เทียบเนื้อหา 5 ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม คดี ม.112 จะได้รับนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมการเมือง ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว หลังตกเป็นจำเลยคดี 112 รวม 14 คดี เบื้องต้นศาลพิพากษาโทษจำคุกรวมกันกว่า 29 ปี จาก 10 คดีความที่ตัดสินแล้ว

Article Recordsdata

    • Creator, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
    • Role, ผู้สื่อข่าว.

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ลงมติรับหรือไม่รับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมคดีการเมือง ซึ่งเสนอโดยพรรคการเมืองและเครือข่ายภาคประชาชนรวม 5 ฉบับ หลังจากประธาน “ขอปิดการประชุม”

สส. ได้ใช้เวลาราว 4 ชม. ในการอภิปรายหลักการของกฎหมายนิรโทษกรรม ก่อนที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา ในฐานะประธานที่ประชุม จะแจ้งว่า มีเจ้าของร่าง 3 จาก 5 ร่างจะขอสรุป เราเอาไว้ไปต่อสัปดาห์หน้านะ วันนี้ขอปิดประชุมในเวลา 17.09 น.

นี่ถือเป็นร่างกฎหมายชุดแรกที่สภาชุดที่ 26 ได้ร่วมกันพิจารณา ภายหลังเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับองค์ประกอบรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เนื่องจากการถอนตัวจากตัวจากการร่วมรัฐบาลของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ซึ่งมี สส. 69 เสียง ทำให้รัฐบาลตกอยู่ในภาวะ “เสียงปริ่มน้ำ” โดยสัดส่วนเสียงในสภาของฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านอยู่ที่ 261 ต่อ 234 เสียง ขณะที่องค์ประชุมต้องเกิน 248 เสียงขึ้นไป

ในการผ่านวาระ 1 ขั้นรับหลักการ ต้องอาศัยเสียงข้างมากของสภา

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นวาระคงค้างในสภามานานนับปี โดยประเด็นที่นักการเมืองยังมีความเห็นแตกต่างกันมาก หนีไม่พ้น การนิรโทษกรรมความผิดให้แก่ผู้ต้องหา/จำเลย ในความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

Skip ได้รับความนิยมสูงสุด ได้รับความนิยมสูงสุด

of ได้รับความนิยมสูงสุด

ร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ปัจจุบันคือพรรคประชาชน (ปชน.) กับร่างของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน” ที่เข้าชื่อกันได้กว่า 3.6 หมื่นรายชื่อ เปิดทางให้นิรโทษกรรมคดีการเมืองทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น

ขณะที่ร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ซึ่ง สส. เพียงหนึ่งเดียวของพรรคได้ย้ายไปสังกัดพรรคกล้าธรรม (กธ.) แล้ว กำหนดเงื่อนไขห้ามแตะต้องคดี 112 และไม่ให้นิรโทษกรรมคดีทุจริต

นอกจากนี้ยังมีร่างของพรรค ภท. ที่ประธานอนุญาตให้นำมาพิจารณาในคราวเดียวกันนี่เป็นฉบับที่ 5 โดยมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับร่างของ 2 พรรครัฐบาลด้วย

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

มติคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เมื่อ 7 ก.ค. ไม่รับร่างฉบับพรรค ปชน. กับฉบับภาคประชาชน และให้รับร่างของพรรครัฐบาล โดยใช้ร่างของพรรค รทสช. เป็นร่างหลัก ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตจากนักกิจกรรมการเมืองและภาคประชาชนว่า แกนนำพรรค รทสช. เคยเป็นอดีตแกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในการชุมนุมคัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม “ฉบับเหมาเข่ง” ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 และมีส่วนในการชุมนุมปิดล้อมคูหาเลือกตั้งปี 2557 ที่กลายเป็นโมฆะในเวลาต่อมา

นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรค รทสช. เจ้าของร่าง ยืนยันกลางสภาว่า จะไม่มีการนิรโทษกรรมกับความผิดในคดีทุจริตตามที่มีบางฝ่ายระบุผ่านสื่อว่าจะให้คนโกงเลือกตั้งได้อานิสงส์จาก พ.ร.บ. นี้ “ยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะคดีทุจริต จะไม่มีการนำมาพิจารณา”

ย้อนไปเมื่อ 9 เดือนก่อน สภาผู้แทนราษฎร “รับทราบ” รายงานผลการศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของ กมธ.วิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) และ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยไม่มีการลงมติในส่วนของตัวรายงาน แต่ “ตีตก” ข้อสังเกตของ กมธ. ที่จัดให้คดีมาตรา 110 (ประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) และมาตรา 112 (หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ) เป็น “คดีที่มีความอ่อนไหว” อาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ จึงไม่ได้ชี้ชัดว่าจะรวมอยู่ในกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่ เพียงแต่บันทึกความเห็นของ กมธ. เอาไว้ ท่ามกลางแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลที่ประกาศ “ไม่เห็นด้วย” และ “จะคัดค้านอย่างถึงที่สุด” หากมีการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดคดี 112

ในเวลานั้น สส.เพื่อไทย และอดีตผู้นำมวลชนคนเสื้อแดง กล่าวยอมรับกับ.ว่า การนิรโทษกรรมคดี 110 และคดี 112 ถูกปิดประตูเสียชีวิตแล้ว

มาวันนี้ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้า ปชน. และผู้นำฝ่ายค้านในสภา คาดหวังจะเห็น “ความจริงใจ” ของพรรค พท. ในการผลักดันวาระนิรโทษกรรมภายหลังการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลของพรรค ภท. ที่ไม่เห็นด้วยกับวาระนี้ พร้อมยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรค ปชน. “ไม่ได้ล็อก” ว่าต้องมีการนิรโทษกรรมคดี 112 แต่เปิดช่องให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาวินิจฉัยชี้ขาด รวมถึงอาจจะสามารถมีการตั้งเงื่อนไขได้ด้วยว่า หากนิรโทษกรรมมาตรา 112 ไปแล้ว และมีการกระทำผิดซ้ำ โทษเดิมที่ได้รับการนิรโทษกรรมจะถือว่าเป็นโมฆะ และให้ไปรวมกับโทษใหม่ด้วย จึงหวังว่าสภาจะรับหลักการทุกร่าง และยังมีเวลาถกเถียงรายละเอียดกันในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ในวาระ 2

เทียบเนื้อหา 5 ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม

ฉบับรวมไทยสร้างชาติ

  • ชื่อ: พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. เนื้อหา 12 มาตรา
  • เจ้าของร่าง: นายวิชัย สุดสวาท สส.ชุมพร
  • ช่วงเวลา: 2548-2565
  • เงื่อนไข: ไม่นิรโทษกรรมให้ 1) ความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ 2) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (หมิ่นประมาทกษัตริย์ ราชนินี รัชทายาท) 3) การกระทำความผิดที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความเสียชีวิต 4) การกระทำความผิดต่อส่วนตัวหรือที่เป็นการกระทำที่ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลที่มิใช่หน่วยงานของรัฐเป็นการเฉพาะรายหรือเฉพาะกลุ่ม
  • ผู้ชี้ขาด: คณะกรรมการสร้างเสริมสังคมสันติสุข 9 คน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ฉบับครูไทยเพื่อประชาชนเดิม/กล้าธรรม

  • ชื่อ: พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. เนื้อหา 9 มาตรา
  • เจ้าของร่าง: นายปรีดา บุญเพลิง สส.บัญชีรายชื่อ
  • ช่วงเวลา: ตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549-30 พ.ย. 2565
  • เงื่อนไข: ไม่นิรโทษกรรมให้ 1) ความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ 2) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 3) การกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง
  • ผู้ชี้ขาด: คณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม จำนวน 7 คน มาจากการแต่งตั้งของ รมว.ยุติธรรม

ฉบับภูมิใจไทย

  • ชื่อ: ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข พ.ศ. ….
  • เจ้าของร่าง: นายอนุทิน ชาญวีรกูล สส.บัญชีรายชื่อ
  • ช่วงเวลา: ตั้งแต่ 2548-2565
  • เงื่อนไข: ไม่นิรโทษกรรมให้ 1) ความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ 2) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (หมิ่นประมาทกษัตริย์ ราชนินี รัชทายาท) 3) การกระทำความผิดที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความเสียชีวิต 4) การกระทำความผิดต่อส่วนตัวหรือที่เป็นการกระทำที่ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลที่มิใช่หน่วยงานของรัฐเป็นการเฉพาะรายหรือเฉพาะกลุ่ม
  • ผู้ชี้ขาด: คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำผิด 5 คน มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน

ฉบับก้าวไกลเดิม/ประชาชน

  • ชื่อ: พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. เนื้อหา 14 มาตรา
  • เจ้าของร่าง: นายชัยธวัช ตุลาธน อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก.
  • ช่วงเวลา: ตั้งแต่ 11 ก.พ. 2549 (วันแรกของการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ถึงวันที่ พ.ร.บ. นี้มีผลบังคับใช้
  • เงื่อนไข: ไม่นิรโทษกรรมให้ 1) เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง การสลายการชุมนุม ไม่ว่าเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ 2) การกระทำผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา และ 3) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 (คดีกบฏล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ, คดีล้มล้างอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ, คดีแบ่งแยกการปกครอง)
  • ผู้ชี้ขาด: คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม จำนวน 9 คน มีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธาน

ฉบับเครือข่ายภาคประชาชน

  • ชื่อ: พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เนื้อหา 13 มาตรา
  • เจ้าของร่าง: น.ส.พูนสุข พูขสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และประชาชน 36,723 คน
  • ช่วงเวลา: ตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549 ถึงวันที่ พ.ร.บ. นี้มีผลบังคับใช้
  • เงื่อนไข: ไม่นิรโทษกรรมให้ 1) เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมหรือกระทำเกินแก่เหตุ 2) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 (ความผิดฐานเป็นกบฏ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงผู้ก่อรัฐประหารนั่นเอง)
  • เงื่อนไขพิเศษ: ให้นิรโทษกรรมทันที 5 ฐานความผิด 1) คดีความผิดตามประกาศ/คำสั่ง คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. 2) คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 38/2557 3) คดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา 4) คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 5) คดีตามฐานความผิดใน พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
  • ผู้ชี้ขาด: คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน จำนวน 19 คน มีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธาน

“กรุณาอย่าตั้งแง่ได้ไหม”

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

การพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเริ่มต้นในช่วงบ่ายของวันนี้ (9 ก.ค.) โดยให้เจ้าของร่างทั้ง 5 คนได้นำเสนอหลักการ ก่อนเปิดให้สมาชิกอภิปราย

“เราถูกตราหน้าว่าน่ากลัว เป็นบุคคลไม่จงรักภักดี ต้องการล้มล้างสถาบันฯ กฎหมายนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าเราต้องการให้ความขัดแย้งทางการเมืองจบลง และฟื้นฟูหลักนิติรัฐ เราไม่เชื่อว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะจบลงด้วยการไปจับกุมคนเห็นต่างทางการเมือง” นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. เริ่มต้นนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับพรรคสีส้ม

นายรังสิมันต์เป็นอดีตนักกิจกรรมการเมืองที่เคยต่อต้านรัฐประหาร 2557 ก่อนมาเป็น สส. และเป็นผู้ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายลำดับที่ 2 ต่อจากนายชัยธวัช อดีตหัวหน้าพรรค ก.ก. ที่กลายเป็นผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว จึงต้องรับหน้าที่แจกแจงหลักการของกฎหมายฉบับนี้

เขากล่าวว่า จำเป็นต้อง “เปิดประตูกว้างสุด กำหนดเงื่อนไขน้อยสุด เพื่อให้ประชาชนได้รับการนิรโทษกรรมมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” นั่นคือเหตุผลที่ร่างของพรรค ปชน. ไม่ระบุข้อกล่าวหา ฐานความผิด หรือคดีใดลงไปในร่าง พ.ร.บ. นี้ เพราะที่ผ่านมา มีการใช้นิติสงครามเล่นงานประชาชน ใช้เครื่องมือทางกฎหมายหลากหลายรูปแบบ โดยหนักสุดคือมาตรา 112 ไปจนถึง พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ควบคุมเครื่องเสียง แม้แต่การไม่พกบัตรประชาชนก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กลั่นแกล้งคนเห็นต่างทางการเมืองได้

“ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ได้มาเลือกว่าเป็นข้อหาอะไร ซึ่งทุกประเทศเกิดขึ้นได้ ไม่ได้มาเลือกว่าอย่านิรโทษกรรม 112 คุณเลือกแบบนั้นไม่ได้ คนจำนวนมากถูกดำเนินการด้วยข้อหา 112 คนเหล่านั้นเขาปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองทั้งสิ้น แต่การตั้งข้อกล่าวหาหลายครั้ง เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ดูข้อเท็จจริงและรายละเอียด ไม่ดูพยานหลักฐาน ไม่ได้ให้ความเป็นธรรม สุดท้ายความขัดแย้งเกิดขึ้นเรื่อย ๆ และลองพิจารณาว่าบ้านเมืองเราใกล้เคียงว่าจะเกิดความสงบสุขหรือไม่ เมื่อใดที่คิดกรอบกฎหมายนี้โดยหวังจะช่วยเหลือพวกพ้องตัวเอง เราไม่มีทางสร้างได้สันติสุข เราได้แค่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นความขัดแย้งใหม่ของสังคมใน พ.ศ. นี้” นายรังสิมันต์กล่าว

เขายอมรับว่า เนื้อหาของร่างกฎหมาย “ไม่เป็นที่ไม่สบายใจ” ของ สส. และหลายฝ่าย แม้จะเขียนกว้าง ๆ แต่หลายฝ่ายพยายามบอกว่าต้องรวมมาตรา 112 แน่นอน ดังนั้นไม่มีทางโหวตให้ หากติดกรอบแบบนี้ สังคมจะคลี่คลายความขัดแย้งได้จริงหรือไม่

ในช่วงท้าย สส. รายนี้ได้ตั้งคำถามจากผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งว่า จะมีสักเสี้ยวหนึ่งหรือไม่ที่สงสารลูกทนายอานนท์ นำภา สงสารหลายครอบครัว จำนวนมากที่เรียนมหาวิทยาลัย อีกนิดหนึ่งจะเรียนจบ ได้ใช้ความรู้เพื่อประเทศ แต่สุดท้ายกลายเป็นผู้ลี้ภัย “เราจะใช้เสี้ยวหนึ่งของหัวใจคิดแบบนี้ได้ไหม มันอีกนิดเดียวที่เราจะทำสำเร็จ ทำให้กฎหมายนี้คลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง กรุณาอย่าตั้งแง่กันได้ไหม ด้วยความเคารพ อยากให้ได้ทบทวน เพราะนี่คือทางออกของสังคมไทย”

“ลูกชายของอานนท์ พูดคำว่าศาลได้ก่อนคำว่าโรงเรียน”

น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ไล่เรียงสถิติคดีการเมืองในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีผู้ได้รับผลกระทบและถูกดำเนินคดีใน 4 กลุ่มใหญ่ รวม 6.4 พันคน แต่ขณะนี้มีอย่างน้อย 51 คนถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังคดี 112 จำนวน 32 คน หรือคิดเป็น 62% “ถ้านิรโทษกรรมทั้งหมดเว้น 112 แปลว่าจะมีคน 62% ไม่ได้รับอานิสงส์”

ทนายความรายนี้ยังสะท้อนปัญหาการบังคับใช้คดี 112 ซึ่งมีทั้งไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว, ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานหลักฐาน สั่งตัดพยาน การพิจารณาโดยไม่เปิดเผย พร้อมยืนยันว่าคดี 112 เป็นคดีอาญาและคดีการเมือง โดยมีหลักฐานคือ ภายหลังการยึดอำนาจปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ประกาศให้คดี 112 ต้องขึ้นศาลทหาร จากนั้นมีคำแถลงของนายกฯ 19 พ.ย. 2563 บอกว่าจะใช้กฎหมายทุกบททุกมาตรากับผู้ชุมนุม ซึ่งเวลานั้นใช้อยู่แล้ว ยกเว้นมาตรา 112

นอกจากนี้คดีมาตรา 112 ยังถือเป็นคดีความมั่นคง เช่นเดียวกับมาตรา 116 และ 113 ดังนั้นที่บอกว่าเป็นโทษความมั่นคง ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้เพราะมีอัตราโทษสูง 3-15 ปี ก็นับว่าสูง แต่ 113 โทษประหารชีวิต นิรโทษกรรมได้ ทำไมจะนิรโทษกรรม 112 ไม่ได้

ทนายพูนสุขยังสอบถาม สส. ด้วยว่า สามารถเพิ่มเกณฑ์อายุผู้ถูกดำเนินคดีได้หรือไม่ เพราะตั้งแต่ปี 2563 มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 คนที่ถูกดำเนินคดี นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีเยาวชนถูกดำเนินคดีมากขนาดนี้ ถ้าเราสามารถนิรโทษกรรมผู้ใหญ่ที่ปิดสนามบินได้ ปิดล้อมทำเนียบฯได้ ทำไมเราจะนิรโทษกรรมให้แก่เยาวชนได้มีโอกาสครั้งที่ 2 ไม่ได้

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

ทนายพูนสุข และผู้ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน ภายหลังปิดประชุมสภา

ในช่วงท้าย น.ส.พูนสุขระบุว่า คนที่อยู่ในเรือนจำ ไม่ใช่แกนนำ แต่เป็นคนธรรมดาที่ท่านไม่รู้จัก และไม่รู้ด้วยว่าเขาพูดอะไร โพสต์อะไร แต่ไม่ใช่ขบวนการล้มล้างกรปกครอง จากนั้นได้ไล่ชื่อถูกดำเนินคดี 6 คน โดยรายสุดท้ายคือนายอานนท์ ซึ่ง “ลูกชายของอานนท์ พูดคำว่าศาลได้ก่อนคำว่าโรงเรียนด้วยซ้ำ นี่คือสิ่งผิดปกติในกระบวนการยุติธรรม” พร้อมระบุการจำคุก ไม่ใช่แค่การจำกัดเสรีภาพ แต่หมายถึง การตัดโอกาสทางการศึกษา อาชีพการงาน สายสัมพันธ์และความเป็นอยู่ของครอบครัว และอนาคตของพวกเขาในระยะยาว จึงคาดหวังว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้จะไม่เป็นเหตุให้ฝ่ายนิติบัญญัติกลายเป็นอีกองค์กรที่เลือกปฏิบัติต่อประชาชน

“การตัดสินใจของ สส. ในวันนี้ อยู่บนทางแยกที่ว่าสภาจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะคลี่คลายความขัดแย้ง หรือจะตอกย้ำขั้วและฝ่ายทางการเมืองให้สังคมเกิดรอยแยกมากกว่าเดิม ร่างกฎหมายฉบับประชาชนฉบับนี้ไม่ใช่การเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่เป็นเพียงการคืนชีวิตปกติให้กับพวกเขา คืนแม่ให้ลูก คืนสามีให้ภรรยา คืนลูกให้พ่อ โอกาสในการคลี่คลายความขัดแย้ง และคืนความปกติ ให้ประชาชนอยู่ในมือท่านผู้แทนราษฎรแล้ว”

“อย่าทำให้บางกรณีไปพัวพัน แล้วทำให้ทุกกรณีต้องตกขบวนไปด้วย”

ขณะที่นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรค ภท. เป็นตัวแทนนำเสนอหลักการร่างกฎหมายฉบับภูมิใจไทย และไม่ลืมย้ำจุดยืนเดิมของพรรคที่ว่า “คนที่ละเมิดหรือทำผิดมาตรา 112 ไม่สามารถนิรโทษกรรมให้ได้” หากนิรโทษกรรมให้กลุ่มนี้อาจทำให้เกิดปัญหาใหม่ มีการออกมาชุมนุมเรียกร้องไม่จบสิ้นหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าเข้าใจความรู้สึกของกลุ่มคนที่ไม่ได้รับอานิสงส์จากกฎหมายนี้ แต่ก็ต้องรอจนกว่าสังคมมีความพร้อมในบางกรณี “อย่าทำให้บางกรณีไปพัวพัน แล้วทำให้ทุกกรณีต้องตกขบวนไปด้วย” เพราะมีตัวอย่างเจ็บปวดมาแล้วเมื่อปี 2556 เริ่มต้นมาดีคือนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมระหว่างปี 2548-2556 ไม่นับรวมแกนนำ แต่เมื่อเข้าสู่ชั้น กมธ. เสียงข้างมากลากพาไปแก้ไขหลักการและเหตุผลต้นทางเสียหมดสิ้น เอื้อมไปถึงผู้มีความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งสังคมรับไม่ได้ นี่เป็นอีกเหตุผลที่พรรค ภท. บอกว่าค่อย ๆ ทำไปในส่วนที่สังคมรับได้ เพื่อให้มีผู้ได้รับอานิสงส์จากร่างฉบับนี้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ดันกันเข้าไป ถึงเวลาไม่ได้สักคนเดียว ไม่เกิดประโยชน์

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

คปท. ชุมนุมคัดค้านการผ่านกฎหมาย “นิรโทษกรรมสุดซอย”

ส่วนภายนอกรัฐสภา มีมวลชน 2 กลุ่มมาแสดงออกทางความเห็น กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” (คปท.) ประกาศคัดค้านสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “นิรโทษกรรมสุดซอย” โดยเห็นว่า ความผิดฐานคอร์รัปชัน และความผิดตามมาตรา 112 ไม่ใช่คดีทางการเมือง จึงนิรโทษกรรมไม่ได้ ขณะที่อีกกลุ่มคือ “เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน” สนับสนุนให้นิรโทษกรรมทุกคดี

ชนักติดหลัง?

เหตุที่คดี 112 กลายเป็น “วาระต้องห้าม” ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นเพราะพรรคแกนนำรัฐบาลและแกนนำฝ่ายค้านคล้ายมี “ชนักติดหลัง” จากคดีความที่กำลังเผชิญอยู่

พรรค พท. มีบิดาของนายกฯ คือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คนที่ 23 ตกเป็นจำเลยคดี 112 จากกรณีให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้เมื่อปี 2558 โดยปัจจุบันศาลอาญาอยู่ระหว่างการสืบพยานคดีนี้

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

ผู้สนับสนุนเดินทางไปรอให้กำลังใจอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่ศาลอาญา รัชดา ในระหว่างสืบพยานคดีดูหมิ่นสถาบันฯ เมื่อ 1 ก.ค. 2568

พรรค ปชน. มี สส. 25 คน นำโดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งอยู่ในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. )

กรณีพรรคสีส้มเป็นผลพวงจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 7 ส.ค. 2566 ให้ยุบพรรค ก.ก. และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากกรณี สส.ก้าวไกล ร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกมาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สส. พรรค ก.ก. ที่ถูกสอบจริยธรรมมี 44 คน ในจำนวนนี้มี 25 คนที่เป็น สส. พรรค ปชน. ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามนายณัฐพงษ์ปฏิเสธว่า กรณีนี้ไม่เกี่ยวกับการพูดถึงมาตรา 112 กลางสภา โดยยืนยันว่าสภาควรจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดที่จะพูดได้ในประเทศนี้ ที่จะหารือประเด็นที่แหลมคมและข้อคิดเห็นที่ยังเห็นต่างกันมากในสังคม

ใครบ้างที่จะได้อานิสงส์

หากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมผ่านสภาและได้รับการประกาศใช้เป็นกฎหมาย บุคคลที่เข้าข่ายได้รับอานิสงส์จากกฎหมายนี้คือ แกนนำและแนวร่วมชุมนุมทางการเมืองกลุ่มสำคัญ ๆ อาทิ

  • 2549-2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)
  • 2550-2553 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
  • 2556-2557 คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)
  • 2557-2561 ขบวนการนักศึกษาและประชาชนฝ่ายต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
  • 2563-2565 กลุ่มคณะราษฎร/ราษฎร

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

กลุ่มไหนบ้างที่ส่อชวดนิรโทษกรรม

อย่างไรก็ตามผู้ถูกกล่าวหา/จำเลย/ผู้ต้องขังคดี 112 มีแนวโน้มสูงที่จะไม่ได้รับประโยชน์จากการออกกฎหมายนิรโทษกรรมระลอกนี้ หากใช้ร่างของพรรค รทสช. เป็นร่างหลัก

ข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรมที่ปรากฏในรายงานของ กมธ.ศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2548-ก.พ. 2567 มีคดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 107-112) ขึ้นสู่ศาลจำนวน 1,493 คดี หรือเฉลี่ยปีละ 82 คดี ทั้งนี้ปีที่มีคดี 112 มากที่สุดคือ ปี 2564 มีจำนวน 128 คดี

ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งให้ความช่วยเหลือและติดตามสถานการณ์การดำเนินคดี 112 ระบุว่า ตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557- ต.ค. 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออก ไม่รวมกรณีที่เป็นการแอบอ้างเพื่อเรียกผลประโยชน์ อย่างน้อย 381 คน ใน 397 คดี ในจำนวนนี้แยกเป็นคดีหลังมีการชุมนุมของขบวนการนักเรียนนักศึกษาและประชาชนในปี 2563 จำนวน 307 คดี

ไทยกับกฎหมายนิรโทษกรรม

ประเทศไทยเคยออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหตุการณ์ทางการเมืองมาแล้วอย่างน้อย 23 ครั้งนับจากเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เกือบครึ่งหนึ่งเป็นการนิรโทษกรรมให้คณะผู้ก่อการปฏิวัติรัฐประหาร โดยอยู่ในรูปแบบการตราเป็นพระราชกำหนด 1 ฉบับ, ตราเป็นพระราชบัญญัติ 9 ฉบับ, เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2 ฉบับ

นอกจากนี้ ยังมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในเหตุการณ์อื่น ๆ อีก 11 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นการนิรโทษกรรมจากเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง 3 ครั้ง ได้แก่ 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 และพฤษภา 2535