นักวิจัยพบธารน้ำแข็งทั่วโลกกำลังละลายเร็วที่สุดกว่าที่เคยบันทึกมา

ที่มาของภาพ : Getty Photos

ด้วยความยาวมากกว่า 20 กม. ธารน้ำแข็งอาเล็ทช์ (Aletsch Glacier) ถือเป็นธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในเทือกเขาแอลป์ในยุโรป แต่ว่าธารน้ำแข็งส่วนหน้าได้ถอยร่นเข้าไปแล้วราว 3.2 กม. นับตั้งแต่ปี 1900 โดยการถอยร่นดังกล่าวกว่า 1 กม. เกิดขึ้นภายหลังปี 2000

Article files

  • Creator, มาร์ค พอยน์ทิง
  • Position, นักวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่รอบด้านที่สุดในขณะนี้ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลให้ธารน้ำแข็งขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลกละลายเร็วที่สุดกว่าที่เคยบันทึกมา

ธารน้ำแข็งที่ทอดตัวบนเทือกเขาทำหน้าที่เป็นเสมือนแหล่งน้ำจืดที่หล่อเลี้ยงผู้คนหลายล้านทั่วโลก พวกมันยังกักเก็บน้ำปริมาณมหาศาลเอาไว้ ซึ่งหากละลายเป็นน้ำทั้งหมดจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นถึง 32 ซม.

นับตั้งแต่ย่างเข้าสู่ศตวรรษใหม่ มีรายงานว่าธารน้ำแข็งเหล่านั้นได้ละลายไปแล้วเป็นปริมาณกว่า 6.5 ล้านล้านตัน หรือราว 5% ของปริมาณน้ำแข็งในธารน้ำแข็งทั้งหมด

นอกจากนี้ อัตราความเร็วในการละลายยังเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยในทศวรรษที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งได้ละลายหายไปในอัตราที่เร็วกว่าการละลายในช่วงปี 2000-2011 ถึง 1 ใน 3

การศึกษานี้รวบรวมข้อมูลจากการประเมินในระดับภูมิภาคถึง 230 แห่ง จากคณะวิจัย 35 คณะทั่วโลก นี่ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์มีความมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับความเร็วในการละลายของธารน้ำแข็ง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของพวกมันในอนาคต

เรื่องแนะนำ

ทั้งนี้ ธารน้ำแข็งถือเป็นดัชนีชี้วัดที่ยอดเยี่ยมในเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ในสภาพภูมิอากาศที่คงที่และไม่มีการเปลี่ยนแปลง ธารน้ำแข็งเหล่านี้จะมีขนาดคงเดิม เนื่องจากน้ำแข็งที่เพิ่มขึ้นจากหิมะที่ตกลงมานั้นเท่ากับส่วนของน้ำแข็งที่ละลายหายไป

อย่างไรก็ตาม ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าธารน้ำแข็งหดตัวลงในเกือบทุกที่ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก

ในระหว่างปี 2000-2023 บรรดาธารน้ำแข็งที่อยู่นอกผืนน้ำแข็งใหญ่บนเกาะกรีนแลนด์ และทวีปแอนตาร์กติกาได้สูญหายไปแล้วโดยเฉลี่ยราว 270 ล้านตันต่อปี

ตัวเลขดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจ ดังนั้น ไมเคิล เซมป์ ผู้อำนวยการหน่วยบริการตรวจสอบธารน้ำแข็งโลก (World Glacier Monitoring Provider) และผู้เขียนหลักในรายงานชิ้นนี้ จึงได้ใช้การเปรียบเทียบมาอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

เขาอธิบายกับบีบีซีนิวส์ว่า ในปีหนึ่ง ๆ มีน้ำแข็งจากธารน้ำแข็งสูญเสียไปราว 270 ล้านตัน ซึ่ง “ใกล้เคียงกับการบริโภคน้ำของประชากรทั่วโลกในระยะเวลา 30 ปี เลยทีเดียว บนสมมติฐานที่ว่าคนหนึ่งคนดื่มน้ำวันละ 3 ลิตรต่อวัน”

แผนภูมิแสดงให้เห็นการสูญเสียน้ำแข็งในธารน้ำแข็งที่มีอัตราความเร็วเพิ่มขึ้น

อัตราการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำแข็งบนธารน้ำแข็งในบางภูมิภาคถือว่ารุนแรงมากเป็นพิเศษ อย่างในภูมิภาคทางตอนกลางของยุโรป แค่เพียงในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา สูญเสียปริมาณน้ำแข็งในธารน้ำแข็งไปแล้ว 39%

จุดเด่นของการศึกษาดังกล่าวซึ่งได้รับการเผยแพร่ในวารสารเนเชอร์ (Nature) ไม่ใช่การค้นพบว่าธารน้ำแข็งกำลังละลายเร็วขึ้นและเร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราต่างรู้กันอยู่แล้ว แต่คือการที่การศึกษาชิ้นนี้ได้รวบรวมข้อมูลและดึงหลักฐานต่าง ๆ จากชุมชนนักวิจัยมาไว้อย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ มีวิธีหลากหลายในการประเมินว่าธารน้ำแข็งเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทั้งจากการวัดภาคสนามไปจนถึงการใช้ข้อมูลดาวเทียมในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งแต่ละวิธีต่างก็มีข้อดีและข้อเสียต่างกัน

ยกตัวอย่างเช่น การวัดขนาดที่ธารน้ำแข็งโดยตรง ซึ่งให้ข้อมูลได้อย่างละเอียดมาก แต่ก็ใช้วัดได้ในพื้นที่เพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ของธารน้ำแข็งทั้งหมดซึ่งมีอยู่มากกว่า 200,000 แห่งทั่วโลก

ด้วยการรวบรวมข้อมูลที่ได้มาจากการวัดด้วยวิธีการต่าง ๆ กันเหล่านี้อย่างเป็นระบบ ก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถรู้ได้ว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่

แอนดี เชฟเฟิร์ด หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนอร์ธัมเบรีย กล่าวว่า การประเมินของคณะนักวิจัยเหล่านี้ “เป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้ผู้คนมั่นใจขึ้นในการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่พวกเขาค้นพบ”

“ผู้คนที่ว่านี้ประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ และภาคอุตสาหกรรม และแน่นอน รวมทั้งใคร ๆ ก็ตามที่มีความกังวลต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน”

ทั้งนี้ ปกติแล้วต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าที่ธารน้ำแข็งจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจจะใช้เวลาไม่กี่ปีไปจนถึงหลายทศวรรษ ขึ้นอยู่กับขนาดของธารน้ำแข็งแต่ละแห่ง

นั่นจึงหมายความว่า ธารน้ำแข็งจะยังคงละลายต่อไปในช่วงอีกหลายปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือ ปริมาณของน้ำแข็งในธารน้ำแข็งที่จะสูญเสียไปในปลายศตวรรษนี้จะขึ้นอยู่กับว่า มนุษย์ยังจะทำให้โลกร้อนขึ้นต่อไปด้วยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ อีกมากน้อยแค่ไหน

ผลการศึกษาฉบับนี้ชี้ว่า หากเราสามารถรักษาอุณหภูมิโลกไว้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ เราจะสูญเสียปริมาณธารน้ำแข็งราว 1 ใน 4 ของธารน้ำแข็งทั่วโลก ในขณะที่หากว่าเรายังปล่อยให้โลกร้อนขึ้นโดยไม่มีการควบคุมแล้ว คาดว่าปริมาณธารน้ำแข็งจะหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง

“ทุก ๆ 0.1 องศาที่เราป้องกันไม่ให้โลกร้อนขึ้นได้ เท่ากับว่าเราจะสามารถปกปักรักษาธารน้ำแข็งไว้ได้บางส่วน และนี่จะช่วยปกป้องพวกเราจากความเสียหายอันใหญ่หลวงได้ด้วย” ศาสตรจารย์เซมป์ อธิบาย

เขากล่าวอีกว่า ผลที่ตามมาจากการละลายของธารน้ำแข็งนั้นไปไกลกว่าแค่การเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์หรือระบบนิเวศในท้องถิ่น “สิ่งที่เกิดขึ้นกับธารน้ำแข็งส่งผลกระทบไปไกลกว่า ณ จุดที่มันละลาย” ศ.เซมป์ กล่าว

ผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกต้องพึ่งพาน้ำที่ละลายตามฤดูกาลจากธารน้ำแข็งเหล่านั้น ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ แต่เมื่อธารน้ำแข็งเหล่านั้นหายไป แหล่งน้ำที่พวกเขาพึ่งพิงก็หายไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบในระดับโลกอีกด้วย แม้ระดับน้ำทะเลของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย ทั้งจากการละลายของธารน้ำแข็งบนเทือกเขาต่าง ๆ และการละลายของธารน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์และผืนน้ำแข็งบนพื้นทวีปแอนตาร์กติกา ประกอบกับพื้นมหาสมุทรอุ่นขึ้นซึ่งทำให้มันขยายตัว แต่นี่ก็สามารถส่งผลให้เกิดภัยน้ำท่วมพื้นที่ชายฝั่งบ่อยขึ้นได้แล้ว

“ทุก ๆ หนึ่งเซนติเมตรของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะทำให้ผู้คนอีก 2 ล้านคนต้องเผชิญกับน้ำท่วมทุก ๆ ปี ณ ที่ใดที่หนึ่งบนโลกใบนี้” ศาสตราจารย์เชฟเฟิร์ด กล่าว

ระดับน้ำทะเลทั่วโลกในตอนนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นแล้ว 20 ซม. นับตั้งแต่ปี 1900 โดยกว่าครึ่งหนึ่งของการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 และคาดว่าการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างรวดเร็วขึ้นจะเกิดขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่กำลังจะมาถึงนี้