ความเฟื่องฟูของ “เทคโนโลยีสีเขียว” อาจนำโลกเข้าสู่วิกฤตสิ่งแวดล้อมครั้งใหม่

ที่มาของภาพ : Getty Shots

แร่ลิเทียมถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการผลิตแบตเตอรียานยนต์ไฟฟ้า

Article Files

    • Writer, ไอโอเน เวลส์
    • Feature, ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
    • Reporting from รายงานจากประเทศชิลี

ราเกล เซลีนา โรดริเกซ ก้าวย่างอย่างระมัดระวัง ขณะที่เดินข้ามที่ราบตีโลโปโซ (Vega de Tilopozo) ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณหนึ่งภายในทะเลเกลืออะตากามา (Atacama salt apartments) ของประเทศชิลี

บริเวณนี้คือพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเคยมีน้ำพุผุดขึ้นจากใต้ดินหลายแห่ง แต่ตอนนี้ที่ราบดังกล่าวกลับแห้งผาก จนเต็มไปด้วยรอยแตกระแหงและหลุมว่างเปล่า โรดริเกซบอกว่าหลุมเหล่านี้เคยเป็นบ่อน้ำมาก่อน “ในอดีตที่ราบตีโลโปโซเป็นสีเขียวขจี มีหญ้าขึ้นรกทึบจนมองไม่เห็นตัวสัตว์ชนิดไหนเลย แต่ตอนนี้ทุกอย่างแห้งแล้งไปหมด” โรดริเกซกล่าว พร้อมกับชี้ให้ผู้สื่อข่าวดูตัวญามาหรือลามา (llama) ที่กำลังเล็มหญ้าอยู่กลางที่โล่งแจ้ง

ครอบครัวของโรดริเกซซึ่งเป็นคนท้องถิ่น ต้อนเลี้ยงฝูงแกะเพื่อยังชีพที่นี่มาหลายชั่วอายุคน ทว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หญ้าที่เคยใช้เลี้ยงปศุสัตว์จึงไม่งอกงามตามธรรมชาติเหมือนเดิม จนการทำมาหาเลี้ยงชีพฝืดเคืองขึ้นมาก

ที่มาของภาพ : Ben Derico/BBC

ครอบครัวของโรดริเกซต้อนเลี้ยงฝูงแกะ เพื่อยังชีพในทะเลเกลืออะตากามา มานานหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่ตอนนี้เธอบอกว่าทุกสิ่งล้วนแห้งผากไปหมด

โรดริเกซเล่าว่าสถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อบรรดาบริษัทผู้ทำเหมืองแร่ลิเทียม เริ่มเข้ามาสูบน้ำออกไปเพื่อสกัดเอาโลหะสีขาวเงินอ่อนนุ่มอันมีค่า ไปใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า, คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป, และอุปกรณ์กักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากด้านล่างของทะเลเกลืออะตากามานั้น คือแหล่งแร่ลิเทียมที่ใหญ่ที่สุดของโลก

ในปัจจุบันความต้องการแร่ลิเทียมของโลกเพิ่มขึ้นมาก เพราะหลายประเทศกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ข้อมูลสถิติของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า ในปี 2021 มีการบริโภคลิเทียมราว 95,000 ตันทั่วโลก ทว่าในปี 2024 ตัวเลขการบริโภคนี้กลับเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเป็น 205,000 ตัน และคาดว่าจะพุ่งสูงขึ้นอีกจนถึงระดับกว่า 900,000 ตัน ในปี 2040 เพื่อป้อนให้อุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

Skip ได้รับความนิยมสูงสุด and proceed studyingได้รับความนิยมสูงสุด

Halt of ได้รับความนิยมสูงสุด

อย่างไรก็ตาม คนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในแหล่งแร่ลิเทียมเหล่านี้ ต่างพากันโอดครวญว่าการทำเหมืองแร่ดังกล่าว พลอยสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม อันนับเป็นต้นทุนที่ประมาณค่ามิได้ไปด้วย ทั้งยังทำให้เกิดคำถามว่า ความพยายามด้วยเจตนาดีของนานาชาติ ที่เร่งแข่งขันกันตัดลดการปล่อยคาร์บอน ได้นำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องใหม่โดยไม่ได้ตั้งใจหรือเปล่า ?

พืชพรรณ, นกฟลามิงโก และแหล่งน้ำที่เหือดแห้ง

ชิลีเป็นผู้ผลิตลิเทียมรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากออสเตรเลีย โดยในปี 2023 รัฐบาลชิลีได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ลิเทียมแห่งชาติ เพื่อเร่งเพิ่มอัตราการผลิตลิเทียม โดยจะทำให้บางส่วนของภาคอุตสาหกรรมนี้ตกเป็นของรัฐ รวมทั้งจะส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชนไปพร้อมกัน

รัฐมนตรีคลังของชิลีเคยแถลงไว้ว่า อาจเพิ่มอัตราการผลิตลิเทียมของประเทศขึ้นสูงสุดถึง 70% ภายในปี 2030 อย่างไรก็ตามทางกระทรวงเหมืองแร่ชิลีบอกว่า ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งเป้าหมายที่แน่นอนแต่อย่างใด

ที่มาของภาพ : Ben Derico/BBC

การทำเหมืองแร่ลิเทียม สูบน้ำปริมาณมากจากพื้นที่ซึ่งมีแนวโน้มเกิดภัยแล้งง่ายอยู่แล้ว

ทว่าในปีนี้โครงการร่วมทุนระหว่าง SQM บริษัทเคมีภัณฑ์ของชิลี กับโกเดลโก (Codelco) รัฐวิสาหกิจด้านการทำเหมืองแร่ของประเทศ เพิ่งได้รับสัมปทานให้ขุดเจาะและสกัดลิเทียมในรูปโลหะได้อย่างน้อย 2.5 ล้านตันต่อปี และสามารถเพิ่มอัตราการผลิตขึ้นได้อีกเรื่อย ๆ ไปจนถึงปี 2060

รัฐบาลชิลีอ้างว่าแผนการข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระดับโลก เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังสามารถหาเงินรายได้เข้ารัฐได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

บริษัทผู้ทำเหมืองแร่ลิเทียมส่วนใหญ่ ใช้วิธีสูบน้ำเค็มซึ่งอุดมไปด้วยแร่ธาตุ ที่อยู่ตรงใต้ดินด้านล่างของทะเลเกลือขึ้นมา แล้วนำไปตากให้ระเหยแห้งในบ่อที่อยู่บนผิวดิน ซึ่งคล้ายกับการทำนาเกลือนั่นเอง ทว่ากระบวนการนี้ผลาญทรัพยากรน้ำปริมาณมหาศาล ให้เหือดแห้งไปจากภูมิภาคที่แต่เดิมก็มีแนวโน้มจะเกิดภัยแล้งได้ง่ายอยู่แล้ว

ที่มาของภาพ : Ben Derico/BBC

ฟาวิโอลา กอนซาเลซ นักชีววิทยาประจำเขตสงวนแห่งชาติลอสฟลาเมงกอส ซึ่งมีทั้งทะเลเกลือขนาดใหญ่, ที่ลุ่มชื้นแฉะ, และทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่ง

ฟาวิโอลา กอนซาเลซ นักชีววิทยาซึ่งมีเชื้อสายชนเผ่าพื้นเมืองในทะเลทรายอะตากามา ทำงานดูแลเขตสงวนแห่งชาติลอสฟลาเมงกอส (Los Flamencos National Reserve) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใจกลางของทะเลทรายแห่งนี้มานานหลายปี เขตสงวนดังกล่าวมีทั้งทะเลเกลือขนาดใหญ่, ที่ลุ่มชื้นแฉะ, และทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งหรือลากูน (lagoon) ซึ่งเต็มไปด้วยนกถึง 185 ชนิดพันธุ์

จากการเฝ้าสังเกตดูความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม กอนซาเลซพบว่า “ตอนนี้ทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งเริ่มหดตัวเล็กลงแล้ว เรายังพบว่าอัตราการเจริญพันธุ์ของนกฟลามิงโกก็ลดต่ำลงด้วย”

กอนซาเลซอธิบายว่า การทำเหมืองแร่ลิเทียมส่งผลกระทบต่อจุลชีพที่เป็นอาหารของนก ซึ่งปะปนอยู่ในแหล่งน้ำของท้องถิ่น ดังนั้นการทำเหมืองแร่ด้วยวิธีสูบน้ำเค็มใต้ดิน จึงส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารทั้งหมดในระบบนิเวศ

กอนซาเลซยังชี้ให้ผู้สื่อข่าวดูจุดที่ลูกนกฟลามิงโกฟักออกจากไข่ในปีนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี ที่นกเลือกวางไข่และฟักไข่ตรงจุดดังกล่าว “นี่ถือเป็นเพียงความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเรื่องการเพิ่มประชากรนกฟลามิงโก หลังจากมีนโยบายลดการสูบน้ำไปทำเหมืองแร่ในปี 2021 แต่มันก็ช่วยได้น้อยมาก เทียบกับเมื่อก่อนที่มีลูกนกเกิดมามากกว่านี้”

น้ำบาดาลจากเทือกเขาแอนดีสซึ่งอุดมไปด้วยแร่ธาตุ ถือว่าเป็นแหล่งน้ำโบราณที่มีอายุเก่าแก่มาก ซึ่งเกิดจากการสะสมตัวของน้ำใต้ดินทีละเล็กละน้อย หากแหล่งน้ำนี้เกิดพร่องไป ก็จะเติมเต็มให้กลับคืนมาได้ยากและช้ามาก “หากเราสูบน้ำออกในปริมาณมหาศาล ในขณะที่มีน้ำซึมเข้าไปสะสมใหม่เพียงเล็กน้อย น้ำเค็มใต้ดินของทะเลเกลืออะตากามาจะต้องหมดสิ้นไปในที่สุด” กอนซาเลซกล่าว

ที่มาของภาพ : Lucas Aguayo Araos/Anadolu Company via Getty Shots

กอนซาเลซบอกว่า “ตอนนี้ทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งเริ่มหดตัวเล็กลงแล้ว เรายังพบว่าอัตราการเจริญพันธุ์ของนกฟลามิงโกก็ลดต่ำลงด้วย”

นอกจากผลกระทบต่อสัตว์ป่าแล้ว พืชพรรณในบางพื้นที่ยังได้รับความเสียหายไปด้วย โดยที่ดินในทะเลเกลือส่วนที่เป็นเขตสัมปทานเหมืองแร่ลิเทียมของบริษัท SQM นั้น พืชประจำท้องถิ่นอย่างต้นอัลการ์โรโบ (algarrobo) หรือต้นคารอบ (carob tree) ซึ่งคล้ายกับต้นมะขามเทศ ต้องเสียชีวิตลงถึง 1 ใน 3 ตั้งแต่ช่วงแรกที่เริ่มมีการทำเหมืองในปี 2013 โดยรายงานของสภาพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (NRDC) แนวร่วมองค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อการอนุรักษ์ในสหรัฐฯ ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2022 ชี้ว่าเป็นผลพวงจากการขาดน้ำ

อันที่จริงแล้ว ความแห้งแล้งซึ่งเกิดจากการสูบน้ำบาดาลไปทำเหมืองแร่ลิเทียม ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ที่ชิลีเพียงประเทศเดียว รายงานของ NRDC ในปี 2022 ส่วนที่เขียนโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์เจมส์ เจ.เอ. แบลร์ จากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ระบุด้วยว่าการทำเหมืองแร่ลิเทียมทั่วโลก “มีส่วนทำให้เกิดการสิ้นสภาพของระบบนิเวศ และอาจจะลดทอนปริมาณน้ำจืด สำหรับการดำรงชีวิตของพืชพรรณและมนุษย์”

แต่ถึงกระนั้น ผศ.แบลร์บอกว่า การหาหลักฐานที่ชัดเจนและหนักแน่นมาพิสูจน์ยืนยันเรื่องดังกล่าว ยังคงทำได้ยากยิ่ง

จะบรรเทาความเสียหายได้อย่างไรบ้าง

คาเรน สมิธ สตีเกน ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์ของเยอรมนี ซึ่งศึกษาวิจัยผลกระทบของการทำเหมืองแร่ลิเทียมทั่วโลก บอกว่าความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมนั้นแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมีการทำเหมืองแร่ “คิดไม่ออกเลยว่า มีการทำเหมืองแร่แบบไหนบ้าง ที่ไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบเลย”

“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บริษัทเหมืองแร่ควรทำเสียตั้งแต่แรก คือการเปิดทางให้ชุมชนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนรวมในการแก้ไขปัญหา” ศ.สตีเกนกล่าว เธอยกตัวอย่างว่าบริษัทเหมืองแร่ควรจัดทำ “การประเมินผลกระทบทางสังคม” ก่อนจะลงมือสูบน้ำที่มีแร่ลิเทียมขึ้นมาจากใต้ดิน เพื่อทบทวนเสียก่อนว่าการทำเหมืองแร่ของพวกเขา ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทรัพยากรน้ำ, สัตว์ป่า, และชุมชนท้องถิ่นอย่างไรบ้าง

ที่มาของภาพ : Getty Shots

กระบวนการสกัดลิเทียม อาศัยวิธีสูบน้ำเค็มจากใต้ทะเลเกลือขึ้นมา แล้วนำไปตากให้ระเหยแห้งที่บ่อบนผิวดิน

บริษัทผู้ทำเหมืองแร่ลิเทียมในชิลีหลายแห่ง บอกว่าตนเองยินดีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัท SQM ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่นั้น บอกว่ากำลังทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นที่เมืองแอนโตฟากาสตา (Antofagasta) อย่างใกล้ชิด เพื่อรับฟังและทำความเข้าใจปัญหาที่ชาวบ้านห่วงกังวล พร้อมกับทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปด้วย

วาเลนติน บาร์เรรา รองผู้จัดการฝ่ายความยั่งยืนของ SQM Lithium บอกว่าชิลีและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก “ล้วนต้องการลิเทียมเพิ่มมากขึ้น เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่ด้านพลังงาน” เขายังบอกด้วยว่า ทางบริษัทกำลังทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ในโครงการนำร่อง ซึ่งหากประสบผลสำเร็จก็จะนำไปใช้ที่เหมืองลิเทียมในทะเลเกลืออะตากามาด้วย เพื่อให้สกัดแยกลิเทียมออกจากน้ำเค็มได้โดยตรง และไม่ต้องนำไปตากในบ่อระเหยแห้งอีก นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีดักจับโมเลกุลน้ำที่ระเหยเป็นไอ แล้วฉีดกลับเข้าไปในชั้นดินได้อีกด้วย

“เรากำลังทำโครงการนำร่องหลายโครงการ เพื่อทดสอบดูว่าวิธีการใดจะดีกว่า หากต้องการเพิ่มผลผลิตแร่ลิเทียม ในขณะที่สามารถตัดลดการสูบน้ำเค็มจากใต้ดินลงได้อย่างน้อย 50% ในเวลาเดียวกัน” บาร์เรรากล่าว เขายังบอกว่าโครงการนำร่องที่เมืองแอนโตฟากาสตา สามารถดึงน้ำที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้มากกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทางบริษัทจะนำระบบนี้ไปใช้กับเหมืองแร่ลิเทียมทุกแห่งในปี 2031

ที่มาของภาพ : Ben Derico/BBC

วาเลนติน บาร์เรรา บอกว่าบริษัท SQM เข้าใจความกังวลของชาวบ้าน และกำลังร่วมงานกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหา

แต่ถึงกระนั้น ชาวบ้านในท้องถิ่นที่มีเหมืองแร่ลิเทียม กลับมองเรื่องดังกล่าวในแง่ลบ “พวกเราเชื่อว่า ทะเลเกลืออะตากามาก็เป็นเหมือนกับการทดลองหนึ่ง” กอนซาเลซกล่าว เธออธิบายเพิ่มเติมว่า เราไม่อาจจะล่วงรู้ได้เลยว่าทะเลเกลือแห่งนี้จะต่อต้านเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งมีแผนจะฉีดน้ำกลับเข้าไปในชั้นดินอย่างไรบ้าง เธอเกรงว่าทะเลเกลืออะตากามาจะถูกใช้เป็น “ห้องทดลองทางธรรมชาติ”

ซารา ปลาซา หญิงชาวบ้านอีกผู้หนึ่งที่อยู่ในชุมชนเดียวกันกับโรดริเกซ ทั้งยังยึดอาชีพเลี้ยงสัตว์เหมือนกัน บอกว่าเธอรู้สึกเป็นกังวล เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงมากมายที่ได้พบเห็นมาในอดีต เธอจำได้ว่าระดับน้ำในที่ลุ่มชื้นแฉะของทะเลเกลือ เริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2005 แล้ว “แต่บริษัทเหมืองแร่ก็ไม่เคยหยุดสกัดลิเทียมเลย”

ที่มาของภาพ : Ben Derico/BBC

ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า “บริษัทเหมืองแร่ให้เงินชดเชยเรานิดเดียว แต่ฉันไม่อยากได้เงิน ฉันต้องการหาเลี้ยงชีพจากทรัพยากรธรรมชาติและมีน้ำสำหรับการดำรงชีวิต”

ซาราพูดถึงอนาคตด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่า “ทะเลเกลือผลิตลิเทียมได้ แต่สักวันหนึ่งมันจะต้องจบลง การทำเหมืองแร่จะต้องยุติลง แต่คนที่นี่จะทำยังไงต่อ ? หากไม่มีน้ำและไม่มีอาชีพเกษตรกรรม พวกเขาจะทำมาหากินและดำรงชีวิตได้อย่างไร ? บางทีตัวฉันที่แก่แล้วอาจจะไม่ได้อยู่ทันเห็นหายนะเหล่านี้ แต่ลูกหลานของเราจะต้องประสบพบเจอมันแน่ ๆ”

ซาราเชื่อว่าบริษัททำเหมืองแร่สูบน้ำมากเกินไป ทำให้ระบบนิเวศที่ประสบปัญหาความแห้งแล้ง จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอยู่แล้ว ต้องสูญเสียน้ำและรับมือกับภัยแล้งได้ยากลำบากขึ้นไปอีก “บริษัทเหมืองแร่ให้เงินชดเชยเรานิดเดียว แต่ฉันไม่อยากได้เงิน ฉันต้องการหาเลี้ยงชีพจากทรัพยากรธรรมชาติ และมีน้ำสำหรับการดำรงชีวิตมากกว่า”

ผลกระทบจากภัยแล้ง

เซอร์ฮีโอ กูบีญอส หัวหน้าสมาคมเพื่อหมู่บ้านเปนี (Peine) ซึ่งเป็นชุมชนที่โรดริเกซและซาราอาศัยอยู่ บอกว่าหมู่บ้านของพวกเขาถูกบังคับให้จำต้องเปลี่ยน “ระบบน้ำดื่มทั้งหมด, ระบบการจ่ายไฟฟ้า, และระบบบำบัดน้ำเสีย เพราะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค” กูบีญอสยังบอกอีกว่า “แม้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้ฝนไม่ตกลงมาอีกเลยจนเราไม่มีน้ำกินน้ำใช้ แต่ส่วนใหญ่แล้วสาเหตุหลักมาจากการทำเหมืองแร่ลิเทียมต่างหาก”

กูบีญอสบอกว่า นับตั้งแต่การทำเหมืองแร่ลิเทียมเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 มีการสูบน้ำจืดและน้ำเค็มออกไปจากพื้นที่ของพวกเขาแล้วหลายล้านลูกบาศก์เมตร ในอัตราเร็วถึงหลายร้อยลิตรต่อวินาที “การตัดสินใจทำเหมืองแร่เกิดขึ้นในกรุงซานติอาโก นครหลวงของประเทศซึ่งอยู่ห่างไกลจากที่นี่มาก แต่หากท่านประธานาธิบดีอยากจะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างที่เคยหาเสียงไว้จริง ก็ควรจะให้คนพื้นเมืองซึ่งอยู่ที่นี่มานานนับพันปีมีส่วนร่วมด้วย”

ที่มาของภาพ : Lucas Aguayo Araos/Anadolu via Getty Shots

ชิลีเป็นผู้ผลิตลิเทียมรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากออสเตรเลีย

กูบีญอสบอกว่า เขาเข้าใจดีถึงความสำคัญยิ่งยวดของลิเทียมต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่ ซึ่งทั่วโลกจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก แต่ถึงกระนั้น ชุมชนของพวกเขาก็ไม่ควรถูกใช้เป็น “เบี้ยในการต่อรอง” สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าว

แม้ชุมชนของพวกเขาจะมีรายได้และส่วนแบ่งผลประโยชน์จากการทำเหมืองแร่ลิเทียมอยู่บ้าง แต่ก็ยังเป็นกังวลกับแผนยกระดับการผลิต เพราะแม้จะมีเทคโนโลยีที่สามารถใช้ลดผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำ “แต่มันคงทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ หากเอาแต่นั่งโต๊ะแล้วสั่งการทางไกลมาจากเมืองหลวง คุณต้องมาลงมือทำเองที่นี่…ในดินแดนแห่งนี้” กูบีญอสกล่าว

ที่มาของภาพ : Ben Derico/BBC

เซอร์ฮีโอ กูบีญอส บอกว่าชุมชนของเขาไม่ควรถูกใช้เป็น “เบี้ยในการต่อรอง”

ด้านรัฐบาลชิลีเฝ้าเน้นย้ำว่า ได้มีการพูดคุยเจรจากับชนเผ่าพื้นเมืองอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีการสอบถามความเห็นและปรึกษาหารือกับพวกเขา ในโครงการตามสัญญาร่วมทุนระหว่าง SQM และ Codelco เพื่อจัดการกับปัญหาที่ชาวบ้านห่วงกังวล ทั้งในเรื่องทรัพยากรน้ำ, เทคโนโลยีใหม่, และผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ

รัฐบาลชิลียังกล่าวชี้แจงว่า โครงการยกระดับความสามารถในการผลิตแร่ลิเทียม จะตั้งอยู่บนแนวทางที่มุ่งผนวกเทคโนโลยีใหม่มาใช้ร่วมด้วย เพื่อลดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้ลิเทียมซึ่งมีมูลค่าสูงเนื่องจากบทบาทของมันในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก สามารถจะสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับประเทศได้

อย่างไรก็ตาม กูบีญอสยังคงเป็นกังวลว่า “โครงการนำร่อง” จะสร้างปัญหาให้กับถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกเขา หากผลที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นลบ “หากเป็นเช่นนั้นจริง เราจะทุ่มเทสรรพกำลังที่มีทั้งหมด เพื่อหยุดยั้งกิจกรรมที่อาจทำให้หมู่บ้านเปนีถูกลืมในที่สุด”

ส่วนหนึ่งของปัญหาที่ตัดสินใจยากระดับโลก

สิ่งที่เกิดขึ้นกับทะเลเกลืออะตากามา ถือเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตัดสินใจเลือกที่ทำได้ยากยิ่ง ระหว่างการรักษาทรัพยากรน้ำท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กับการตัดลดคาร์บอนเพื่อแก้ไขภาวะโลกร้อน ด้วยการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งต้องอาศัยลิเทียมผลิตแบตเตอรี

ชาวบ้านมองว่าการทำเหมืองแร่ลิเทียม ยิ่งทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้นอีก ในขณะที่นายทุนบางรายกลับมองว่า แม้การทำเหมืองแร่ลิเทียมจะสร้างความเสียหายให้สิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ก็นำมาซึ่งผลประโยชน์เกินคุ้ม ในรูปของการจ้างงานและผลกำไรก้อนโต

แดเนียล เจมิเนซ จากบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจเหมืองแร่ลิเทียม iLiMarkets ในกรุงซานติอาโก กลับมองว่าชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นคือพวกชอบใส่สีตีไข่ เพื่อให้เรื่องราวเกี่ยวกับความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมดูร้ายแรงเกินจริง และได้รับเงินชดเชยเป็นจำนวนมากขึ้น “นี่มันเรื่องเงินล้วน ๆ ทางบริษัทต้องทุ่มเงินมหาศาลเพื่อช่วยพัฒนาท้องถิ่น อย่างเช่นซ่อมแซมถนนหรือสร้างโรงเรียน ทว่าข้อร้องเรียนต่าง ๆ จากชาวบ้าน แท้จริงแล้วมีสาเหตุมาจากความต้องการเงินนั่นเอง”

ที่มาของภาพ : Lucas Aguayo Araos/Anadolu Company via Getty Shots

สิ่งที่เกิดขึ้นในทะเลเกลืออะตากามา ควรจะเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ในการอภิปรายถกเถียงและตัดสินใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ศ.สตีเกน โต้แย้งความเห็นข้างต้นว่า “บริษัทผู้ทำเหมืองแร่มักพร่ำพูดบ่อย ๆ ว่า จะมีงานให้ชาวบ้านทำมากขึ้นและพวกเขาจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ชนเผ่าพื้นเมืองในท้องถิ่นต้องการเสมอไป การทำเหมืองแร่อาจไปรบกวนหรือทำลายโครงสร้างเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมในชุมชน และทำให้มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น จนพวกเขาไม่อาจเช่าหรือซื้อที่ดินสร้างบ้านได้ ดังนั้นการมีงานทำจึงไม่ใช่ทุกสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ และไม่สามารถยุติทุกปัญหาได้”

ที่มาของภาพ : Ben Derico/BBC

กอนซาเลซกล่าวถึงนกฟลามิงโกว่า “นกศักดิ์สิทธิ์ของเราที่กำลังจะสูญหายไป”

ชาวบ้านทุกคนที่ผู้สื่อข่าวบีบีซีพูดคุยด้วย ไม่มีใครเอ่ยถึงเรื่องที่ต้องการเงินชดเชยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ พวกเขาก็ไม่ได้ต่อต้านการใช้ลิเทียมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่สิ่งที่ชาวบ้านในทะเลเกลืออะตากามาไม่เข้าใจเลยก็คือ เหตุใดพวกเขาต้องเป็นผู้เสียสละเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก

“ฉันว่าสำหรับคนเมืองแล้ว แร่ลิเทียมอาจเป็นสิ่งที่ดี” โรดริเกซกล่าว “แต่มันก็เป็นอันตรายกับพวกเราด้วย เราไม่ได้ใช้ชีวิตในวิถีที่เคยเป็นมาอีกแล้ว”

กอนซาเลซแสดงความเห็นว่า การเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลเพียงอย่างเดียว ไม่อาจช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ “เราทุกคนต้องช่วยกันตัดลดการปล่อยคาร์บอน ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ หรือภูมิภาคยุโรป ผู้คนต่างบริโภคพลังงานสูงกว่าชนพื้นเมืองในอเมริกาใต้อย่างพวกเรามาก”

“รถยนต์ไฟฟ้านั้นผลิตมาเพื่อใคร ? แท้จริงแล้วมันผลิตมาเพื่อขายให้ชาวยุโรปและชาวอเมริกัน มันไม่ใช่สินค้าสำหรับพวกเราเลย รอยเท้าคาร์บอนที่พวกเราทิ้งไว้นั้นเล็กกว่าหลายเท่า”

“ทว่าทรัพยากรน้ำของเราถูกแย่งไป นกศักดิ์สิทธิ์ของเราก็กำลังจะสูญหายไปด้วย” กอนซาเลซกล่าวทิ้งท้าย

รายงานเพิ่มเติมโดยจอร์จ ไรต์