
นักวิทยาศาสตร์อ้างค้นพบ ‘สีใหม่' ที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน

ที่มาของภาพ : Getty Photography
Article data
- Author, ฮัฟซา คาลิล
- Characteristic, บีบีซีนิวส์
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์อ้างว่าพวกเขาค้นพบเฉดสีใหม่ที่ไม่มีมนุษย์คนไหนเคยมองเห็นมาก่อน
งานวิจัยดังกล่าวเป็นผลมาจากการทดลองที่นักวิจัยในสหรัฐฯ ยิvเลเซอร์พัลส์เข้าไปในดวงตา
โดยการกระตุ้นเซลล์เฉพาะในจอประสาทตา ผู้เข้าร่วมการทดลองอ้างว่าได้เห็นสีน้ำเงินอมเขียว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “โอโล” แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่าการมีอยู่ของสีใหม่นี้ “เป็นเรื่องที่ยังต้องถกเถียงกัน”
ผลการวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances เมื่อวันศุกร์ (18 เม.ย.) โดยศาสตราจารย์ เรน อึง จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ผู้เขียนร่วมในการศึกษานี้ เรียกการค้นพบดังกล่าวว่าเป็นการค้นพบที่ “น่าทึ่งมาก”
ศ.อึง และทีมวิจัย เชื่อว่าผลลัพธ์ดังกล่าวอาจนำไปใช้ในการวิจัยเกี่ยวกับอาการตาบอดสีได้
Skip ได้รับความนิยมสูงสุด ได้รับความนิยมสูงสุด
Discontinue of ได้รับความนิยมสูงสุด
ศ.อึง ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าคนที่เข้าร่วมการทดลอง กล่าวกับรายการทูเดย์ของบีบีซี เรดิโอ 4 เมื่อวันเสาร์ว่า สีโอโลนั้น “มีความอิ่มตัวมากกว่าสีใด ๆ ที่คุณจะสามารถเห็นได้ในโลกใบนี้”
“ลองนึกภาพว่าตลอดทั้งชีวิตคุณเห็นแต่สีชมพู ชมพูอ่อน ชมพูพาสเทล” เขากล่าว “แล้ววันหนึ่งคุณไปที่ทำงานและเห็นคน ๆ หนึ่งสวมเสื้อที่เป็นสีชมพูเข้มที่สุดที่คุณเคยเห็นมา และพวกเขาบอกว่ามันคือสีใหม่ และเราเรียกสีนั้นว่าสีแดง”
ในระหว่างการทดลองของทีมวิจัย นักวิจัยได้ฉายลำแสงเลเซอร์ไปที่รูม่านตาข้างหนึ่งของผู้เข้าร่วมแต่ละราย
ในการศึกษาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 5 คน เป็นชาย 4 คน และหญิง 1 คน ซึ่งทุกคนมีการมองเห็นสีตามปกติ โดยผู้เข้าร่วมในนี้ 3 คน รวมทั้ง ศ.อึง เป็นผู้เขียนร่วมของบทความวิจัยนี้
ตามรายงานการวิจัย ผู้เข้าร่วมได้ศึกษาอุปกรณ์ที่เรียกว่า ออซ (Oz) ซึ่งประกอบด้วยกระจก เลเซอร์ และอุปกรณ์ออปติก อุปกรณ์ดังกล่าวได้รับการออกแบบโดยนักวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน โดยอุปกรณ์ดังกล่าวได้รับการปรับปรุงเพื่อใช้ในการศึกษาครั้งนี้โดยเฉพาะ
จอประสาทตาเป็นชั้นเนื้อเยื่อที่ไวต่อแสงที่อยู่บริเวณด้านหลังของดวงตา ซึ่งทำหน้าที่รับและประมวลผลข้อมูลภาพ โดยจะแปลงแสงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า จากนั้นจึงส่งต่อไปยังสมองผ่านเส้นประสาทตา ทำให้เราสามารถมองเห็น
จอประสาทตาประกอบด้วยเซลล์รูปกรวย ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่รับรู้สี ในดวงตามีเซลล์รูปกรวย 3 ประเภท คือเซลล์ S, L และ M โดยแต่ละประเภทมีความไวต่อความยาวคลื่นของสีน้ำเงิน สีแดง และสีเขียวต่างกันตามลำดับ
ตามรายงานการวิจัยพบว่า ในการมองเห็นปกติ “แสงใด ๆ ที่กระตุ้นเซลล์รูปกรวย M จะต้องกระตุ้นเซลล์รูปกรวย L และ/หรือ S ที่อยู่ข้างเคียงด้วย” เนื่องจากฟังก์ชันของเซลล์ M ทับซ้อนกับเซลล์รูปกรวยอื่น ๆ ที่อยู่ข้างเคียงด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาชิ้นนี้พบว่า เลเซอร์จะกระตุ้นเฉพาะเซลล์รูปกรวย M เท่านั้น “ซึ่งโดยหลักการแล้วจะส่งสัญญาณสีไปยังสมอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในการมองด้วยสายตาตามธรรมชาติ” รายงานระบุ ซึ่งหมายความว่าบุคคลจะไม่สามารถมองเห็นสีโอโลด้วยตาเปล่าได้ หากไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างเฉพาะเจาะจง
เพื่อยืนยันสีค้นพบระหว่างการทดลอง ผู้เข้าร่วมการทดลองแต่ละรายได้ปรับหน้าปัดสีที่ควบคุมได้จนกว่าจะตรงกับสีโอโล (olo)
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่าการรับรู้สีใหม่เป็น “เรื่องของการตีความ”
ศ.จอห์น บาร์เบอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านการมองเห็นจากซิตี้เซ็นต์จอร์จ มหาวิทยาลัยลอนดอน (City St George's, University of London) ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้ กล่าวว่า แม้ว่าการวิจัยนี้จะเป็น “ความสำเร็จทางเทคโนโลยี” ในการกระตุ้นเซลล์รูปกรวยที่เลือก แต่การค้นพบสีใหม่นั้น “เป็นเรื่องที่ยังต้องถกเถียงกัน”
เขาอธิบายว่าหากเซลล์รูปกรวยสีแดง (L) ถูกกระตุ้นเป็นจำนวนมาก ผู้คนจะ “รับรู้สีแดงเข้ม” แต่ความสว่างที่รับรู้ได้อาจเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของความไวต่อแสงของกรวยสีแดง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้แตกต่างออกไป จากการค้นพบในการศึกษาครั้งนี้
แต่ ศ.อึง ซึ่งเป็นผู้เขียนร่วมของการศึกษายอมรับว่า แม้ว่าการมองเห็นสีโอโล (olo) “เป็นเรื่องยากทางเทคนิคอย่างมาก” แต่ทีมวิจัยกำลังศึกษาผลการค้นพบนี้เพื่อดูว่าสิ่งนี้อาจมีความหมายต่อผู้ที่มีอาการตาบอดสี ซึ่งยากที่จะแยกแยะสีบางสีอย่างไร
ที่มา BBC.co.uk