาตใบแรก” มาจากประชาชนที่สะท้อนผ่านผลการเลือกตั้ง ส่วน “ใบอนุญาตใบที่ 2” มาจากชนชั้นนำ

“ประชาธิปไตยบ้านใหญ่”

อีกภาพประชาธิปไตยที่ 2 นักรัฐศาสตร์ร่วมสำนักพูดถึงคือ “ประชาธิปไตยบ้านใหญ่”

รศ.ดร.ประจักษ์ ย้อนเส้นทางการก่อตัวของประชาธิปไตยบ้านใหญ่ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ การเลือกตั้งกลายเป็นช่องทางเข้าสู่อำนาจของคณาธิปัตย์ท้องถิ่น ประชาธิปไตยกลายเป็นเวทีที่พวก “เจ้าพ่อ” ยึดได้เป็นหลัก และเมื่อเข้าไปมีอำนาจ-มีตำแหน่งรัฐมนตรีก็ยิ่งเข้าไปหล่อเลี้ยงสิ่งเหล่านี้ไว้ สร้างระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ส่วนตัว ทั้งนี้หากจะไปให้สุดก็จะเป็นแบบประเทศฟิลิปปินส์ที่เป็น “ประชาธิปไตยบ้านใหญ่สมบูรณ์ที่สุด” โดยมี 2 ตระกูลผลัดกันยึดกุมอำนาจรัฐ

แต่สำหรับชนชั้นนำไทย รศ.ดร.ประจักษ์ เห็นว่า มีการใช้เครื่องมือ 3 อย่างในการจัดการทางการเมืองคือ ใช้ความรุนแรงกดปราบประชาชนโดยกำลังทหาร, ใช้การออกแบบสถาบันการเมืองซี่งต้องพึ่งพิงเนติบริกร, และใช้วิธีผนวกฝ่ายตรงข้ามมาเป็นพวก (co-opted) ดึงมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเองเพื่อไม่ให้เป็นภัยคุกคาม และไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นตอนนี้ แต่เคยเกิดมาแล้วในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ตั้งได้ด้วยการ co-opted กลุ่ม “เพื่อนเนวิน” เข้ามา

เขาชี้ว่า ประชาธิปไตยบ้านใหญ่กับรัฐราชการทำงานร่วมกันมาตลอด รัฐราชการไม่เคยกลัวบ้านใหญ่ เพราะบ้านใหญ่ต้องการแค่ขอเข้าไปมีส่วนร่วม-ส่วนแบ่ง ไม่ได้เป็นภัยคุกคามอะไร กระทั่งมาถึงยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เข้าไปเปลี่ยนสมการตรงนี้ ไม่ได้ทำประชาธิปไตยบ้านใหญ่ แต่ทำ “ประชาธิปไตยแบบพรรคใหญ่” ทักษิณเคยให้สัมภาษณ์ว่าอยากเป็นแบบ มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกฯ มาเลเซียและอดีตหัวหน้าพรรคอัมโน หรือ ลี กวนยู อดีตนายกฯ สิงคโปร์และหัวหน้าพรรค PAP ที่ไม่ว่ามีเลือกตั้งกี่ครั้งก็มีพรรคเดียว และการเข้ามาของ ทักษิณ ทำให้มีการแข่งขันกันทำนโยบายของพรรคการเมืองมากขึ้น และต้องแคร์ประชาชน

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งปี 2566 ด้วยคะแนน 14 ล้านเสียง นำ สส. เข้าสภาได้ 151 คน แต่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้เป็นนายกฯ เนื่องจากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. ที่มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ กับ สส. ด้วย

จากนั้นเขาชวนกลับมามองที่ปัจจุบัน การเลือกตั้ง 2566 มีพลังทางสังคมและการเมืองใหม่ที่ต้องการปฏิรูป มีพรรคใหม่โผล่ขึ้นมาและได้คะแนนเสียงไป ทำให้รัฐราชการ-ประชาธิปไตยบ้านใหญ่-ประชาธิปไตยพรรคใหญ่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อขจัดภัยคุกคามใหม่ ทำให้สีเขียว น้ำเงิน แดงมาจับมือกัน

“แต่ตอนนี้มันเละเทะหมดเลย เพราะการมาจับมือกันของ 3 พลัง จับมือกันโดยไม่มีความไว้วางใจ ไม่มี Political Project (โครงการการเมืองขนาดใหญ่) ร่วมกัน และวางอยู่บนฐานที่เปราะบางมาก ๆ พอไม่ไว้ใจกัน ถึงจุดหนึ่งก็สู้กันแหลก”

ในสายตาของ รศ.ดร.ประจักษ์ สถานการณ์เปลี่ยนไปเมื่อประชาธิปไตยบ้านใหญ่สามารถยึด สว. ได้ จึงเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระได้ จากเดิมที่รัฐราชการเป็นผู้คุมกองทัพและองค์กรอิสระ เปรียบเสมือน “กล่องดวงใจ” ของรัฐราชการ ขณะที่ประชาธิปไตยพรรคใหญ่ก็ไม่สามารถครองอำนาจได้แบบเก่า ไม่ชนะเบ็ดเสร็จ ต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม ตอนนี้อำนาจมันแตกกระจายไปหมด ประกอบกับอำนาจนำก็เสื่อมคลายด้วย จึงนำมาสู่ภาวะที่ทั้งเละเทะสับสนในปัจจุบัน และสังคมการเมืองไทยก็จะอยู่กับสภาวะการต่อสู้และความอึมครึมนี้ไปอีกพักใหญ่

หากในช่วงปี 2549-2557 เป็นการต่อสู้ระหว่างเครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์กับเครือข่ายทักษิณ ตอนนี้ใครคือคู่ต่อสู้หลัก และใครคือศูนย์กลางของแต่ละฟากฝั่ง?

คำตอบของอาจารย์ประจักษ์คือ ขณะนี้ 2 เครือข่ายจับมือกันชั่วคราว แต่จับมือบนฐานความไม่ไว้วางใจ โดยที่ฝ่ายประชาธิปไตยบ้านใหญ่ไม่ต้องการเป็นเพียงตัวประกอบของการต่อสู้ของ 2 เครือข่ายนี้

“สีน้ำเงินต้องการขึ้นมาเป็นตัวแทนเด่นชัดที่สุด ต้องการมีอำนาจต่อรอง จึงกลายเป็นสถานการณ์ 3 เส้า ส่วนจะคลี่คลายไปในทิศทางไหน หนึ่ง เละไปเลย หรือ สอง ไปถึงจุดที่คนรับไม่ได้ อาจนำไปสู่พลังในการเปลี่ยนแปลงก็ได้”

ถึงตอนนี้ เขาสารภาพว่า “ไม่มีคำตอบที่น่าพอใจ” ว่าฉากจบของการต่อสู้จะลงเอยแบบใด เพราะอยู่ในช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

อนุทิน ชาญวีรกูล นำทีม สส. พรรคภูมิใจไทย สวมใส่เสื้อสีเหลืองในระหว่างร่วมประชุมสภา

ด้าน ศ.ดร.เกษียร ชี้ว่า ประชาธิปไตยบ้านใหญ่เกิดขึ้นในโครงสร้างโอกาสทางการเมืองแบบต่อต้านเสียงข้างมาก มีการวาง “ทุ่นsะเบิด” เอาไว้ทั่ว ที่ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. ) แล้วบอกว่าเรามีประชาธิปไตยแล้วเชิญไปเลือกตั้งกัน ที่ตลกที่สุดคือคนที่เป็น สส. และเป็นรัฐบาลกำลังใช้เครื่องไม้เครื่องมืออาวุธยุทโธปกรณ์ต่อต้านอำนาจเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งที่ฝ่ายอำมาตย์จัดวางไว้ในระบบการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2560 เข้าเล่นงานห้ำหั่นกัน แทนที่จะร่วมมือกันทำลายสถาบันต่อต้านเสียงข้างมาก ไม่ แทนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกการเลือก สว. ที่ไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ เข้าไปยึดมันเลย

“พรรคฝ่ายต่าง ๆ ในรัฐบาลใช้เครื่องมือที่ทำลายนักเลือกตั้งมาทำลายกันเอง หยิบมาเล่นมึง ‘ฮั้ว สว.' หยิบมาเล่นมึง ‘ชั้น 14' นี่คือระเบียบการเมืองที่มีทุ่นsะเบิดการเมืองเต็มไปหมด สิ่งที่ทำคือคว้าอาวุธที่เขาทิ้งเอาไว้แล้วฆ่-ากันเอง ฉิบหายครับ คุณทำอะไร” นักรัฐศาสตร์รุ่นใหญ่ตั้งคำถามเสียงดัง

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

ทักษิณ ชินวัตร ถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร. 10 และพระราชินี เมื่อ 22 ส.ค. 2566 หลังเดินทางกลับประเทศในรอบ 15 ปี

ภายใต้ประชาธิปไตยบ้านใหญ่ และกลไกนิติสงครามที่พรรครัฐบาลทำสงครามการเมืองอย่างดุเดือด ศ.ดร.เกษียร เชื่อว่า จะไม่มีพรรคฝ่ายใดบรรลุโครงการขนาดใหญ่ระดับชาติของตัวเองได้ตลอดรอดฝั่ง, นักเลือกตั้งจะไม่คิดเรื่องระดับชาติ ระดับโลก แต่คิดแค่ทำอย่างไรให้ชนะการเลือกตั้งท้องถิ่น, การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพลเมืองจะเกิดขึ้นต่อไป

อ่านประชาธิปไตยไทยผ่านความคิด เกษียร-ประจักษ์

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

งานเสวนา “ประชาธิปไตยบนทางแพร่ง” จัดขึ้นเพื่อเปิดตัวหนังสือของอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. 2 คน

เล่มแรก “ประชาธิปไตยใส่ชฎา: จากเสรีนิยมประชาธิปไตยถึงทางแพร่งแห่งอำนาจนำ” เขียนโดย ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน)

ผู้เขียนเปรียบเปรยหนังสือเล่มนี้เป็น “แผนที่การคิด 4 ทศวรรษ” ของตัวเอง ซึ่งสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทศวรรษ 2530-2560 ยึดโยงกับเหตุการณ์ที่เป็นจุดพลิกจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ ทั้งพฤษภา 2535, รัฐประหาร 2549, รัฐประหาร 2557 ตลอดจนปรากฏการณ์สำคัญของสังคมการเมืองไทย อาทิ กระแสสูงของ “พระราชอำนาจนำ (Royal Hegemony) หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่ท้ายสุดปะทะขัดแย้งกับ “ระบอบทักษิณ” ก่อนที่พระราชอำนาจนำจะเคลื่อนคลายลงในทศวรรษ 2550 พร้อม ๆ กับปรากฏการณ์การเมืองสีเสื้อเหลือง-แดง

ต่อเนื่องถึงการเปลี่ยนผ่านรัชกาล (2559) ที่ชนชั้นนำไทยต้องเผชิญหน้ากับคลื่นความเปลี่ยนแปลง ทั้งจากสภาวะ “ทางแพร่งแห่งอำนาจนำ” ที่พวกเขายังแก้ไม่ตก ทั้งจากตัวแสดงทางการเมืองหน้าใหม่ที่พวกเขาไม่คุ้นเคย ปฏิกิริยาต่อต้าน ไม่สมยอมของ “ม็อบราษฎร” (2563) ตลอดจนการขยับท่าทีของชนชั้นนำไทยที่ดูจะยิ่งถอยห่างจากประชาธิปไตย

กล่าวโดยสรุปแล้ว การเปลี่ยนย้ายอำนาจขนาดใหญ่แต่ละครั้ง เกิดจากเศรษฐกิจเปลี่ยน กลุ่มสังคมใหม่ก่อตัว เกิดความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่ากับชนชั้นนำใหม่ และทำให้ระบอบการเมืองเปลี่ยนในที่สุด แต่อาจารย์เกษียรชี้ว่า “ประชาธิปไตยไม่เคยถูกแช่แข็ง และไม่อาจถูกแช่แข็ง”

ที่มาของภาพ : Getty Photos

ทหารยืนประจำการบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในคืนวันที่ 22 พ.ค. 2557 หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ยึดอำนาจ และประกาศเคอร์ฟิว

เล่มที่สอง “ประชาธิปไตยไทยที่ถดถอย: สมรภูมิการเมืองไทยสู่ความขัดแย้งใหม่ที่ยังไม่จบ” เขียนโดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ (สำนักพิมพ์มติชน)

ผู้เขียนนำเสนอภาพรวมการเมืองไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2490 ซึ่งเป็นช่วงที่พันธมิตรระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับกองทัพ (Royal-Militia Alliance) เริ่มก่อตัวขึ้น จนถึงพัฒนาการหลังสุดหลังเลือกตั้ง 2566 โดยมุ่งเน้นการอธิบายรัฐประหาร 2 ครั้งเพื่อยึดอำนาจนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง 2 คนคือ ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557 ทำให้ไทยกลายเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่เผชิญกับความล้มเหลวของประชาธิปไตยที่เกิดจากการแทรกแซงของกองทัพ

ภาพรวมการเมืองไทยในสายตาของอาจารย์ประจักษ์คือ “ประชาธิปไตยไม่เป็นปึกแผ่นมั่นคง แต่เผด็จการอำนาจนิยมก็ไม่ยั่งยืน”

ความขัดแย้งทางการเมืองขนานใหญ่ในรอบ 20 ปี เป็นการต่อสู้แข่งขันระหว่าง 2 เครือข่ายคือ “เครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์” (Network Monarchy) มีสถาบันฯ เป็นศูนย์กลาง กับ “เครือข่ายทักษิณ” (Thaksin Network) ที่มีผู้นำประชานิยมเป็นศูนย์กลาง

ภายหลังรัฐประหาร 2557 เกิดการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตยที่ตอบโต้กลับด้วยการประท้วงบนท้องถนนและต่อสู้ในสนามเลือกตั้งปี 2562 และ 2566 ขณะที่ชั้นชนนำทหาร-กษัตริย์นิยมใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ป้องกันไม่ให้ผลการเลือกตั้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและขัดขวางไม่ให้พรรคก้าวไกลขึ้นสู่อำนาจ จนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ไม่คาดคิดมาก่อนระหว่างพรรคที่สนับสนุนทหารกับพรรคเพื่อไทย

ที่มาของภาพ : EPA

การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วม “ราษฎร 2563” ไม่เพียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ แต่ยังมีการทวงถามข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่าง ๆ เช่น “ใครสังหารคนเสื้อแดง”