
‘ทักษิณ’ เผยเตรียมปั้น ‘ไทยเวิร์ค’ ต่อยอดนโยบาย OTOP เตรียมเรียก ‘ปีเตอร์ ฮาร์แนล’ หารือ 10 ก.ค.นี้ ประกาศแม้ไม่เป็นรัฐบาล ก็จะทำเอง ออกเงินเอง มองซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไม่พัฒนา เพราะคนไทยขี้อิจฉา
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ Crafting the Future: From OTOP to ThaiWORKS and Beyond” ในงาน “SPLASH – Soft Strength Forum 2025” โดยมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นพิธีกร
นายทักษิณกล่าวตอนหนึ่งว่า คิดใหม่ทำใหม่ มาจากวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศในอดีต และไทยตามไม่ทันโลก เพราะเราอยู่กับที่เดิม ๆ ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนไป จึงต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ซึ่งคำว่า “ตาดูดาว เท้าติดดิน” ต้องการให้รู้ว่า เราต้องฝัน และบินไปให้ไกล โดยที่ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง เท้าต้องติดดินไว้ เพราะนั่นคือสิ่งที่เป็นรากฐานของเรา และสิ่งที่เติบโตกันมายังคงอยู่ รวมถึงที่เรากำลังปรับตัว และกำลังไปสู่โลกกว้าง เราต้องมั่นใจว่า แข็งแรงพอ นี่คือหลักที่ต้องการสื่อสารไปยังคนไทยในวันนี้
นายทักษิณย้อนเล่าที่มาของนโยบาย OTOP ว่า มีโอกาสได้เจอคนญี่ปุ่นคนหนึ่ง ได้พูดคุยเรื่อง “อีซองอีปิง” ของญี่ปุ่น หรือแปลว่า หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ของประเทศเขา ซึ่งตนเองเติบโตมาจากร้านชินวัตรไหมไทย ที่อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้เห็นงานฝีมือมาโดยตลอด รู้ว่า สามารถไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ไปได้ไม่ไกล จึงคิดว่า หากเรามีการออกแบบใหม่ ทำตลาดที่ดี สินค้าน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ ถ้าอยากทำอะไรที่ให้ชาวบ้านมีส่วนเกี่ยวข้อง สร้างรายได้ จึงคิดว่า โครงการนี้ของญี่ปุ่นเป็นโครงการที่ดี และพบว่าภูมิปัญญาของไทย มีงานฝีมืออยู่ทุกที่ทุกภาคในประเทศ ซึ่งสามารถนำมาปรับได้ แต่เนื่องจากชาวบ้านไม่สามารถลงทุน หรือหาตลาดได้ หรือออกแบบใหม่ได้ รัฐบาลต้องเข้าไปช่วย ถึงจะได้บริษัทของญี่ปุ่นมาช่วย และได้ข้าราชการของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ มาร่วมด้วย ทำให้โครงการ OTOP ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
อดีตนายกฯกล่าวต่อว่า ในปีแรก ที่เริ่มต้นทำสินค้า OTOP สามารถขายได้กว่า 20,000 ล้านบาท ปีต่อมา ได้กว่า 40,000 ล้านบาท และสามารถส่งออกประเทศญี่ปุ่นได้อีกด้วย ซึ่งมีการนำสินค้าไปขายผ่านโทรทัศน์ของญี่ปุ่น ในการจัดรายการทีวีครั้งหนึ่งขายได้หลาย 100 ล้านบาท จึงคิดต่อไปว่า เราจะปรับอะไรอีกต่อไปเนื่องจากการศึกษา และบริหาร ของเรามีปัญหา ไทยยังมีแนวคิดแบบต่างคนต่างทำ จึงคิดว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยน่าจะยังเป็นจุดแข็ง และหากินได้อีกยาว เพราะโลกยิ่งเปลี่ยนแปลงเท่าไร แต่อยากให้มีสิ่งที่สร้างโดยฝีมือมนุษย์ และรักษาไว้ เพราะปัจจุบันได้พึ่งพาเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ มากมาย จึงคิดว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเป็นจุดแข็งของประเทศไทย นอกเหนือจากการตามไม่ทันเศรษฐกิจด้านเทคโนโลยี
ทั้งนี้ มีโอกาสได้เจอนายปีเตอร์ ฮาร์แนล (นักออกแบบและผู้บริหารแบรนด์ชาวอเมริกัน) ในช่วงที่อยู่ต่างประเทศ และได้มีโอกาสเจอกัน จึงชวนมาทำโครงการไทยเวิร์ค เพื่อต่อยอดโครงการ OTOP คิดว่าจะสามารถช่วยคนไทยลงไปในระดับรากหญ้าได้ ขณะที่คนระดับบนยังสามารถต่อยอด การตลาดทางด้านการตลาดการเสริมสร้างผลิตภัณฑ์ต่อไปได้
เมื่อถามว่า ตอนที่เริ่มทำสินค้า OTOP มีครั้งหนึ่งในคณะรัฐมนตรี ที่นายทักษิณ เคยบอกว่าอยากจะไปตั้งร้าน OTOP ที่ฟิฟท์อเวนิว (ชื่อถนนในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นที่รู้จักในฐานะถนนที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้านการค้าปลีกหรูหรา) นั้น นายทักษิณกล่าวว่า จริง ๆ ก็คิดวันนั้น มองสินค้าไทยในภาพรวม มีสินค้า OTOP เป็นสินค้าฐาน แล้วก็มีสินค้า SMEs เป็นสินค้าประกอบ ดังนั้นต้องสร้างแบรนด์ แต่บริษัทเล็ก ๆ ถ้าจะสร้างแบรนด์ต้องใช้ตังค์ เป็นจำนวนมากที่จะมานำไปสู่สากล จึงให้เกาะปีกแบรนด์ไทยแลนด์ไปก่อนแล้วกัน เลยจะสร้างแบรนด์ไทยแลนด์ขึ้นมา แต่จะเป็นยี่ห้ออะไรก็ว่ากันไป เมื่อแข็งแรงแล้วก็สร้างแบรนด์ของตัวเองได้ ก็เลยคิดว่าจะทำร้านในเมืองใหญ่ ๆ ที่ช้อปปิ้งทั้งหลาย เป็นโชว์รูมของประเทศไทย
@การเมืองไร้สาระ ล้มความคิดสร้างสรรค์
นายทักษิณ กล่าวต่อว่า ช่วงที่คิดคือ ปลายปี 2548 แต่การเมืองเริ่มยุ่งแล้ว บ้านเมืองเราจะเสียเวลาเรื่องการเมืองไปโดยไร้สาระมากว่าเรื่องที่เป็นสาระ เลยทำให้เรื่องสาระถูกละเลยเป็นประจำ พอมาเจอ “ปีเตอร์” จึงอยากสานต่อความคิดให้เป็นสากล
ตรงถนนราชดำเนินที่เป็นที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ (ปัจจุบันสำนักงานพระคลังข้างที่) กำลังจะหมดสัญญาลง ก็คิดว่าจะนำมาใช้เป็นร้าน OTOP สลับกับห้องที่เป็นแบรนด์ จะได้ไม่น่าเบื่อ OTOP จะได้เห็นพัฒนาการและปรับตัวให้ทันสมัยขึ้น เพื่อให้ราคาได้ดีขึ้น วันนั้นคิดแบบนี้แต่พอปีเตอร์ มาช่วยออกแบบก็ใกล้ความที่เราฝันแล้ว สมัยนั้น นางสาสยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เตรียมจะทำแบบนี้พอดี แต่มีปฏิวัติเสียก่อนก็เลยพักไป ตอนนี้กลับมาใหม่ เอาของเก่าที่ดีไซน์ไว้มารีเฟซใหม่ทั้งหมด และเรามาดูว่าเราจะ Circulation อย่างไรต่อ
@ไม่เป็นรัฐบาลก็จะทำต่อ
“ผมเป็นรัฐบาล หรือไม่เป็นรัฐบาล ไม่มีเลิก ที่ทำทั้งหมดออกตังค์เองเพราะต้องการให้เป็นโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ของคนไทย ไม่ใช่เป็นของการเมือง จะได้ทำให้การพัฒนาประเทศหรือการครีเอทีฟต่อเนื่องยาวนาน” นายทักษิณ กล่าว
นายทักษิณกล่าวต่อไปว่า วันที่ 10 ก.ค.นี้ นายปีเตอร์จะมานั่งสรุปทั้งหมด และจะเอาแนวคิดไทยเวิร์คนี้มาแยกว่า อะไรจะลงหมู่บ้านหรือชุมชน จะฝากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ภูมิธรรม เวชยชัย) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (เอกนัฏ พร้อมพันธุ์) ช่วยกัน เรื่อง SME อาจจะขยายตัวได้ดี วันนี้ SME ของเรามีปัญหา เพราะโดนจีนเอาของถูกมาขาย ถ้าเราปรับปรุง SME ก็จะนำเรื่องนี้เข้า และอาจจะเชิญ SME มาคุยกัน ว่าใครจะทำอะไร ก็จะช่วยกัน ซึ่งมูฟเมนต์ของ Thai Works จะลงไป 2 ระดับ แต่ระดับที่จะเข้าสู่ตลาดโลก เราจะใช้ทีมของปีเตอร์ ที่มีความกว้างขวางในวงการตลาดโลก รู้จักแบรนด์ต่าง ๆ ว่าเราจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไร นี่จะเป็นเรื่องต่อไปรอให้นายกรัฐมนตรีกลับได้กลับไปทำงานร่วมกัน
“ผมเป็นคนใจร้อน เพราะตอนนี้ก็ 76 แล้วไม่รู้จะอยู่ได้อีกกี่ปี ต้องรีบ ๆ ทำ” นายทักษิณกล่าว
@ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ไปไหน เพราะคนไทยขี้อิจฉา
นายทักษิณทิ้งท้ายว่า การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ในไทย ก่อนอื่นปัญหาใหญ่ของประเทศนั่นคือความไม่สามัคคี มีความอิจฉาริษยา ถ้าเราอยู่ด้วยความสามัคคี ไม่อิจฉาริษยา เกื้อกูลกันซอฟต์พาวเวอร์จะมีพลังมหาศาล ถ้าคนไทยมีสิ่งเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วจะสามารถสร้างพลังซอฟต์พาวเวอร์ได้หลากหลายสาขาหลากหลายช่องทาง นั่นคือช่องทางทำมาหากินทั้งนั้น แม้โลกจะมีเทคโนโลยีใหม่ ทันสมัยแค่ไหนก็หนีคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ไม่ได้ ทุกอย่างต้องไม่ทิ้งแกนเดิม เรามีของดีอยู่แล้ว เรามีคนไทยซึ่งมีสายเลืoดอยู่ในพวกนี้อยู่แล้ว ต้องเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่สำคัญคือพอสร้างขึ้น พอคนนั้นเริ่มโต คนนี้มาอิจฉากัน ตรงนี้ต้องทิ้งๆไว้บ้าง เข้าวัดหน่อย
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )