เสนองานปลอม – สนองที่พักอาศัย: แผนการลับของนักธุรกิจชาวอินเดีย ที่ช่วยหลายชีวิตชาวยิวจากกลุ่มนาซี

ที่มาของภาพ : Courtesy: Vinay Gupta

กุณฑลัล (ขวา) กับชายนิรนามที่สวนสัตว์เบอร์ลินในปี 1928

Article Knowledge

    • Creator, สุธา จี ติลัก
    • Role,
    • Reporting from เดลี

“แม่จะบอกความลับอย่างหนึ่งให้ฟัง คุณตาของลูกช่วยครอบครัวชาวยิวหนีจากกลุ่มนาซี”

ประโยคเดียวจากมารดา ทำให้ วิเนย์ คุปตะ เริ่มออกเดินทางตามหาอดีตของคุณตาของเขา

สิ่งที่เขาค้นพบคือเรื่องเล่าที่เร้าใจยิ่งกว่าในนิยาย นั่นคือ การกระทำแบบฮีโร่ทว่าแทบไม่มีคนรับรู้ของนักธุรกิจชายชาวอินเดียที่ยอมเสี่ยงสารพัดสิ่งเพื่อช่วยชีวิตเหล่าคนแปลกหน้าในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดของยุโรป

มันไม่ใช่แค่ความเห็นอกเห็นใจ แต่คือการเดินทาง ความเสี่ยง และการแก้ปัญหา

ย้อนกลับไปในอินเดีย กุณฑลัลก่อตั้งธุรกิจหลายแห่งเพื่อจ้างงานชาวยิว สร้างบ้านเพื่อเป็นที่พักพิงให้พวกเขา ในขณะที่อังกฤษประกาศว่าพวกเขาคือ “ศัตรูต่างด้าว” (enemy aliens) และคุมขังพวกเขาเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น

Skip ได้รับความนิยมสูงสุด ได้รับความนิยมสูงสุด

Stop of ได้รับความนิยมสูงสุด

ชีวิตของกุณฑลัลราวกับมหากาพย์ เด็กชายยากจนจากเมืองลุเธียนา (Ludhiana) ที่แต่งงานตั้งแต่อายุ 13 ปี ขายทุกอย่างตั้งแต่ท่อนไม้และเกลือ ไปจนถึงอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการและล้อรถเข็นวัว เขายังบริหารธุรกิจเสื้อผ้าและโรงงานไม้ขีดไฟ เขาเป็นชนชั้นสูงของสังคมในเมืองลาฮอร์ เข้าร่วมบริการพลเรือนอาณานิคมเมื่ออายุ 22 ปี ก่อนลาออกเพื่อร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพ และใช้ชีวิตกับการสร้างโรงงานต่าง ๆ

เขาเคยจับมือกับ ชวาหะร์ราล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) ผู้นำขบวนการเรียกร้องเอกราชและนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย และเคยพบปะกับ เดวิกา รานี (Devika Rani) นักแสดงหญิงบนเรือขณะเดินทางไปยุโรป

ในหนังสือ “A Rescue In Vienna” ที่อาจแปลเป็นไทยได้ว่า “ความช่วยเหลือในเวียนนา” ซึ่งเป็นบันทึกความทรงจำของครอบครัว คุปตะเปิดเผยการช่วยเหลือที่ไม่ธรรมดาของคุณตาของเขาในดินแดนต่างประเทศ ซึ่งถูกปะติดปะต่อเข้าด้วยกันผ่านจดหมายหลายฉบับของครอบครัว บทสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิต และบันทึกทางประวัติศาสตร์

ในเงามืดระหว่างที่ฮิตเลอร์ผนวกออสเตรียในปี 1938 กุณฑลัล ผู้ผลิตเครื่องกลจากเมืองลุเธียนาในแคว้นปัญจาบ แอบเสนองานหลากหลายอาชีพในอินเดียให้แก่ชาวยิวเพื่อให้พวกเขาได้วีซ่าในการรักษาชีวิตเอาไว้ เขาเสนองาน ปัจจัยในการดำรงชีพ และสร้างบ้านให้กับครอบครัวชาวยิวในอินเดีย

กุณฑลัลช่วยชีวิตไว้ห้าครอบครัว

ฟริตซ์ ไวส์ ทนายความชาวยิววัย 30 ปี ซ่อนตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยแสร้งทำเป็นป่วย ในขณะที่กุณฑลัลเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นพอดี

หลังจากกลุ่มนาซีบังคับให้ไวส์ทำความสะอาดถนนนอกบ้านของเขาเอง กุณฑลัลต่อชีวิตให้ชายคนนี้โดยเสนองานสมมติในบริษัท “เครือกุณฑัน” ซึ่งทำให้เขาได้รับวีซ่าเข้าอินเดีย

อัลเฟรด วัคสเลอร์ ช่างไม้ระดับฝีมือ ได้พบกับกุณฑลัลขณะกำลังพาภรรยาไปตรวจครรภ์

ด้วยคำสัญญาเกี่ยวกับอนาคตในวงการเฟอร์นิเจอร์และการสนับสนุนทุนสำหรับย้ายถิ่นฐาน ทำให้ครอบครัวนี้เป็นหนึ่งในครอบครัวชาวยิวที่เข้าสู่อินเดียในระหว่างช่วงเดือน ม.ค. 1938-เดือน ก.พ. 1939

ฮันส์ ลอสช์ ช่างเทคนิคสิ่งทอ ตอบรับโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ออสเตรียที่กุณฑลัลประกาศหาแรงงานฝีมือเอาไว้ เขาได้รับการเสนอตำแหน่งระดับผู้จัดการใน “โรงงานผ้ากุณฑัน” ซึ่งไม่มีอยู่จริง พร้อมที่พัก ส่วนแบ่งกำไร และการเดินทางที่ปลอดภัย เขาจึงคว้าโอกาสในการเริ่มต้นใหม่เอาไว้

อัลเฟรด สชาฟราเนค ผู้เคยเป็นเจ้าของโรงงานไม้อัดที่มีพนักงาน 50 คน นำเสนอทักษะของเขาเพื่อโน้มน้าวใจกุณฑลัล และได้รับข้อเสนอให้มีบทบาทในการสร้างศูนย์ไม้อัดที่ทันสมัยที่สุดในอินเดีย ก่อนยกครอบครัวทั้งหมดรวมถึงน้องชายที่เป็นช่างเครื่องไปอยู่ที่อินเดียเพื่อเริ่มต้นใหม่

ที่มาของภาพ : Courtesy: Vinay Gupta

กุณฑลัล (นั่งอยู่ซ้ายสุด) กับอัลเฟรด วัคสเลอร์ (ยืนซ้ายสุด) ซิกฟรายด์ สชาฟราเนค (ยืนคนที่สามจากซ้าย) และอัลเฟรด สชาฟราเนค (ยืนคนที่สี่จากซ้าย)

ทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นที่เตียงผู้ป่วยในกรุงเวียนนา

กุณฑลัลในวัย forty five ปี ที่ขณะนั้นต้องต่อสู้กับโรคเบาหวานและริดสีดวงทวาร กำลังแสวงหาการรักษาใหม่ ๆ และอ่านเจอว่ามีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอยู่ในกรุงเวียนนา ขณะที่กำลังฟื้นตัวจากแผลผ่าตัดที่นั่นในปี 1938 เขาได้พบกับ ลูซีและ อัลเฟรด วัคสเลอร์ คู่รักหนุ่มสาวที่กำลังจะมีลูกคนแรก ทั้งสองคนทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงการกระทำรุนแรงต่อต้านชาวยิวและการทำลายชีวิตชาวยิวที่กำลังเพิ่มมากขึ้น

ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เขาก็พบกับชายอีกคนหนึ่ง ความสำเร็จในการช่วยชีวิตครั้งนี้ทำให้กุณฑลัลลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เพื่อหาแรงงานที่ต้องการจะโยกย้ายถิ่นฐานไปทำงานในอินเดีย กลุ่มคนที่ตอบรับโฆษณานี้ประกอบด้วย วัคสเลอร์ ลอสช์ สชาฟราเนค และ เร็ตเทอร์ ซึ่งแต่ละคนได้รับข้อเสนองาน การรับประกันทางการเงิน และการสนับสนุนในการจัดหาวีซ่าเข้าอินเดีย

“แง่มุมที่โดดเด่นของแผนการอันสลับซับซ้อนทั้งหมดของกุณฑลัลเกี่ยวกับครอบครัวเหล่านี้ คือเขาเก็บเงียบเรื่องนี้ได้ขนาดไหน โดยทำให้มันดูเหมือนกับว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีไปยังอินเดียจนถึงที่สุด” คุปตะระบุ

“เขาไม่ได้เล่าความตั้งใจหรือแผนการใด ๆ ให้กับชาวอินเดียหรือเจ้าหน้าที่อังกฤษคนไหนรู้เลย กว่าครอบครัวของเขาจะรับรู้แผนการนี้ก็ตอนที่เขากลับถึงบ้านเกิดในอีกหลายเดือนหลังจากนั้น”

ในเดือน ต.ค. 1938 ลอสช์ กลายเป็นคนแรกที่กุณฑลัลจ้างงานที่เดินทางมาถึงเมืองลุเธียนา

ด้วยไม่มีชุมชนชาวยิว ไร้ชีวิตชีวาทางวัฒนธรรม และโรงงานผ้าที่เผชิญความยากลำบากในตอนนั้น ลอสช์จากไปหลังทำงานมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์เพื่อเดินทางต่อไปยังบอมเบย์ (ปัจจุบันคือเมืองมุมไบ) โดยอ้างถึงสภาพการทำงานที่ย่ำแย่และโอกาสการทำกำไรที่มีเพียงเล็กน้อย จากนั้นเขาก็ไม่เคยกลับมาอีกเลย

ขณะที่ไวส์อยู่ได้สั้นกว่าเสียอีก เพียงไม่เกินสองเดือนเท่านั้น เมื่อ “หน่วยงานเครือกุณฑัน” บริษัทที่สร้างขึ้นเพื่อเขาไม่มีอยู่จริง ไม่นานเขาก็ย้ายไปเมืองบอมเบย์ ได้งานเป็นช่างปูพื้น และในปี 1947 ก็ย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอังกฤษ

แม้ว่าพวกเขาจะจากไป แต่กุณฑลัลก็ไม่มีความโกรธเคือง คุปตะระบุ

“ป้าของผมบอกด้วยซ้ำว่าในทางกลับกันแล้ว กุณฑลัลรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่เขาไม่สามารถจัดหาวิถีชีวิตหรือสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เหมาะสมกว่าในกรุงเวียนนาได้ และรู้สึกว่าหากเขาทำเช่นนั้นได้ ชายสองคนนี้ก็อาจจะยังคงอยู่ในเมืองลุเธียนา”

ที่มาของภาพ : Courtesy: Vinay Gupta

ลูซี และ อเล็กซ์ วัคสเลอร์ ขณะอยู่ที่ค่ายกักกันในเมืองปุรันดาร์ ทางตะวันตกของอินเดีย

ใช่ว่าทุกเรื่องราวจะจบแบบนี้

อัลเฟรด และ ลูซี วัคสเลอร์ กับลูกชายวัยทารกของพวกเขา เดินทางข้ามทะเล ทางรถไฟ และถนน จนท้ายที่สุดก็มาถึงเมืองลุเธียนา

พวกเขาย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังกว้างที่กุณฑลัลสร้างไว้ติด ๆ กัน โดยเตรียมให้กับครอบครัวสชาฟราเนคด้วย อัลเฟรดได้จัดการอบรมการทำเฟอร์นิเจอร์ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เขาใช้ไม้สักพม่าและแรงงานชาวซิกข์ในท้องที่สร้างชุดรับประทานอาหารที่หรูหราขึ้นมา ซึ่งหนึ่งในนั้นยังอยู่ในความครอบครองของครอบครัวคุปตะ

ในเดือน มี.ค. 1939 อัลเฟรด สชาฟราเนค รวมถึงซิกฟรายด์ น้องชายของเขา และครอบครัว ก็เดินทางจากออสเตรียมาถึง พวกเขาก่อตั้งหนึ่งในโรงงานไม้อัดที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย บริเวณด้านหลังของบ้านทั้งสองหลัง

ด้วยความมุ่งมั่นและเข้มงวด อัลเฟรดผลักดันคนงานที่ขณะนั้นยังไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างหนัก ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างอะไรบางอย่างที่คงทนในระยะยาว

คุปตะเขียนเล่าว่า การทำงานในขณะนั้นหนักหน่วง เป็นความร้อนแรงที่ชาวปัญจาบไม่คุ้นเคย และทำให้สัมผัสได้ถึงความโดดเดี่ยว โดยเฉพาะกับบรรดาผู้หญิงที่ถูกจำกัดให้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านซะส่วนใหญ่

ช่วงเวลาหลายเดือนในเมืองลุเธียนาผ่านไป ความโล่งใจที่เกิดขึ้นในตอนแรกก็แปรเปลี่ยนเป็นความเบื่อหน่าย

กลุ่มผู้ชายทำงานหลายชั่วโมง ขณะที่ผู้หญิงซึ่งถูกจำกัดด้วยภาษาและการแยกตัว ยังคงทำกิจวัตรภายในบ้าน

ในเดือน ก.ย. 1939 ฮิตเลอร์บุกโปแลนด์ จากนั้นหลายวันอังกฤษก็ประกาศสงครามกับเยอรมนี รัฐสภาอังกฤษดึงอินเดียเข้าไปอยู่ในความขัดแย้งนี้ด้วย มีชาวอินเดียกว่า 2.5 ล้านคนเข้าร่วมรบในสงคราม ซึ่ง 87,000 คนในนั้นไม่เคยกลับมา

ในเมืองลุเธียนา ความเป็นจริงของสงครามส่งผลกระทบอย่างรวดเร็ว

ที่มาของภาพ : Courtesy: Vinay Gupta

เปรมลาตา ลูกสาวของกุณฑลัล กับอเล็กซ์ วัคสเลอร์ ในเมืองลุเธียนา

ในปี 1940 มีนโนบายใหม่ที่สั่งให้ชาวสัญชาติเยอรมันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวยิวหรือไม่ ต้องเข้าค่ายกักกัน

ครอบครัววัคสเลอร์และสชาฟราเนคถูกบังคับให้ต้องย้ายไปอยู่ที่ค่ายกักกันปุรันดาร์ (Purandhar Internment Camp) ใกล้กับเมืองพูนา (ปัจจุบันคือเมืองปูเน) อาศัยในค่ายทหารโล่ง ๆ ที่ยังใช้โคมไฟน้ำมันก๊าซและมีความสะดวกสบายเพียงน้อยนิด พวกเขาไม่ได้ก่ออาชญากรรมใด ๆ เพียงแค่ถือพาสปอร์ตผิดประเภทเท่านั้น

ท้ายที่สุดพวกเขาก็มีโอกาสได้รับการปล่อยตัว หากสามารถหางานที่ได้รับค่าจ้างได้

อัลเฟรดและซิกฟรายด์ สชาฟราเนค ได้รับงานบริหารธุรกิจไม้อัดใหม่ในเมืองบังกาลอร์ และย้ายไปอยู่ที่นั่นกับครอบครัวของพวกเขา เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ขณะที่ครอบครัววัคสเลอร์ออกจากค่ายกักกันในปี 1942 หลังจากอัลเฟรดได้งานในเมืองการาจี จากนั้นทั้งสองครอบครัวก็ไม่เคยพบกันอีกเลย

ค่ายปุรันดาร์ปิดตัวลงในปี 1946 เกือบหนึ่งปีหลังจากที่สงครามจบลงไปแล้ว

ในปี 1948 ญาติของอัลเฟรด วัคสเลอร์ สนับสนุนวีซ่าผู้ลี้ภัยในอเมริกาให้กับครอบครัว ในเดือน ต.ค. ปีนั้น พวกเขาบินออกจากเมืองการาจีและไม่เคยกลับมาอินเดียอีก ขณะที่ครอบครัวสชาฟราเนคย้ายถิ่นฐานไปอยู่ประเทศออสเตรเลียในปี 1947 หลักจากประสบความสำเร็จในการร่วมทุนไม้อัดที่เมืองบังกาลอร์

ในขณะค้นคว้าหนังสือเล่มนี้ คุปตะได้พบกับ อเล็กซ์ วัคสเลอร์ ลูกชายของอัลเฟรด (อัลเฟรดเสียชีวิตในปี 1973) ผู้ซึ่งเคยสร้างโต๊ะไม้สักพม่าที่กุณฑลัลเคยใช้ในสำนักงานของเขา

“แม้ว่าจะย้ายมาอยู่สหรัฐฯ ตั้งแต่ตอนที่อายุ 10 ขวบ จนตอนนี้เขาอายุ 80 กว่าปีแล้ว อเล็กซ์ วัคสเลอร์ ยังคงคิดถึงชีวิตของเขาในอินเดีย กินอาหารในร้านอินเดีย มีความสุขในการพบปะชาวอินเดียและได้สร้างความประหลาดใจให้กับพวกเขาด้วยความรู้ภาษาอูรดู” คุปตะเขียนเล่า

ย้อนไปในเมืองลุเธียนา กุณฑลัลเปิดโรงเรียนสำหรับลูกสาวของเขาที่บ้าน ซึ่งต่อมาก็ขยายกลายเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในปัญจาบ ที่ยังคงดำเนินการมาจนถึงทุกวันนี้ด้วยจำนวนนักเรียน 900 คน โดยสรัสวาตี ภรรยาของเขาเริ่มถอยห่างออกมาเรื่อย ๆ และต่อสู้กับภาวะซึมเศร้า

กุณฑลัลและสรัสวาตีมีลูกด้วยดัน 5 คน โดยเป็นลูกสาว 4 คน ในปี 1965 สรัสวาตีเสียชีวิตจากการตกจากระเบียงบ้านของตัวเอง เธอใช้เวลาปีสุดท้ายของชีวิตด้วยความเงียบ และเว้นระยะห่างทางอารมณ์กับครอบครัว กุณฑลัลเองก็สิ้นใจในหนึ่งปีหลังจากนั้นในขณะอายุ 73 ปี ด้วยภาวะหัวใจวาย

“แนวคิดของการเป็นผู้ยืนดูอยู่เฉย ๆ โดยไม่ช่วยอะไรนั้น เป็นคำสาปแช่งสำหรับกุณฑลัล หากเขาเห็นอะไรบางอย่าง หรือบางคนที่ต้องการความสนใจ เขาก็จะสนใจมัน และไม่เคยหวาดกังวลต่อความใหญ่โตของปัญหา” คุปตะระบุ

นี่คือจารึกที่เหมาะสมสำหรับชายที่ไม่ได้ทิ้งมรดกไว้เพียงแค่ธุรกิจเท่านั้น แต่คือความกล้าท้าทายอย่างเงียบ ๆ ความเห็นอกเห็นใจ และความเชื่อมั่นในความถูกต้อง