4 ความเป็นไปได้หากทรัมป์ต้องการยึดกรีนแลนด์ของเดนมาร์ก
Article recordsdata
- Author, ลอร์รา กอซซิ จากกรุงโคเปนเฮเกน และ โรเบิร์ต กรีแนล จากกรุงลอนดอน
- Aim,
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้แสดงความสนใจเข้าควบคุมกรีนแลนด์อีกครั้ง ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองขนาดใหญ่ของเดนมาร์กในแถบอาร์กติกหรือพื้นที่บริเวณขั้วโลกเหนือ และเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
เขาเคยแสดงความตั้งใจซื้อเกาะกรีนแลนด์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2019 ในช่วงวาระแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ในสัปดาห์นี้ความสนใจของเขาไปไกลกว่านั้น โดยไม่ปฏิเสธที่ใช้วิธีกดดันทางเศรษฐกิจหรือทางการทหารเพื่อที่จะเข้าควบคุมกรีนแลนด์
ทางการเดนมาร์กและยุโรปได้ตอบโต้ในทางที่ไม่ดีนัก โดยกล่าวว่ากรีนแลนด์ไม่ได้มีไว้ขายและต้องรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนไว้
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้สองพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต มีความขัดแย้งเหนือดินแดนขนาดใหญ่ที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งกว่า 80% แต่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธรรมชาติที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์
ฉะนั้นแล้วสถานการณ์ที่ไม่ปกติจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และความทะเยอทะยานเพื่อเอกราชของหมู่ประชากรราว 56,000 คนบนเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของเดนมาร์กมานานกว่า 300 ปี จะส่งผลอย่างไรต่อเรื่องนี้
Skip เรื่องแนะนำ and continue finding outเรื่องแนะนำ
Pause of เรื่องแนะนำ
บีบีซีสำรวจความเป็นไปได้ของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จนได้ 4 ฉากทัศน์ที่อาจเกิดขึ้นกับอนาคตของกรีนแลนด์
1. ทรัมป์หมดความสนใจและไม่มีอะไรเกิดขึ้น
มีการคาดเดาว่าการเคลื่อนไหวของทรัมป์เป็นไปเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมที่รุนแรง เพื่อให้เดนมาร์กเพิ่มการรักษาความมั่นคงในกรีนแลนด์ในกรณีเมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากรัสเซียและจีน ซึ่งกำลังแสวงหาอิทธิพลในภูมิภาคนี้
เดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว เดนมาร์กเพิ่งประกาศการใช้จ่ายงบประมาณทางการทหารรอบใหม่สำหรับพื้นที่อาร์กติกมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 40,800 ล้านบาท) งบประมาณก้อนนี้ถูกประกาศใช้หลังทรัมป์ออกมาพูดถึงความสนใจดังกล่าวไม่กี่ชั่วโมง แม้ว่าแพ็กเกจงบประมาณนี้จะถูกเตรียมการมาก่อนหน้านั้นก็ตาม ส่งผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเดนมาร์กออกมาพูดว่า มันเป็น “การเยาะเย้ยของโชคชะตา”
“สิ่งสำคัญในสิ่งที่ทรัมป์พูด คือ เดนมาร์กต้องปฏิบัติตามภาระผูกพันในอาร์กติก มิฉะนั้นก็ปล่อยให้สหรัฐฯ ทำ” เอลิซาเบธ สเวน หัวหน้าผู้สื่อข่าวการเมืองของหนังสือพิมพ์โพลิติเกน (Politiken) ของเดนมาร์ก กล่าว
มาร์ค ยาคอบเซน รองศาสตราจารย์จากวิทยาลัยกลาโหมเดนมาร์ก เชื่อว่าทรัมป์ “กำลังจัดวางตำแหน่งของตัวเองก่อนเข้ารับตำแหน่ง” ในขณะที่ทางกรีนแลนด์ก็ใช้โอกาสนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นก้าวสำคัญสำหรับเส้นทางสู่เอกราช
ดังนั้น ถึงแม้ว่าทรัมป์จะไม่สนใจกรีนแลนด์แล้วในตอนนี้ก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ รศ.ยาคอบเซน คิดว่าเป็นฉากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทรัมป์ทำให้ปัญหานี้ได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากความต้องการเป็นรัฐเอกราชของกรีนแลนด์เป็นประเด้นที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว และบางฝ่ายมองว่าการถกเถียงเรื่องนี้กำลังเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม
“ฉันสังเกตเห็นว่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีกรีนแลนด์ให้ความเห็นด้วยท่าทีที่สงบลง ในทำนองว่า ใช่… เราต้องการเอกราช แต่มันเป็นเรื่องระยะยาว” สเวน หัวหน้าผู้สื่อข่าวการเมืองของหนังสือพิมพ์โพลิติเกน กล่าว
2. กรีนแลนด์ลงประชามติเพื่อเป็นเอกราช และแสวงหาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ
ความเป็นไปได้ในแนวทางนี้ คือเกิดฉันทามติทั่วไปในกรีนแลนด์ว่าสุดท้ายแล้วกรีนแลนด์ต้องเป็นเอกราชในท้ายที่สุด และหากกรีนแลนด์ลงประชามติเห็นว่าควรเป็นเช่นนั้น เดนมาร์กก็ต้องยอมรับและให้สัตยาบัน
อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเป็นไปได้ที่กรีนแลนด์จะลงประชามติเพื่อเอกราช จนกว่าจะได้รับหลักประกันว่าประชาชนของพวกเขาสามารถเก็บเงินอุดหนุนที่ได้รับจากเดนมาร์กในปัจจุบัน เพื่อใช้ในระบบรักษาสุขภาพและระบบสวัสดิการ
“นายกรัฐมนตรีกรีนแลนด์อาจจะกำลังไม่พอใจอยู่ในขณะนี้ แต่หากเขาเรียกร้องให้มีการลงประชามติจริง ๆ เขาจะต้องมีเรื่องเล่าที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับวิธีที่จะรักษาเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการของกรีนแลนด์ไว้” อุลริก กาด นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันเดนมาร์กเพื่อการศึกษาระหว่างประเทศ กล่าวกับบีบีซี
ขั้นตอนต่อไปที่เป็นไปได้ คือการรวมกลุ่มกันอย่างเสรี ซึ่งคล้ายกับที่สหรัฐอเมริกามีกับประเทศต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกในปัจจุบัน ได้แก่ หมู่เกาะมาร์แชลล์ ไมโครนีเซีย และปาเลา
เดนมาร์กเคยคัดค้านสถานะเช่นนี้สำหรับทั้งกรีนแลนด์และหมู่เกาะแฟโร แต่ตามที่ ดร.กาด กล่าว เมตเต เฟรเดอริกเซน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของเดนมาร์ก ไม่ได้คัดค้านอย่างชัดเจนแต่อย่างใด
“ความเข้าใจของเดนมาร์กเกี่ยวกับประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของกรีนแลนด์นั้นดีกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว” เขากล่าว โดยเดนมาร์กยอมรับความรับผิดชอบในฐานะอาณานิคม
การอภิปรายล่าสุด “อาจโน้มน้าวให้ [เฟรเดอริกเซน นายกฯ เดนมาร์ก] พูดว่า ให้เดนมาร์กอยู่ในอาร์กติกต่อไปจะดีกว่า โดยรักษาความสัมพันธ์บางอย่างกับกรีนแลนด์ไว้ แม้ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบหลวม ๆ ก็ตาม” เขากล่าวเสริม
แม้กรีนแลนด์จะสามารถกำจัดเดนมาร์กได้ แต่ก็เห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาว่าไม่สามารถกำจัดสหรัฐฯ ได้ สหรัฐฯ ไม่เคยจากไปจากเกาะแห่งนี้ หลังเข้าควบคุมกรีนแลนด์เมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะมองว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของพวกเขา
ข้อตกลงในปี 1951 ยืนยันอำนาจอธิปไตยขั้นพื้นฐานของเดนมาร์กบนเกาะดังกล่าว แต่ในความเป็นจริงแล้วมันกลับให้อะไรก็ตามที่ทางสหรัฐฯ ต้องการ
ดร.กาด กล่าวว่า ทางการกรีนแลนด์ได้ติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐฯ สองชุดล่าสุดที่ผ่านมา เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯ
“พวกเขารู้แล้วว่าสหรัฐฯ จะไม่มีวันออกไปจากเกาะนี้” นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันเดนมาร์กเพื่อการศึกษาระหว่างประเทศ กล่าว
3. ทรัมป์เพิ่มแรงกดดันทางเศรษฐกิจ
มีการคาดการณ์ว่าวาทศิลป์ด้านเศรษฐกิจของทรัมป์ อาจเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อเดนมาร์ก โดยเขากล่าวว่าสหรัฐฯ จะเพิ่มภาษีสินค้าของเดนมาร์กหรือแม้แต่สหภาพยุโรปขึ้นสูงมาก เพื่อบังคับให้เดนมาร์กให้สัมปทานบางประเภทในกรีนแลนด์
มาร์ค ยาคอบเซน รองศาสตราจารย์จากวิทยาลัยกลาโหมเดนมาร์ก ระบุว่ารัฐบาลเดนมาร์กได้เตรียมพร้อมรับมือกับเรื่องนี้ไว้แล้ว ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะประเด็นเกี่ยวกับดินแดนในเขตอาร์กติก
ทรัมป์ขู่ว่าจะจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ ในอัตรา 10% ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของยุโรปได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ บริษัทเดนมาร์กและบริษัทอื่น ๆ ในยุโรปบางแห่งกำลังพิจารณาตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
เบนจามิน โคต จากสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศพิลส์เบอร์รีบอกกับเว็บไซต์มาร์เก็ตวอทช์ (MarketWarch) ว่าทางเลือกที่เป็นไปได้ในการขึ้นภาษี อาจอ้างกฎหมายในปี 1977 ว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ (World Emergency Economic Powers Act-IEEPA)
หนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของเดนมาร์กที่อาจได้รับผลกระทบเรื่องนี้ คือ ยาและเภสัชภัณฑ์ โดยส่วนใหญ่แล้วสหรัฐฯ ได้รับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องช่วยฟังและอินซูลินจากเดนมาร์ก เช่นเดียวกับยารักษาโรคอ้วนชื่อว่าโอเซมปิก (Ozempic) ซึ่งผลิตโดยบริษัทโนโว นอร์ดิสก์ (Novo Nordisk) ของเดนมาร์ก
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การขึ้นราคาสินค้าดังกล่าวซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการทางภาษีเหล่านี้ อาจไม่เป็นที่ชื่นชอบของชาวอเมริกัน
4. ทรัมป์บุกกรีนแลนด์
“ทางเลือกด้านนิวเคลียร์” ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่เนื่องจากทรัมป์ไม่ยอมตัดความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรการทางทหารออกไป จึงต้องพิจารณาทางเลือกนี้
โดยพื้นฐานแล้ว สหรัฐฯ จะควบคุมสถานการณ์ได้ไม่ยาก เนื่องจากพวกเขามีฐานทัพและทหารจำนวนมากอยู่แล้วในกรีนแลนด์
รศ.ยาคอบเซนกล่าวว่า “สหรัฐฯ มีอำนาจควบคุมโดยพฤตินัยอยู่แล้ว” และเสริมว่าคำพูดของทรัมป์ดูขาดข้อมูลและไม่เข้าใจประเด็นสำคัญในคำพูดเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวด้วยว่าการใช้กำลังทหารของวอชิงตันจะก่อให้เกิดเหตุการณ์ระดับนานาชาติ
“ถ้าพวกเขารุกรานกรีนแลนด์ พวกเขาก็รุกรานนาโต” สเวนกล่าว “นั่นคือจุดที่ทุกอย่างจะยุติลง มาตรา 5 จะต้องถูกเรียกใช้ และถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งที่เข้าร่วมนาโตบุกรุกนาโต ก็จะไม่มีนาโตอยู่”
ดร.กาด กล่าวว่าทรัมป์ฟังดูเหมือนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนที่พูดถึงไต้หวัน หรือวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ที่พูดถึงยูเครน
“เขากล่าวว่าการที่เราจะยึดครองแผ่นดินผืนนี้ถือเป็นเรื่องถูกต้อง” กาดกล่าว “หากเราพิจารณาเขาอย่างจริงจัง นี่อาจเป็นลางร้ายสำหรับพันธมิตรฝ่ายตะวันตกทั้งหมด”
รายงานเพิ่มเติมโดยจอร์จ แซนเดมัน
ที่มา BBC.co.uk