เปิดแผนการของทรัมป์หลังประกาศสร้างศูนย์กักขังผู้อพยพที่อ่าวกวนตานาโม
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกคำสั่งสร้างศูนย์กักขังผู้อพยพในอ่าวกวนตานาโม (Guantanamo Bay) ซึ่งเขากล่าวว่าจะคุมขังผู้อพยพได้มากถึง 30,000 คน
เขากล่าวว่าศูนย์กักขังที่ฐานทัพเรือสหรัฐฯ ในคิวบา ซึ่งแยกจากเรือนจำทหารที่มีความมั่นคงสูง จะเป็นที่คุมขัง “คนต่างด้าวผิดกฎหมายที่เลวร้ายที่สุดซึ่งคุกคามชาวอเมริกัน”
“เราจะส่งพวกเขาไปที่กวนตานาโม” ทรัมป์กล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (29 ม.ค.)
อ่าวกวนตานาโมถูกใช้เป็นศูนย์กักขังผู้อพยพมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยกลุ่มสนับสนุนสิทธิมนุษยชนบางกลุ่ม
ฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่อ่าวกวนตานาโมถูกใช้ทำอะไร?
ฐานทัพเรือสหรัฐฯ ในคิวบาเป็นที่รู้จักดีว่าเป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องสงสัยที่ถูกนำตัวมาหลังจากเหตุการณ์โจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001
Skip เรื่องแนะนำ and continue readingเรื่องแนะนำ
Discontinuance of เรื่องแนะนำ
มีศูนย์กักขังทหารและห้องพิจารณาคดีสำหรับชาวต่างชาติที่ถูกคุมขังภายใต้การนำของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้นเรียกสิ่งนี้ว่า “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย”
ศูนย์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2002 โดยประธานาธิบดี บุช ปัจจุบันมีผู้ต้องขัง 15 คน รวมถึงผู้ต้องขังที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วางแผนก่อเหตุ 9/11 คือ คาลิด ชีค โมฮัมเหม็ด โดยจำนวนผู้ถูกคุมขังลดลงจากที่เคยมีจำนวนมากถึงเกือบ 800 คน
ประธานาธิบดีหลายคนจากพรรคเดโมแครต รวมถึงบารัก โอบามา เคยให้คำมั่นว่าจะปิดศูนย์แห่งนี้แต่ไม่สามารถทำได้
นอกจากนี้ ศูนย์แห่งนี้ยังมีศูนย์กักขังแยกขนาดเล็กที่ใช้กักขังผู้อพยพมานานหลายทศวรรษ ซึ่งรู้จักกันในชื่อศูนย์ปฏิบัติการผู้อพยพกวนตานาโม (Guantanamo Migrant Operations Center – GMOC) ซึ่งถูกใช้โดยรัฐบาลสหรัฐฯ หลายชุด ทั้งจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต
ศูนย์แห่งนี้โดยหลักการแล้วใช้เพื่อกักขังผู้ที่พยายามเข้าสหรัฐฯ โดยผิดกฎหมายทางเรือเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเฮติและคิวบา
ทอม โฮแมน “ผู้ควบคุมดูแลชายแดน” ของทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “เราเพียงแค่ขยายจากศูนย์อพยพที่มีอยู่แล้ว” และบอกอีกด้วยว่าศูนย์แห่งนี้จะอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร (Immigration and Customs Enforcement – ICE)
ทรัมป์อยากจะทำอะไร ?
การประกาศของทรัมป์เกิดขึ้นในขณะที่เขาลงนามในกฎหมายที่เรียกว่า พระราชบัญญัติ ลาเคน ไรลีย์ (Laken Riley) ซึ่งกำหนดให้ผู้อพยพที่ไร้เอกสารถูกต้องซึ่งถูกจับกุมในข้อหาลักทรัพย์หรือก่ออาชญากรรมรุนแรง ต้องถูกคุมขังในคุกระหว่างรอการพิจารณาคดี
ร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งถูกตั้งชื่อตามนักศึกษาพยาบาลชาวจอร์เจียที่ถูกฆาตกรรมโดยผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาเมื่อปีที่แล้ว และได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถือเป็นชัยชนะในสภานิติบัญญัติครั้งแรกของฝ่ายบริหาร
ทรัมป์กล่าวว่าผู้อพยพเหล่านี้อาจถูกส่งตัวไปที่นั่นได้ทันที หลังจากที่ถูกสกัดกั้นในทะเลโดยหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ และจะใช้มาตรฐานการกักขังระดับ “สูงสุด”
ตามที่เขากล่าว สถานกักขังแห่งนี้จะเพิ่มขีดความสามารถของสหรัฐฯ ในการกักขังผู้อพยพไร้เอกสารได้มากเป็นสองเท่า
ใครบ้างจะถูกกักตัวที่กวนตานาโม ?
เจ้าหน้าที่รัฐบาลกล่าวว่า สถานกักขังผู้อพยพที่กวนตานาโมจะถูกใช้เป็นสถานที่กักขัง “ผู้อพยพที่เลวร้ายที่สุด”
ทั้ง คริสตี โนเอม รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และโฮแมน ต่างก็ใช้ประโยคดังกล่าวเมื่อพูดคุยกับนักข่าวที่หน้าทำเนียบขาว
แถลงการณ์ของทำเนียบขาวระบุรายละเอียดที่น้อยกว่านั้น โดยกล่าวเพียงว่าสถานกักขังที่ขยายใหญ่ขึ้นนี้จะ “เป็นพื้นที่กักขังเพิ่มเติมสำหรับคนต่างด้าวที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงซึ่งเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย และเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการบังคับใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองที่เกี่ยวข้อง”
ปฏิกิริยาต่อแผนการของทรัมป์เป็นอย่างไร ?
ดีปา อาลาเกซาน ทนายความอาวุโสที่ดูแลโครงการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ (Global Refugee Aid Venture – IRAP) กล่าวถึงแผนของทรัมป์ที่จะเพิ่มจำนวนผู้อพยพที่ถูกควบคุมตัวในกวนตานาโมว่าเป็น “แนวโน้มที่น่ากลัว” เธอเชื่อว่าศูนย์อพยพแห่งนี้เคยถูกใช้เพื่อควบคุมคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น – “เป็นตัวเลขสองหลัก” เธอประมาณการไว้ในบทสัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพี (AP)
วินซ์ วาร์เรน ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์สิทธิมนุษยชน (Center for Constitutional Rights) ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนทางกฎหมายและเป็นตัวแทนของชายหลายสิบคนที่ถูกควบคุมตัวที่ฐานทัพตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 กล่าวว่า การตัดสินใจครั้งนี้ “ควรจะทำให้พวกเราทุกคนหวาดกลัว”
เขาระบุในแถลงการณ์ว่า “สิ่งนี้เป็นการส่งสารที่ชัดเจนว่า ผู้อพยพและผู้ขอลี้ภัยถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามของกลุ่มก่อการร้ายรูปแบบใหม่ สมควรที่จะถูกขับไล่ไปที่เรือนจำบนเกาะ และถูกแยกออกจากบริการและการสนับสนุนทางกฎหมายและสังคม”
ในรายงานปี 2024 ของโครงการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ กล่าวหารัฐบาลว่ากักขังผู้อพยพอย่างลับ ๆ ในสภาพแวดล้อมที่ “ไร้มนุษยธรรม” อย่างไม่มีกำหนดหลังจากจับกุมพวกเขาในทะเล
เมื่อไม่นานนี้ องค์กรพลเรือนอย่างสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันได้ยื่นคำร้องตามช่องทางเรื่องการเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล โดยขอให้เปิดเผยบันทึกเกี่ยวกับสถานที่ดังกล่าว
ฝ่ายบริหารของรัฐบาลไบเดนตอบว่า มัน “ไม่ใช่สถานที่กักขัง และผู้อพยพที่นั่นไม่มีใครถูกกักขัง” อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริหารของทรัมป์กล่าวว่า สถานที่ที่มีแผนจะขยายใหญ่ขึ้นนี้ตั้งใจให้เป็นศูนย์กักขังโดยเฉพาะ
ศูนย์กักขังจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่และจะเปิดใช้งานเมื่อใด ?
ยังไม่มีความชัดเจนว่าสถานกักขังดังกล่าวจะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่หรือจะแล้วเสร็จเมื่อใด
มีรายงานว่ารัฐบาลทรัมป์จะขอให้รัฐสภาจัดสรรงบประมาณเพื่อขยายสถานกักขังที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายการใช้จ่ายที่พรรครีพับลิกันกำลังดำเนินการรวบรวม
เมื่อผู้สื่อข่าวถามที่ทำเนียบขาว คริสตี โนเอม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ตอบเพียงว่า เงินดังกล่าวจะถูกจัดสรรผ่าน “ความเห็นพ้องตรงกันและความเหมาะสม”
คิวบามีปฏิกิริยาอย่างไร ?
สหรัฐอเมริกาได้เช่าอ่าวกวนตานาโมจากคิวบามานานกว่าหนึ่งศตวรรษแล้ว ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังสงครามสเปน-อเมริกาในปี 1898
หลังจากที่สหรัฐอเมริกาเอาชนะสเปนได้ คิวบาก็ได้รับเอกราช แต่ภายใต้เงื่อนไขที่สหรัฐอเมริกากำหนดขึ้นซึ่งรวมถึงสิทธิในการแทรกแซงกิจการของคิวบาและสิทธิในการเช่าที่ดินเพื่อใช้เป็นฐานทัพเรือ
ในปี 1903 สหรัฐอเมริกาและคิวบาได้ลงนามในข้อตกลงการเช่าเพื่อให้สหรัฐฯ ควบคุมอ่าวกวนตานาโม
ข้อตกลงดังกล่าวให้สหรัฐฯ เช่าฐานทัพได้ตลอดไป โดยแลกกับค่าเช่าด้วยทองมูลค่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี ต่อมาในปี 1934 จำนวนเงินดังกล่าวได้รับการปรับเป็นมูลค่าเทียบเท่า 4,085 ดอลลาร์สหรัฐ แต่การชำระเงินดังกล่าวยังคงเป็นเพียงเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น
คิวบาคัดค้านการเช่าและมักจะไม่ยอมรับการชำระค่าเช่าในนามของสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีคิวบา
นายมิเกล ดิอัซ-กาเนล ประธานาธิบดีคิวบา โพสต์บนแพลตฟอร์ม “เอ็กซ์” (X) โดยเรียกการตัดสินใจครั้งนี้ว่าเป็น “การกระทำอันโหดร้าย” และกล่าวถึงฐานทัพดังกล่าวว่า “ตั้งอยู่ในดินแดนของคิวบาที่ถูกยึดครองโดยผิดกฎหมาย”
บรูโน โรดริเกซ รัฐมนตรีต่างประเทศคิวบา ก็ได้กล่าวบนแพลตฟอร์ม “เอ็กซ์” ว่า “การตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะคุมขังผู้อพยพที่ฐานทัพเรือกวนตานาโม ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เป็นสถานที่ทรมานและกักขังชั่วคราว แสดงให้เห็นถึงการดูหมิ่นสภาพความเป็นมนุษย์และกฎหมายระหว่างประเทศ”
ที่มา BBC.co.uk