
เปิดข้อมูลผู้ต้องขังคดี ม.112 ปัจจุบันอยู่ในเรือนจำจำนวนเท่าไหร่

ที่มาของภาพ : Getty Photos
Article Recordsdata
-
- Creator, วศินี พบูประภาพ
- Role, ผู้สื่อข่าว.
สภาผู้แทนราษฎรลงมติผ่าน 3 ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมคดีการเมือง เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2568 ประกอบด้วยร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. … ที่เสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ, ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. … ที่เสนอโดยนายปรีดา บุญเพลิง อดีต สส. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ที่ปัจจุบันย้ายไปอยู่พรรคกล้าธรรม และ ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. … ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย
ในวันเดียวกัน พรรคเพื่อไทยได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊กของพรรค อ้างว่า “นิรโทษกรรมครั้งนี้ ปลดบ่วงพันธนาการอย่างน้อย 3,254 ชีวิต” โดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวประชาไท และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึง 31 มีนาคม 2568 มีคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 จำนวน 311 คดี
โพสต์ของพรรคเพื่อไทยระบุต่อไปว่า ในจำนวนนี้ มีผู้ถูกกล่าวหาในคดี ม.112 อย่างน้อย 278 คน และมีนักโทษคดีการเมืองที่ถูกคุมขังอย่างน้อย 51 ราย จากนักโทษทั้งหมด มีผู้ต้องโทษในคดีมาตรา 112 จำนวน 32 ราย
.ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ต้องคดีมาตรา 112 หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสองฉบับที่เปิดทางให้กับการนิรโทษกรรมผู้ต้องโทษคดีนี้กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
ตัวเลขนักโทษคดี ม.112 จำนวน 32 ราย มาจากไหน ?
พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิทนุษยชน ซึ่งเป็นตัวแทนผู้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับประชาชน เปิดเผยตัวเลขผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 อย่างเป็นทางการ ระหว่างการอภิปรายร่างกฎหมายเมื่อวันพุธที่ 9 ก.ค. 2568
เธอกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหมด 51 ราย โดยในจำนวนนี้ 32 รายเป็นผู้ต้องขังในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
พูนสุขเปรียบเทียบสัดส่วนผู้ต้องขังในคดี 112 กับคดีการเมืองประเภทอื่น เช่น คดีครอบครองอาวุธ และคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเผาป้อมตำรวจจราจร โดยระบุว่า “ทุกวันนี้ 51 คนอยู่ในเรือนจำ 32 คนคือส่วนใหญ่ของ 51 คนด้วยซ้ำ แปลว่าอะไร แปลว่าท่านนิรโทษกรรมไป 62% ยังอยู่ในเรือนจำนะคะ ท่านกำลังนิรโทษกรรมให้กับคนส่วนน้อย” พูนสุข กล่าวในระหว่างการอภิปรายร่างกฎหมายในรัฐสภา
ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เปิดเผยในสถิติรายชื่อผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่องค์กรได้รวบรวมไว้เองว่า ผู้ต้องขังคดี ม.112 จำนวน 32 ราย แบ่งเป็นผู้ที่คดีสิ้นสุดแล้ว 17 ราย และผู้ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีแต่ไม่ได้รับการประกันตัวอีก 15 ราย ใน 35 คดี โดยผู้ต้องขังเหล่านี้กระจายอยู่ในเรือนจำหลายแห่ง เช่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เรือนจำกลางบางขวาง และเรือนจำจังหวัดเชียงราย
ข้อมูลสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากศูนย์ทนายฯ (แก้ไขข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 16 มิ.ย. 2568) ยังระบุด้วยว่า ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2563 ถึง 16 มิ.ย. 2568 มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 รวม 281 คน ใน 314 คดี
ตัวเลขนี้หมายความว่า นอกจากผู้ต้องขัง 32 ราย ยังมีผู้ต้องหาอีกอย่างน้อย 152 คดีที่ยังอยู่ในกระบวนการต่อสู้คดีภายนอกเรือนจำ ซึ่งรวมถึงนักกิจกรรมอย่าง เบนจา อะปัญ และธนพัฒน์ กาเพ็ง ผู้เป็นตัวแทนภาคประชาชนที่ร่วมอภิปรายร่างกฎหมายนิรโทษกรรมตลอดเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาด้วย

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX
อย่างไรก็ตาม ทนายความจากศูนย์ทนายฯ ย้ำว่า ตัวเลขดังกล่าวอาจยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด เนื่องจากบางคดีอาจไม่อยู่ในความรับรู้ขององค์กร
พูนสุขอธิบายว่า “ไม่ใช่ว่าคดีที่เกิดทั้งหมดจะมาถึงมือของศูนย์ทนายฯ บางคนอาจมีทนายความส่วนตัว หรือไม่ต้องการให้คดีเป็นที่รับรู้ของสาธารณะ” ยกตัวอย่างเช่นกรณีของ “อนุชา” (สงวนนามสกุล) ผู้ถูกจับกุมจากการชูป้ายประท้วงหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 เป็นตัวอย่างของคดีที่ “ตกสำรวจ” ซึ่งศูนย์ทนายฯ บันทึกว่าทราบเรื่องหลังการจับกุมราว 10 วัน
ก่อนปี 2563 มีคนถูกฟ้องด้วยคดี ม.112 จำนวนเท่าไหร่
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่าสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่องค์กรจัดเก็บครอบคลุมเฉพาะคดีที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมา ช่วงเวลาดังกล่าวสอดคล้องกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศในช่วงปลายปี 2563 ว่าจะ “ใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา” กับผู้ชุมนุมกลุ่ม “ราษฎร”
อย่างไรก็ตาม การฟ้องร้องดำเนินคดีด้วย ม.112 ปรากฏก่อนหน้าช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว แต่การรวบรวมข้อมูลย้อนหลังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากข้อจำกัดของการจัดเก็บข้อมูลในอดีตที่ปราศจากการบูรณาการ
หนึ่งในเอกสารที่จัดเก็บข้อมูลผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 ก่อนปี 2563 คือ เอกสารภาคผนวกรายงานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตนิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร
รายงานระบุว่า “ข้อมูลที่ควรใช้เป็นหลักในการพิจารณา คือ ข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรม” โดยอ้างอิงจากระบบข้อมูลและสถิติของสำนักงานแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม
รายงานดังกล่าวยังชี้ด้วยว่า ข้อมูลจากสำนักงานศาลฯ มีความชัดเจนและเป็นทางการ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ผ่านการฟ้องร้องเป็นคดีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้แยกเฉพาะคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 เท่านั้น แต่ยังรวมคดีตามมาตรา 107–112 ซึ่งอยู่ในหมวดความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ไว้ด้วย
ฐานข้อมูลดังกล่าวระบุว่า ตั้งแต่ปี 2548 ถึงไตรมาสแรกของปี 2563 มีการฟ้องร้องคดีในหมวดนี้รวม 1,164 ข้อหา
ตัวเลขนี้เป็น “ส่วนที่ 1” ของข้อมูลทั้งหมด โดยในปี 2550 มีจำนวนการฟ้องร้องคดีสูงสุดที่ 126 ข้อหา รองลงมาคือปี 2558 ที่มี 103 ข้อหา และปี 2552 ที่มี 101 ข้อหา
เมื่อจำแนกตามระลอกการเคลื่อนไหวทางการเมือง พบว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีคดีขึ้นสู่ศาล 63 คดี, การชุมนุมของกลุ่ม นปก. และ นปช. รวม 380 คดี และการชุมนุมของ กปปส. 169 คดี
ทั้งนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมใช้หน่วย “ข้อหา” ในการรวบรวมข้อมูลทั่วไป ขณะที่ข้อมูลที่จำแนกตามช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์การเมืองที่สำคัญใช้หน่วย “คดี” ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบตัวเลขกันได้โดยตรง เนื่องจากหนึ่งคดีอาจมีหลายข้อหา

ที่มาของภาพ : AFP/GettyImages
ในช่วงเวลา 16 ปีดังกล่าว มีคดีที่ถูกฟ้องร้องด้วย ม.112 ที่เป็นข่าวหลายคดี เช่น คดีของ “อากง” หรืออำพล ตั้งนพกุล ซึ่งถูกฟ้องในเดือน ม.ค. 2554 และเสียชีวิตในเรือนจำเดือน พ.ค. 2555 รวมถึงคดี “เจ้าสาวหมาป่า” เกิดขึ้นในเดือน ส.ค. 2557 และคดีของ “พัฒน์นรี” มารดาของสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” ซึ่งขึ้นสู่ศาลในเดือน พ.ค. 2559 โดยศาลอาญาพิพากษายกฟ้องในเดือน ธ.ค. 2563
ผู้ต้องขังเพียงรายเดียวที่ยังถูกคุมขังจากคดีในช่วงเวลาดังกล่าวคือ อัญชัญ ปรีเลิศ ซึ่งถูกกล่าวหาในปี 2558 และถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุกในเดือน ม.ค. 2564
สำหรับ “ส่วนที่ 2” ของข้อมูลจากรายงานเดียวกัน ระบุว่ามีคดีในหมวดความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 ถึง ก.พ. 2567 รวม 329 ข้อหา ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับสถิติของศูนย์ทนายฯ
เมื่อรวมข้อมูลทั้งสองส่วน รายงานดังกล่าวสรุปว่ามีคดีในหมวดนี้รวม 1,493 ข้อหา ตลอดระยะเวลา 20 ปี
รายงานยังระบุหมายเหตุด้วยว่า “ศาลยุติธรรมจัดเก็บจำนวนข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณาตามฐานความผิด โดยมิได้จำแนกว่าเป็นการกระทำความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง”
ข้อมูลจากหลายแหล่ง จัดเก็บคนละระบบ
นอกจากฐานข้อมูลที่อ้างถึงในบทความก่อนหน้านี้ ยังมีฐานข้อมูลอื่น ๆ อีกที่รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมรวบรวมไว้ แต่มีรายละเอียดแตกต่างกัน
สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายสารสนเทศและบริหารจัดการความรู้ สำนักงานอัยการสูงสุด รายงานข้อมูล ณ วันที่ 1 เม.ย. 2567 โดยแสดงจำนวนคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107–112 ระหว่างปี 2553–2566 แยกเป็นคดีค้างและคดีรับใหม่ในแต่ละปี โดยไม่มีการรวมยอดสะสม
.ประมวลผลจากข้อมูลดังกล่าวพบว่า ระหว่างปี 2553–2566 มีผู้ถูกส่งฟ้องต่ออัยการรวม 1,838 คน จาก 3,792 คดี โดยอัยการมีคำสั่งฟ้อง 978 คน จาก 742 คดี
กระทรวงกลาโหมยังรายงานสถิติที่รวมคดีในหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ได้แก่ มาตรา 112, 113(1) หรือ (2), 114 (เฉพาะฐานการตระเตรียมการอื่นใดหรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ), 116 และ 117 โดยแบ่งเป็นสองช่วงเวลา โดยช่วงแรก ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2548 ถึง 31 มี.ค. 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดี 251 คน จาก 114 คดี และช่วงที่สอง ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2563 ถึง 29 ก.พ. 2567 มีผู้ถูกดำเนินคดี 2 คน จาก 2 คดี
แนวโน้มของสถิตินี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในช่วงปี 2557–2559 ที่คดีตามมาตรา 112 ถูกฟ้องต่อศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 ซึ่งกำหนดให้คดีในหมวดความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2557
ตัวอย่างคดีในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ คดีของนายธานัท ธนวัชรนนท์ หรือ “ทอม ดันดี” ซึ่งอัยการทหารยื่นฟ้องในเดือนกรกฎาคม 2557 จากการปราศรัยเมื่อเดือน พ.ย. 2556 และคดีของบุรินทร์ อินติน ซึ่งถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 ในเดือน เม.ย. 2559 ก่อนที่คดีจะถูกโอนจากศาลทหารไปยังศาลพลเรือนในเวลาต่อมา

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX
รายงานของรัฐสภาย้ำด้วยว่า ข้อมูลสถิติที่ได้รับการอ้างอิง “ไม่ได้แยกเฉพาะว่าคดีใดเป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง” จึงทำให้จำนวนคดีที่ปรากฏสูงกว่าจำนวนผู้กระทำผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองจริง
บทความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขยายความประเด็นนี้ โดยชี้ว่า คดีตามมาตรา 112 ที่ปรากฏในสถิติของหน่วยงานรัฐ ไม่ได้มีแรงจูงใจทางการเมืองทุกคดี
องค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตั้งแต่ปี 2563 ระบุว่า “คดีมาตรา 112 บางส่วนมีลักษณะเป็นการแอบอ้างหาผลประโยชน์ ซึ่งไม่เข้าข่ายคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง”
รายงานของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีฯ ยอมรับว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นอุปสรรคในการพิจารณาของคณะฯ ในการประเมินตัวเลขที่แท้จริงของคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองทั้งหมด
“ข้อมูลสถิติคดีเป็นข้อมูลสถิติโดยรวมของคดีความผิดว่าในปีนั้น ๆ มีการฟ้องร้องคดีในฐานความผิดใดบ้าง ไม่ได้แยกเป็นการเฉพาะว่าคดีใดเป็นคดีที่เป็นคดีความผิดอันเนื่องมาจาก แรงจูงใจทางการเมือง จึงทำให้ตัวเลขจำนวนคดีนั้นมีจำนวนมากไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง” รายงานคณะอนุกรรมาธิการภายใต้คณะกรรมาธิการซึ่งมี ชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธาน ระบุ
พรรคประชาชนยังหวัง ใช้ กมธ. เปิดประตูนิรโทษให้ครอบคลุม “ทุกฝ่าย”
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2568 สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม 3 ฉบับ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ โดยทั้งสามร่างระบุจุดยืนไม่รวมความผิดตามมาตรา 112 ไว้ในการนิรโทษกรรม
สำหรับร่างของพรรคภูมิใจไทย ระบุชัดในหลักการว่า การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ภราดร ปริศนานันทกุล สส. พรรคภูมิใจไทย อ่านหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายที่พรรคภูมิใจไทยนำเสนอต่อประธานในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 9 ก.ค. 2568 เนื้อความตอนหนึ่งระบุว่า ร่างกฎหมายของพรรคภูมิใจไทยจะไม่นิรโทษกรรม “การกระทำความผิดดังต่อไปนี้: การกระทำความผิดฐานทุจริตและ/หรือประพฤติมิชอบ การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112”
ส่วนร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุในมาตรา 3 ว่า “พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับกับการกระทำตามความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112”
ด้านมาตรา 3 ในร่าง พ.ร.บ. ของนายปรีดา บุญเพลิง ที่ปัจจุบันสังกัดพรรคกล้าธรรม ระบุการกระทำที่จะได้รับการนิรโทษในวรรคหนึ่ง ก่อนตามมาด้วยวรรคที่ 2 เป็นบทยกเว้นว่า “การกระทำความผิดในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง”
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ส.ส.พรรคประชาชน และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและสร้างเสริมสังคมสันติสุข ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยพีบีเอสว่า ในทางเทคนิค หากหลักการของร่างกฎหมายไม่ระบุชัดว่า “ไม่รวม” มาตรา 112 ก็ยังสามารถเสนอแก้ไขรายมาตราได้ในชั้นกรรมาธิการ
ไทยพีบีเอสอ้างอิงคำพูดศศินันท์ต่อไปว่า “ด้วยร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เป็นร่างหลัก ก็ยังพอมีทางเป็นไปได้ แม้จะยาก แต่ถ้าเป็นร่างของภูมิใจไทยอาจจะปิดประตูแน่นกว่าเดิม”
อย่างไรก็ตาม ร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติและร่างของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน/กล้าธรรม ต่างกำหนดกรอบเวลาการนิรโทษกรรมไว้ถึงเพียงปี 2565 เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า แม้จะมีการแก้ไขรายมาตราสำเร็จ ก็ไม่อาจครอบคลุมคดีที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นได้

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX
ก่อนหน้านี้ ในเดือน พ.ค. 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับทราบรายงานผลการศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ แต่ลงมติไม่เห็นชอบข้อเสนอที่ให้จัดคดีตามมาตรา 110 และ 112 เป็น “คดีอ่อนไหว” ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง และไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะรวมอยู่ในกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่
ในช่วงเวลานั้น ก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และอดีตแกนนำคนเสื้อแดงให้สัมภาษณ์กับ.ว่า การนิรโทษกรรมคดีตามมาตรา 110 และ 112 ถูก “ปิดประตูเสียชีวิต” แล้ว
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงกรณีที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล/ประชาชน และร่างที่เสนอโดยภาคประชาชน ไม่ผ่านการลงมติว่า พรรคประชาชนยังเชื่อมั่นในกระบวนการรัฐสภา และชี้ว่าในบรรดาร่างที่ผ่านวาระแรก 2 ใน 3 ร่าง ยังมีหลักการที่เปิดกว้าง
“พรรคประชาชนเอง สัดส่วนกรรมาธิการที่เสนอมาจากพรรคประชาชนเอง เราพร้อมที่จะใช้กลไกทุกอย่างในสภาในชั้นกรรมาธิการ เพื่อที่จะเปิดประตูนะครับ แล้วก็เปิดกว้างในการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมกับทุก ๆ ฝ่ายมากที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้” เขากล่าว
ที่มา BBC.co.uk