ป.ป.ช.แจงผลทำหน้าที่ชุด ฉก.ฉลามอันดามัน ลงพื้นที่ตรวจสอบบริหารพื้นที่อุทยานนพรัตน์ธารา -หมู่เกาะพีพี พบปัญหา 4 ประการด้านการจับเก็บเงินค่าบริหาร ยังใช้รูปแบบเงินสด มีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยระบบเก็บเงินเหตุขนเงินนับล้านข้ามทะเล พบปัญหาอุทยานนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี มีงบไม่พอ ทั้งที่เก็บรายได้ต่อปี 600 ล้าน จี้กรมอุทยานเร่งแก้ไข
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าวันที่ 17 ม.ค. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยชุดเฉพาะกิจติดตามมาตรการป้องกันการทุจริตในการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ หรือชุด “ฉก.ฉลามอันดามัน” ได้ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา -หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ โดยลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณจุดจัดเก็บ เช่น อ่าวมาหยา เกาะพีพีดอน เกาะไม้ไผ่ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยว พบข้อสังเกตุ 4 ประการคือ
1.ยังมีการจัดเก็บรายได้ในรูปแบบของเงินสด ทั้งที่ได้ประกาศให้มีการจัดเก็บรายได้แล้วในรูปแบบ E-tag
2.การจัดเก็บรายได้และส่งเงินสดจำนวนมาก 1 ล้านกว่าบาทต่อวัน ที่ได้มอบหมายให้ลูกจ้างของอุทยานฯ จำนวน
3 การนำส่งไปยังบนฝั่งโดยเรือยาง ซึ่งมีความเสี่ยงในเรื่องของความปลอดภัยเป็นอย่างมาก ทั้งกระแสคลื่นลมที่มีความรุนแรง และความปลอดภัยในเรื่องของผู้ร้ายที่ไม่ประสงค์ดี
3.เรื่องการกำหนดจำนวน CC (Carrying Capacity) หรือการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว ควรมีระบบหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่
4.ระเบียบกรมอุทยานฯ ออกมากำหนดข้อจำกัดเรื่องการใช้จ่ายเงินโครงการจำนวนร้อยละ 20 แต่ไม่เกิน 30 ล้านต่อปี ซึ่งทำให้อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี มีงบประมาณไม่เพียงพอ ทั้งที่สามารถจัดเก็บรายได้ปีละ 600 กว่าล้านบาท
ทางด้าน นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 8 กล่าวว่า การลงมาติดตามมาตรการที่ทาง ป.ป.ช.ได้เสนอไปยังกรมอุทยานแห่งชาติในการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ โดยเป็นมาตรการที่ให้ทางอุทยานฯ จัดเก็บรายได้ผ่านระบบ E-Impress ซึ่งในการลงมาที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-เกาะพีพี เนื่องจากเป็นอุทยานฯนำร่องในการจัดเก็บรายได้ผ่านระบบ E-Impress ซึ่งจริงๆแล้วจะต้องนำร่องเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เท่าที่ลงมาก็ยังพบเห็นว่ายังคงมีการจ่ายค่าธรรมเนียมแบบเงินสดบริเวณทางเข้าอุทยานฯ
โดยปัญหาที่ไม่ได้จัดเก็บรายได้ผ่านระบบ E-Impress ได้ทั้งหมดนั้น จากการพูดคุยกับทางอุทยานฯ และมัคคุเทศก์หรือไกด์ บอกว่า ติดขัดในเรื่องของระบบ และการเข้าระบบนั้น หากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากหรือหนาแน่น จะเกิดความล่าช้าไม่ทันการณ์ ทำให้บางบริษัทฯยังคงใช้วิธีแบบเดิมคือการมาซื้อบัตรค่าธรรมเนียมหน้าอุทยานฯและจ่ายแบบเงินสด
ซึ่งการจัดเก็บแบบเงินสดที่ปฎิบัติกันมาตั้งแต่อดีตนั้น มีโอกาสความไม่โปร่งใสสูง ที่จะทำให้เงินเหล่านั้นหรือบางส่วนจะเล็ดลอดหรือรั่วไหลออกไป เพราะว่าเท่าที่สังเกตเห็นมัคคุเทศก์หรือไกด์ของบริษัททัวร์มาถึงบริเวณหน้าจุดทางเข้าอุทยานฯ ก็จะมาแจ้งเจ้าหน้าที่แค่จำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเท่านั้น และจ่ายเงินสดให้กับอุทยานฯ ตามจำนวนที่มาบอกกับเจ้าหน้าที่เท่านั้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯก็ไม่ได้เช็คหรือตรวจสอบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาตามจำนวนจริงที่บริษัททัวร์แจ้งมาจริงหรือไม่ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เงินเหล่านั้นอาจจะรั่วไหล
“ภายหลังจากนี้จะได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด เน้นย้ำไปที่กรมอุทยานฯ ให้จัดการเร่งรัดในมาตรการจัดเก็บรายได้แบบ E-Impress ให้ครบถ้วนทุกอุทยานฯในประเทศไทย รวมทั้งปัญหาในการจัดเก็บรายได้แบบรับเงินสด โดยมีการฉีกตั๋ว และเมื่อมีการจำหน่ายตั๋วออกไปแล้ว ปรากฎว่าตั๋วเข้าอุทยานฯมียอดน้อยกว่านักท่องเที่ยวที่เข้าจริง และอุทยานฯบางที่ทาง ป.ป.ช. ได้รับข้อมูลหนักถึงขั้นเป็นตั๋วผ่านอุทยานฯปลอม แต่ทาง ป.ป.ช.ยังคงอยู่ระหว่างตรวจสอบในเรื่องนี้” นายสุชาติ กล่าว
ขณะที่ นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต ป.ป.ช.ตรัง กล่าวว่า อุทยานฯ ยังไม่ดำเนินการตามมาตรการ หรือมติครม. ในการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายตั๋วค่าเข้าอุทยานฯ รูปแบบ e-tag ทั้งที่กรมอุทยานฯได้มีการสร้างระบบ และประกาศให้ หาดนพรัตน์ธารา -หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ เป็น 1 ใน 3 อุทยานฯ นำร่องในการจัดเก็บค่าเข้ารูปแบบ e-tag แต่ปรากฏว่ามีการจัดเก็บในรูปแบบ e-tag ได้เพียงแค่หลักหมื่นบาท หรือเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่มีการจัดเก็บแบบเงินสดต่อวันกว่า 1.6 ล้านบาท
ประเด็นความเสี่ยงในการนำส่งเงิน เนื่องจากระเบียบในการนำส่งเงินของกรมอุทยานฯระบุไว้ว่า จะต้องให้จุดจัดเก็บบริเวณอ่าวมาหยา และจุดจัดเก็บอื่นๆ นำเงินจากที่จุดจัดเก็บ เก็บได้ไปส่งยัง สำนักงานอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา -หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ซึ่งอยู่บนฝั่งในทุกๆวัน ซึ่งวันนี้พบเห็นว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นลูกจ้างของอุทยานฯ จำนวน 3 นาย นำเงินสดที่เก็บได้วันนี้ จำนวน 1,608,660 บาท ใส่กระเป๋าสะพายหลังแบบกระเป๋ากันน้ำ ขึ้นเรือยางจากเกาะ ฝ่ากระแสคลื่นลมที่สูงและรุนแรง ไปยังสำนักงานซึ่งอยู่บนฝั่ง มีความเสี่ยงสูงทั้งกระแสคลื่นลมที่อาจทำให้เรือล่ม ทำให้เงินสูญหาย และบุคคลที่มาส่งเงินเป็นเพียงแค่ลูกจ้างของอุทยานฯ ซึ่งไม่มีการป้องกันอันตราย ความปลอดภัย หรือความคุ้มครองเงินจำนวนนับล้านบาทใดๆทั้งสิ้น และยังเสี่ยงต่อการที่บุคคลภายนอก และบุคคลภายใน อาจจะเข้ามาปล้น หรือชิงเงินสดจำนวนนับล้านบาทต่อวันไป
นายยุทธนากล่าวต่อไปว่า วันนี้ (17 ม.ค.) เรียกร้องให้กรมอุทยานฯดำเนินการ ให้มีการจัดเก็บในรูปแบบ e-tag และการให้กรมอุทยานฯ ให้กรมอุทยานฯ แก้ไขระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการนำส่ง การเก็บรักษา และการใช้จ่ายเงิน เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ พ.ศ.2564 ข้อ 22 ให้หน่วยงานเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทกระแสรายวัน แก้ไขเป็น ให้หน่วยงาน หน่วยงานย่อย เปิดบัญชีเงินฝากเพื่อให้หน่วยงานย่อย ทุกหน่วยงานของกรมอุทยานฯสามารถเปิดบัญชีในการเก็บค่าบริการอุทยานได้ แทนการจัดเก็บในรูปแบบเงินสดได้ทุกกรณี
ซึ่งจากการประชุมเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ทางอธิบดี กรมอุทยานฯ ได้รับทราบมติที่ประชุม และจะนำไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน แต่จากการลงพื้นที่ติดตามมาตรการและการประชุมร่วมกันของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าทางกรมอุทยานฯ ยังไม่แก้ไขระเบียบแต่อย่างใด
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )