แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/y7fh | ดู : 10 ครั้ง
เสนอไทยจัดการฝ่ายเดียว-แก้ระบบต่ออายุแรงงานข้ามชาติ-ก่อนผิดกฎหมายนับล้าน

มติ ครม.ต่ออายุแรงงานข้ามชาติ เมื่อ 24 ก.ย. 2567 หรือบางคนเรียกชื่อเล่นว่า การต่ออายุแรงงานข้ามชาติ ‘เสมือน MOU' เพื่อเปิดให้แรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ดำเนินการทำเรื่องต่ออายุทำงานในประเทศไทยได้ 2 ปี และขยายได้อีก 2 ปี โดยมีเส้นเสียชีวิตว่าต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 13 ก.พ. 2568

มติดังกล่าวถูกนายจ้างและภาคประชาสังคมวิจารณ์ว่า การดำเนินการให้เวลาน้อยเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนผู้รอเข้าคิวต่ออายุใบอนุญาตทำงานจำนวนนับล้าน อีกทั้งมีขั้นตอนสุดยุ่งยาก เปิดช่องนายหน้าแสวงหาประโยชน์ และค่าดำเนินการก็แสนแพง เหล่านี้อาจกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้คนงานต้องหลุดออกจากระบบ

แม้จะมีข่าวดีว่า มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 4 ก.พ. 2568 ขยายเวลาต่ออายุแรงงานข้ามชาติออกไป โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ แรงงานพม่า-กัมพูชา ขยายเวลาดำเนินการออกไป 6 เดือน และแรงงานเวียดนาม-ลาว ขยายเวลาดำเนินการอีก 3 เดือน แต่ก็ไม่ได้มีการปรับแก้ระบบและกระบวนการต่างๆ ให้สะดวกขึ้น ทำให้นายจ้างมองว่ามตินี้อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก

ประชาไทพูดคุยกับ ‘อดิศร เกิดมงคล’ ผู้ประสานงานองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) และ ‘นิลุบล พงษ์พยอม’ กลุ่มนายจ้างสีขาว เพื่อมาร่วมสะท้อนปัญหาระบบต่ออายุแรงงานข้ามชาติ พร้อมชงข้อเสนอต่อภาครัฐเพื่อลดขั้นตอนดำเนินการ และภาระค่าใช้จ่าย เช่น การต่ออายุแรงงานข้ามชาติโดยให้ประเทศไทยจัดการฝ่ายเดียว ปรับระบบออนไลน์ และอื่นๆ เพื่อรักษาแรงงานข้ามชาติไม่หลุดออกจากระบบ รวมทั้งตอบคำถามว่าที่บางฝ่ายกังวลว่า ‘การอำนวยความสะดวกแบบนี้จะเป็นการเปิดช่องให้แรงงานข้ามชาติขอสิทธิถิ่นที่อยู่อาศัยถาวรได้หรือไม่'

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

มติ ครม.24 ก.ย. 2567 ต่ออายุแรงงานข้ามชาติ คืออะไร

ตอนนี้รัฐบาลกำลังเปิดให้ต่ออายุแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ ได้แก่ เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา ตามมติ ครม. 24 กันยายน 2567 หรือภาคประชาสังคมและนายจ้าง เรียกว่า การต่ออายุแรงงานแบบ ‘เสมือน MOU’ โดยต่อได้ครั้งละ 2 ปี และต่ออายุเพิ่มได้อีก 2 ปี รวมเป็น 4 ปี หรือจนถึงปี 2572 โดยต้องดำเนินการภายใน 13 ก.พ. 2568 แต่ภาครัฐเพิ่งเปิดระบบเริ่มดำเนินการเมื่อประมาณปลายเดือน พ.ย. 2567 ดังนั้น นายจ้างและแรงงานจะมีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 2 เดือนกว่าเท่านั้น

ระบบใหม่นี้เปิดให้นายจ้างและแรงงานข้ามชาติสามารถดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง

อดิศร เล่าให้ฟังว่า แรงงาน 4 สัญชาติที่ต้องต่ออายุรอบนี้มีจำนวนสูงถึง 2,398,218 คน

  • พม่า 2,012,856 คน
  • กัมพูชา 287,537 คน
  • ลาว 94,132 คน
  • เวียดนาม 3,673 คน

จำนวน 2 ล้านกว่าคน ส่วนใหญ่มาจากแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนตามมติ ครม. เมื่อ 7 ก.พ. 2566 และ 3 ต.ค. 2566 แรงงานตามมติ ครม. 2 กลุ่มนี้จะหมดอายุ 13 ก.พ. 2568

ตาราง: จำนวนแรงงานข้ามชาติที่ต้องต่ออายุใบอนุญาตทำงาน

อย่างไรก็ตาม ดูว่าเหมือนว่าจะมีข่าวดีเพราะมติ ครม.เมื่อ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ขยายเวลาดำเนินการต่ออายุแรงงานพม่า-กัมพูชาอีก 6 เดือน จากเดิมเดดไลน์อยู่ที่ 13 ก.พ.นี้ ขยายไปเป็น 13 ส.ค. 2568 แต่มีเงื่อนไขคือนายจ้างหรือนายหน้าต้องยื่นบัญชีรายชื่อ (namelist) ผ่านระบบออนไลน์ภายใน 13 ก.พ.นี้ ส่วนกรณีของลาวและเวียดนาม ได้รับการขยายเวลาอีก 3 เดือน เพื่อให้นายจ้างดำเนินการในประเทศไทย

ตามมติ ครม.เมื่อ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา จะแบ่งรูปแบบการต่ออายุแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติออกมาได้ดังนี้

แบบที่ 1 กรณีของพม่า

สำหรับกระบวนการต่ออายุของแรงงานข้ามชาติ ตามมติ ครม. 4 ก.พ. 2568 แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือแบบของประเทศwม่า มีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้

  1. นายจ้างต้องเอาข้อมูลรายชื่อของแรงงานข้ามชาติ (namelist) ยื่นเข้าไประบบออนไลน์ของเว็บไซต์กรมจัดหางาน ซึ่งระบบออนไลน์ใเริ่มเปิดเมื่อ 27 พ.ย. 2567 จากนั้นระบบจะอนุมัติตัว namelist ให้
  2. นายจ้างจะต้องปรินต์นำเอาตัว namelist ไปยื่นที่สำนักงานของสถานทูตพม่า และทำสัญญาต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ของสถานทูต โดยสำนักงานจะมีเพียงแค่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
  3. ดำเนินการตรวจสุขภาพตรวจโรคที่โรงพยาบาล ขอใบรับรองแพทย์
  4. เอาเอกสารไปยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวที่กรมจัดหางาน เพื่อขอใบอนุญาตทำงาน
  5. ติดต่อที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อขอวีซ่าอีก 2 ปี
  6. สำนักงานกรมจัดหางานจังหวัด/กรุงเทพฯ ออกใบอนุญาตทำงาน

แบบที่ 2 กรณีของกัมพูชา

  1. นายจ้างจะต้องยื่นบัญชีรายชื่อ (namelist) ผ่าน www.cam.doe.plod.th เพื่อให้กระทรวงแรงงาน กัมพูชา รับรองรายชื่อ
  2. เมื่อได้รับการรับรองรายชื่อแล้ว นายจ้างไปยื่นขอใบอนุญาตทำงาน ที่กรมจัดหางาน
  3. ดำเนินการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล
  4. ติดต่อที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อขอวีซ่าอีก 2 ปี
  5. สำนักงานกรมจัดหางานจังหวัด/กรุงเทพฯ ออกใบอนุญาตทำงาน

แบบที่ 3 ลาวและเวียดนาม

  1. ต้องยื่นรายชื่อแรงงาน (namelist) ให้กับกรมจัดหางานผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่ต้องยื่นกับประเทศต้นทาง

หมายเหตุ : ถ้านายจ้างไม่ได้ยื่นรายชื่อ แรงงานเวียดนามและลาว ต้องเดินทางกลับไปดำเนินการตามระบบ MOU ที่ภูมิลำเนาของตัวเอง

  1. ยื่นคำขอใบอนุญาตทำงานที่กรมจัดหางาน
  2. ตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล เพื่อขอใบรับรองแพทย์
  3. ตรวจลงตราวีซ่า
  4. สำนักงานกรมจัดหางานจังหวัด/กรุงเทพฯ ออกใบอนุญาตทำงาน โดยมีกำหนดระยะเวลาทำงานได้จนถึง 13 ก.พ. 2569

ค่าใช้จ่ายแสนแพง เสียงสะท้อนภาระนายจ้าง

กระทรวงแรงงาน อธิบายว่า การต่ออายุแรงงานข้ามชาติแบบใหม่นี้จะเป็นประโยชน์ต่อนายจ้าง เนื่องจากลูกจ้างไม่ต้องกลับบ้านเกิดไปเพื่อต่ออายุใบอนุญาตทำงานแล้ว แต่สิ่งที่ตามมาคือขั้นตอนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซี่งสร้างภาระให้กับแรงงานข้ามชาติ และนายจ้าง

อดิศร กล่าวว่า จากเดิมนายจ้างหรือแรงงานข้ามชาติต้องเสียค่าใช้จ่ายต่ออายุใบอนุญาตทำงานทุกกระบวนการ ประมาณ 5-6 พันบาท แต่หลังเปลี่ยนรูปแบบ กลายเป็นว่าค่าใช้เพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 18,000 บาท โดยส่วนใหญ่หมดไปกับค่านายหน้า ส่วนแรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ‘คนทำงานแม่บ้าน’ เพราะว่าต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพ 2 ปี ซึ่งแตกต่างถ้าเป็นลูกจ้าง ภาครัฐจะบังคับซื้อประกันสุขภาพ 3 เดือน และหลังจากนั้นก็เข้าระบบประกันสังคม

ทั้งนี้ หากแรงงานข้ามชาติมาทำงานเป็นแม่บ้าน ทำงานประมง หรือแรงงานภาคการเกษตร จะไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม

อดิศร ประเมินด้วยว่า ค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นจะส่งผลกระทบส่วนใหญ่กับนายจ้างที่ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ‘รายย่อย’ เนื่องจากค่าพวกเขาไม่มีเวลาไปดำเนินการ และก็ต้องใช้บริการนายหน้าให้ดำเนินการแทน ซึ่งก็ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ถ้านายจ้างเขาไม่มีเงิน นายจ้างบางคนก็จะมาหักเงินจากลูกจ้างอีกที ก็อาจทำให้เกิดปัญหาแรงงานบังคับหรือแรงงานขัดหนี้ขึ้นมาได้

อดิศร เกิดมงคล

นิลุบล อธิบายว่า ปกติทุกปีจะมีการชี้แจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายให้นายจ้างทราบตลอด แต่ปีนี้ไม่มีการแจ้ง และยังมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงเยอะมาก เช่น นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าดำเนินการกับสถานทูตกัมพูชา แต่ขัดกับที่อธิบดีกรมจัดหางาน มาชี้แจงในที่ประชุมของคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ สภาผู้แทนราษฎร บอกว่าไม่มีการเก็บค่าดำเนินการยื่น ‘namelist' ทั้งจากฝั่งพม่าและกัมพูชา ทางฝั่งนายจ้างเลยยื่นหลักฐานบัญชีเรียกรับเงินส่วนนี้กับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. ) ซึ่งต้องดูว่าจะมีการดำเนินการต่อไปอย่างไรบ้าง

“ทุกปีจะต้องมีค่าใช้จ่ายรายละเอียดออกมา แต่ว่าเราไม่เห็นรายละเอียดในปีนี้ มันก็จะมีคำถามจากทุกคนว่า ทำไมเราต้องจ่าย เพราะว่าอธิบดี (กรมการจัดหางาน) บอกว่าไม่มีค่าใช้จ่ายจากประเทศต้นทาง” นิลุบล กล่าว

ทั้งนี้ สถานทูตพม่ายังไม่มีการอนุมัติ namelist แรงงานข้ามชาติ

นิลุบล ยังมองถึงค่าใช้จ่ายที่จะงอกขึ้นมาเพิ่มเติม ยกตัวอย่าง กรณีการต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานพม่า ที่กำหนดให้นายจ้างต้องไปเซ็นสัญญาต่อหน้าเจ้าพนักงานของสถานทูต โดยตอนนี้มีสำนักงานอยู่แค่ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ระนอง และกรุงเทพฯ แต่ถ้านายจ้างไม่ได้อยู่ในจังหวัดข้างต้นก็ต้องเดินทางไกลข้ามจังหวัด เสียค่าใช้จ่ายและเวลา ทั้งหมดนี้เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในขณะที่นายจ้างกำลังเผชิญปัญหาด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ

ตัวแทนนายจ้าง ระบุต่อว่า กระบวนการการดำเนินการที่ซับซ้อนยังทำให้มีนายหน้าเถื่อนเข้ามาแสวงหาประโยชน์ ยกตัวอย่าง ขั้นตอนที่ต้องดำเนินการที่สถานทูต นายจ้างไม่เคยได้จองคิวผ่านระบบออนไลน์เลย เพราะเต็มตลอด แต่พอไปที่หน้าสำนักงานแล้ว ปรากฏว่ามีนายหน้ามาขายคิวให้ นายจ้างก็ต้องไปใช้บริการนายหน้าเพื่อให้ได้คิวดำเนินการ

“นายจ้างทุกคนยังอยู่ในภาวะย่ำแย่ และไม่รู้ว่าจะกอบกู้ธุรกิจตัวเองอย่างไร เราได้คุยกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ขึ้นไปเรียนว่าตอนนี้นายจ้างอยู่ในกลุ่มเปราะบางด้วยซ้ำ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้มีการเยียวยารายใหญ่ รายย่อย SME คือนายจ้างต้องสู้มาตลอด ช่วงโควิด นายจ้างยังต้องจ่ายให้ตัวแรงงาน เศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่ตอนนี้นายจ้างก็ต้องอยู่กับแรงงานให้ได้ ถ้าแรงงานไม่มีค่าใช้จ่ายตรงนี้ นายจ้างก็ต้องออกให้ บางกลุ่มก็ออกให้ทั้งหมด ก็โชคดีของแรงงาน” นิลุบล กล่าว

นอกจากนี้ นายจ้างยังพบปัญหาการซื้อประกันสุขภาพของโรงพยาบาลเอกชน ตามปกติภาครัฐจะบังคับนายจ้างซื้อประกันสุขภาพ 3 เดือนให้ลูกจ้างก่อนเข้าระบบประกันสังคม แต่ตอนนี้กลายเป็นว่ามีประกันสุขภาพของโรงพยาบาลเอกชนเข้ามา แล้วบังคับให้นายจ้างต้องซื้อเป็นระยะเวลา 6 เดือน และตอนนี้ประกันสุขภาพของโรงพยาบาลรัฐ ก็ปรับขึ้นมาเป็น 6 เดือนเหมือนกับโรงพยาบาลเอกชน ตรงนี้ก็กลายเป็นภาระให้กับนายจ้างอีกเช่นกัน

ตัวแทนนายจ้าง ระบุต่อว่า ภาครัฐมักอ้างว่าโรงพยาบาลรัฐรองรับแรงงานข้ามชาติไม่ไหว จึงต้องดึงโรงพยาบาลเอกชนเข้ามา แต่สำหรับเธอมองว่าถ้ามีการเตรียมการล่วงหน้า ปัญหานี้น่าจะรับมือได้ดีขึ้น เรื่องการแออัด หรือการให้บริการของโรงพยาบาล

“เรายังไม่เห็นข้อดีของมตินี้เลยว่าจะมาช่วยนายจ้างอย่างที่กระทรวงแรงงานแจ้งว่านายจ้างจะสะดวกสบายขึ้น โดยที่แรงงานไม่ต้องกลับประเทศต้นทาง …แต่นายจ้างมีค่าใช้จ่ายที่จะต้องเดินทางไปเซ็นสัญญา หรือไปตามหน่วยงานต่างๆ เช่น ตม. โรงพยาบาล หรือค่าหลักประกันแรงงาน ‘MOU' ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีนายจ้างได้เงินคืนเลย

“การขยายมาตรการ 6 เดือนตามมติของ ครม. ล่าสุดมันไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา มันยังคงสร้างภาระค่าใช้จ่าย แล้วเรายังไม่รู้เลยว่ายื่นเข้าไปในระบบกี่วันแล้วจะอนุมัติ แล้วทุกคนยังค้างในระบบ 2 ล้านกว่าคนเหมือนเดิม แล้วคนที่มาเรียกเก็บเงิน namelist เป็นบัญชีผี บัญชีม้า กระทรวงแรงงานจะจัดการตรงนี้อย่างไร” นิลุบล กล่าว

ภาครัฐต้องโปร่งใส เสนอใช้เฉพาะประกันสุขภาพ รพ.รัฐ

นิลุบล กล่าวว่าเธออยากให้มีการวางแผนมาตรการให้ดีกว่านี้ ไม่อยากให้กลายเป็นขยายเวลา 6 เดือน และขยายเวลาต่อไปเรื่อยๆ แต่ปัญหาอยู่ที่เดิมมันก็จะไม่มีประโยชน์อะไร กรมการจัดหางาน ควรมีความจริงใจในการระบุเรื่องค่าดำเนินการบนหน้าเว็บไซต์อย่างชัดเจน เพื่อให้นายจ้างทราบ ตัดเงินค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป

นิลุบล พงษ์พยอม

ฝ่ายนายจ้าง กล่าวต่อว่า ระยะเวลาที่ต้องทำงานต่อจากนี้ กระทรวงแรงงานควรประสานข้อมูลตัวเลขแรงงานข้ามชาติกับทางกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดสรรให้คนเข้าไปตรวจโรคโดยไม่ให้โรงพยาบาลเกิดภาวะแออัด และเสนอให้ควรเปลี่ยนให้นายจ้างซื้อประกันสุขภาพจากโรงพยาบาลรัฐอย่างเดียว เพื่อดึงเงินเข้าโรงพยาบาลรัฐ และสิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพของโรงพยาบาลรัฐยังครอบคลุมกว่าของเอกชนด้วย

อดิศร กล่าวต่อว่า สิ่งที่กังวลใจก็คือ มันจะมีช่วงสุญญากาศ หลังจากมติ ครม. 4 ก.พ.ออกมาแล้ว มันจะต้องใช้เวลาอีก 2 เดือนในการประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา (คาดว่าบังคับใช้ประมาณ 4 เม.ย.นี้) ดังนั้น มันจะมีแรงงานที่วีซ่าหมดอายุ 13 ก.พ. 2568 หลังจากนั้นเขาจะอยู่ในภาวะผิดกฎหมายจนกว่าจะมีประกาศบังคับใช้ ดังนั้น ถ้าไม่มีอะไรมารองรับ มันอาจจะเกิดสถานการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่บางส่วนเข้าไปตรวจนายจ้างและขอเรียกรับเงิน

อดิศร กล่าวว่า ภาครัฐแจ้งว่าก็ให้ฟ้องเอาถ้าเจอกรณีอย่างนี้ เพราะถือว่ามีมติ ครม.แล้ว แต่นายจ้างและแรงงานเหมือนถูกผลักภาระต้องจัดการเอง หรือต้องมาคอยจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ จนกว่าจะประกาศออกมา ดังนั้น ภาครัฐก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะคุ้มครองนับตั้งแต่มีมติ ครม.ออกมา

เสนอไทยจัดการเอกสารฝ่ายเดียว

“แรงงานหลุดออกจากระบบ และเป็นเถื่อน ไม่ได้เกิดจากแรงงานไม่อยากขึ้นทะเบียน แต่เป็นเพราะความยุ่งยาก และค่าใช้จ่ายที่ทำให้เขาหลุดออกจากระบบ” นิลุบล กล่าว

ฝั่งนายจ้าง มองว่า ตอนนี้ภาครัฐมีข้อมูลแรงงานจำนวน 2 ล้านคน และมีข้อมูลไบโอดาต้าของแรงงานอยู่แล้ว จริงๆ แค่ให้นายจ้างเข้าไปทำเรื่องและให้จ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงแรงงานทั้งหมด ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

อดิศร เสนอคล้ายๆ กัน คิดว่าถ้าอิงตามระบบปัจจุบันควรตัดขั้นตอนยื่น ‘namelist' กับประเทศต้นทางออก เหลือแค่การยื่นขั้นตอน namelist กับกระทรวงแรงงาน หลังจากนั้น ให้นำตัว namelist ไปยื่นขอใบอนุญาตทำงาน ตรวจสุขภาพ และตรวจลงตราวีซ่า หรือให้ดีที่สุดคือทำสำนักงาน ‘One Quit Provider’ ในแต่ละจังหวัด จัดการให้เสร็จในที่เดียว ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน และลดปัญหาจากนายหน้าได้

ตัวแทน MWG ระบุว่า เขาเคยเสนอกรมการจัดหางาน ให้ประเทศไทยดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานโดยให้ประเทศไทยจัดการฝ่ายเดียว อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว มาตรา 63/2 ที่อนุญาตให้รัฐบาลประกาศเป็นมติ ครม.ต่ออายุแรงงานข้ามชาติได้

ข้อเสนอคือรัฐบาลเปิดต่ออายุแรงงานข้ามชาติสัญชาติ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ครั้งนี้ 2 ปี หลังจากนั้นไปคุยกับประเทศต้นทางว่าจะกลับมาใช้ระบบ MOU เต็มรูปแบบหรือไม่

ส่วนกรณีของพม่าที่มีวิกฤตสงครามกลางเมือง แนะนำให้เปิดต่ออายุ 2 ปี และถ้าสถานการณ์ในพม่าไม่ดีขึ้นให้เปิดต่ออายุอีก 2 ปี หลังจากนั้นคุยกับพม่าว่าจะกลับมาจดทะเบียนแบบ MOU เต็มรูปแบบหรือไม่ ตัวแทนจาก MWG เชื่อว่าวิธีการนี้จะสะดวกขึ้น ง่ายขึ้น และค่าใช้จ่ายน้อยลง

อดิศร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คนงานพม่ามีความกังวลใจ ไม่กล้าขึ้นทะเบียนแรงงานตามระบบ MOU กับกองทัพพม่า เพราะกลัวการต้องไปเป็นทหาร ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากก่อนหน้านี้พม่าออกประกาศว่าถ้าทำ MOU 2 ปีแรก จะถูกเรียกไปเป็นทหารเมื่อไรก็ได้

นอกจากนี้ กองทัพพม่าระบุว่าจะไม่ส่งคนงานชายที่อายุตั้งแต่ 18-35 ปี เข้ามาทำงาน MOU ในไทยอีกแล้วในช่วงนี้ ส่งแรงงานหญิงได้ แต่ของผู้ชายต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานที่เกณฑ์ทหารพม่า ถึงจะมาได้ ดังนั้น ถ้าเราจัดการฝ่ายเดียว น่าจะช่วยรักษาแรงงานให้ยังถูกกฎหมายได้ และไทยไม่ขาดแคลนคนงาน

ส่วนที่บางคนกังวลว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติสามารถขอสิทธิถิ่นที่อยู่อาศัยถาวรได้นั้น อดิศร มองว่า ในเชิงหลักการแรงงานข้ามชาติแทบขอไม่ได้ เนื่องจากติดปัญหาหลายประการ เช่น การยื่นภาษีติดต่อกัน 5 ปีโดยไม่ขาด ต้องมีรายได้ที่พอเลี้ยงชีพ ซึ่งแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์

ต้องคิดเรื่องการจัดการระยะยาว

อดิศร ฝากหลักคิดว่ามติ ครม. ที่ออกมา มันสอดคล้องกับข้อเท็จจริงไหม สร้างภาระให้กับคนงานไหม และต้องวางแผนระยะยาวในการจัดการเรื่องนี้

“ประเทศไทยใช้นโยบายแก้ปัญหาระยะสั้นมาโดยตลอด ทำให้เราต้องแก้ไขปัญหานี้มาเรื่อยๆ และถ้าไม่ได้วางแผนอย่างเป็นระบบ ก็ต้องเจอปัญหาแบบนี้ เพราะว่าคุณขยายให้ 4 ปี อีก 4 ปีก็ต้องมาแก้ไขปัญหา คนอีก 2 ล้านคนอีก 4 ปีคุณจะจัดการยังไงต่อ ดังนั้น ควรมีการวางแผนให้ชัดเจนในอนาคต” อดิศร กล่าว

ส่วนมุมมองของนายจ้าง อยากให้มีการยุทธศาสตร์ที่วางล่วงหน้าสำหรับการจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศอย่างเป็นระบบ มีฐานข้อมูลที่เป็นส่วนกลาง เพราะว่าเรายังต้องพึ่งพาพวกเขาในภาวะที่ไทยเป็นสังคมผู้สูงวัยเต็มขั้น

“ตัวเศรษฐกิจเรายังต้องพึ่งพาแรงงาน โดยเฉพาะตอนนี้เราอยู่ในภาวะผู้สูงวัยเต็มขั้น เราต้องการแรงงานมาช่วยจ่ายภาษี และร่วมกันทำงานในประเทศเรา เพราะฉะนั้น การที่มีคนเข้ามาเยอะๆ ในประเทศเรา และหายไปจากประเทศเรามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ของประเทศ อันนี้ต้องมีการวางระบบในอนาคตข้างหน้า ทั้งระยะยาว ระยะใกล้ และระยะกลาง ทำพร้อมกันไปเลย” นิลุบล กล่าว

ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

ยิ่งเย็น สีลม ยิ่งคึกคัก ภาพมุมสูง ที่ถนนสีลม ขณะนี้มีพี่น้อ 2025-04-12 08:39:00

สันธนะ ถูกลอบยิvหนังสติ๊ก ท้าใช้ปืนจริงยิvเลย 100 วันชำระคืน 12 เม.ย

ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ขอเชิญร่วมสักการะพระพุทธสิหิงค์ เนื่องในเทศกาลม 2025-04-12 08:Forty eight:00

รวบหนุ่มยิvคนเสียชีวิต หลบหนีหมายจับนานกว่า 10 ปี . ตำรวจสอบสวนกลา

‘กฤษฎีกา’ ชี้ ‘บอร์ดสรรหา กกพ.’ มีส่วนได้เสียกับธุรกิจพลังงาน ไม่เป็นลักษณะต้องห้าม

รายงานสด แตงกวา เกาะติดสถานะการณ์ กู้ซากตึก สตง

ประชาชนดินทางกลับภูมิลำเนา รฟท.เพิ่มขบวนรถเสริมพิเศษ ยันไร้ตกค้ 2025-04-12 08:52:00

ก.ล.ต.กล่าวโทษ‘หมอบุญ วนาสิน’เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ-ปกปิดนำหุ้น Thg ที่ถืออยู่ไปจำนำ

ผู้เรียบเรียง

ให้คะแนนความพอใจของคุณ :

0 / 5 คะแนน 0

คุณให้คะแนน:

แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/y7fh | ดู : 10 ครั้ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *


Share via
Click to Hide Advanced Floating Content
Send this to a friend