
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา ‘ฐิตินันท์ สารเนตร' อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอากาศ สกลนคร เบียดบังเงินโครงการอาหารกลางวันเด็กโดยทุจริต ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 4 พิพากษาลงโทษจำคุก 104 เดือน ได้รอลงอาญา พร้อมพวก 2 ราย ส่วนจำเลยที่ 4 โดนหนัก 125 ปี ติดจริง 50
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. ) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายฐิตินันท์ สารเนตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร กับพวก คือ นางสุชาดา ธิราวรรณ นางวิไลวรรณ์ ไชยวรรณ์ นางผ่องฉวี สารเนตร กรณีเบียดบังเงินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนบ้านอากาศ ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เป็นของตนโดยทุจริต ซึ่งถูกคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 , 157 และ พ.ร.ป. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตาม พ.ร.ป.สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบ ป.อ. มาตรา 91 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 มีคำพิพากษา ดังนี้
1. นายฐิตินันท์ สารเนตร จำเลยที่ 1 , นางสุชาดา ธิราวรรณ จำเลยที่ 2 , นางวิไลวรรณ์ ไชยวรรณ์ จำเลยที่ 3 และนางผ่องฉวี สารเนตร จำเลยที่ 4 มีความผิดตามกฏหมาย
2. ลงโทษ จำเลยที่ 1 รวม 13 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 20,000 บาท รวมจำคุก 13 ปี และปรับ 260,000 บาท , จำเลยที่ 2 รวม 25 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปีและปรับ กระทงละ 20,000 บาท รวม 25 ปี และปรับ 500,000 บาท, จำเลยที่ 3 รวม 11 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปีและปรับ กระทงละ 20,000 บาท รวม จำคุก 11 ปี และปรับ 220,000 บาท
3. จำเลยที่ 1 ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือ จำคุก 104 เดือน และปรับ 173,333.33 บาท
4. จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ ลดโทษจำเลยที่ 2 เหลือ 150 เดือน และปรับ 250,000 บาท ลดโทษจำเลยที่ 3 เหลือ 66 เดือน และปรับ 110,000 บาท
5. ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 , 2 , 3 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน หลังเกิดเหตุชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายตามจำนวนที่ต้องรับผิดชอบแล้ว ให้โอกาศกลับตนเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี
6. จำเลยที่ 4 ลงโทษจำคุก 25 กระทงๆ ละ 5 ปี รวม 125 ปี ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ ลดโทษให้มีกำหนด 50 ปี 150 เดือน เมื่อรวมทุกกระทงแล้วคงจำคุก 50 ปี ให้ชดใช้เงินจำนวน 871,280 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
เบื้องต้น คณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีการประชุมลงมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 เห็นชอบในการในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )