
ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้องยุบพรรคภูมิใจไทย คดีล้มล้างการปกครองฯ กรณีเลือก สว. ส่วน คดีคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงของ ภูมิธรรม เวชยชัย-ทวี สอดส่อง ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ศาลรอเอกสารจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อประโยชน์แห่งการวินิจฉัยพิจารณา
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ออกเอกสารข่าว ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและน่าสนใจ กรณีนายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องยุบพรรคภูมิใจไทย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเลขาธิการ กกต. กรณีจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย ส่วนกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาจึงให้รอความเห็นและเอกสารหลักฐานจากเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเรียกไปก่อนหน้านี้ โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังต่อไปนี้
1.กรณีคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 (เรื่องพิจารณาที่ 16/2568)
นายณฐพร โตประยูร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 1) และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 2) จัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภาไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และเอื้อประโยชน์ให้พรรคภูมิใจไทย (ผู้ถูกร้องที่ 3) กรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย (ผู้ถูกร้องที่ 4) สมาชิกวุฒิสภา รายชื่อปรากฏตามสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้องที่ 5) นายเนวิน ชิดชอบ (ผู้ถูกร้องที่ 6) นางกรุณา ชิดชอบ (ผู้ถูกร้องที่ 7) นายทองเจือ ชาติกิจเจริญ กับพวก (ผู้ถกร้องที่ 8) นายศุภชัย โพธิ์สุ (ผู้ถูกร้องที่ 9) นางสาววาริน ชิณวงศ์ (ผู้ถูกร้องที่ 10) นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ (ผู้ถูกร้องที่ 11) และนายสุบิน ศักดา (ผู้ถูกร้องที่ 12) ร่วมกันกระทำการโดยทุจริตในกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา
ผู้ถูกร้องที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 เป็นผู้ดำเนินการวางแผนและควบคุมกระบวนการทุจริตการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ทำให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน138 คน และสำรองอีก จำนวน 2 คน อันเป็นการการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผู้ถูกร้องที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 12 เป็นผู้ดำเนินการตามแผนการทุจริตการเลือกสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าว อันเป็นผลให้ผู้ถูกร้องที่ 5 ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา แต่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วยความไม่เป็นกลางทางการเมือง ไม่ชื่อสัตย์สุจริต และไม่เป็นไปตามหมาย
การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงที่ 12 มีความเชื่อมโยงกันและร่วมกันทำเป็นขบวนการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเพื่อใช้อำนาจปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำเพื่อให้ใด้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติใจไว้ในรัฐธรรธรรมนูญญ
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 แต่อัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยขอให้ศาลรัฐธรรรมนูวินิจฉัย ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว และสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย (รายชื่อตามสำนวนการสอบสวนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง) หยุดปฏิบัติหน้าที่นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง จนกว่าจะมีคำจะมีคำวินิจฉัย
ผลการพิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติมและเอกสารประกอบปรากฏว่า การกระทำของผู้ถกร้องที่ 1 ถึงที่ 12 ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการทุจริตการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เป็นการกล่าวอ้างว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาและความผิดทางอาญา การกระทำดังกล่าวอยู่ภายใต้การตรวจสอบและดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภภา กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง และกุฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
2.ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 8/2568)
สมาชิกวุฒิสภาเข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) โดยกล่าวอ้างว่า การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองมีมติให้การกระทำความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) เป็นการแทรกแชงหรือครอบงำหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยใช้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นเครื่องมือแทรกแชงกระบวนการตรวจสอบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา อันเป็นการกลั่นแกล้ง กดดัน ข่มขู่ และครอบงำสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิตินิติบัญญัติขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและฝ่าฝืนหลักนิติธรรรม จึงถือได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสองไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
ผลการพิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาจึงให้รอความเห็นและเอกสารหลักฐานจากเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเรียกไปก่อนหน้านี้
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )