
‘บอร์ด กสทช.’ มีมติเอกฉันท์ เลื่อนรับรองผลประมูลคลื่นฯ เป็น 6 ก.ค.นี้ เหตุเพิ่งได้รับเอกสารผลศึกษาฯ'ผลการประมูลฯ' จาก ‘ที่ปรึกษาต่างประเทศ’ ขณะที่ ‘สภาผู้บริโภค’ บุกยื่นหนังสือ ‘คัดค้าน’ รับรองผลประมูล ชี้ส่อผลเสียผู้บริโภคระยะยาว
…………………………………
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด กสทช. วันนี้ (2 ก.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง ให้เลื่อนการพิจารณารับรองผลการการประมูลคลื่นความถี่ (Spectrum Auction) สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ไปเป็นวันที่ 6 ก.ค.2568
ทั้งนี้ เนื่องจากที่ประชุมฯเห็นว่า เอกสารจากบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศเกี่ยวข้องกับผลการประมูลคลื่นฯในครั้งนี้ เพิ่งส่งมาถึง กสทช. เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2568 ทำให้กรรมการ กสทช. ไม่มีเวลาพิจารณาผลกระทบจากการประมูลคลื่นฯในมิติต่างๆได้ทัน จึงให้เลื่อนรับรองผลการประมูลออกไปก่อน
ด้าน รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า เพิ่งได้รับเอกสารจากบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศฯเกี่ยวกับผลการศึกษาผลการประมูลคลื่นฯ เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (2 ก.ค.) ทำให้อ่านผลการศึกษาไม่ทัน เพราะเอกสารมีจำนวนมาก และเป็นเรื่องซับซ้อน กรรมการ กสทช. จึงเห็นควรให้เลื่อนการลงมติรับรองผลการประมูลฯ ออกไปเป็นวันที่ 6 ก.ค.นี้
ขณะที่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า หลังจากการประมูลคลื่นฯ ในวันที่ 29 มิ.ย.2568 เสร็จสิ้นลง ตนได้ขอให้สำนักงาน กสทช. นำเสนอข้อมูลสำคัญให้บอร์ด กสทช. พิจารณา 2 ประเด็น คือ 1.พฤติการณ์การประมูลของผู้ร่วมประมูลทั้ง 2 ราย ว่า มีการสมยอมราคาหรือฮั้วราคาหรือไม่ และ 2.การพิจารณาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการประมูลฯขององค์กรต่างๆ เช่น สภาองค์กรผู้บริโภค สหภาพแรงงาน บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในการประชุมวันนี้ สำนักงาน กสทช. ยังไม่ได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวให้บอร์ด กสทช. พิจารณา จึงกำชับให้สำนักงาน กสทช. นำเสนอข้อมูลดังกล่าวให้บอร์ด กสทช. ในวันที่ 6 ก.ค.นี้ด้วย เนื่องจากอาจมีประเด็นที่นำไปสู่การฟ้องศาลฯ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. ) ได้
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. จัดงานการประมูลคลื่นความถี่ (Spectrum Auction) สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz โดยการประมูลฯเริ่มเวลา 09.30 และสิ้นสุดลง ณ เวลา 10.forty eight น. มีราคาประมูลรวมทั้งสิ้น 41,273,960,346 บาท ซึ่งเป็นราคายังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผลการประมูลฯ มีดังนี้
1.ผลการประมูลคลื่นความถี่กลุ่มที่ 1 ย่าน 850 MHz ไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูล
2.ผลการประมูลคลื่นความถี่กลุ่มที่ 2 มีรอบในการประมูล 2 รอบ
โดยย่าน 2100 MHz มีผู้ชนะการประมูล 1 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ได้รับการจัดสรรชุดคลื่นความถี่จำนวน 3 ชุด ในช่วงความถี่ 1965-1980 MHz คู่กับ 2155-2170 MHz โดยมีราคาสุดท้าย 14,850,000,010 บาท
ส่วนย่าน 2300 MHz มีผู้ชนะการประมูล 1 ราย ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ได้รับการจัดสรรชุดคลื่นความถี่จำนวน 7 ชุด ในช่วงความถี่ 2300-2370 MHz โดยมีราคาสุดท้าย 21,770,000,168 บาท
3.ผลการประมูลคลื่นความถี่กลุ่มที่ 3 ย่าน 1500 MHz มีรอบในการประมูล 1 รอบ
โดยมีผู้ชนะการประมูล 1 ราย ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ได้รับการจัดสรรชุดคลื่นความถี่จำนวน 4 ชุด ในช่วงความถี่ 1452-1472 MHz โดยมีราคาสุดท้าย 4,653,960,168 บาท
@‘สภาผู้บริโภค’ยื่นหนังสือค้านรับรองผลประมูลคลื่น
วันเดียวกัน (2 ก.ค.) ตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงประธาน กสทช. เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนผลการประมูลคลื่นฯ และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 27 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค และส่งเสริมให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ
น.ส.สุจิตรา สมปาน ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อประธาน กสทช. เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนผลการประมูลคลื่นฯ เนื่องจากเห็นว่าการประมูลคลื่นฯครั้งนี้ มีข้อบกพร่องในหลายจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางราย และอาจส่งผลเสียต่อผู้บริโภคในระยะยาว
“ประเด็นที่สภาผู้บริโภคมีความกังวล คือ การตั้งราคาขั้นต่ำของคลื่นความถี่ที่ต่ำผิดปกติ โดยคลื่น 2100 MHz ซึ่งเคยมีการประเมินมูลค่าไว้ที่ 3,970.32 ล้านบาท ในการรับฟังความคิดเห็นการประมูลคลื่นฯ ครั้งที่ 1 กลับถูกกำหนดราคาขั้นต่ำเพียง 3,391 ล้านบาท ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 30 โดยไม่มีการอธิบายที่มาของตัวเลขอย่างโปร่งใส
อีกทั้งในกรณีของคลื่น 2300 MHz มีการกำหนดราคาขั้นต่ำที่ระบุไว้ในประกาศเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2568 คือ 2,596.15 ล้านบาท กลับไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในรอบที่สอง ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ควรมีในกระบวนการจัดสรรคลื่นสาธารณะ” น.ส.สุจิตรา กล่าว
น.ส.สุจิตรา กล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์การประมูลคลื่นฯครั้งนี้ ยังขัดต่อหลักการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนประชากรในแต่ละตำบลภายใน 5 ปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่เคยมีในการประมูลครั้งก่อน และถือเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ เพราะ ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากตั้งแต่เริ่มต้น ขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิมสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในการปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ง่ายกว่า
ขณะเดียวกัน เงื่อนไขการขยายโครงข่ายก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะต้องดำเนินการแยกตามคลื่นความถี่ที่ได้รับใบอนุญาตฯหรือไม่ โดยหากไม่มีข้อกำหนดให้แยกชัดเจนจะเปิดช่องให้ผู้ชนะประมูลบางรายกักตุนคลื่นความถี่ไว้โดยไม่นำมาใช้จริง แต่อาจมีการใช้เพียงบางคลื่นมานับรวมเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการให้บริการครอบคลุมตามเงื่อนไข ซึ่งถือเป็นการใช้คลื่นอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และขัดต่อหน้าที่ของ กสทช. ตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ การประมูลคลื่นฯในครั้งนี้ ยังขาดมาตรการรองรับผู้บริโภคที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการหมดสัญญาของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ กสทช. ควรให้ความสำคัญควบคู่กับการจัดสรรคลื่น
“ขอเรียกร้องให้ กสทช. ทบทวนผลการประมูลคลื่นฯ และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่อย่างเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ใช่การตอบสนองต่อกลไกตลาดหรือความต้องการของผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงเท่านั้น
คลื่นความถี่คือทรัพยากรของชาติ ไม่ใช่สินค้าที่ใครควรมีสิทธิผูกขาดหรือสะสมไว้โดยไม่ใช้งาน สภาผู้บริโภคเห็นว่าการจัดสรรคลื่นต้องคำนึงถึงประโยชน์ร่วมของคนทั้งประเทศ และภาครัฐต้องไม่ละเลยบทบาทในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภายใต้การเปลี่ยนผ่านในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมครั้งใหญ่ครั้งนี้” น.ส.สุจิตรากล่าว
อ่านประกอบ :
‘กสทช.’ประกาศ AIS คว้าคลื่น 2100 MHz มูลค่า 1.forty eight หมื่นล.-TRUE ชนะ 2 ย่าน 2.65 หมื่นล้าน
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )