“คดีสิ้นสุดแล้ว แต่ผมยังคาใจ” ศาลทหารสั่งจำคุกรุ่นพี่น้องเมย 4 เดือน รอลงอาญา 2 ปี ลงโทษได้สัดส่วนหรือไม่

ที่มาของภาพ : สุพิชา ตัญกาญจน์

นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 เสียชีวิตเมื่อปี 2560

วันนี้ ศาลมณฑลทหารบกที่ 12 ปราจีนบุรี มีคำพิพากษาชั้นฎีกายืนตามศาลชั้นอุทธรณ์ว่าให้จำเลยที่ทำให้นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ เมย อดีตนักเรียนเตรียมทหาร (นตท.) ชั้นปีที่ 1 เสียชีวิตปริศนาในโรงเรียนเตรียมทหารเมื่อเกือบ 8 ปีก่อน มีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย

นายภคพงศ์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 คดีที่ศาลพิพากษาในวันนี้เกี่ยวกับคดีทำร้ายร่างกายที่มีจำเลยเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นพี่ 1 คน ซึ่งเป็นผู้สั่งธำรงวินัยจนเมยต้องเข้าโรงพยาบาล

จากการเปิดเผยของครอบครัว ศาลเห็นว่าจำเลยไม่เคยได้รับโทษมาก่อน การลงโทษจำเลยตามที่โจทก์ขอถือว่าไม่เป็นประโยชน์ ให้จำเลยปรับปรุงตัวรับราชการ รับใช้ชาติต่อไปจะเป็นประโยชน์มากกว่า ศาลจึงลงโทษจำคุก 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี

ปัจจุบัน นักเรียนรุ่นพี่ที่เป็นจำเลยทำงานเป็นข้าราชการตำรวจ

นายพิเชษฐ และ นางสุกัลยา ตัญกาญจน์ พ่อและแม่ของผู้เสียชีวิตเดินทางไปยัง จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อฟังคำพิพากษาศาล ทั้งคู่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังทราบผลการตัดสิน โดยบอกว่าลูกชายคนเดียวของตัวเองไม่มีโอกาสได้มีชีวิตด้วยซ้ำ

Skip ได้รับความนิยมสูงสุด and proceed readingได้รับความนิยมสูงสุด

ได้รับความนิยมสูงสุด

“มันมีคำถามเล็ก ๆ ว่าศาลเห็นว่าจำเลยทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ แล้วถ้าลูกพี่มีชีวิตอยู่ล่ะ เขาสามารถทำคุณประโยชน์ให้กับชาติได้ไหม” นางสุกัลยากล่าว “จำเลยยังไม่ได้ติด คุก เลย เพราะจะยากต่อการประกอบสัมมาชีพ แต่ลูกพี่ไม่มีโอกาสเลยไง”

ส่วนผู้เป็นพ่อมีคำถามไปยัง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ว่าการที่รุ่นพี่รายนี้ทำงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตำรวจ) แล้วต้องคดีอาญา ทาง ตำรวจ จำเป็นต้องจัดการคนของตัวเองหรือไม่ โดยส่วนตัวแล้วเขาไม่เชื่อว่าจำเลยที่เป็น “เจ้าหน้าที่ตำรวจแบบนี้จะสามารถดูแลประชาชนต่อไปได้”

“ในตอนนี้ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว แต่ผมยังคาใจ คงต้องปรึกษาทนายต่อว่าจะทำอะไรได้บ้าง” นายพิเชษฐ กล่าวกับ. “เป้าหมายตอนนี้คือต้องการให้เขา หมายถึงจำเลย ต้องออกจากราชการ”

ครอบครัวยังคงค้างคาใจ

นอกจากทางครอบครัวจะมีคำถามต่อคำตัดสินของศาลทหารแล้ว พวกเขายังเล่าถึงอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงกว่า 7 ปีที่ผ่านมา เช่น กรณีการผ่าชันสูตรศwครั้งแรกที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งทางครอบครัวมาพบในภายหลังว่ามีการจัดเก็บสมอง หัวใจ และกระเพาะอาหาร ของนายภัคพงศ์ไว้

ในตอนนั้นแพทย์นิติเวชผู้ผ่าพิสูจน์ให้เหตุผลว่าได้จัดเก็บอวัยวะภายในร่างกายของเมยไว้จริง เพื่อทำการตรวจทางกล้องจุลทรรศน์เพิ่มเติม เนื่องจากการตรวจสภาพศwภายนอกไม่พบว่ามีบาดแผลประทุษกรรมตามร่างกาย และการผ่าเปิดภายในและพบว่ากระดูกซี่โครงที่ 4 ด้านขวาหัก และมีรอยช้ำของกล้ามเนื้อหน้าอกด้านขวาและซ้าย ไม่สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิตได้

นางสุกัลยาผู้เป็นแม่ไปแจ้งความเอาผิดกับแพทย์นิติเวชของ รพ.พระมงกุฎเกล้า กับสถานีตำรวจนครบาล (สน.) พญาไท โดยกล่าวหาว่าทำให้อวัยวะหายและเสียหาย รวมถึงทำลายอวัยวะ

ทางครอบครัวเคยนำประเด็นนี้ไปร้องเรียนแพทยสภาด้วย โดยทางแพทยสภาไม่เห็นว่าอวัยวะหายไปตามที่ถูกกล่าวหา แต่ผลการตรวจสอบที่น่าสนใจคือสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ที่หลงเหลืออยู่ในอวัยวะดังกล่าวมีน้อยมากจนแทบนำไปตรวจสอบต่อไม่ได้

“บางอวัยวะไม่มีสารพันธุกรรมเลย เราเลยตั้งคำถามว่ามันเป็นไปได้อย่างไรที่ไม่มีเลย มันเกิดความผิดพลาดอย่างไร อวัยวะที่ไม่มี DNA มันใช่ของลูกเราหรือเปล่า” นางสุกัลยา กล่าว

ต่อมาครอบครัวพบว่าตำรวจ สน.พญาไท ออกหมายเรียกแพทย์ไปแล้ว 2 ครั้ง แต่แพทย์ยังไม่มารายงานตัวตามหมายเรียก

“ผมก็ถามว่าทำไมไม่ออกหมายจับ พอเขาไม่มาแล้วทำไมตำรวจถึงเฉย” ผู้เป็นพ่อตั้งคำถาม

ครอบครัวยังอ้างด้วยว่าตำรวจสถานีตำรวจภูธร (สภ.) เมืองนครนายก ซึ่งรับผิดชอบทำสำนวนส่งฟ้องในอีกคดีหนึ่ง ได้เข้ารับฟังผลการชันสูตรศwรอบสองโดย รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และทราบดีว่าสาเหตุการเสียชีวิตของนายภคพงศ์คืออะไร แต่สุดท้ายสำนวนที่ออกมากลับไม่เป็นไปตามนั้น

“ท้ายสำนวนกลับพลิก รู้ไหมว่าตำรวจเจ้าของสำนวนมาพูดกับพี่อย่างไร ฟังนะ เขาบอกว่าแม่ต้องเข้าใจผมนะ ลูกผมยังเล็ก ผมยังไม่อยากเสียชีวิต” นางสุกัลยากล่าวพร้อมกับแสดงสีหน้าอัดอั้น

ที่มาของภาพ : WASAWAT LUKHRARANG/BBCTHAI

ครอบครัวตัญกาญจน์รับอวัยวะน้องเมยที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า ก่อนนำส่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2560

ด้านผู้เป็นแม่ที่มีท่าทีโศกเศร้าอย่างเห็นได้ชัดหลังฟังคำพิพากษาชั้นฎีกาในวันนี้ ยังบอกสื่อมวลชนด้วยว่าตลอด 7 ปีที่ผ่านมา การเข้าถึงพยานและหลักฐานต่าง ๆ เป็นเรื่องยากมากและไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

“พอมันผ่านมาหลายปี มันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่อยากให้ครอบครัวคนอื่นเดือดร้อน ใครที่เข้ามาพูดคุยกับครอบครัวเราจะโดนแบนทั้งหมด และจะมีโทรศัพท์ขู่เข้ามาตลอด คนที่อยากให้การก็มาไม่ได้” นางสุกัลยากล่าวพร้อมน้ำตา

“คำเดียว… มึงอย่ายุ่ง แล้วน้องคิดว่าพี่จะไปหาพยานหลักฐานตรงไหน” ผู้เป็นแม่ถามต่อสื่อมวลชน

ในเวลาเดียวกัน น.ส.สุพิชา ตัญกาญจน์ พี่สาวของนายภคพงศ์ ซึ่งตอนนี้อยู่ต่างประเทศและไม่สามารถเดินทางมารับฟังคำพิพากษาร่วมกับครอบครัวได้ ได้โพสต์เฟซบุ๊กและลงภาพเอกสารลับจากกระทรวงกลาโหมบางส่วน ซึ่งเป็นรายงานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงหลังนายภคพงศ์เสียชีวิต

เธอเขียนถึงน้องชายว่า “นตท.ภคพงศ์ นายต้องปราศจากความผิดทั้งหมด รวมถึงข้อครหาว่าเพราะนาย ‘โกหก' จึงต้องไปโดนธำรงวินัย”

น.ส.สุพิชา บอกว่า เอกสารเหล่านี้ไม่ได้ถูกส่งประกอบเข้าไปในการฟ้องร้อง เพราะขอเอกสารจากต้นสังกัดเข้ามาในสำนวนส่งฟ้องไม่ทัน แต่ถ้าหากทุกคนได้อ่านก็จะรู้ว่าผู้ที่โกหกไม่ใช่น้องชายของตนเอง

“วันนี้เดินทางมาสุดสายปลายทางของคดีแรกแล้ว พวกเราทำสำเร็จแล้วนะเมย แต่ถึงมันจะไม่ได้รู้สึกว่ายุติธรรมมากพอ แต่มันก็สำเร็จแล้ว ฉันล้างมลทินทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้นายแล้ว ขอบคุณพ่อกับแม่ที่หัวใจแหลกสลายแค่ไหนแต่ก็แข็งแกร่งมากพอที่จะอยู่และทนรับความเจ็บปวดนี้ไว้” น.ส.สุพิชา ระบุในเฟซบุ๊ก

พี่สาวของนายภคพงศ์ยังบอกด้วยว่าต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในระบบการพิจารณาความ “อะไรที่เป็นอาญาทหาร ก็ให้ไปขึ้นศาลทหาร” แต่ “อะไรที่เกิดในกฎหมายอื่นก็อยากให้ขึ้นศาลพลเรือน”

“เพราะการพิจารณาคดีมันแตกต่างกันจริง ๆ” เธอกล่าว

การลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน ทำให้ไทยอาจละเมิดอนุสัญญากฎหมายสากล

ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับ.ว่า หากคดีดังกล่าวเกิดขึ้นในปัจจุบัน แม้จะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นระหว่างทหารกับทหาร การพิจารณาคดีจะอยู่ภายใต้อำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และแม้ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นรุ่นพี่ในหน่วยทหาร ไม่ได้เป็นครูฝึก แต่รุ่นพี่เป็นผู้ได้รับมอบอำนาจจากครูฝึก ดังนั้น การกระทำลักษณะนี้ก็จะถูกพิจารณาภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งจะขึ้นกับศาลอาญาของพลเรือนแทน

ผศ.ดร.รณกรณ์ ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับคดีลักษณะนี้ว่า ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Remedy or Punishment – CAT) ของสหประชาชาติที่ไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาเมื่อปี 2550 ระบุถึงการกำหนดโทษว่าจะต้องได้สัดส่วน ไม่ควรเป็นเพียงแค่การลงโทษในตัวกฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการลงโทษในชีวิตจริงเพื่อให้เกิดการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย โดยยกตัวอย่างกรณีหนึ่งเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลเยอรมนีซึ่งเคยลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทรมานผู้ต้องหา คดีนี้ถูกส่งขึ้นไปยังศาลยุโรป ซึ่งศาลยุโรปเห็นว่าการลงโทษของศาลเยอรมนีไม่ได้สัดส่วน จึงถือว่ารัฐเยอรมนีละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหา

“แม้คดีอยู่ในศาลทหาร แต่เมื่อประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศดังกล่าว การตัดสินใด ๆ ที่ไม่ได้สัดส่วนอาจถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ถูกกระทำ” ผศ.ดร.รณกรณ์ กล่าวถึงหลักการของการบังคับใช้กฎหมายการซ้อมทรมานกับ.

สำหรับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ในข้อ 4 วรรค 2 ระบุว่าให้รัฐภาคีแต่ละรัฐทำให้ความผิดเหล่านี้เป็นความผิดที่มีโทษ ซึ่งมีระวางโทษที่เหมาะสมกับความร้ายแรงของการกระทำเหล่านั้น

แม้ยังไม่เห็นรายละเอียดของคำพิพากษาของศาลทหาร มทบ.ที่ 12 กรณีการเสียชีวิต ของ นตท. ภคพงศ์ แต่นักวิชาการนิติศาสตร์จาก มธ. กล่าวว่าคดีทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุถึงแก่ความเสียชีวิตซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 นั้นระบุว่า ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่-า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความเสียชีวิต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี แต่หากเข้าลักษณะความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ โทษจะเป็นจำคุกตลอดชีวิต

สส.ประชาชน ชี้ แม้คดีในค่ายทหารอยู่ในศาลอาญาทุจริตแล้ว แต่ยังมีความพยายามดึงกลับไปเป็นของกลาโหม

เอกราช อุดมอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพฯ พรรคประชาชน (ปชน.) และเลขานุการคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลทหารชั้นสูงสุดในคดีนี้ว่า เรื่องนี้สะท้อนความอยุติธรรมในค่ายทหารอย่างร้ายแรง และสมควรแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร และกฏหมายที่เกี่ยวข้อง

สส.เอกราช ชี้ว่าการดำเนินคดีในศาลทหาร ขาดความเท่าเทียมระหว่างจำเลยที่ได้รับการแต่งตั้งทนายได้ กับโจทก์ ซึ่งครอบครัวไม่สามารถมีทนายในศาลทหารได้ เพราะคดีในศาลทหาร อำนาจฟ้องของพลเรือนมิสามารถเป็นโจทก์ร่วมได้ จึงทำให้การดำเนินคดีรูปแบบนี้ “สร้างความรู้สึก ‘คนละชั้น' และอาจส่งผลให้การพิจารณาคดีผิดพลาดหรือลิดรอนสิทธิของครอบครัว

นายเอกราชกล่าวว่า โทษรอลงอาญา 2 ปี ซึ่งศาลเห็นว่าจำเลยสามารถรับราชการต่อได้ แต่ในกรณีที่มีผู้เสียชีวิต การให้โอกาสแบบนี้อาจลดทอนความเป็นธรรมและจิตสำนึกต่อความรุนแรงในการฝึกทหาร โดยเมื่อเปรียบเทียบกับคดีในศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งตัดสินคดีที่พลทหารวรปรัชญ์ พัดมาสกุล สังกัดหน่วยฝึกทหารใหม่ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ถูกครูฝึกและรุ่นพี่ทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัสก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา คดีนี้ศาลสั่งจำคุกครูฝึกซ้อมทหารเกณฑ์เสียชีวิต สูงสุด 20 ปี นับเป็นคดีแรก ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ

เขากล่าวด้วยว่า แม้คดีลักษณะนี้จะอยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบแล้วในปัจจุบัน แต่ยังมีความพยายามจากกลาโหมที่จะดึงคดีกลับไปสู่อำนาจของศาลทหาร ซึ่งสะท้อนจากการให้ความเห็นของศาลทหาร กรณีทำคำวินิจฉัยเขตอำนาจศาลว่าคดีของพลทหารกิตติธร เวียงบรรพต ทหารเกณฑ์ผลัดที่ 1/66 ค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย เสียชีวิตหลังเข้ารับการเกณฑ์ทหาร เป็นคดีที่ควรขึ้นศาลทหาร

“คดีน้องเมยเป็นสัญญาณเตือนสำคัญว่า ระบบทหารต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน ทั้งในเรื่องกระบวนการยุติธรรม การดูแลสิทธิของเหยื่อ และระบบการเยียวยา หากเราไม่ลงมือแก้ไข อาจจะมีเรื่องราวของชีวิตที่สูญเสียอีกโดยไม่รู้ตัวในสถาบันทหาร ซึ่งเป็นที่พึงให้สังคมสามารถไว้ใจได้” สส. จากพรรคประชาชนระบุ