แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/1ty1 | ดู : 10 ครั้ง
การเมืองไทยกำลังจะเผชิญจุดเปลี่ยนอีกครั้ง-เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ

การเมืองไทยกำลังจะเผชิญจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังประธานวุฒิสภา มงคล สุระสัจจะ ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ แพทองธารสิ้นสุดลง เนื่องจากขาดคุณสมบัติเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากกรณีมีคลิปเสียงสนทนากับฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา เกี่ยวกับปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา

แม้คำสั่งดังกล่าวจะเป็นเพียงการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่คำสั่งนี้ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการเมืองไทยที่เกิดเหตุเช่นนี้ เพราะในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองผ่านการตัดสินคดีความ จนนำไปสู่จุดเปลี่ยนทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาล พรรคการเมือง รวมถึงระบอบประชาธิปไตย มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

เพื่อทำความเข้าใจภูมิทัศน์ทางการเมืองของไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เราจะชวนย้อนดูบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในฐานะ ‘ผู้กำหนดจุดเปลี่ยนทางการเมืองไทย’ ผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

ปี 2549 – 2550: จุดเริ่มต้น ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ล้มเลือกตั้ง ยุบพรรคไทยรักไทย

การขึ้นสู่อำนาจด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายของ พรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมจารีตหันมาใช้อำนาจตุลาการ คัดง้างกับหลักการเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย

ศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทักษิณกับ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งกล่าวหารัฐบาลว่าเป็น ‘เผด็จการรัฐสภา’ ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตน รวมถึงละเลยหลักนิติรัฐและละเมิดสิทธิมนุษยชน

ต่อมาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 รัฐบาลทักษิณประกาศยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน ทว่า พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์กลับ ‘บอยคอตการเลือกตั้ง’ วันที่ 2 เมษายน 2549 โดยมองว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ผลจากการบอยคอตทำให้การเลือกตั้งมีปัญหาในหลายเขตเลือกตั้ง มีผู้สมัครจากพรรคเดียวหรือมีคนมาออกเสียงไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ และมีการกล่าวหาว่าพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กให้ลงสมัคร

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมี คำวินิจฉัยที่ 9/2549 ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ โดยให้เหตุผลว่าไม่เที่ยงธรรม ไม่ได้ผู้แทนปวงชนอย่างแท้จริง และการจัดคูหาเลือกตั้งไม่เป็นความลับตามรัฐธรรมนูญ

แม้จะมีการกำหนดให้จัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ยังไม่ทันดำเนินการ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็ได้รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณในวันที่ 19 กันยายน 2549 และดึงศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง

หลังรัฐประหาร คมช. ได้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นมา ซึ่งกำหนดให้มี “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ โดยหนึ่งในคำวินิจฉัยสำคัญคือ การยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคกว่า 101 คน จากข้อหาจ้างคนสมัครรับเลือกตั้ง แม้ภายหลังจะมีการเปิดเผยข้อเท็จจริงว่ามีการว่าจ้างพยานเท็จ รวมทั้งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการตัดสินโดยใช้กฎหมายย้อนหลัง

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ตามมาด้วยการรัฐประหารและการยุบพรรคไทยรักไทย ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทยอย่างสิ้นเชิง นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระลอกใหม่ที่แบ่งสังคมออกเป็นสองขั้ว ระหว่าง ‘คนเสื้อเหลือง’ (กลุ่ม พธม.) ผู้ต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทย และ ‘คนเสื้อแดง’ (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.) ผู้ต่อต้านการรัฐประหารและสนับสนุนรัฐบาลทักษิณ

ปี 2551 – 2553: สั่งนายกฯ พ้นตำแหน่ง 2 คนรวด – ปูทางพลิกขั้วรัฐบาล

หลังการรัฐประหารปี 2549 คมช. ได้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และจัดการเลือกตั้งใหม่ พรรคพลังประชาชน ซึ่งถือเป็นพรรคต่อเนื่องจากไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เนื่องจากนโยบาย ‘ประชานิยม’ ในยุครัฐบาลทักษิณยังคงครองใจประชาชน อาทิ การพักหนี้เกษตรกร, กองทุนหมู่บ้าน, OTOP และ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้ สมัคร สุนทรเวช ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสมัครบริหารประเทศได้ไม่ถึง 1 ปี ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยให้สมัครพ้นจากตำแหน่ง โดยวินิจฉัยว่าเป็น ‘ลูกจ้าง’ และขัดต่อคุณสมบัติของรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2550 คำวินิจฉัยในคดีนี้เป็นที่วิจารณ์ว่าเป็นการตีความที่ขยายความกฎหมายออกให้กว้างขวาง โดยมีเป้าประสงค์ทางการเมือง เนื่องจากเห็นว่า เป็น ‘นอมินี’ ทางการเมืองของพรรคไทยรักไทย หรือ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

หลังนายกฯ สมัครพ้นจากตำแหน่ง พรรครัฐบาลเสนอชื่อ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่เขาก็ดำรงตำแหน่งได้เพียง 75 วันท่ามกลางการประท้วงของ พธม.ที่ยึดทำเนียบฯ ยาวนานและปิดสนามบิน ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน ด้วยข้อกล่าวหาว่ากรรมการบริหารพรรคทุจริตการเลือกตั้ง ส่งผลให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งและถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง

เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองครั้งสำคัญ นั่นคือการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในเวลานั้นขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการสนับสนุนจากกลุ่ม ‘เพื่อนเนวิน’ ที่เคยสังกัดพรรคพลังประชาชน (ซึ่งต่อมาก่อตั้งเป็นพรรคภูมิใจไทย) ท่ามกลางข่าวลือว่ากองทัพอยู่เบื้องหลังการสลับขั้วครั้งนี้

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การยุบพรรคหลักและตัดสิทธินักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์เผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรง กลุ่มคนเสื้อแดง (นปช.) เริ่มชุมนุมใหญ่ในปี 2552 เรียกร้องให้ยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่ แต่ข้อเรียกร้องกลับถูกตอบโต้ด้วยการสลายการชุมนุมในปี 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 94 ราย เหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นบาดแผลใหญ่ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองไทย

ปี 2555 – 2557: ‘ตุลาการภิวัตน์’ ล้มกฎหมาย โค่นเลือกตั้ง ปูทางรัฐประหาร

หลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 พรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง และต้องเผชิญกับบทบาทของ ‘ตุลาการภิวัตน์’ จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้ง

บทบาทแรกของศาลรัฐธรรมนูญคือ การขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 2 ครั้ง

  • ครั้งแรก: การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ศาลวินิจฉัยว่าการดำเนินการเช่นนี้ต้องทำประชามติก่อน
  • ครั้งที่สอง: การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขส่วนของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็น ‘การล้มล้างการปกครอง’ เพราะเป็นกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ศาลยังล้มร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท (กฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม) โดยให้เหตุผลว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องการใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่ไม่อยู่ในกรอบงบประมาณ, ไม่ใช่กรณีเร่งด่วน และไม่เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง คำวินิจฉัยนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อตุลาการบางคนแสดงความเห็นส่วนตัวถึงความไม่เร่งด่วน เช่น “ให้ถนนลูกรังหมดจากประเทศไทยก่อน” ซึ่งสะท้อนถึงอคติ

ต่อมา เมื่อสภาผู้แทนราษฎรผ่าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ‘ฉบับเหมาเข่ง’ ทำให้เกิดการชุมนุมใหญ่ของ กลุ่ม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงตัดสินใจยุบสภาและกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่พรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้งอีกครั้ง และกลุ่ม กปปส. ได้ขัดขวางการรับสมัครและปิดคูหาเลือกตั้ง ทำให้บางเขตไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้

ต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกาเฉพาะส่วนของการกำหนดวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและให้เป็นโมฆะ เพราะไม่ได้จัดการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วราชอาณาจักร

การที่ศาลไม่ได้วินิจฉัยให้พระราชกฤษฎีกาทั้งฉบับเป็นโมฆะ ทำให้เกิด ‘สุญญากาศทางการเมือง’ เนื่องจากไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลจะออกพระราชกฤษฎีกาใหม่ได้ และ กกต. ไม่มีอำนาจจัดการเลือกตั้งในเขตที่มีปัญหา สุดท้ายคำวินิจฉัยดังกล่าวประกอบกับการชุมนุมยืดเยื้อของ กปปส.จึงเป็นชนวนนำไปสู่ การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

หลังการรัฐประหาร มีการชุมนุมต่อต้านอย่างกว้างขวาง นำไปสู่ การคุกคามสิทธิเสรีภาพครั้งใหญ่ ประชาชนอย่างน้อย 929 คนถูก คสช. เรียกรายงานตัวและควบคุมตัวในค่ายทหาร มีผู้ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองไม่น้อยกว่า 245 คน และถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ไม่น้อยกว่า 169 คน ซึ่งล้วนมาจากการแสดงออกต่อต้านคณะรัฐประหาร

ปี 2557 – 2562: ศาลรัฐธรรมนูญยุค คสช. คุ้มกันการสืบทอดอำนาจ

หลังการรัฐประหารปี 2557 ศาลรัฐธรรมนูญยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยกระบวนการแต่งตั้งตุลาการในช่วงนั้นถูกมองว่า ถูกแทรกแซงจาก คสช. อย่างชัดเจน ทั้งการใช้อำนาจตาม มาตรา 44 เพื่อต่ออายุตุลาการ และการให้ความเห็นชอบผ่าน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งสมาชิกทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของ คสช.

บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงนี้ถูกวิจารณ์ว่า คุ้มกันอำนาจรัฐบาล คสช. (รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) และอาจกล่าวได้ว่า สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ

  • วินิจฉัย พ.ร.บ.ประชามติ 2559 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ: แม้กฎหมายดังกล่าวจะถูกวิจารณ์ว่าจำกัดสิทธิการแสดงออกของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทำให้การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่เสรีและไม่เป็นธรรมในการรณรงค์ แต่ศาลกลับวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และทำให้คนที่ออกไปรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของคสช. ต้องถูกดำเนินคดี
  • ยกคำร้องห้ามชุมนุม 5 คนขึ้นไป: เมื่อภาคประชาชนร้องให้วินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ขัดต่อเสรีภาพในการชุมนุมหรือไม่ ศาลยกคำร้องด้วยเหตุผลทางเทคนิคว่า ผู้ร้องต้องยื่นผ่านศาลอื่นหรือผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน ไม่สามารถยื่นตรงได้
  • วินิจฉัยกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ไม่ต้องเซ็ตซีโร่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ: ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 185 ที่กำหนดให้ประธานและกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ซึ่งมาจากการเห็นชอบของ สนช.) ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระนั้น ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยนี้ส่งผลให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับการเห็นชอบจาก สนช. ไม่ต้องถูก ‘เซ็ตซีโร่’ (เริ่มต้นนับวาระใหม่) เหมือนองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ คสช. และ สนช. ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ปี 2562-2566: ยุบพรรคตรงข้าม รัฐบาลประยุทธ์ได้ไปต่อ

หลังรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้และมีการเลือกตั้งในปี 2562 ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทสร้างจุดเปลี่ยนทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้

1. การยุบพรรคการเมือง

  • ยุบพรรคไทยรักษาชาติ (2562): พรรคไทยรักษาชาติถูกมองว่าเป็นพรรคคู่ขนานของพรรคเพื่อไทยตามยุทธศาสตร์ ‘แตกแบงค์พัน’ เนื่องจากระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) ถูกออกแบบมาเพื่อจำกัดที่นั่งพรรคใหญ่และเอื้อพรรคกลาง โดยถูกยุบจากการเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

    คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แม้จะมีการถกเถียงว่า กกต. มีอำนาจเพียงพอที่จะถอนชื่อได้เอง แต่ศาลกลับวินิจฉัยยุบพรรค ทำให้พรรคไทยรักษาชาติไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ และพรรคเพื่อไทยไม่สามารถส่งผู้สมัครได้ครบทุกเขต

  • ยุบพรรคอนาคตใหม่ (2563): ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคให้พรรคกู้เงิน 191.2 ล้านบาท โดยถือว่าเป็นการรับบริจาคเงินโดยมิชอบ คำวินิจฉัยนี้ถูกวิจารณ์ว่าการกู้เงินไม่ใช่การบริจาค และการตีความกฎหมายไม่ครบถ้วนตามองค์ประกอบความผิด แต่มีเป้าหมายเพื่อลดจำนวน ส.ส. ฝ่ายค้านและเสริมสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งมีเสียงในสภาแบบปริ่มน้ำ

2. คุ้มกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีบทบาทในการคุ้มกันอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ในหลายกรณี เช่น

  • คดีบ้านพักทหาร (ปี 2563): ศาลวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ผิดกรณีใช้บ้านพักในค่ายทหารหลังเกษียณราชการ โดยให้เหตุผลว่าเป็นไปตามระเบียบของกองทัพและเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคง
  • คดีดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี (ปี 2565): ศาลวินิจฉัยว่าการนับวาระ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ ควรเริ่มนับจากวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ ทำให้เขาสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้อีก

3. ยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หลังการเลือกตั้ง ปี 2562 พรรครัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล (อนาคตใหม่) ต่างเห็นตรงกันว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและจัดทำฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แต่กระบวนการนี้กลับถูกขัดขวางโดยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. พวกเขายื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยอ้างว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ในทางรูปธรรม ปฏิเสธได้ยากว่า บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายตัวจากการจัดการกับนักการเมือง พรรคการเมือง มาเป็นผู้กุมสภาพทางการเมืองทั้งในทางบริหารผ่านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ยืนยันว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เป็นอำนาจของรัฐสภา แต่ต้องมีการทำประชามติก่อนเพื่อสอบถามประชาชนว่าเห็นชอบให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว เพื่อสอบถามความเห็นชอบจากประชาชนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ความไม่ชัดเจนของคำวินิจฉัยเรื่องจำนวนครั้งของการทำประชามติ ทำให้ ส.ว. ใช้เป็นข้ออ้างในการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2564 และยังเป็นปัญหาการตีความของฟากฝ่ายการเมืองต่างๆ มาจนปัจจุบัน

ปี 2566 – 2568:  แช่แข็งเก้าอี้นายกฯ – สั่งนายกฯ พ้นตำแหน่ง – ยุบพรรคก้าวไกล

หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกล ชนะเป็นอันดับหนึ่ง แต่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค กลับเผชิญ ‘นิติสงคราม’ เริ่มจากกรณีถูกร้องเรียนเรื่องหุ้น ไอทีวี นำไปสู่การสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. แม้พยานหลักฐานจะคลุมเครือและมีข้อกังขาถึงการหวังผลทางการเมือง การสกัดครั้งนี้สั่นคลอนเสถียรภาพของพรรค และลดทอนความชอบธรรมในการเป็นนายกฯ ของพิธา จนนำไปสู่การพลิกขั้วรัฐบาล โดยมี สว.แต่งตั้งของ คสช. เป็นผู้กำหนดเกมหลัก

ต่อมา พรรคก้าวไกลเผชิญนิติสงครามอีกครั้ง เมื่อถูกกล่าวหาว่า ล้มล้างการปกครองฯ จากข้อเสนอแก้ไข มาตรา 112 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ทั้งที่การแก้ไขกฎหมายเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ การกระทำนี้สะท้อนอำนาจตุลาการที่ก้าวล้ำเข้ามาแทรกแซงอำนาจรัฐสภา และส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายในอนาคต

ไม่นานหลังจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง ด้วยเหตุผลด้านคุณสมบัติความซื่อสัตย์สุจริต จากการเสนอชื่อบุคคลที่เคยต้องโทษจำคุกเป็นรัฐมนตรี ทั้งที่กรณีดังกล่าวควรไปวินิจฉัยที่คุณสมบัติของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ และล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่งให้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือขาดคุณสมบัติ “ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” และ “ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”

เหตุการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นถึง ภาวะนิติสงคราม หรือการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือจัดการศัตรูทางการเมือง มากกว่าการพิทักษ์ประชาธิปไตย เพราะบทบัญญัติที่ใช้ตัดสินมักเป็น ‘อัตวิสัย’ หรือขึ้นอยู่กับการตีความของผู้มีอำนาจ ขาดความชัดเจน และเป็นกลไกที่เข้ามาแทรกแซงกระบวนการประชาธิปไตย ทั้งในส่วนอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร

ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

ผู้เรียบเรียง

ให้คะแนนความพอใจของคุณ :

0 / 5 คะแนน 0

คุณให้คะแนน:

แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/1ty1 | ดู : 10 ครั้ง
  1. แผ่นดินไหวขนาด-16-ตแม่ปั๋ง-อพร้าว-จ.เชียงใหม่-2025-07-03-19:forty-eight:26-ตามเวลาประเทศไทย-|-  -regionบริเวณศูนย์กล แผ่นดินไหวขนาด 1.6 ต.แม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ 2025-07-03 19:Forty eight:26 ตามเวลาประเทศไทย |    Regionบริเวณศูนย์กล
  2. บอร์ด-กลตแต่งตั้งกิติพงศ์-เพ็ญจันทร์-สมชัยนั่งกรรมการตลท.วาระดำรงตำแหน่ง-3-ปี บอร์ด ก.ล.ต.แต่งตั้งกิติพงศ์-เพ็ญจันทร์-สมชัยนั่งกรรมการตลท.วาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี
  3. รวบสาวนางนกต่อ-คดีปล้นทรัพย์-หนีคดีนานกว่า-14-ปี.-ตำรวจสอบส รวบสาวนางนกต่อ คดีปล้นทรัพย์ หนีคดีนานกว่า 14 ปี . ตำรวจสอบส
  4. ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มมาตรฐานปลาเค็มชุมชน-จ.สงขลา-ข่าว ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มมาตรฐานปลาเค็มชุมชน จ.สงขลา ข่าว
  5. สมช.-ออกหนังสือชี้แจง​-ปมออกสัญชาติ-ยืนยันไม่แย่งสิทธิคนไทย​ สมช. ออกหนังสือชี้แจง​ ปมออกสัญชาติ ยืนยันไม่แย่งสิทธิคนไทย​
  6. งานจราจร-สนบางซื่อ-เช้านี้-3-กค68-จรสน.บางซื่อ-กวดขันจับ-|-2025-07-03-01:28:00 งานจราจร สน.บางซื่อ เช้านี้ 3 ก.ค.68 จร.สน.บางซื่อ กวดขันจับ 2025-07-03 01:28:00
  7. นิกร-คาดแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันสภาชุดนี้ นิกร คาดแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันสภาชุดนี้
  8. 3-กรกฎาคม-วันปลอดถุงพลาสติกสากล-(global-plastic-fetch-f 3 กรกฎาคม วันปลอดถุงพลาสติกสากล (Global Plastic F
  9. กะระยะผิด-คนขับรถบัส-ขับอยู่เลนซ้ายสุด-แต่เกิดไปชนรถบรรทุกส-|-2025-07-02-02:36:00 กะระยะผิด คนขับรถบัส ขับอยู่เลนซ้ายสุด แต่เกิดไปชนรถบรรทุกส 2025-07-02 02:36:00
  • No recent comments available.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *


Share via
Click to Hide Advanced Floating Content
Send this to a friend