‘ธปท.’ ย้ำเศรษฐกิจปี 68 โต 2.9% จาก ‘อุปสงค์ในประเทศ-ท่องเที่ยว-มาตรการภาครัฐ’ จับตาผลกระทบ ‘สหรัฐฯ’ กีดกันการค้า ฉุด ‘เศรษฐกิจโลก-ไทย’ คาดสินเชื่อ ‘เช่าซื้อรถ’ ไตรมาส 4/67 หดตัวต่อ ห่วงอุตฯยานยนต์ฟุบ กระทบแรงงาน 1 ล้านคน
…………………………………..
เมื่อวันที่ 6 ม.ค. นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยภายใน Monetary Policy Forum 4/2567 ตอนหนึ่งว่า เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวและขยายตัวได้ แต่การฟื้นตัวของแต่ละภาคส่วนมีความแตกต่างกันมากขึ้น ส่วนสินเชื่อนั้น แม้ว่าจะชะลอตัวลง แต่ในภาพรวมยังขยายตัวได้ และมีบางจุดที่ต้องจับตาว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด
ในขณะที่การดำเนินนโยบายทางการเงินภายใต้ภาวะที่เมื่อมองไปในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูงขึ้น นั้น กนง. จะดำเนินนโยบายให้สามารถรองรับสถานการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้ และเลือกใช้เครื่องมือนโยบายให้เหมาะสมกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงิน
นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัว 2.9% จากปี 2567 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.7% โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศ และอุปสงค์จากต่างประเทศ รวมถึงการเบิกจ่ายภาครัฐ ทั้งนี้ ในปี 2568 ธปท.คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นทั้งในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อหัว เมื่อเทียบกับปี 2567
ส่วนส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว 2.7% ตามการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าเทคโนโลยี แต่ในระยะข้างหน้ามีความท้าทายเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนของแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก
“ในระยะข้างหน้า แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ แต่ความท้าทายเพิ่มขึ้น โดยเรามองว่าปัจจัยด้านบวกจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเงินโอนเฟส 2 เฟส 3 และ Easy E-Receipt ซึ่งยังต้องติดตามว่ามีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ขณะที่ปัจจัยด้านลบ จะมาจากเรื่องความรุนแรงของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป รวมถึงความตึงตัวของสินเชื่อในบางจุด” นางปราณี ระบุ
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยในปี 2568 ธปท.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.1% ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ขณะที่หนี้สินครัวเรือน ณ ไตรมาส 3/2567 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า จากการขยายตัวของหนี้ที่น้อยกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยการก่อหนี้ใหม่ที่ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
นายสุรัช ยังกล่าวด้วยว่า ธปท.ได้หารือกับธนาคารพาณิชย์ถึงแนวโน้มอัตราการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อ โดยล่าสุด (ไตรมาส 3/2567) สินเชื่อเช่าซื้อในระบบธนาคารพาณิชย์หดตัว 7.7% ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าในช่วงไตรมาส 4/2567 สินเชื่อเช่าซื้อยังติดลบอยู่ และคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นบ้างในช่วงปี 2568 แต่ในท้ายที่สุดก็จะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคารถมือสองด้วยว่าจะปรับดีขึ้นเมื่อใด
นายสุรัช กล่าวว่า ภายใต้บริบทที่ความไม่แน่นอนมีสูงขึ้น นโยบายการเงินจะต้องพร้อมรองรับกับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น หรือมีลักษณะ tough policy คือ ไม่ว่าเหตุการณ์ด้านลบหรือด้านบวกจะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว หรือเกิดด้วยขนาดใหญ่น้อยแค่ไหน กลยุทธ์การดำเนินนโยบายการเงินในลักษณะ tough policy เป็นสิ่งต้องให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ ในการประชุม กนง. เมื่อเดือน ธ.ค.2567 กนง.มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% นั้น เนื่องจากเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันที่ 2.25% สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวใกล้ศักยภาพ เงินเฟ้อโน้มสู่กรอบเป้าหมาย และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน ในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ปรับสูงขึ้น
ด้าน นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก รวมถึงไทย ต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นปัจจัยเฉพาะ อีกทั้งในระยะต่อไปก็มีความท้าทายค่อนข้างมาก ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมี 2 แง่ คือ ในแง่มูลค่าเพิ่มหรือสัดส่วนของจีดีพี คงไม่สูงมากนักในภาพรวม แต่ในแง่ของแรงงานจะผลกระทบมากกว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีการจ้างงานกว่า 1 ล้านคน
“ในแง่ของตัวมูลค่าเพิ่มหรือสัดส่วนของจีดีพี อาจไม่ได้เยอะมากในภาพรวม แต่ในแง่แรงงานแล้ว เยอะ เพราะถ้าดูคร่าวๆก็มีประมาณ 1 ล้านกว่าคน ดังนั้น ผลกระทบในรอบ 2 รอบ 3 ที่กลับมาต่อการจับจ่ายใช้สอยและอำนาจซื้อ เป็นอะไรที่ต้องจับตา และอันนี้ เป็นความท้าทายเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมๆหนึ่ง ซึ่งนโยบายเชิงมหภาพเอง มีขอบเขตในการดูแลการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในธุรกิจเฉพาะ” นายปิติ กล่าว
อ่านประกอบ :
มติเอกฉันท์! ‘กนง.'คงดอกเบี้ย 2.25% มอง GDP ปีหน้า 2.9%-จับตาเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง
บรรเทาภาระหนี้! กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 ลดดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.25%-คาด GDP ปี 67 โต 2.7%
‘ผู้ว่าฯธปท.’เผย‘กนง.’กังวลสภาวะการเงิน‘ตึงตัว’ ย้ำ 3 เงื่อนไขปรับดบ.-ปัดตอบลดค่าฟี FIDF
มติ 6 ต่อ 1! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ชี้สอดคล้องการขยายตัวศก.-กังวล‘หนี้ครัวเรือน’สูง
มติ 5 ต่อ 2 เสียง! ‘บอร์ด กนง.' เสียงแตก คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5%-มอง GDP ปี 67 โต 2.6%
‘นายกฯ'เรียกร้อง'ธปท.'นัดประชุม'กนง.'ก่อนกำหนด ถกลด'ดอกเบี้ย'หลังมีข้อมูลใหม่'สภาพัฒน์'
มติ 5 ต่อ 2! ‘กนง.'เสียงแตก คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปี 67 โตไม่เกิน 3%
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือ 2.4%
3 กรรมการ'กนง.'ฝั่ง'แบงก์ชาติ' มองทิศทาง'ดอกเบี้ยนโยบาย' ท่ามกลาง'ปัจจัยเสี่ยง-แรงกดดัน'
เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น! กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ2.5%-มองGDPปีนี้โต 2.8%
สู่ระดับ 2.25%! ‘กนง.'มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%-มอง'เงินเฟ้อ'มีความเสี่ยงด้านสูง
มติเอกฉันท์! ‘กนง.’เคาะขึ้นดบ. 0.25% สู่ระดับ 2% มองเศรษฐกิจอาจโตเกินคาด-จับตาเงินเฟ้อ
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%สู่ระดับ 1.75% สกัดเงินเฟ้อ-จับตาตลาดการเงินโลกผันผวน
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อ-มองศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง แม้ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )