
17 ม.ค. 2568 เวลาประมาณ 14.00 น. ณ โถงกลางประตู 1 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กรุงเทพมหานคร แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดชมห้องตัวอย่าง และจองสิทธิ์โครงการ ‘บ้านเพื่อคนไทย’ ที่เปิดให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง และคนเริ่มต้นทำงาน (First Jobber) ได้สิทธิซื้อเป็นบ้านหลังแรกในทำเลศักยภาพ ผ่อนในราคาประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน ไม่ต้องดาวน์ ระยะเวลาผ่อน 30 ปี แต่ได้สิทธิอยู่อาศัย ninety 9 ปี โดยมีธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นผู้ปล่อยกู้ซื้อบ้านเพื่อคนไทยในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2.5%
สำหรับนโยบายนี้ รัฐบาลระบุถึงแนวคิดว่าการมีบ้านเป็นของตนเองจะช่วยให้ประชาชนสามารถพัฒนาตนเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคง อีกทั้งยังส่งเสริมเศรษฐกิจโดยรวม รัฐบาลจึงเลือกใช้พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ตั้งอยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟ ซึ่งสะดวกต่อการเดินทาง และมีการเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในอนาคต
คุณสมบัติผู้ที่จะมีสิทธิจองเบื้องต้น :
- ถือสัญชาติไทย
- บรรลุนิติภาวะแล้ว
- รายได้ไม่เกินเดือนละ 50,000 บาท
- ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์บ้านมาก่อน (ซื้อเป็นบ้านหลังแรก)
- ไม่เคยได้สิทธิในโครงการบ้านเพื่อคนไทย
- ไม่มีติดเครดิตบูโร
แบ่งเป็น 2 ประเภทให้เลือก คือ
- คอนโดมิเนียม: ขนาดห้องพักขนาด 30 ตารางเมตร เบื้องต้นสร้าง 8 ชั้น หลังจากนั้นจะขยายโครงการเป็น forty five ชั้น
- บ้านเดี่ยว: ชั้นเดียว ขนาด 50 ตารางวา
บ้านตัวอย่าง ‘บ้านเพื่อคนไทย'
บ้านตัวอย่าง ‘บ้านเพื่อคนไทย'
บ้านตัวอย่าง ‘บ้านเพื่อคนไทย'
สำหรับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ระบุว่าจะใช้ก่อสร้างมี 4 ทำเล ได้แก่
- บางซื่อ กม. 11
ตั้งอยู่ซอยวิภาวดี 11 ติดถนนกำแพงเพชร ห่างจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 2.5 กม. ห่างจากเซ็นทรัลลาดพร้าว 500 เมตร ห่างจาก MRT พหลโยธิน 500 เมตร
- ธนบุรี (ศิริราช)
ตั้งอยู่ตรงข้ามตลาดศาลาน้ำร้อน ห่างจากรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีส้ม 800 เมตร มีขนาดที่ดินประมาณ 23 ไร่ แต่เนื่องจากพื้นที่ยังมีบ้านพักพนักงานรถไฟ จึงต้องศึกษาเพิ่มเติม
- เชียงราก จ.ปทุมธานี
ห่างจากสถานีรถไฟเชียงราก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 4.4 กม. ห่างจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ 9 กม.
- เชียงใหม่
ใกล้ ถ.เจริญเมือง ถ.ทุ่งโฮเต็ล ห่างจากมหาวิทยาลัยพายัพ 2.6 กม. ห่างจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 7.5 กม. ห่างจาก ถ.ซุปเปอร์ไฮเวย์ 1.3 กม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเปิดโครงการในวันนี้มีประชาชนสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากจนเต็มเก้าอี้ที่จัดไว้ให้ และจำนวนหนึ่งยืนอยู่รอบๆ ประชาชนที่มาในงานส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานและผู้สูงอายุ
ขณะที่คนแห่จองสิทธิ์ทางเว็บไซต์บ้านเพื่อคนไทยจนทำให้เว็บล่มตั้งแต่ชั่วโมงแรก หลายสำนักข่าวรายงานว่ายอดเข้าเว็บไซต์ทะลุ 20 ล้านคน ทั้งนี้ เว็บไซต์กลับมาใช้การได้เป็นปกติแล้ว
ประชาไทมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้คนหลากหลายวัยที่นั่งรอเข้าชมห้องตัวอย่าง
แม่เลี้ยงเดี่ยวที่เคยถูกยึดบ้าน
จิราภรณ์ ทานะศรี แม่เลี้ยงเดี่ยว วัย 55 ปี ประกอบอาชีพอิสระ หาเงินเลี้ยงตัวเองและลูก สนใจที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองในพื้นที่บางซื่อ
จิราภรณ์เล่าว่า เธอเคยผ่อนบ้านในโครงการบ้านเอื้ออาทรในจังหวัดยโสธรจำนวน 2 หลัง หลังละ 32 ตารางวา ผ่อนกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ประมาณ 2-3 ปี จนมาเจอภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผ่อนต่อไม่ไหว ค้างชำระเกิน 3 เดือน ส่งผลให้การเคหะแห่งชาติที่เป็นผู้ค้ำประกันกับธนาคารอาคารสงเคราะห์มีสิทธิ์ยึดคืน ต่อมาก็มีหมายศาลมาให้เธอย้ายออก หลังจากนั้นก็เช่าอยู่มาตลอด ส่วนทะเบียนบ้านก็ย้ายไปที่บ้านของน้องสาว
เธอเล่าต่อไปว่ามีคนจำนวนมากที่เจอปัญหาเงื่อนไขค้างชำระ 90 วันเหมือนกับเธอ อาจจะเป็นเพราะตอนที่ทำสัญญา คนไม่เข้าใจเงื่อนไขของธนาคาร บ้างอาจจะไม่ได้อ่านเงื่อนไขให้ครบ หรือไม่มีเงินมาชำระต่อเนื่อง 3 เดือน
เธอกล่าวต่อไปว่า เมื่อบ้านที่มีถูกยึดไป คนมีเงินก็มากว้านซื้อไปเป็น 10-20 หลัง โดยไม่ได้ซื้อในชื่อของตัวเอง แต่เอาชื่อลูกชื่อหลานมาซื้อแล้วก็ปล่อยเช่า เก็บค่าเช่ากิน มันจึงเป็นช่องว่างที่รัฐบาลควรรับไว้พิจารณาด้วย
แม่เลี้ยงเดี่ยวคนนี้บอกด้วยว่า ปัจจุบันเธออาศัยอยู่กับลูกชายคนเล็ก อายุ 16 ปี ส่วนลูกสาวคนโตที่ทำงานแล้วออกไปเช่าคอนโดอยู่เอง เงินเดือนลูก 30,000 บาท แต่ต้องจ่ายค่าเช่าถึงเดือนละ 10,000 บาท
ทั้งนี้ เธอบอกด้วยว่าเธอติดเครดิตบูโร ทำให้ผู้สื่อข่าวไม่แน่ใจว่าเธอจะจองสิทธิ์ในโครงการนี้ได้หรือไม่ เนื่องจากเงื่อนไขของโครงการระบุไว้ข้อหนึ่งว่า “ไม่มีประวัติติดค้างอยู่ในเครดิตบูโร”
วินมอเตอร์ไซค์ชาวปทุมธานี
สุเทพ เรืองเชื้อเหมือน วัย 50 ปี ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างในจังหวัดปทุมธานี อยากที่จะมีบ้านในทำเลเชียงราก ไม่ไกลจากพื้นที่ที่เขาทำงาน
สุเทพเล่าว่า ตัวเขากำลังจะสร้างครอบครัวจึงต้องการมีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งเขาอยากได้บ้านมานานแล้ว แต่เคยทำเรื่องกู้ธนาคารก็ไม่ผ่าน มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์บัตรคนจนแต่ลงทะเบียนแล้วก็ไม่ผ่านอีก จึงรู้สึกว่าไม่เคยได้รับความช่วยเหลืออะไรเลย
เขาเล่าต่อไปว่า ปัจจุบันมีรายได้ทางเดียวประมาณเดือนละ 12,000 บาท หักเป็นค่าเช่าห้องไปแล้ว 6,000 บาทรวมค่าน้ำค่าไฟ โครงการนี้ดีตรงที่ไม่ต้องวางเงินดาวน์ แค่ผ่านหลักเกณฑ์ ก็สามารถผ่อนได้ 4,000 บาท จึงอยากจะขอบคุณรัฐบาลชุดนี้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ตัวเขามีความกังวลหรือไม่กับโครงการบ้านของรัฐ ที่คนในสังคมจำนวนหนึ่งอาจตั้งคำถามกับคุณภาพวัสดุหรือสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัย เขาบอกว่าไม่ได้กังวลเรื่องนั้นเลย กลัวไม่จะได้สิทธิ์ในโครงการนี้มากกว่า
คู่แม่ลูก
จิดาภา อายุ 32 ปี เช่าอพาร์ตเมนต์อยู่เดือนละ 6,000 บาท เป็นห้องสตูดิโอ ไม่มีแยกสัดส่วน มาพร้อมกับคุณแม่วัย 70 ปีของเธอที่นั่งอยู่ข้างๆ
จิดาภาบอกว่าเธอมีอาชีพทำธุรกิจส่วนตัว ไม่ได้เชียร์พรรคเพื่อไทยหรือพรรคใดเป็นพิเศษ แต่เห็นว่านโยบายนี้ดี ช่วยเหลือคนได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า เพื่อนๆ ที่อยู่ในวัยเดียวกับเธอสนใจโครงการนี้เหมือนกันหรือไม่ เธอตอบปฏิเสธ พร้อมบอกเหตุผลว่า จริงๆ แล้วเป็นคุณแม่ของเธอที่เห็นโครงการนี้จากเฟซบุ๊กแล้วก็สนใจ เธอจึงพาแม่มาจอง
มนุษย์ออฟฟิศอายุใกล้เลข 3
ขณะที่ พีรพัฒน์ ปาสำลี วัย 28 ปี พนักงานด้านบัญชีในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งแถวปิ่นเกล้า ใช้วันลามาชมห้องตัวอย่างโดยที่ยังไม่ได้มีทำเลไหนเป็นพิเศษในใจ
พีรพัฒน์มีเงินเดือน 20,000 บาท ปัจจุบันพักอาศัยในบ้านเช่าราคา 2,000 บาทที่แม่จ่ายให้
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )