“หมองูตายเพราะงู” รู้จักนักประดิษฐ์ 5 คน ที่ลาโลกเพราะนวัตกรรมของตัวเอง
นักประดิษฐ์คิดค้นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ใช่ว่าจะโชคดีมีชื่อเสียงโด่งดัง หรือมั่งคั่งร่ำรวยเงินทองจากผลงานของตัวเองไปเสียทั้งหมด
เราอาจเคยได้ยินชื่อของนักประดิษฐ์บางคนที่คุ้นหูกันดี เพราะชื่อของเขาได้กลายเป็นชื่อเรียกสิ่งประดิษฐ์ยอดนิยมที่ผู้คนใช้กันทั่วโลก ตัวอย่างเช่นรหัสมอร์สที่คิดค้นโดยแซมมวล มอร์ส, การฆ่าเชื้อแบบพาสเจอไรซ์ ที่คิดค้นโดยหลุยส์ ปาสเตอร์, ระบบน้ำวนจากุซซี ผลงานของแกนดิโด จากุซซี, ของเล่นฝึกสมองอย่างลูกบิดรูบิก ผลงานของเออร์โน รูบิก, เครื่องดนตรีเสียงไพเราะอย่างแซกโซโฟน ก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดย อดอล์ฟ แซก ชาวเบลเยียม, ของว่างแสนอร่อยอย่างแซนด์วิช ก็มาจากไหวพริบในการแก้ปัญหาของเอิร์ลแห่งแซนด์วิช ขุนนางชาวอังกฤษ, แม้แต่อาวุธร้ายแรงอย่างปืนอาก้าหรือปืนกลคาลาชนิคอฟ ก็เป็นผลงานของมิคาอิล คาลาชนิคอฟ ชาวรัสเซียนั่นเอง
แต่ทว่านักประดิษฐ์จำนวนไม่น้อย กลับไม่เคยมีชื่อเสียงเป็นที่จดจำของชาวโลก แม้สิ่งประดิษฐ์ของพวกเขาจะได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งใช้งานกันแพร่หลายทั่วไปในชีวิตประจำวันก็ตาม ตัวอย่างเช่นสัญญาณไฟจราจรนั้น คิดค้นขึ้นโดยการ์เร็ตต์ ออกัสตัส มอร์แกน ซีเนียร์ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน, ที่เปิดกระป๋องก็เป็นผลงานของโรเบิร์ต เยตส์ ชาวอังกฤษ, และเครื่องจักรผลิตถุงกระดาษก้นแบน ที่แม่บ้านยุคก่อนคุ้นเคยกันดีเวลาไปจ่ายตลาด ก็เป็นผลงานที่มาร์กาเร็ต ไนต์ นักประดิษฐ์หญิงชาวอเมริกันสร้างสรรค์ขึ้น
แม้นักประดิษฐ์ในกลุ่มข้างต้นจะไร้ชื่อเสียง แต่ชะตากรรมของพวกเขาก็ยังถือว่าดีกว่านักประดิษฐ์ 5 คน ที่เราจะแนะนำให้รู้จักต่อไปนี้อย่างมาก เพราะเหล่านักประดิษฐ์ผู้เคราะห์ร้ายยิ่งกว่าใครนั้น ถึงกับสูญเสียชีวิตของตนเองเพราะความพยายามสร้างสรรค์นวัตกรรม ไม่ต่างจากหมองูที่ต้องตายเพราะงูนั่นเอง
ร่วงหล่นจากฟากฟ้า
การที่คนเราจะสามารถโผบินไปบนฟ้าได้เหมือนนก เป็นความใฝ่ฝันที่มนุษยชาติมีร่วมกันมาตั้งแต่ยุคโบราณ ดังที่ปรากฏในเทพปกรณัมกรีก ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของเดดาลัส นักประดิษฐ์ที่ต้องสูญเสียลูกชายชื่ออิคารัสไป เพราะสร้างปีกเทียมที่ทำให้คนบินได้จากขนนกและขี้ผึ้ง
Skip เรื่องแนะนำ and continue discovering outเรื่องแนะนำ
Pause of เรื่องแนะนำ
เดดาลัสนำปีกเทียมที่ประดิษฐ์ขึ้นมาติดที่หลังของตนเองและบุตรชาย เพื่อหลบหนีจากราชาแห่งเกาะครีตที่สั่งขังตัวเขาและลูกเอาไว้ในเขาวงกต ซึ่งก็เป็นสิ่งประดิษฐ์น่าอัศจรรย์อีกชิ้นหนึ่งของเขาเช่นกัน แต่น่าเสียดายที่ลูกชายของเดดาลัสเกิดคึกคะนอง บินโฉบเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไป ส่งผลให้รัศมีร้อนแรงละลายขี้ผึ้งที่ยึดขนนกกับปีกเทียม จนอิคารัสร่วงหล่นลงมาถึงแก่ชีวิตในที่สุด
เรื่องราวที่คล้ายกันนี้ เกิดขึ้นซ้ำรอยอีกหลายครั้งในประวัติศาสตร์โลก เช่นในกรณีของโรเบิร์ต ค็อกกิง จิตรกรสีน้ำชาวอังกฤษ ซึ่งชื่อของเขาไม่ได้รับการจดจำในฐานะศิลปินฝีมือเยี่ยม แต่กลับถูกบันทึกไว้ในฐานะผู้เสียชีวิต จากอุบัติเหตุระหว่างการดิ่งพสุธา (skydiving) ครั้งแรกของโลก
ก่อนหน้านั้นในปี 1785 ฌอง ปิแอร์ บลองชาด์ นักประดิษฐ์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส ประสบความสำเร็จในการคิดค้นร่มชูชีพสมัยใหม่รุ่นแรก ทำให้ในอีกครึ่งศตวรรษต่อมา ค็อกกิงเกิดความคิดว่าเขาสามารถปรับปรุงพัฒนาร่มชูชีพดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ เขาจึงใช้เวลาหลายปีมุ่งมั่นทำงาน ก่อนจะจัดการแสดงกระโดดร่มโชว์ในวันที่ 24 ก.ค. 1834
ร่มชูชีพรุ่นใหม่ที่ค็อกกิงพัฒนาขึ้นนั้น เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ใช้สามารถยืนหรือนั่งในตะกร้าใบยักษ์ ซึ่งจะรองรับร่างกายของเขาหรือเธอเอาไว้ได้ตลอดการกระโดดร่มลงมา โดยในตอนแรก ค็อกกิงไต่ขึ้นไปที่ระดับความสูง 1,500 เมตรเหนือพื้นดิน ด้วยวิธีผูกติดอุปกรณ์ของเขาไว้กับบอลลูนยักษ์ Royal Nassau Balloon
เมื่อค็อกกิงล่องลอยไปถึงจุดกระโดดร่มที่ตำบลกรีนิชชานกรุงลอนดอน ดวงอาทิตย์ได้ลับขอบฟ้าไปแล้ว ทำให้เขาต้องรีบตัดสินใจปลดปล่อยอุปกรณ์ของเขาออกจากบอลลูนยักษ์ในทันที มิฉะนั้นจะพลาดโอกาสในการทดลองครั้งสำคัญนี้ไป
ในตอนแรกทุกอย่างดูจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่ไม่นานนักเขาเริ่มดิ่งลงมาเร็วเกินไป แล้วจู่ ๆ ผืนผ้าของร่มชูชีพก็พลิกกลับด้านและเริ่มขาดออกจากกัน จนหลุดลอยไปจากตะกร้ายักษ์ที่รองรับตัวเขาไว้ ทำให้ค็อกกิงร่วงลงมากระแทกพื้นอย่างแรงจนเสียชีวิต ผลการสอบสวนในภายหลังพบว่า เขาลืมนำน้ำหนักของตัวร่มชูชีพเองมาคำนวณร่วมด้วย ทำให้ไม่สามารถตระเตรียมการกระโดดร่มได้อย่างระมัดระวังรอบคอบพอ
แต่ถึงจะมีตัวอย่างไว้คอยเตือนใจเหล่านักประดิษฐ์ร่มชูชีพแล้วก็ตาม ในอีก 80 ปีต่อมา ช่างตัดเสื้อชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งก็ยังอุตส่าห์เดินตามรอยของค็อกกิงไปสู่ปรโลก เขาคือฟรานซ์ ไฮเชลต์ ผู้เสียชีวิตที่มรณกรรมจากการทดสอบร่มชูชีพของเขา ได้รับการถ่ายทอดสู่สายตาชาวโลกอย่างละเอียดชัดเจนผ่านสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นภาพการ์ตูน, ภาพถ่าย, หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์ ที่ตอนแรกมีการตั้งกองถ่ายไว้เพื่อบันทึกความสำเร็จของเขา
เดิมทีไฮเชลต์ต้องการออกแบบร่มชูชีพที่สวมใส่เป็นชุดนักบินได้ เพื่อให้นักบินที่ดีดตัวออกจากเครื่องบินในเหตุฉุกเฉิน ใช้เป็นร่มชูชีพที่สามารถกางออกได้ในทันที โดยเขาใช้ผ้าไหมตัดเย็บให้มีลักษณะเป็นปีกที่พับเก็บไว้ ซึ่งมันดูเหมือนจะทำงานได้ดี ในตอนที่ไฮเชลต์ทดลองทิ้งหุ่นโชว์เสื้อลงจากดาดฟ้าอาคารสำนักงานของเขาในกรุงปารีส
อย่างไรก็ตาม ร่มชูชีพรุ่นนี้มีข้อด้อยตรงที่มันใหญ่เทอะทะจนพกพาไม่สะดวก ทำให้ไฮเชลต์ต้องปรับแก้ไขการออกแบบอีกครั้ง จากนั้นเขาเริ่มมองหาสถานที่ทดลองใช้อุปกรณ์ที่มีความสูงมากพอ ซึ่งจะทำให้หุ่นโชว์เสื้อที่สวมใส่ชุดร่มชูชีพ ดิ่งพสุธาด้วยความเร็วสูงจนร่มชูชีพสามารถกางออกได้อย่างถูกต้อง โดยในครั้งนี้ไฮเชลต์มองว่า ชั้นลอยชั้นแรกของหอไอเฟลที่สูงจากพื้นดิน 57 เมตร มีความเหมาะสมมากที่สุด
ในวันที่ 4 ก.พ. 1912 ไฮเชลต์ได้รับอนุญาตจากทางการให้ทำการทดลองได้ เขายังเรียกสื่อมวลชนทุกแขนงมาเป็นสักขีพยานในวันดังกล่าว แต่สาธารณชนต้องประหลาดใจเมื่อจู่ ๆ เขากลับประกาศว่า วันนี้จะไม่ใช้หุ่นโชว์เสื้อทดสอบชุดร่มชูชีพ แต่ตัวเขาจะเป็นผู้สวมชุดดังกล่าวและกระโดดลงมาด้วยตนเอง
แม้ตำรวจจะเข้ามาเตือนว่า เขายังไม่ได้รับอนุญาตให้โชว์กระโดดร่มสดด้วยตนเองในวันนี้ ส่วนเพื่อนฝูงก็พยายามห้ามปรามเขาอย่างเต็มที่ แต่ความดื้อรั้นของไฮเชลต์ทำให้เขาตัดสินใจปีนป่ายขึ้นไปบนหอไอเฟล แล้วกระโดดลงมาทั้งที่ยังสวมชุดร่มชูชีพไม่เรียบร้อยดี ผลก็คือปีกร่มชูชีพที่พับเก็บไว้กับชุด ไม่สามารถกางออกได้อย่างเต็มที่ ทำให้ไฮเชลต์เสียชีวิตคาที่หลังดิ่งกระแทกพื้นต่อหน้าฝูงชนจำนวนมาก
อุบัติเหตุสุดเหลือเชื่อที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้
ลองจินตนาการถึงเก้าอี้ที่ดูนั่งสบาย ซึ่งแขนเก้าอี้จะโอบรอบตัวคนนั่งในทันทีที่หย่อนตัวลงไป หรือรถเข็นเสิร์ฟน้ำชาที่เต็มไปด้วยขนมนมเนย ที่ล่องลอยลงมาหาจากเพดานได้อย่างน่าอัศจรรย์
ของวิเศษสองอย่างนี้คือส่วนหนึ่งในผลงานการประดิษฐ์คิดค้นของเฮนรี วินสแตนลีย์ ซึ่งตั้งอยู่ใน “บ้านชวนพิศวง” (Dwelling of Wonders) ซึ่งเป็นบ้านของเขาและนางเจนผู้ภรรยา ในมณฑลเอสเซกซ์ของสหราชอาณาจักร
เฮนรี วินสแตนลีย์ เป็นจิตรกรและช่างแกะสลักที่หลงใหลในเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ไฮดรอลิกแบบต่าง ๆ ทำให้ในช่วงทศวรรษ 1690 เขาได้เปิดตัว “โรงละครน้ำทางคณิตศาสตร์” ที่กรุงลอนดอน ซึ่งภายในเต็มไปด้วยสิ่งประดิษฐ์น่าสนใจอันหรูหราน่าทึ่งที่เขาสร้างสรรค์ขึ้น ความโด่งดังของสถานที่แห่งนี้ทำเงินให้กับวินสแตนลีย์อย่างมหาศาล จนสามารถนำไปซื้อเรือสำเภาได้ลำหนึ่ง
โชคร้ายที่สองสามีภรรยาวินสแตนลีย์ ต้องมาประสบเหตุเรือแตกในทะเลระหว่างแล่นเรือผ่านกองหินเอ็ดดีสโตน (Eddystone Rocks) ที่นอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษ บริเวณดังกล่าวนั้นขึ้นชื่อในเรื่องของอุบัติเหตุทางน้ำที่มักทำให้เรือจม จนบรรดาผู้โดยสารและลูกเรือต้องสังเวยชีวิตไปแล้วนับไม่ถ้วน ตลอดช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา
นายวินสแตนลีย์ตัดสินใจทันทีว่า เขาต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหานี้ ในเวลาต่อมาเขาจึงได้ออกแบบและร่างแผนการสร้างประภาคารขนาดใหญ่บนกองหินเอ็ดดีสโตน เพื่อยื่นเสนอต่อกองทัพเรืออังกฤษ
แม้เป็นเรื่องยากที่จะจูงใจให้ทางการเห็นด้วยกับแผนของเขา เพราะไม่เคยมีการก่อสร้างประภาคารในทะเลหลวง หรือบนกองหินที่ถูกน้ำท่วมมิดในเวลาที่กระแสน้ำขึ้นมาก่อน แต่ในที่สุดโครงการก่อสร้างประภาคารก็ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 1696 โดยเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการที่นายวินสแตนลีย์ถูกโจรสลัดฝรั่งเศสลักพาตัวไป แต่เขาก็กลับมาทำงานต่อทันทีเมื่อได้รับการปล่อยตัว จนในปี 1698 เขาสามารถจุดเทียนทั้ง 60 เล่ม ของประภาคารที่มีความสูง 27 เมตรนี้ได้สำเร็จ
ต่อมาเขาพบว่ามีเสียงลั่นเอี๊ยดอ๊าดเกิดขึ้น เมื่อประภาคารเจอกระแสลมกรรโชกแรง ทั้งยังไม่อาจมองเห็นภายนอกได้โดยง่ายเมื่อเกิดคลื่นซัดขนาดมหึมา เขาจึงออกแบบแก้ไขโครงสร้างของประภาคารเสียใหม่ โดยเสริมความแข็งแกร่งของผนังทุกด้าน และเพิ่มความสูงของประภาคารขึ้นอีกเป็น 40 เมตร
หลังการปรับปรุงดังกล่าว วินสแตนลีย์มีความมั่นอกมั่นใจในความปลอดภัยของประภาคารอย่างเต็มเปี่ยม จนถึงกับประกาศออกไปว่า เขายินดีจะนอนค้างในตัวประภาคาร ในยามที่เกิดพายุลูกใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
ต่อมาในปี 1703 พายุลูกใหญ่ที่มีความรุนแรงเป็นประวัติการณ์ ซัดเข้าถล่มหมู่เกาะอังกฤษด้วยความเร็วลม 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 1,500 คน ทั้งบนบกและในทะเล วินสแตนลีย์ที่รอคอยโอกาสนี้มานาน จึงเดินทางไปตรวจสอบประภาคารที่ยังคงยืนหยัดท้าลมพายุอยู่ ในวันที่ 27 พ.ย. ของปีเดียวกัน เขาตัดสินใจนอนค้างที่ประภาคารในคืนนั้น ทั้งยังกำชับเพื่อนร่วมงานให้กลับมาดูเขาในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นอีกด้วย
เป็นที่น่าเสียดายว่า ไม่มีใครได้พบเห็นนายวินสแตนลีย์อีกเลย เพราะเมื่อคืนก่อนลมพายุเกิดกระหน่ำรุนแรงขึ้นอย่างฉับพลัน พัดพาเอาตัวประภาคารและคนที่อยู่ในนั้นหายลงทะเลไปทั้งหมดโดยไม่เหลือร่องรอย
แต่ถึงกระนั้น ตลอดช่วงเวลา 5 ปี ที่มีการใช้งานประภาคารดังกล่าว ไม่เคยมีเหตุเรือแตกหรือเรือจม เกิดขึ้นในบริเวณกองหินเอ็ดดีสโตนเลยแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งนับว่าเป็นปาฏิหาริย์ที่เหลือเชื่อในเขตอันตรายอย่างแท้จริง นับว่าผลงานและความพยายามของนายวินสแตนลีย์นั้นไม่สูญเปล่า และทำให้ยังคงมีการก่อสร้างประภาคารขึ้นใหม่ตรงที่เดิมในปัจจุบัน
ฟ้าผ่าและประกายไฟ
ในช่วงทศวรรษ 1740 ปรากฏการณ์ทางไฟฟ้าได้จุดประกายความสนใจในหมู่นักวิทยาศาสตร์ให้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการคิดค้น “โถแก้วเลย์เดน” (Layden jar) ซึ่งเป็นตัวเก็บประจุในปี 1745 นักฟิสิกส์ชาวรัสเซียเชื้อสายเยอรมัน กีออร์ก วิลเฮล์ม ริชมานน์ ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่หลงใหลในเรื่องดังกล่าว จนมีผลงานบุกเบิกในแวดวงของผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้าด้วย
บทความในเว็บไซต์ของห้องสมุดลินดา ฮอลล์ ระบุว่าหลังจากที่เบนจามิน แฟรงคลิน ออกมาฟันธงในปี 1752 ว่าเหตุฟ้าแลบและสายฟ้าผ่านั้นเป็นปรากฏการณ์ทางไฟฟ้า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คนใดก็ตามสามารถทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ได้ คำกล่าวนี้ทำให้ริชมานน์อยากจะทำการทดลองดูบ้าง เพื่อทดสอบเครื่องวัดกำลังไฟฟ้าในบรรยากาศที่เขาเพิ่งคิดค้นขึ้น
ริชมานน์ติดตั้งเสาเหล็กภายในบ้านของเขา ซึ่งเสานี้เชื่อมต่อกับเส้นลวดที่อยู่บนหลังคา และมีเครื่องวัดกำลังไฟฟ้าติดตั้งอยู่ที่ปลายเสา โดยในวันที่ 6 ส.ค. 1753 เขารีบกลับบ้านหลังจากเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง โดยนำช่างแกะสลักแม่แบบภาพพิมพ์ของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซียกลับมาด้วย เพื่อเป็นประจักษ์พยานและช่วยเผยแพร่ภาพการทดลองของเขาออกสู่สายตาสาธารณชน
ในขณะที่ริชมานน์กำลังเพ่งมองไปที่เครื่องวัดกำลังไฟฟ้า ชั่วพริบตาเดียวช่างแกะสลักก็เห็นลูกไฟดวงเล็กจากสายฟ้าที่ผ่าลงมา พุ่งจากเสาเหล็กเข้าปะทะที่กลางหน้าผากของริชมานน์อย่างจัง จนเขาล้มหงายลงนอนกับพื้นในทันที หลังจากนั้นยังมีเหตุระเบิดและเกิดเปลวไฟที่เริ่มลุกลามไปโดยรอบ
ริชมานน์กลายเป็นเหยื่อรายแรกที่เสียชีวิตจากการทดลองทางไฟฟ้า ทำให้โจเซฟ พรีสต์ลีย์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษถึงกับเขียนไว้อาลัยกึ่งประชดเสียดสีให้กับเขา ในปี 1767 ว่า “ไม่ใช่ว่านักวิทยาศาสตร์ไฟฟ้าทุกคนจะสามารถตายจากไปได้อย่างรุ่งโรจน์ เหมือนกับริชมานน์ผู้สมควรจะเป็นคนที่น่าอิจฉา”
สิ่งประดิษฐ์สู้กลับเมื่อถูกเจ้าของเตะ
เมื่อโลกย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 เริ่มมีการเติบโตทางธุรกิจของอาณาจักรสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ซึ่งต้องเร่งผลิตสิ่งพิมพ์ให้ได้ตามความต้องการของนักอ่านที่เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว จนเครื่องพิมพ์ลูกกลิ้งเดี่ยวที่ใช้ไฟฟ้าแบบเก่าไม่อาจรองรับไหวอีกต่อไป ทำให้ในช่วงทศวรรษ 1860 วิลเลียม บูลล็อก นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ได้ริเริ่มคิดค้นเครื่องจักรรุ่นใหม่ที่จะปฏิวัติวงการสิ่งพิมพ์ ซึ่งก็คือเครื่องพิมพ์โรตารีที่ป้อนกระดาษจากม้วนโดยอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (rotary web printing press) ซึ่งช่วยแก้ปัญหาทางเทคนิคไปได้มาก
เครื่องพิมพ์แบบใหม่ดังกล่าว ทำให้กระดาษเข้าสู่เครื่องพิมพ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้แรงงานคนคอยป้อนกระดาษตลอดเวลาเหมือนเมื่อก่อน เครื่องพิมพ์นี้ยังสามารถปรับตั้งค่าหน้ากระดาษได้โดยอัตโนมัติ สามารถจะพิมพ์สองหน้า รวมทั้งพับและตัดกระดาษแผ่นใหญ่ได้อย่างรวดเร็วและเรียบร้อยแม่นยำ
แต่ทว่าในเดือนเม.ย. ปี 1867 ขณะที่บูลล็อกกำลังปรับแท่นพิมพ์ใหม่ ซึ่งเขาเพิ่งติดตั้งให้กับหนังสือพิมพ์ Philadelphia Public Ledger สายพานขับเคลื่อนเครื่องจักรได้หลุดออกจากตัวลูกรอกโดยบังเอิญ จนกระบวนการพิมพ์สะดุดค้าง
แทนที่จะปิดเครื่องพิมพ์ให้หยุดทำงานแล้วลงมือตรวจสอบ บูลล็อกกลับใช้วิธีลัดเข้าแก้ไขแบบรวดเร็วทันใจ โดยเขาเตะอย่างแรงเข้าที่ตัวเครื่องจักร จนขาเข้าไปติดและถูกหนีบอยู่ระหว่างคู่ลูกกลิ้งของแท่นพิมพ์
แม้เพื่อนร่วมงานจะช่วยแงะเอาขาที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสของเขาออกมาได้ แต่ต่อมาแผลกลับติดเชื้อรุนแรงจนเน่าดำ ทำให้เขาเสียชีวิตลงในตอนที่แพทย์กำลังผ่าตัดเอาขาข้างนั้นทิ้งไป
ในปี 1964 มีการติดตั้งแผ่นป้ายเชิดชูเกียรติที่ระบุเอาไว้ว่า “สิ่งประดิษฐ์ของเขา ซึ่งก็คือเครื่องพิมพ์โรตารีแบบป้อนกระดาษต่อเนื่องอัตโนมัติ ได้ทำให้การผลิตหนังสือพิมพ์ยุคใหม่สามารถจะเกิดขึ้นได้”
ที่มา BBC.co.uk