ไพ่ 5 ใบในมือจีน ที่ใช้เดิมพันในสงครามการค้ากับสหรัฐฯ

ที่มาของภาพ : Getty Photos

จากเครือข่ายการค้าที่กว้างขวางของจีน ไปจนถึงการครอบครองแร่หายากอย่างเบ็ดเสร็จ นี่จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะผลักให้จีนจนมุม

  • Author, โก อีเว
  • Unbiased, บีบีซีนิวส์

สงครามการค้าระหว่างสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกกำลังดำเนินไปอย่างเต็มที่

เมื่อสินค้าส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับภาษีนำเข้าสูงถึง 245% ส่วนจีนก็ตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ สูงถึง 125% เช่นกัน ด้านผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และตลาดต่างเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น

รัฐบาลของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน กล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า จีนเปิดรับการเจรจา แต่เตือนว่าหากมีความจำเป็น จีนจะ “ต่อสู้จนถึงที่สุด”

บทความเรื่องนี้จะอธิบายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ทางการจีนมีในมือเพื่อรับมือกับภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ

จีนสามารถทนรับความเจ็บปวดได้ (ถึงจุดหนึ่ง)

ที่มาของภาพ : Getty Photos

สิ่งที่แตกต่างจากทรัมป์คือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่มีความจำเป็นต้องตอบคำถามใด ๆ ต่อประชาชนในการเลือกตั้ง

ประเทศจีนถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก นั่นหมายความว่าจีนสามารถรองรับแรงกระแทกหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์ได้ดีกว่าประเทศขนาดเล็กกว่า

Skip ได้รับความนิยมสูงสุด and proceed readingได้รับความนิยมสูงสุด

End of ได้รับความนิยมสูงสุด

เมื่อพิจารณาถึงจำนวนประชากรที่มีอยู่มากกว่าหนึ่งพันล้านคน นี่ถือว่าเป็นตลาดในประเทศขนาดใหญ่ ที่สามารถบรรเทาแรงกดดันบางส่วนให้กับผู้ส่งออกที่กำลังได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรได้

สถานการณ์ตอนนี้ของจีนยังคงตะกุกตะกักอยู่ เพราะคนจีนยังคงจับจ่ายไม่มากพอ แต่ด้วยมาตรการสร้างแรงจูงใจจำนวนมาก ตั้งแต่เงินอุดหนุนประชาชนที่ต้องการซื้อเครื่องใช้ในครัวเรือนไปจนถึง “รถไฟสีเงิน” สำหรับผู้เกษียณอายุที่เดินทางท่องเที่ยว สถานการณ์ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้

และมาตรการทางภาษีของทรัมป์ก็ยิ่งทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ของจีนได้รับแรงกระตุ้นที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในการปลดล็อกศักยภาพผู้บริโภคภายในประเทศ

เหล่าผู้นำจีนอาจ “เต็มใจที่จะอดทนต่อความเจ็บปวดเพื่อหลีกเลี่ยงการยอมจำนนต่อสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นการรุกรานของสหรัฐฯ” แมรี เลิฟลี ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน จากสถาบันปีเตอร์สัน (Peterson Institute) ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ของสหรัฐฯ กล่าวในรายการบีบีซีนิวส์อาวร์ เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

จีนยังมีขีดจำกัดในการรับมือกับความเจ็บปวดหรือผลกระทบในระดับที่สูงกว่า เนื่องจากในระบอบอำนาจนิยมอย่างจีน พวกเขาไม่ต้องกังวลมากนักเกี่ยวกับความคิดเห็นของสาธารณชนในระยะสั้น อีกทั้งยังไม่มีการเลือกตั้งที่จะตัดสินพวกผู้นำด้วย

อย่างไรก็ตาม ความไม่สงบและการประท้วงอาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะความไม่พอใจที่มีอยู่เป็นทุนเดิมจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงดำเนินอยู่ และการตกงาน

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากภาษีศุลกากรเป็นอีกปัญหาหนึ่งสำหรับคนหนุ่มสาวจีนที่รู้จักแต่ประเทศจีนที่กำลังเติบโตขึ้น

พรรคคอมมิวนิสต์ได้ปลุกความรู้สึกชาตินิยมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้สหรัฐฯ โดยสื่อของรัฐได้เรียกร้องให้ประชาชน “ฝ่าฟันพายุไปด้วยกัน”

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อาจกังวล แต่จนถึงขณะนี้ รัฐบาลจีนยังคงใช้โทนเสียงที่ท้าทายและมั่นใจ เจ้าหน้าที่จีนคนหนึ่งให้คำมั่นกับประเทศว่า “ท้องฟ้าจะไม่มีวันถล่มลงมา”

จีนได้ลงทุนเพื่ออนาคตมาอย่างต่อเนื่อง

ที่มาของภาพ : Getty Photos

จีนได้ก้าวเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเกิดใหม่ ตั้งแต่ยานยนต์ไฟฟ้าไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอแล้ว

เป็นที่ทราบกันดีว่า จีนคือโรงงานของโลก ทว่า ประเทศแห่งนี้ได้ทุ่มเงินไปหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อพัฒนาให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

ภายใต้การบริหารประเทศของสี จิ้นผิง จีนได้เข้าสู่สนามการแข่งขันกับสหรัฐฯ ในการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี โดยจีนได้ลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีภายในประเทศอย่างหนัก นับตั้งแต่พลังงานหมุนเวียนไปจนถึงชิป และปัญญาประดิษฐ์

หนึ่งในตัวอย่างนั้นคือ แช็ตบอตที่มีชื่อว่า “ดีพซีก” (DeepSeek) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขามของแช็ตจีพีที (ChatGPT) ส่วนบีวายดี (BYD) ซึ่งเอาชนะเทสลา (Tesla) เมื่อปีที่แล้วและกลายมาเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รายใหญ่ที่สุดในโลก ด้านแอปเปิล (Apple) ก็กำลังเสียส่วนแบ่งการตลาดในจีนให้กับคู่แข่งในท้องถิ่น เช่น หัวเว่ย (Huawei) และ วีโว่ (Vivo)

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางการจีนประกาศแผนงบประมาณรายจ่ายมูลค่ามากกว่าหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 33 ล้านล้านบาทเพื่อใช้ในการสนับสนุนนวัตกรรมเกี่ยวกับเอไอในช่วงทศวรรษถัดไป

ขณะที่บริษัทของสหรัฐฯ ได้มีความพยายามที่จะย้ายห่วงโซ่อุปทานของตนออกไปจากจีน แต่พวกเขายังต้องดิ้นรนในการแสวงหาโครงสร้างพื้นฐานในขนาดเดียวกันกับที่จีนมี รวมถึงแรงงานที่มีทักษะจากแหล่งอื่น ๆ ด้วย

หากมองกลับมาที่จีน จะพบว่ามีผู้ประกอบการและผู้ผลิตในทุกระดับของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทำให้จีนมีความได้เปรียบมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว และคงต้องใช้เวลาอีกนานหากประเทศอื่นต้องการตามให้ทันหรือลอกเลียนแบบ

ความเชี่ยวชาญด้านห่วงโซ่อุปทานที่ไม่มีใครเทียบได้ ผนวกกับการสนับสนุนจากรัฐบาลทำให้จีนกลายเป็นศัตรูที่น่าเกรงขามในสงครามการค้าครั้งนี้ ในบางแง่ ทางการจีนได้เตรียมการสำหรับเรื่องนี้มาตั้งแต่ตอนที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก

บทเรียนจากนโยบายทรัมป์ 1.0

ที่มาของภาพ : Getty Photos

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เดินทางเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับประเทศคู่ค่าสำคัญในกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นับตั้งแต่ที่ทรัมป์ใช้มาตรการภาษีกับแผงโซลาร์เซลล์ของจีนในปี 2018 ทางการจีนก็เร่งดำเนินการตามแผนสำหรับอนาคตหลังยุคระเบียบโลกที่นำโดยสหรัฐฯ

รัฐบาลจีนได้ทุ่มเงินไปกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการค้าที่เป็นที่ถกเถียงและรู้จักกันในชื่อว่า “ข้อริเริ่มโครงการสายแถบและเส้นทาง” (Belt and Avenue Initiative – BRI) เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศที่เรียกว่า ประเทศซีกโลกใต้ (Global South)

การขยายตัวของการค้ากับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลาตินอเมริกา และแอฟริกา เกิดขึ้นในขณะที่จีนพยายามค่อย ๆ ถอนตัวเองออกจากสหรัฐฯ

ครั้งหนึ่งเกษตรกรชาวอเมริกันเคยส่งออกถั่วเหลืองมายังจีนในสัดส่วน 40% ของการนำเข้าถั่วเหลืองทั้งหมดของจีน แต่ในปัจจุบันสัดส่วนดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 20%

หลังจากสงครามการค้าครั้งที่แล้ว จีนได้เพิ่มการปลูกถั่วเหลืองในประเทศและซื้อพืชผลถั่วเหลืองปริมาณมากเป็นประวัติการณ์จากบราซิล ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นซัพพลายเออร์ถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดของจีน

“ยุทธวิธีนี้คือ การยิvปืนนัดเดียวได้นกสองตัว นี่ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมของอเมริกาสูญเสียตลาดที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นตลาดที่มีตัวเลือกไม่มากนัก และยังเสริมความมั่นคงทางอาหารของจีนได้อีก” มารีนา เยว่ จาง รองศาสตราจารย์จากสถาบันความสัมพันธ์ออสเตรเลีย-จีน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าว

ในปัจจุบัน สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดของจีนอีกต่อไปแล้ว โดยตำแหน่งดังกล่าวกลายเป็นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน และที่จริงแล้วจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของ 60 ประเทศไปแล้วในปี 2023 ซึ่งจำนวนนี้มากกว่าสหรัฐฯ เกือบสองเท่า จีนยังเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วย และเกินดุลการค้าเป็นประวัติการณ์ที่หนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2024 ที่ผ่านมา

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก จะไม่ได้เป็นคู่ค้าที่สำคัญสำหรับจีนแล้วในตอนนี้ แต่นี่หมายความว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะผลักให้จีนจนมุมได้

ตามการรายงานหลายฉบับที่ระบุว่า ทำเนียบขาวจะใช้การเจรจาการค้าแบบทวิภาคีเพื่อที่จะโดดเดี่ยวจีนนั้น ทางการจีนได้เตือนประเทศต่าง ๆ ไม่ให้ “บรรลุข้อตกลงโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของจีน”

นั่นอาจจะเป็นทางเลือกที่เป็นไปไม่ได้สำหรับหลายประเทศในโลกนี้

“เราไม่สามารถเลือกได้ และเราจะไม่มีวันเลือก ระหว่างจีนและสหรัฐฯ” เทิงคู ซาฟรุล อาซิส รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย บอกกับบีบีซีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ตอนนี้จีนรู้แล้วว่าทรัมป์จะยอมถอยเมื่อไหร่

ที่มาของภาพ : Getty Photos

มีการเทขายอย่างหนักในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ เมื่อทรัมป์ประกาศว่าจะจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในอัตราสูงลิ่วกับประเทศส่วนใหญ่ในโลก

ทรัมป์ยังคงยืนหยัดอย่างมั่นคงในตอนที่หุ้นต่าง ๆ ร่วงลงหลังจากที่เขาประกาศขึ้นภาษีครั้งใหญ่เมื่อต้นเดือน เม.ย. โดยเขาได้เปรียบเทียบการขึ้นภาษีครั้งยิ่งใหญ่ของเขาว่าเป็น “ยา”

ทว่า เขากลับเปลี่ยนใจด้วยการชะลอการขึ้นภาษีส่วนใหญ่เป็นเวลา 90 วัน หลังจากพบว่ามีการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จำนวนมาก แม้ว่าที่ผ่านมา พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยมาอย่างยาวนาน แต่สงครามการค้าครั้งนี้ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นในสินทรัพย์เหล่านี้ไปแล้ว

ต่อมา ทรัมป์ได้แสดงท่าทีว่าความตึงเครียดด้านการค้ากับจีนจะคลี่คลายลง โดยกล่าวว่าภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจะลดลงอย่างมาก แต่ไม่ถึงกับเป็นศูนย์

ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่าตอนนี้รัฐบาลจีนรู้แล้วว่า ตลาดพันธบัตรสามารถสร้างความสั่นคลอนให้กับทรัมป์ได้

ขณะเดียวกัน จีนยังเป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย มีเพียงญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรที่มั่นคงของอเมริกาเท่านั้น ที่ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มากกว่าจีน

บางคนแย้งว่า ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลจีนมีอำนาจต่อรอง ซึ่งสื่อจีนมักนำเสนอแนวคิดการขายหรือระงับการซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ เป็น “อาวุธ” อยู่เป็นประจำ

แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า จีนจะเจ็บตัวเช่นกันหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้น

การกระทำดังกล่าวจะทำให้การลงทุนของจีนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ขาดทุนมหาศาลและจะทำให้เงินหยวนของจีนไม่มั่นคง

ดร.จางกล่าวว่า จีนจะกดดันพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ “เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น” และบอกว่า “จีนมีไพ่ต่อรอง แต่ไม่ใช่อาวุธทางการเงิน”

ใช้แร่หายากเป็นเครื่องต่อรอง

ที่มาของภาพ : Getty Photos

แร่หายากมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

สิ่งที่จีนสามารถนำมาใช้เป็นอาวุธเพื่อต่อรอง คือสถานะของจีนที่แทบจะผูกขาดในการสกัดและแปรรูปแร่หายาก ซึ่งเป็นธาตุที่สำคัญต่อการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง

ประเทศจีนมีแหล่งแร่เหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ดิสโพรเซียม ซึ่งใช้ในแม่เหล็กในยานยนต์ไฟฟ้าและกังหันลม และอิตเทรียม ซึ่งใช้สำหรับเคลือบทนความร้อนสำหรับเครื่องยนต์เจ็ท เป็นต้น

รัฐบาลจีนได้ตอบโต้ต่อมาตรการภาษีครั้งล่าสุดของทรัมป์ด้วยการจำกัดการส่งออกแร่หายาก 7 ชนิด ซึ่งรวมถึงแร่ธาตุบางชนิดที่จำเป็นสำหรับการผลิตชิปเอไอด้วย

ตามการประมาณการณ์ขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) จีนผลิตแร่ธาตุหายากราว 61% ของการผลิตทั้งโลก และครองสัดส่วนการแปรรูปมากถึง 92%

แม้ว่าออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเวียดนามจะเริ่มขุดแร่ธาตุหายากแล้ว แต่คงต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่จีนจะสามารถถูกตัดออกจากห่วงโซ่อุปทานได้

ในปี 2024 จีนได้ห้ามการส่งออกแร่หายากอีกชนิดหนึ่ง นั่นคือ แร่พลวง หรือ แอนทิโมนี (antimony) โดยแร่ชนิดนี้มีความสำคัญต่อกระบวนการผลิตต่าง ๆ ราคาของแอนทิโมนีเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าท่ามกลางกระแสการแห่ซื้อและการค้นหาซัพพลายเออร์รายอื่น ๆ

ความกลัวที่เกิดขึ้นก็คือ ราคาที่พุ่งสูงขึ้นอาจเกิดขึ้นกับตลาดแร่ธาตุหายากอื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างรุนแรง ตั้งแต่ยานยนต์ไฟฟ้าไปจนถึงอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ

“ทุกสิ่งที่เปิดหรือปิดได้มักจะทำงานได้ด้วยแร่หายาก” โทมัส ครูมเมอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของจิงเจอร์ (Ginger International Switch and Funding) กล่าวกับบีบีซีก่อนหน้านี้

“ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ จะรุนแรงมาก” เขากล่าวย้ำทิ้งท้าย