เปิดเหตุผลฝ่ายค้านผุดกาสิโนในไทย ก่อนรัฐบาลเลื่อนถก ร่าง พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ไปสมัยประชุมหน้า

ที่มาของภาพ : สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

นายกฯ ประกาศ “เลื่อน” การพิจารณาร่างกฎหมายการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร โดยมีหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลอีก 6 พรรคร่วมแถลงข่าวด้วยเมื่อ 8 เม.ย.

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันพรุ่งนี้ (9 เม.ย.) จะไม่มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Advanced) หลังนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ปิดห้องคุยกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล

“ต้องดูว่าในสภาจะดำเนินการอย่างไรต่อ ส่วนพรรคร่วมฯ ที่คุยกันเห็นว่าควรเอาเรื่องที่เร่งด่วนก่อน” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงการเลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ออกไปก่อน

เธอให้เหตุผลว่า ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตหลายด้าน ทั้งภัยธรรมชาติจากแผ่นดินไหว การเยียวยาผู้ประสบภัย และกรณีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งหาทางออกอย่างเร่งด่วน

“เราไม่ได้ถอนหรือดึงเรื่องกลับมา ในระหว่างนี้ก็รับฟังความคิดเห็นไปได้เรื่อย ๆ อยากจะบอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าเราควรจัดลำดับความสำคัญของเรื่อง” นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเอาเข้าสู่การพิจารณาของสภาในสมัยหน้าใช่หรือไม่ เพราะตอนนี้เหลือเวลาแค่ 2 วัน ก็จะปิดสมัยประชุมแล้ว น.ส.แพทองธารตอบว่า “ค่ะ” และย้ำว่า ขอเวลาสื่อสารและทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนขึ้น เพราะภาพเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ถูกมองเป็นภาพกาสิโน ซึ่งไม่ใช่ความตั้งใจของรัฐบาล

and proceed studyingเรื่องแนะนำ

“เรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เรามองที่ปากท้อง ไม่ได้มองเรื่องกาสิโน เรามองที่เม็ดเงินและการจ้างงานใหม่ และมองเห็นโอกาสที่ประเทศเราจะโตขึ้น โอกาสจ้างงานหลายร้อยหลายพันตำแหน่ง และจะเกิดจุดหมายปลายทางใหม่ในการท่องเที่ยว แต่พอประเด็นถูกบิดไปมา ในเรื่องของการเมืองก็มีมากเช่นกัน บิดไปบิดมากลายเป็นว่ารัฐบาลจะมุ่งเน้นในการเปิดสถานที่พนัน ซึ่งไม่ใช่ความตั้งใจนี้เลย” นายกฯ แพทองธารกล่าว

การผลักดันร่าง พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ของรัฐบาลถูกวิจารณ์ว่าทำอย่าง “รีบร้อนเร่งรัดมากจนผิดสังเกต” โดยมีการนำร่างเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 27 มี.ค. หรือวันรุ่งขึ้นภายหลังเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จากนั้นอีก 4 วัน (1 เม.ย.) ก็ปรากฏข้อมูลในเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎรว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรบรรจุเรื่องนี้ลงระเบียบการประชุมสภา ในวันที่ 3 เม.ย. โดยเป็น “เรื่องด่วนลำดับที่ 15” และเมื่อถึงวันประชุมจริง สส. เพื่อไทยก็เสนอให้เลื่อนวาระนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อนเป็น “เรื่องด่วนลำดับแรก” ในการประชุมสัปดาห์ต่อไป ทว่าเมื่อเกิดกระแสคัดค้านอย่างกว้างขวาง รัฐบาลจึงต้องตัดสินใจใหม่ ยอมชะลอการผลักดันร่างกฎหมายเอาไว้ก่อน

ร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอโดย ครม. มีเนื้อหารวม 104 มาตรา

รัฐบาลให้เหตุผลว่า เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจการท่องเที่ยว จึงมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นเพิ่มเติม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยประกอบด้วยครบวงจรที่มีกาสิโน อันจะเป็นประโยชน์ให้เกิดการลงทุนและนำรายได้เข้าสู่ประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการจ้างแรงงานในประเทศด้วย

แม้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดสัดส่วนพื้นที่ของกาสิโน โดยเฉพาะสถานที่จัดให้มีการเล่นพนันต้องไม่เกิน 10% ของที่ดินหรือพื้นที่ใช้สอยของสถานบันเทิงครบวงจร แต่แนวคิดผุดกาสิในไทยได้นำมาสู่ความเคลื่อนไหวต่อต้านจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งคนทั้งในสภาและนอกสภา

แรงต้านกาสิโนมาจากไหน ชูธงค้านประเด็นใดบ้าง .รวบรวมความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมาไว้ ณ ที่นี้

ไม่ใช่นโยบายหาเสียง-เร่งรัดผิดสังเกต-ฝืนกระแสสังคม

พลันที่มีข่าวรัฐบาลดันร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร แบบด่วนจี๋ เครือข่ายภาคประชาสังคม 100 องค์กร นำโดย “มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน” ได้เข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อประธานรัฐสภาและผู้นำฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ให้ปฏิเสธการรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ และตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลเร่งรัดผลักดันอย่างผิดสังเกต ท่ามกลางวิกฤตภัยธรรมชาติและบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งนี้การตัดสินใจเดินหน้าทำสิ่งที่ฝืนกระแสคัดค้านของสังคม อาจเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่

ที่มาของภาพ : Fb/มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน

ภาคประชาสังคมยื่นหนังสือต่อผู้นำฝ่ายค้านในสภาเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ขอให้ไม่รับหลักการร่างกฎหมายสถาบันเทิงครบวงจร

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ นักกิจกรรมการเมือง และภาคประชาชน (เอ็นจีโอ) ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ “ชะลอการเสนอร่าง” หรือ “ไม่รับหลักการ” ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้

อดีตสมาชิกวุฒิสภา 189 คนออกแถลงการณ์ 6 ข้อ ข้อแรกระบุว่า กาสิโนและการพนันไม่ใช่นโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยประกาศรณรงค์ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่เป็น “โครงการงอกขึ้นมาใหม่แบบผิดปกติ ซึ่งรัฐบาลกลับเห็นเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญ” โดยจะเร่งนำเข้าสู่การประชุมสภาให้ทันก่อนปิดสมัยการประชุมวันที่ 10 เม.ย. ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องรอได้ เมื่อเทียบกับปรากฏการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.

เช่นเดียวกับอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 102 คนที่ออกแถลงการณ์ 5 ข้อ มีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน ในจำนวนนี้คือการตั้งข้อสังเกตว่า พรรค พท. และพรรคร่วมรัฐบาลไม่เคยประกาศหาเสียงว่าเมื่อได้อำนาจจัดตั้งรัฐบาลแล้วจะเปิดบ่อนการพนัน จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย “เป็นการลวงลวงเพื่อชิงอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้งได้แล้วก็ดำเนินการตามอำเภอใจ ผิดหลักการการเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้ง” และเตือนรัฐบาลและรัฐสภาให้รับฟังเสียงคัดค้านจากหลายภาคส่วนของสังคม มิเช่นนั้นจะกลายเป็น “ผู้นำทรราช” ที่ไม่รับฟังเสียงคัดค้านของประชาชน

ไม่ต่างจากชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 2550 ที่เรียกกฎหมายนี้ว่า “ร่างกฎหมายบ่อนกาสิโน” โดยชี้ว่า ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน, ไม่ปรากฏในนโยบายหาเสียง, เป็นการการกระทำที่ไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลที่ดีตามหลักการของรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เคยมีมาในไทย ขัดแย้งต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขาดจริยธรรมไร้ศีลธรรมและคุณธรรมที่นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยพึงมี บิดเบือนการใช้อำนาจอธิปไตยที่ได้รับมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมุ่งหวังเพียงเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

เขียนกฎหมายแบบ “ตีเช็คเปล่า”

แม้ร่าง พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ กำหนดให้มีการกำกับดูแล 3 ระดับ ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร หรือที่เรียกวา “ซูเปอร์บอร์ด” 18 คน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2. คณะกรรมการบริหาร 18 คน มีผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นประธาน 3. สำนักงานกำกับการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร เป็นหน่วยงานของรัฐที่ฐานะเป็นนิติบุคคล แต่ทว่าไม่มีรายละเอียดในการดำเนินการที่ชัดเจน โดยให้เป็นอำนาจและดุลยพินิจของซูเปอร์บอร์ดและ ครม. ในการพิจารณา

กลุ่มต่าง ๆ อาทิ เครือข่ายภาคประชาสังคม และ “กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม” จึงมองว่าเป็นการเขียนกฎหมายเสมือนการ “ตีเช็คเปล่า” และ “ขาดธรรมาภิบาล”

เช่นเดียวกับกลุ่มอดีต สว. ที่เห็นว่า อำนาจการพิจารณาอนุญาตและการบริหารจัดการในรายละเอียด เหมือน “โอนลอยอำนาจไปอยู่ในมือของคณะกรรมการนโยบายที่เปิดทางและเอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจทุจริตได้อย่างไร้ขอบเขต ทำให้ไม่สามารถวางใจได้ว่าโครงการจะดำเนินไปอย่างโปร่งใสสุจริต”

กาสิโนไม่มีผลต่อจีดีพี-ไม่ได้ทำให้ประเทศรวย

อดีต สว. และ สปช. เห็นตรงกันว่า การพนันไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ดังที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ไว้แล้วว่า ปราศจากการผลิตใด ๆ เป็นเพียงการย้ายเงินจากมือคนหนึ่งไปสู่มืออีกคนหนึ่งเท่านั้น และ “กาสิโนไม่ได้ทำให้ประเทศร่ำรวยจริงตามคำโฆษณาของรัฐบาล”

เกิดสารพัดผลกระทบทางสังคม

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

ผลกระทบทางสังคมที่จะตามมาจากการเปิดบ่อนพนัน ยังเป็นเหตุผลหลักในการคัดค้านร่างกฎหมายนี้ด้วย

กลุ่มอาจารย์และนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 30 คน ออกแถลงการณ์ชี้ว่า “ผลได้ทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย ไม่อาจหักล้างผลเสียที่จะเกิดกับสังคมในวงกว้างและยาวนานอย่างแน่นอน” และชี้ให้เห็นปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่ส่วนมากเกี่ยวโยงบ่มเพาะจากการพนันและการเสี่ยงโชคทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาความยากจน, ปัญหาทักษะอาชีพตกต่ำไร้คุณภาพ, ปัญหาครอบครัวแตกแยก, ปัญหาอาชญากรรม, ปัญหาความฉ้อฉลของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม, ปัญหาการฟอกเงิน และยังทำลายล้างอนาคตประเทศไทย เมื่อเยาวชนถูกมอมเมาด้วยการพนันและการเสี่ยงโชค

เช่นเดียวกับกลุ่มแพทย์จุฬารุ่นที่ 23 และเพื่อนนิสิตเก่าจุฬาฯ รวมรุ่นปี 2510 จาก 8 คณะ และเครือข่าย รวม 455 คน ร่วมกันออกแถลงการณ์ค้านร่างกฎหมายกาสิโน โดยยกหลักฐานทางวิชาการและประสบการณ์จากหลายประเทศที่ได้เปิดให้มีกาสิโนเสรีมาประกอบ พบว่า การพนันในบ่อนกาสิโนส่งผลกระทบทางลบโดยตรงต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายของประชาชน บุคคลที่ติดการพนันมักมีอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และฆ่-าตัวเสียชีวิตสูงกว่าค่าเฉลี่ย การเสพติดการพนันยังสัมพันธ์กับพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การใช้สารเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว นอกจากนี้กาสิโนยังเป็นแหล่งกระตุ้นพฤติกรรมเสี่ยงในกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะเยาวชนด้วย

ส่วนสภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทยพร้อมด้วยภาคีเครือข่ายมีมติร่วมกันคัดค้านร่าง พ.ร.บ. นี้ โดยชี้ว่า ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณธรรมและจริยธรรมของสังคม, กระทบต่อเยาวชนและโครงสร้างครอบครัว การติดการพนันส่งผลร้ายต่อการเลี้ยงดูเยาวชน, บิดเบือนโครงสร้างเศรษฐกิจ แม้ในระยะสั้นอาจสร้างรายได้ แต่ในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อประชาชนรายได้น้อยและปานกลาง อีกทั้งการพนันเป็นบ่อเกิดของความหายนะ

กาสิโนคือแหล่งรวมอบายมุขทั้งปวง

ฝ่ายคัดค้านการผุดเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์พ่วงกาสิโนยังวิจารณ์ข้ออ้างของรัฐบาลเรื่องการกำหนดพื้นที่สำหรับกาสิโนเพียง 10% ว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอ

พวกเขาระบุว่า บ่อนกาสิโนและการพนันออนไลน์คือ ที่รวมของการฉ้อฉลคดโกงทั้งปวง เช่น คอลเซ็นเตอร์ อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การค้าประเวณี โจร นักตีชิงวิ่งราว และเป็นบ่อเกิดและแหล่งรวมอบายมุขทั้งปวง เป็นที่ฟอกเงินผิดกฎหมายทั้งหลายที่อยู่ใต้ดินให้กลายเป็นเงินที่อยู่บนดิน

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังไม่มีระบบควบคุมและบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งเพียงพอ การเปิดกาสิโนถูกกฎหมายจะยิ่งเพิ่มความสลับซับซ้อนของปัญหา

นอกสภาต้านต่อ แม้สภาเลื่อนถกร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงฯ

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

นักเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งกลุ่ม คปท. ศปปส. กองทัพธรรม เดินขบวนไปรัฐสภาเมื่อ 3 เม.ย. เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การประกอบสถานบันเทิงครบวงจร

นอกจากการออกแถลงการณ์/จดหมายเปิดผนึกแล้วเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ ยังมีความเคลื่อนไหวตามผ่านกิจกรรมต่าง ๆ (on-ground) จากหลายกลุ่มที่นัดชุมนุมประท้วงบนท้องถนน โดยกลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ กลุ่มที่เรียกเองว่า คณะหลอมรวมประชาชน เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) กองทัพธรรม

กลุ่มเหล่านี้นัดสวมใส่เสื้อสีขาว เพื่อเข้ายื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การประกอบสถานบันเทิงครบวงจร ทั้งที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 8 เม.ย. และรัฐสภา วันที่ 9 เม.ย. นอกจากนี้ยังมีแนวร่วม คปท. อีกหลายจังหวัดนัดชุมนุมต่อต้านร่างกฎหมายนี้ที่หน้าศาลากลางจังหวัดอย่างน้อย 13 จังหวัด

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. กล่าวว่า นายกฯ บอกให้เลื่อนการเสนอวาระ ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ออกไปก่อน แต่ข้อเสนอของประชาชนคือให้หยุด ไม่ใช่แค่เลื่อน ดังนั้นจะเดินหน้าจัดกิจกรรมตามเดิม