
‘สภาผู้บริโภค' เสนอ 6 ไอเดียแก้ปัญหารถทัวร์เกิดอุบัติเหตุ ทั้งประกาศเส้นทางห้ามใช้, มีระบบ GPS ติดตาม, ขยายวงเงินคุ้มครองประกันอุบัติเหตุ, รื้อเกณฑ์การตรวจรถ, ทบทวนมาตรฐานรถและสแกนกฎหมายให้มีการป้องปรามมากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า วันที่ 6 มิถุนายน 2568 จากกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทางติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 68 เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารไม่ประจำทางเบรกแตก ชนรถยนต์และเสาไฟฟ้า ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย ส่วนวันที่ 4 มิ.ย. 68 เป็นกรณีรถทัวร์ ระยอง-มุกดาหาร เสียหลักพุ่งชนการ์ดเรล ส่งผลให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย และเจ็บมากกว่า 10 ราย นั้น โดยมีการคาดเดาว่า เกิดจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ คนขับ ยานพาหนะ และสภาพถนน ที่เป็นปัญหาด้านโครงสร้าง ซึ่งเป็นอบัติเหตุเหล่านี้ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้หากรัฐบาลมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม
นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดจากความไม่พร้อมของยานพาหนะและความไม่พร้อมของผู้ขับขี่ ซึ่งอุบัติเหตุดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้บริโภค ทั้งในแง่ของ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนความเชื่อมั่นในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนบางส่วนหันไปพึ่งพาการเดินทางส่วนตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ยังส่งผลให้ผู้บริโภคที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ต้องเผชิญกับภาระค่ารักษาพยาบาล การสูญเสียรายได้ และปัญหาด้านสิทธิเยียวยา ตลอดจนความรับผิดชอบของผู้ประกอบการและบริษัทประกันภัย ที่ยังคงเป็นปัญหาให้ผู้บริโภคต้องแบกรับความเสี่ยงโดยลำพัง สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิทธิพื้นฐานด้านความปลอดภัยในการเดินทางของผู้บริโภค
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้มีข้อเสนอไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน รวมทั้งมีข้อเสนอถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ออกนโยบายและมาตรการเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากรถโดยสารอย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ โดยมีข้อเสนอที่สำคัญดังนี้
ประกาศเส้นทางเสี่ยงห้ามรถโดยสารขนาดใหญ่เดินรถในเส้นทางที่กำหนด โดยเฉพาะรถทัวร์สองชั้น โดยไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการขนส่งเดินรถในเส้นทางที่มีพื้นที่ลาดชันอันตราย และเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภค
มีระบบติดตามเชิงป้องกันแบบเรียลไทม์ (Proper Time) ผ่านระบบช่วยระบุตำแหน่ง (Global Positioning Arrangement : GPS) ในรถโดยสารสาธารณะ เมื่อพบว่ามีการขับรถเกินระยะเวลาที่กำหนด หรือขับรถด้วยความเร็วสูง หรือเข้าเส้นทางเสี่ยงอันตรายสามารถแจ้งเตือนหรือสกัดได้ทันที และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการควบคุมควรเชื่อมต่อหรือส่งข้อมูลในหน่วยงานอื่น ๆ ในระดับพื้นที่ เช่น ตำรวจทางหลวง สำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด เป็นต้น
เสนอให้ขยายวงเงินความคุ้มครองประกันภัยอุบัติเหตุภาคสมัครใจ กลุ่มรถโดยสารขนาดใหญ่ (มาตรฐาน 1 และมาตรฐาน 4) โดยกำหนดเงื่อนไขวงเงิน เฉพาะการชดเชยเยียวยาผู้ประสบเหตุจากจำนวน 10 ล้านบาทต่อครั้ง เพิ่มเป็นจำนวน 30 ล้านบาทต่อครั้ง โดยไม่รวมค่าซ่อมแซมพาหนะที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้ครอบคลุมต่อความเสียหายเมื่อเกิดเหตุร้ายแรงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
รื้อหลักเกณฑ์และมาตรการการตรวจสภาพรถโดยสารสาธารณะทั้งระบบ โดยขอให้เข้มงวดกวดขันและมีบทลงโทษขั้นเด็ดขาดกับเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และให้มีระบบฐานข้อมูล (database) ออนไลน์ที่แสดงข้อมูลประวัติการตรวจสภาพรถโดยสาร โดยผู้บริโภคสามารถติดตามและตรวจสอบก่อนการเลือกใช้บริการอย่างสะดวกเข้าถึงได้ทางระบบสารสนเทศของกรมการขนส่งทางบก
ทบทวนมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะทั้งระบบ กำหนดอายุการใช้งานรถโดยสารสาธารณะ อายุโครงแชสซีและตัวถังรถ การใช้อะไหล่ชิ้นส่วนรถ และการบังคับใช้เกณฑ์คุณสมบัติ ด้านการลุกไหม้การลามไฟของวัสดุที่ใช้ตกแต่งภายในรถโดยสารทุกคันทั้งประเภทประจำทางและไม่ประจำทาง รวมถึงการเพิ่มเครื่องมือตรวจสอบโครงสร้างภายในโดยเฉพาะจากการผุกกร่อนของสนิม ระบบเครื่องยนต์และระบบเบรกหรือระบบห้ามล้อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย
เสนอให้พัฒนากฎหมาย กระบวนการทำงาน รวมถึงกระบวนการยุติธรรมที่ช่วยสร้างความเป็นธรรมและป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะเดียวกันซ้ำอีก
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )