โป๊ปฟรานซิสคือผู้ทรงอิทธิพลต่อโลกนอกศาสนจักร หาญกล้าท้าทายอำนาจการเมือง

ที่มาของภาพ : Reuters

Article data

  • Creator, อาลีม มักบูล
  • Feature, บรรณาธิการข่าวศาสนา

ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของศาสนจักรโรมันคาทอลิก โดยโป๊ปพระองค์นี้ได้ทรงขับเคลื่อนให้ศาสนจักรอันเก่าแก่ ดำเนินไปสู่ทิศทางใหม่และล่วงเข้าสู่เขตแดนที่ไม่เคยเหยียบย่างเข้าไปมาก่อน ซึ่งการกระทำดังกล่าวได้ส่งผลสะท้อนเป็นการแผ้วถางเส้นทางสู่อนาคต สำหรับชาวคาทอลิกทั่วโลก

โป๊ปฟรานซิสได้ทรงปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของศาสนจักรคาทอลิกที่ดูห่างเหินและแข็งทื่อ ให้อ่อนโยนลงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่มุ่งยึดกุมอำนาจเหมือนเดิม รวมทั้งเข้าแทรกแซงในประเด็นทางสังคมร่วมสมัยที่สำคัญอีกด้วย

แม้ภายในศาสนจักรคาทอลิกเองจะมีผู้วิจารณ์ตำหนิพระองค์อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอนุรักษนิยมที่มักจะไม่พอใจต่อแนวนโยบายใหม่ ๆ  ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นการกระทำ “นอกรีต” ที่ผิดไปจากหลักคำสอนดั้งเดิมของศาสนจักร แต่ถึงกระนั้น โป๊ปฟรานซิสก็ยังคงต้องเผชิญกับเสียงวิจารณ์จากฝ่ายเสรีนิยมด้วยเช่นกัน

แม้จะทรงเป็นนักรณรงค์เพื่อสันติภาพตัวยง และได้ทรงทักท้วงการกระทำที่อาจก่ออันตรายของชาติมหาอำนาจไปหลายต่อหลายครั้งก็ตาม ทว่าฝ่ายเสรีนิยมก็ยังคงเห็นว่า โป๊ปฟรานซิสทรงมีท่าทีและความคิดแบบ “หัวก้าวหน้าไม่มากพอ”

อันที่จริงแล้ว นับตั้งแต่ตอนที่ทรงได้รับเลือกตั้งเป็นพระสันตะปาปาในปี 2013 โป๊ปฟรานซิสปรากฎพระองค์ต่อหน้าสาธารณชนด้วยรอยยิ้มและท่าทีที่เป็นกันเองเสมอ ซึ่งพระอุปนิสัยเช่นนี้ช่วยสร้างความสนิทสนมและทำให้ผู้คนรู้สึกผ่อนคลาย การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าว ตรงกับหลักความเชื่อของพระองค์ที่ทรงยึดถือว่า ศาสนจักรควรเข้าถึงชีวิตประจำวันของคนธรรมดาสามัญ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนในโลกใบนี้ก็ตาม

Skip ได้รับความนิยมสูงสุด and proceed studyingได้รับความนิยมสูงสุด

End of ได้รับความนิยมสูงสุด

โป๊ปฟรานซิสทรงมีพระลิขิตที่กล่าวถึงมุมมองของพระองค์เองต่อการดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา ในหนังสืออัตชีวประวัติ “ความหวัง” (Hope) ที่เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนม.ค. ปี 2025 โดยทรงระบุว่า “ตอนที่เริ่มเป็นพระสันตะปาปาใหม่ ๆ ผมมีความรู้สึกว่า ตัวเองจะได้ดำรงตำแหน่งนี้ในช่วงเวลาเพียงสั้น ๆ อาจจะไม่เกินสามสี่ปีเท่านั้น”

สิ่งแรกที่ทรงทำหลังขึ้นดำรงตำแหน่งอัครบิดร คือการเลือกประทับในเรือนรับรองอาคันตุกะของสำนักวาติกัน ซึ่งเป็นที่พักอาศัยเดิมของพระองค์และเหล่าพระคาร์ดินัลต่อไป แทนที่จะย้ายไปประทับในพระราชวังพระสันตะปาปา (Apostolic Palace) อันเก่าแก่และหรูหราตามธรรมเนียม

หลายคนมองว่านั่นคือการกระทำเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งแสดงถึงการสละทิ้งความหรูหราฟุ่มเฟือยที่ห้อมล้อมตำแหน่งพระสันตะปาปาอยู่ นอกจากนี้ยังแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน อันเป็นคุณลักษณะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของโป๊ปฟรานซิส ผู้ทรงเลือกพระนามประจำตำแหน่งสันตะปาปา ตามชื่อนักบุญของคนยากไร้ “ฟรานซิสแห่งอัสซีซี” (St Francis of Assisi)

อย่างไรก็ตาม โป๊ปฟรานซิสได้ทรงอธิบายถึงเหตุผลหลักในการเลือกที่ประทับอันเรียบง่ายในภายหลังว่า ทรงชอบอยู่ท่ามกลางสมาคมของผู้คนมากมาย ซึ่งเรือนรับรองอาคันตุกะที่เต็มไปด้วยผู้มาเยือนอยู่เสมอ จะตอบสนองต่อพระประสงค์ในเรื่องนี้ได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับพระราชวังพระสันตะปาปาที่แยกตัวจากโลกภายนอก และไม่สะดวกต่อการต้อนรับเหล่าอาคันตุกะอย่างยิ่ง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โป๊ปฟรานซิสได้เสด็จเยือนต่างแดนมากกว่า 60 ประเทศ รวมทั้งทรงต้อนรับเหล่าอาคันตุกะและศาสนิกชนชาวคาทอลิก เนื่องในโอกาสสำคัญและงานเทศกาลต่าง ๆ ที่นครรัฐวาติกันนับครั้งไม่ถ้วน สิ่งนี้เป็นข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าการใกล้ชิดกับสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหมู่คนหนุ่มสาวนั้น เรียกได้ว่าเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตที่จะขาดเสียมิได้ของพระองค์เลยทีเดียว

ที่มาของภาพ : Getty Photography

โป๊ปฟรานซิสถือเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างกว้างขวาง ทั้งในและนอกศาสนาจักร

ปัญหาสังคมและ “ชาวคาทอลิกที่ไม่สมบูรณ์แบบ”

โป๊ปฟรานซิสคือผู้ให้สัญญาณเพื่อเริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ภายในศาสนจักร โดยมีการเปลี่ยนมุมมองและท่าทีต่อปัญหาสังคมบางเรื่อง ตัวอย่างเช่นการยินดีต้อนรับคนทุกประเภทเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งโป๊ปฟรานซิสได้ทรงประกาศไว้ชัดเจนในหนังสืออัตชีวประวัติของพระองค์เอง “ขอเชิญชาวคาทอลิกทุกคน รวมทั้งคนที่หย่าร้าง คนรักเพศเดียวกัน และคนข้ามเพศ”

แถลงการณ์ข้างต้นถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะในอดีตศาสนจักรคาทอลิกไม่ยอมรับการหย่าร้าง เนื่องจากผิดต่อหลักคำสอนและจารีตในพระคัมภีร์ ส่วนพฤติกรรมรักเพศเดียวกันนั้น เหล่าพระสันตะปาปาในอดีตต่างก็มีพระดำรัสชี้ว่าเป็นความผิดปกติ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงตามธรรมชาติของมนุษย์ อย่างที่โป๊ปฟรานซิสทรงเห็นแย้งกับนักอนุรักษนิยมทั้งหลาย

ในทางตรงกันข้าม พระองค์ทรงปรารถนาให้ศาสนจักรเรียนรู้ทำความเข้าใจความทุกข์ยากของผู้คนผ่านมุมมองใหม่ โดยทรงยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของพระองค์เอง ซึ่งทรงมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปจากในอดีตในหลายเรื่อง

กลุ่มหัวก้าวหน้าในศาสนจักร ต่างแสดงความชื่นชมในพระเมตตาของโป๊ปฟรานซิสต่อ “ชาวคาทอลิกที่ไม่สมบูรณ์แบบ” ซึ่งเป็นคำเรียกขานที่พระองค์ใช้กับคนที่ศาสนจักรไม่ยอมรับ การกระทำนี้ยังส่งผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อโลกภายนอกศาสนจักรด้วย โดยโป๊ปฟรานซิสทรงเล่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติว่า

“ครั้งแรกที่กลุ่มคนข้ามเพศมาเยือนวาติกัน พวกเขากลับไปโดยมีน้ำตาไหลอาบแก้ม เพราะผมได้จับมือและจุมพิตพวกเขาจนรู้สึกตื้นตันใจ ราวกับว่าผมได้ช่วยทำสิ่งสุดพิเศษบางอย่างให้ ทั้งที่พวกเขาคือบุตรสาวของพระเจ้าแท้ ๆ”

โป๊ปฟรานซิสทรงประณามกลุ่มประเทศที่ถือว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรมหลายครั้ง พระองค์ยังเคยตรัสว่าการหย่าร้างนั้น “ถือเป็นสิ่งจำเป็นทางศีลธรรม” ในบางกรณี หากเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มหัวก้าวหน้าบางส่วนยังคงมองว่า โป๊ปฟรานซิสควรจะสนับสนุนและผลักดันการเปลี่ยนแปลงหลักคำสอนให้มากกว่านี้ เพราะปัจจุบันการรักเพศเดียวกันยังคงถือเป็นบาปตามคำสอนของคาทอลิก และการสมรสก็เกิดขึ้นได้ระหว่างชายจริงและหญิงแท้เท่านั้น ส่วนในประเด็นการหย่าร้าง ศาสนจักรก็ไม่ได้ให้การรับรองอย่างเป็นทางการ ตัวของโป๊ปฟรานซิสเองนั้นยังคงยืนยันคัดค้านการแปลงเพศและการอุ้มบุญอย่างเหนียวแน่น

สำหรับประเด็นเรื่องนักบวชหญิงในศาสนจักรคาทอลิก โป๊ปฟรานซิสทรงยืนกรานไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด แต่ก็เคยตรัสว่าศาสนจักรนั้นมีความเป็นผู้หญิงในตัว และทรงสนับสนุนให้ชุมชนของชาวคาทอลิกทั่วโลก ค้นหาบทบาทความเป็นผู้นำทางศาสนาของสตรีให้มากขึ้น โดยต้องไม่ขัดต่อหลักคำสอนในพระคัมภีร์ ซึ่งปัจจุบันยังคงไม่อนุญาตให้ผู้หญิงบวชเป็นบาทหลวง

เมื่อปี 2021 โป๊ปฟรานซิสทรงแต่งตั้งแม่ชีหรือซิสเตอร์ ราฟาเอลลา เปตรินี เป็นเลขาธิการใหญ่แห่งนครรัฐวาติกัน ทั้งยังมีพระบัญชาให้เริ่มกระบวนการศึกษาวิจัยทางศาสนาว่า ผู้หญิงจะสามารถรับหน้าที่สังฆานุกร (deacon) หรือผู้ช่วยนักบวชในการประกอบศาสนพิธี และการดำเนินงานอื่น ๆ ของศาสนจักรได้หรือไม่

ที่มาของภาพ : EPA

แม่ชีหรือซิสเตอร์ ราฟาเอลลา เปตรินี กับพระคาร์ดินัลรูปหนึ่ง

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ความพระทัยกว้างของโป๊ปฟรานซิสต่อบทบาทนำของสตรีในศาสนจักร ยังคงไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายเสรีนิยมหัวก้าวหน้า ซึ่งเรียกร้องต้องการให้ชุมชนชาวคาทอลิกที่ศาสนิกส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ควรมีความเท่าเทียมทางเพศในระดับที่สูงกว่านี้

ในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา โป๊ปฟรานซิสทรงมีพระดำริให้เริ่มกระบวนการรับฟังความเห็นและปรึกษาหารือกับชาวคาทอลิกทั่วโลกกว่าหนึ่งพันล้านคน เพื่อหยั่งเสียงความคิดเห็นของประชากรชาวคาทอลิกในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งกระบวนการนี้จะมีขึ้นเป็นเวลา 3 ปี โดยจะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นหลายหมื่นครั้งในหลายประเทศ รวมถึงความเห็นในเรื่องบทบาทของสตรี และการยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย

แม้ปัจจุบันกระบวนการดังกล่าว จะยังไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าเสียงของชาวคาทอลิกจะเอนเอียงไปทางไหน แต่ก็ได้สะท้อนและสื่อแสดงถึงพระประสงค์ของโป๊ปฟรานซิส ที่ทรงเห็นแก่ประโยชน์ของผู้ศรัทธาทั่วโลก มากกว่าเหล่านักบวชสมณศักดิ์สูงในสำนักวาติกัน

มรดกตกทอดอันซับซ้อน

ตลอดการดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาของโป๊ปฟรานซิส ทรงมุ่งให้ความสำคัญต่อการมอบความช่วยเหลือแก่คนชายขอบ ผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยทรงสนับสนุนให้นักบวชคาทอลิกใกล้ชิดกับคนยากไร้มากขึ้น

ประเด็นเรื่องศักดิ์ศรีของผู้อพยพ ถือเป็นปัญหาที่มีความสำคัญต่อพระองค์อย่างยิ่ง โป๊ปฟรานซิสยังทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเชื่อมสัมพันธไมตรีกับคริสตจักรนิกายอื่น ๆ รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมศาสนสัมพันธ์กับต่างศาสนา และผู้ไม่นับถือศาสนาใด ๆ อีกด้วย

แต่ในบางครั้ง พระกรณียกิจของโป๊ปฟรานซิสในลักษณะข้างต้น กลับถูกกลุ่มอนุรักษนิยมมองว่าไม่เหมาะสมกับผู้ดำรงตำแหน่งสูงเช่นพระสันตะปาปา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสด็จเยือนศูนย์ผู้ลี้ภัยนอกกรุงโรมเมื่อปี 2016 ซึ่งทรงล้างทำความสะอาดและจุมพิตเท้าของผู้ลี้ภัยด้วยพระองค์เอง แม้จะมีผู้ลี้ภัยต่างศาสนาที่เป็นชาวมุสลิม, ชาวฮินดู, และชาวคริสต์ผู้นับถือนิกายคอปติกรวมอยู่ด้วยก็ตาม

ที่มาของภาพ : Greek Top Minister's Office

โป๊ปฟรานซิสทรงทักทายผู้อพยพบนเกาะเลสบอสของกรีซ เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2016

นอกจากจะทรงมีพระเมตตาต่อผู้อพยพลี้ภัย โดยเคยเสด็จไปวางพวงมาลาถึงน่านน้ำที่บรรดาผู้อพยพจำนวนมากเสียชีวิตลงแล้ว ยังทรงมองปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับปัญหาความยากจนอีกด้วย โดยเคยมีพระดำรัสดังข้างต้นต่อสภาคองเกรสของสหรัฐฯ และมีพระลิขิต Laudato Si ส่งถึงพระสังฆราชหรือบิชอปแห่งศาสนจักรคาทอลิกทั่วโลกว่า ความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศร่ำรวยก่อขึ้น ได้ทำอันตรายต่อผู้คนจำนวนมหาศาลในประเทศยากจน

โป๊ปฟรานซิสทรงแสดงการต่อต้านสงครามมาโดยตลอด และมักจะมีพระดำรัสเปรียบเทียบว่าสงครามนั้นไม่ต่างจากความผิดพลาดล้มเหลว ทรงเรียกสงครามในฉนวนกาซาว่าเป็น “การก่อการร้าย” และทรงวอนขอให้มีการหยุดยิvมาตั้งแต่ต้น

แม้จะทรงเข้าพบกับครอบครัวชาวอิสราเอล ที่ถูกกลุ่มฮามาสลักพาตัวไปในวันที่ 7 ต.ค. 2023 แต่ก็ยังมีพระดำรัสถึงความทุกข์ยากของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความลำบากของเด็ก ๆ ทั้งยังทรงโทรศัพท์สอบถามถึงสถานการณ์ล่าสุดที่โบสถ์ Holy Household Church ในเมืองกาซาซิตีทุกวัน

อย่างไรก็ตาม พระประสงค์ที่ต้องการสร้างสันติภาพทำให้บางครั้งมีคนมองว่า ทรงอ่อนข้อให้กับผู้กระทำผิดมากเกินไป จนไม่อาจประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียได้อย่างเต็มปาก หรือจัดการกับรัฐบาลจีนที่คอยสอดแนมและลงโทษชาวคาทอลิกในประเทศได้อย่างสุดความสามารถ

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นจุดด่างพร้อยในการดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาของโป๊ปฟรานซิสมายาวนาน คือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่นักบวชสมณศักดิ์สูงมักลอยนวลพ้นผิดอยู่เสมอ แม้จะได้ทรงสั่งปิดบัญชีเงินฝากที่สำนักวาติกันไม่รับรองหลายพันบัญชีไปตั้งแต่ต้น และทรงตั้งกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อความโปร่งใสทางการเงินในเวลาต่อมาก็ตาม

ส่วนเรื่องอื้อฉาวกรณีนักบวชคาทอลิกหลายคนล่วงละเมิดทางเพศเด็กนั้น หลายฝ่ายมองว่าทรงจัดการแก้ไขปัญหาได้ไม่ดีนัก ซึ่งโป๊ปฟรานซิสมีพระลิขิตถึงเรื่องนี้ในหนังสืออัตชีวประวัติว่า “ตั้งแต่เริ่มเป็นพระสันตะปาปา ผมก็รู้ได้ทันทีว่า จะต้องถูกเรียกร้องให้รับผิดชอบต่อการกระทำชั่วทั้งหมด ที่นักบวชบางรูปเป็นผู้ก่อขึ้น”

ในปี 2020 ศาสนจักรคาทอลิกได้เผยถึงตัวเลขสถิติของนักบวชในสหรัฐฯ ที่กระทำการล่วงละเมิดทางเพศ รวมทั้งข่xขืxและครอบครองภาพลามกอนาจารของเด็ก ว่ามีอยู่ถึงราว 2,000 ราย โป๊ปฟรานซิสยังทรงตั้งกฎเกณฑ์ใหม่ ให้สมาชิกของของศาสนจักรรับผิดชอบต่อการรายงานกรณีการล่วงละเมิดในทันที หากพบเห็นว่ามีการกระทำผิด ไม่เช่นนั้นอาจถูกลงโทษโดยปลดออกจากตำแหน่งได้

นอกจากนี้ โป๊ปฟรานซิสยังทรงไม่รีรอที่จะแสดงการขออภัยต่อเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ โดยทรงเดินทางไปพบปะและตรัสขออภัยด้วยพระองค์เองถึงต่างประเทศ และเพิ่งมีพระลิขิตเมื่อไม่นานมานี้ว่า “ด้วยความอับอายและสำนึกผิด ศาสนจักรต้องขออภัยต่อความเสียหายร้ายแรงที่นักบวชของศาสนจักรได้กระทำลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่สร้างบาดแผลลึกและความเจ็บปวดใหญ่หลวง”

ที่มาของภาพ : AFP

โป๊ปฟรานซิสทรงทักทายเหล่าพระคาร์ดินัลในวันอีสเตอร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา

สิ่งสำคัญสุดท้ายที่ได้ทรงกระทำเพื่อปฏิรูปศาสนจักร คือการแต่งตั้งพระคาร์ดินัลใหม่จำนวนหลายรูป ทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ต่อไป จะมาจากการแต่งตั้งของโป๊ปฟรานซิสถึง 80% ซึ่งในจำนวนนี้มาจากหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งจากเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ซึ่งเท่ากับทรงย้ายศูนย์กลางอำนาจของศาสนจักรคาทอลิก ให้ออกห่างจากภูมิภาคยุโรปที่กำลังเสื่อมถอย ไปสู่สถานที่แห่งอื่นที่ศาสนจักรอันเก่าแก่กำลังมีความรุ่งเรืองเฟื่องฟูมากกว่า