
เวลาย่ำค่ำ ภาพของคนงานเดินขวักไขว่ตามริมทางภายใต้แสงสลัวของไฟถนน ในตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง หลายคนหิ้วอาหารเย็นที่หาซื้อมาจากชุมชนตลาดลาว หนึ่งในชุมชนที่มีกลุ่มแรงงานจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เลือกมาอยู่อาศัยจำนวนมาก
(ผู้อ่านสามารถคลิกลูกศรซ้าย-ขวา เพื่อเลื่อนดูภาพ)
ช่วงเวลาหลังเลิกงานจะมีรถทั้งเล็กและใหญ่มาส่งแรงงานเหล่านี้ตามจุดต่างๆ พวกเขาจะค่อยๆเดินหายไปในความมืดตามซอกหลืบของชุมชนเพื่อกลับที่พักของตน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นห้องเช่าราคาถูก ที่ก่อสร้างขึ้นมาแบบเรียงชิดติดกันหลายๆ ห้อง
หนึ่งในนั้นคือ ‘เปา’ หรือ ‘ป่าน นัย’ แรงงานข้ามชาติชาวกะเหรี่ยง ผู้อพยพหนีภัยสงครามจากประเทศเมียนมา ที่เดินทางมาจากศูนย์พักพิงบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เขาเล่าให้ฟังถึงชีวิตตัวเองที่เคยพักอาศัยอยู่แทบทุกมุมในมาบตาพุดกว่า 10 ปี ว่าปัจจุบันเขาก็ยังพึงพอใจในคุณภาพความเป็นอยู่ของตัวเอง เพราะทำงานที่นี่มีรายได้แน่นอน มีลูกพี่ที่ดี และยังทำประกันสังคมให้เหมือนคนไทย เปาทำงานยกกระสอบเม็ดพลาสติกขึ้นรถบรรทุก “ถ้าทำโอทีก็ได้เงินเพิ่ม บางวันได้เงินสองกะ รวมเกือบสองพันบาทเลย วันรุ่งขึ้นเราค่อยหยุดพักผ่อนก็ได้”
ทุกวันนี้ เปา พาพ่อวัยชราจากศูนย์แม่หละมาอยู่ด้วยกัน เพราะต้องมีคนดูแล รวมถึงช่วยให้พี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่อยากมีงานทำ เข้ามาทำงานที่มาบตาพุด ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงกลุ่มของเปา มีกันอยู่ราว 20 คน
แม้สภาพความเป็นอยู่ที่พักของกลุ่มจะคับแคบ แต่ละห้องมีพื้นที่ขนาดเพียงแค่ 9 ตารางเมตรเท่านั้น บางห้องอยู่กันมากถึงสี่คน แต่นอกที่พักมีลานดินพอให้ทุกคนได้เล่นตะกร้อหรือนั่งพักผ่อนดูโทรศัพท์ตามลำพังได้บ้าง
‘อามา’ ชายหนุ่มกะเหรี่ยง ผู้ชื่นชอบการไลฟ์สดเฟสบุ๊คและชอบกินลาบเลืoดหมู เป็นหนึ่งในกลุ่มแรงงานที่เปาดูแลให้มาทำงานที่นี่ อามาเปิดรูปครอบครัวในสมาร์ทโฟนให้ดู และเล่าให้ฟังถึงความเป็นอยู่ของลูกเมียที่ชายแดนจังหวัดตากอย่างมีความสุข เขากำลังเก็บหอมรอมริบเพื่อเดินทางกลับไปหาครอบครัวช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง
ไม่ห่างกันมากนักเป็นร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ของอดีตเจ้าของค่ายมวยชื่อว่า ส.เจริญเดช ที่ตั้งอยู่จังหวัดบุรีรัมย์ ก่อนย้ายรกรากมาตั้งค่ายมวยที่จังหวัดระยอง ลุงสมเดช เจ้าของร้านซ่อมรถและอดีตเจ้าของค่ายมวยเล่าถึงช่วงเวลาในอดีตว่า
นักมวยในค่ายส่วนใหญ่เป็นเด็ก เพราะตนอยากเริ่มสร้างนักมวยตั้งแต่พิ้นฐาน จนเติบโตเป็นนักมวยอาชีพ เป็นความฝันของชายคนหนึ่งที่รักในกีฬามวยไทย แต่เมื่อนักมวยในค่ายเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ก็กลับเลิกสนใจการชกมวยไปทีละคน จนในที่สุดค่ายมวย ส.เจริญเดช ก็ไม่มีนักมวยเหลือแม้แต่คนเดียว
ลุงเดช ยังคงใช้ชีวิตทำงานรับจ้างหากินอยู่ในระยอง เพราะยังคงมองว่าที่นี่ยังหาเงินได้ง่ายกว่า แม้ต้องอยู่แบบไม่ย้ายสำมะโนครัวมาก็ตาม จนกระทั่งได้มาปักหลักทำอาชีพซ่อมรถ และเปิดร้านอยู่ในนิคมมาบตาพุดเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว
ที่ร้านซ่อมรถมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นพนักงาน และแรงงานในนิคมอุตสาหกรรม มีหมดทั้งแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทยที่มาจากภาคอีสาน ต่างพูดคุยกันด้วยภาษาถิ่นอย่างเป็นกันเอง ทำให้มีลูกค้าเข้ามาซ่อมรถที่ร้านอยู่ตลอดเวลา
วันไหนที่มีถ่ายทอดสดมวยไทย ลุงเดช จะยกทีวีออกมาเปิดให้ทุกคนได้นั่งเชียร์มวยกันกลางร้าน ส่วนตัวเองก็นั่งซ่อมรถไปเชียร์มวยไปด้วย จนเกิดเป็นสังคมเล็กๆ ของคนอีสานที่รักมวยไทยในมาบตาพุด ลุงเดชและภรรยาสามารถปรับตัวไปกับการใช้ชีวิตในมาบตาพุด แต่จากเหตุการณ์sะเบิดในโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ครอบครัวลุงเดชกลับไม่ได้รับการเยียวยา “วันนั้นที่เกิดsะเบิด เห็นว่ามีคนเสียชีวิต ลุงกับเมียก็กลัว ตอนนั้นรีบอพยพกัน ทิ้งหมาทิ้งแมวไว้ ต่อมามีรถประกาศบอกว่าจะได้เงินเยียวยา แต่สุดท้ายแล้วเค้าให้แต่คนในทะเบียนบ้านระยอง คนที่มาจากภูมิลำเนาอื่นเค้าไม่จ่ายเยียวยาให้” ลุงเดช ตัดพ้อ
ที่ร้านโทรศัพท์มือ 2 แห่งหนึ่งในชุมชนบ้านบน เจ้าของร้านเล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาที่ตัดสินใจมาทำงานที่มาบตาพุดให้ฟังว่า “ตอนย้ายมาอยู่มาบตาพุดช่วง 2-3 เดือนแรก เริ่มสังเกตว่าตัวเองมีเลืoดกำเดาไหลและเป็นบ่อยขึ้น” จากคนที่แข็งแรงเพราะออกกำลังกายสม่ำเสมอต้องกลายมาเป็นคนที่มีปัญหาสุขภาพจากมลพิษในอากาศของนิคมอุตสาหกรรม
“ตอนนั้นผมไม่มีทางเลือก ผมอยากหาเงิน ผมก็ต้องทน” อนุชัย เป้าทอง หรือ ‘หนึ่ง' เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นที่ต้องมาทำงานที่นี่ สาเหตุเกิดจากโดนโกงจนทำให้ธุรกิจของครอบครัวต้องปิดกิจการ หนึ่งจึงตัดสินใจออกจากการเรียนสายช่างคอมพิวเตอร์ในระดับ ปวส.กลางคัน เพราะรู้สึกว่าต้องทำงานหาเงินช่วยเหลือตัวเองและครอบครัว จึงออกเดินทางมาเสียชีวิตดาบหน้าพร้อมเพื่อนรัก
‘กอล์ฟ' เพื่อนสนิทของหนึ่ง เป็นคนชอบทำงานหาเงินมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อเห็นว่าเพื่อนอยากหางานทำ จึงเสนอให้ลองไปหางานทำในโรงงานปิโตรเคมีที่มาบตาพุดด้วยกันดู เพราะกอล์ฟมีคนรู้จักทำงานโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอยู่แล้ว ทั้งสองจึงเดินทางจากจังหวัดตรัง ไปพร้อมเงินเก็บที่มีอยู่คนละไม่กี่พันบาท ตามประสาคนหนุ่มที่ถึงไหนถึงกัน
พวกเขาเริ่มต้นทำงานและพักอาศัยในห้องเช่าราคาถูกแห่งหนึ่งแถวชุมชนตลาดลาว กว่าหนึ่งเดือนที่ไม่มีเงินเหลือแม้แต่จะซื้อพัดลม เพราะทั้งสองคนโดนโกงค่าแรงในช่วงเริ่มต้นของการเป็นลูกจ้างรายวัน จากผู้รับเหมางานถอดล้างประกอบเครื่องจักรในโรงงานปิโตรเคมีรายหนึ่งในมาบตาพุด
เมื่อเวลาผ่านไป หลายๆ อย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง ทว่าการประกอบอาชีพที่ต้องแลกมาด้วยสุขภาพทำให้หนึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจจนเป็นโรคประจำตัวมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนกอล์ฟยังไม่มีอาการรุนแรงเท่าหนึ่ง
ทั้งสองอดทนฟันฝ่าทำงานอยู่ 5 ปี มีเงินส่งกลับไปช่วยเหลือครอบครัวให้พ้นวิกฤตมาได้และยังมีเงินเก็บเหลือจำนวนหนึ่ง จนสามารถพอลงทุนเช่าอาคารพาณิชย์ในมาบตาพุด เพื่อเปิดร้านขายโทรศัพท์มือสอง ที่ต่อยอดโอกาสมาจากการหารายได้เสริมในการรับเครื่องมือสองจากเพื่อนมาขายให้แรงงานด้วยกัน ทั้งสองคนย้อนถึงเรื่องราวให้ฟัง
หลายคนที่ทำงานในมาบตาพุด จำเป็นต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย และยอมที่จะเสียสุขภาพตลอดไป กว่าที่จะได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตอย่างที่คาดหวังไว้ การหันหลังกลับสู่ภูมิลำเนา เพราะไม่อยากทนรับเอาสารพิษเข้าสู่ร่างกาย อาจเป็นสิ่งที่รู้สึกได้เพียงแค่ในความคิดเท่านั้น
เป็นเวลาเกือบ 30 ปี ที่สังคมได้รับรู้ปัญหามลพิษของมาบตาพุดจากเหตุการณ์นักเรียน และอาจารย์โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นและไอระเหยของสารเคมี จนในที่สุดต้องย้ายโรงเรียนออกจากพื้นที่เดิมเพื่อหนีมลพิษ และเหตุการณ์ในมาบตาพุดยังคงดำเนินต่อไป ทั้งสารเคมีรั่วไหล sะเบิด ไฟไหม้ รวมถึงปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติจากทั่วทุกสารทิศเดินทางเข้ามาทำงานที่นี่เป็นจำนวนมากในแต่ละปี ด้วยเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศจำนวนมหาศาล นับตั้งแต่มีการพัฒนาพื้นที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมภายใต้แผนพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด และกลายเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ในปัจจุบัน
บ้านเช่าราคาถูกสร้างด้วยอิฐบล็อกในมาบตาพุด จึงยังเกิดขึ้นใหม่มากมาย และไม่เคยว่างเปล่านานนัก ส่วนโครงการบ้านจัดสรรขนาดเล็กที่เน้นกลุ่มพนักงานหรือนักศึกษาจบใหม่ที่มีรายได้ประจำ ก็ผุดขึ้นให้ได้เห็นเช่นกัน รวมไปถึงที่ดินว่างเปล่า ที่ใกล้แหล่งชุมชนก็มีนายทุนเข้าจับจองเพื่อหวังโอกาสในการช่วงชิงเม็ดเงินจากวงจรของอุตสาหกรรมที่นี่
ไม่ว่าการมาอยู่ที่นี่จะเกิดจากเหตุผลใด แต่สิ่งที่ทุกคนมีร่วมกันไม่ว่าจะเป็นคนมาบตาพุดโดยกำเนิดหรือไม่ก็ตาม คงเป็นความฝัน และความหวังว่าชีวิตจะดีกว่านี้ในสักวันหนึ่ง
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )