แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/wrlk | ดู : 10 ครั้ง
ทุกคนอยากมีงานทำ-รวมทั้งคนพิการด้วยเช่นกัน-ปัจจุบันแม้ประเทศ

ทุกคนอยากมีงานทำ รวมทั้งคนพิการด้วยเช่นกัน ปัจจุบันแม้ประเทศไทยมีกฏหมายส่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงงาน แต่คนพิการที่ได้งานทำก็ยังต้องเผชิญสัญญาจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ส่วนใหญ่ก้มหน้าอดทนทำไปเพราะทางเลือกสำหรับคนพิการมีไม่มาก อีกทั้งยังเผชิญกำแพงทัศนคติจากเพื่อนร่วมงาน และการเลือกปฏิบัติ ทำให้ขาดโอกาสก้าวหน้าทางอาชีพ

รายงานนี้ชวนสำรวจมุมมองของคนพิการที่ได้รับการจ้างงานจากภาครัฐและเอกชน ตาม มาตรา 35 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2550 ว่าเขาเหล่านั้นพบเจอประสบการณ์อะไรบ้าง มีคุณภาพชีวิตเป็นอย่างไร มีความต้องการและเสียงสะท้อนต่อการจ้างงานในมาตรา 35 อย่างไร รวมทั้งมุมมองจากคนภาคเอกชนและนักกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานคนพิการ

กฎหมายกำหนด 3 ทางเลือก จ้างงานคนพิการ

ในประเทศไทยมีกฎหมายกำหนดให้มีการจ้างงานคนพิการ คือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 โดยมีมาตราที่ว่าด้วยการจ้างงานคนพิการอยู่ 3 มาตรา เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนเลือกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่สะดวก ได้แก่

มาตรา 33 กำหนดให้เจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ รับคนพิการเข้าทํางานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยมีระเบียบกำหนดให้รับคนพิการเข้าทำงาน (อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี) อัตราส่วน 100 : 1 หรือพูดง่ายๆ ว่า พนักงานทั่วไป 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน

มาตรา 34  หากไม่สะดวกรับคนพิการเข้าทำงานก็ให้ส่งเงินเข้า ‘กองทุน’ แทน ซึ่งอัตราที่ต้องส่งจะกำหนดไว้ในกฎกระทรวงแรงงาน การส่งเงินเข้ากองทุนจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ตามที่กฎหมายกําหนดด้วย

มาตรา 35 หากไม่สามารถทำตาม ม.33 หรือ 34 นายจ้างอาจเลือกให้สัมปทาน จัดสถานที่จําหนายสินค้า หรือบริการจัดจ้างเหมาช่วงงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใด แก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการแทนก็ได้ ตามที่ระเบียบกำหนด

กฎหมายนี้ต้องการสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการในบริษัทที่ใหญ่ระดับมีคนทำงาน 100 คนขึ้นไป โดยแรงจูงใจสำหรับผู้ประกอบการคือ สิทธิพิเศษทางภาษีที่สามารถยกเว้นรายจ่ายในการจ้างคนพิการเพิ่มจากรายจ่ายจริงได้อีก 1 เท่า และหากกิจการมีการจ้างคนพิการเข้าทำงานเกิน 60% ของพนักงานลูกจ้าง มีระยะเวลาในการจ้างเกิน 180 วัน ก็ให้สิทธิพิเศษยกเว้นรายจ่ายในการจ้างคนพิการเพิ่มจากสิทธิพิเศษขั้นแรกอีก 1 เท่า

ภาครัฐจ้างงานคนพิการน้อยมาก

เมื่อกฎหมายกำหนดแล้ว มีการจ้างงานคนพิการมากแค่ไหน? ผลการศึกษาเรื่อง ‘การส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการในหน่วยงานของรัฐ’ ของคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ ในคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสวุฒิสภา เมื่อปี 2566 พบว่า ภาคเอกชนมีความพยายามปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด ในขณะที่หน่วยงานของรัฐ ยังไม่สามารถดำเนินการจ้างงานคนพิการให้ครบถ้วนตามกฏหมาย

ตัวเลขการจ้างงานในปี 2566

  • หน่วยงานภาครัฐที่ต้องจ้างงานคนพิการ มี 294 แห่ง มียอดจ้างคนพิการทั้งหมด 17,533 คน แต่มีเพียง 147 แห่งที่สามารถจ้างคนพิการได้ โดยแบ่งการจ้างงานตามมาตรา 33 จำนวน 1,252 คน มาตรา 35 จำนวน 257 คน
  • ภาคเอกชนเจ้าของสถานประกอบการที่ต้องจ้างคนพิการ มี 14,456 แห่ง มียอดที่ต้องจ้างคนพิการทั้งหมด 67,868 คน แบ่งเป็นการจ้างตามมาตรา 33 จำนวน 33,193 คน มาตรา 35 จำนวน 11,068 คน และส่งเงินเข้ากองทุนมาตรา 34 จำนวน 12,001 คน

แล้วคนพิการจะเข้าถึงงานได้อย่างไร? การเข้าถึงงานของคนพิการสามารถเข้าถึงได้ 2 ช่องทาง

  • สมัครทางตรงกับสถานประกอบการเหมือนพนักงานทั่วไป
  • สมัครผ่าน ‘หน่วยงานกลาง’ ที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งจะทำหน้าที่เชื่อมประสานคนพิการที่ต้องการทำงานให้ได้จับคู่กับบริษัทที่สนใจจ้างงานคนพิการ ในช่องทางนี้กรมจัดหางานเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง

คนพิการกับสัญญาจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม

“ยังดีกว่าอยู่บ้านเพราะอยู่บ้านไม่มีรายได้เลย ผมมีใบวุฒิแค่ ม.สาม ตอนนั้นเขาหาคนทำงานตามมาตรา 35 บอกว่าได้ 9,000 บาทค่าแรงขั้นต่ํา ทำเดือนแรกได้จริงๆ 6,000 บาท สงสัยเราอาจเข้ากลางคัน เดือนที่ 2 ได้ 6,000 กว่า อยู่ประมาณนั้นไม่เกิน 7,000 บาท เขาตัดเสาร์อาทิตย์ไป ถ้าหยุดก็ไม่ได้ พอมาดูสัญญาอีกทีถึงรู้ว่าเขาจ่ายเป็นรายวัน”

เสียงสะท้อนของเอ (นามสมมุติ) ชายหนุ่มพิการในจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคกลาง ความพิการเกิดจากอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ล้มเมื่อตอนอายุ 19 ปี ปัจจุบันมีความพิการมา 9 ปี มีวุฒิการศึกษาเพียงมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพราะไม่ได้กลับไปเรียนต่อด้วยข้อจำกัดในหลายมิติ ทั้งการเดินทาง สภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่ไม่เอื้อต่อความพิการ เขาได้ทำงานครั้งแรกเมื่อ 3 ปีที่แล้วซึ่งเป็นประสบการณ์ของการได้ออกจากบ้านมาทำงานครั้งแรกหลังจากนอนอยู่ที่บ้านมา 6 ปี เอได้รับการจ้างงานแบบเหมาบริการ ตาม ม.35 ให้เข้าไปช่วยทำงานในหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดที่เขาอาศัยอยู่

เอ

ปีแรกของการทำงาน เอมีหน้าที่เดินส่งเอกสารให้แผนกต่างๆ ในหน่วยงาน หรือช่วยงานที่ใช้แรงจากร่างกายที่พอทำได้ ช่วยพับผ้า เก็บของให้เข้าที่เข้าทาง เข้างานตั้งแต่ 8.00 – 16.30 น. เหมือนพนักงานประจำ ทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์ แต่หากระหว่างสัปดาห์มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ก็จะไม่ได้รับค่าแรง

“บางทีป่วยไม่สบายต้องทนฝืนไปทำงาน ไม่งั้นคงโดนหักไม่เหลืออะไรเลย”

เอเลือกเช่าห้องอยู่ใกล้ที่ทำงาน เพราะบ้านอยู่ต่างอำเภอ เขาสามารถเข็นรถวีลแชร์ไปทำงานได้ ใช้เวลา 10 นาทีเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

“ได้ตามค่าแรงขั้นต่ำเป็นรายวัน จึงได้ไม่เกิน 7,000 บาททุกเดือน เราต้องเสียค่าใช้จ่ายในชีวิต ของใช้ แผ่นรองซึมซับ กระดาษทิชชู ค่ากิน รวมเดือนละ 2,000 กว่าบาท ค่าห้องค่าน้ําค่าไฟ 4,000 กว่าบาท จะเหลือเงินต่อเดือนแค่ไม่ถึง 1,000 บาท ค่าข้าวก็เซฟไปได้บ้าง ป้าๆ พี่ๆ ในที่ทำงานเขาเห็นใจก็ให้ข้าวกินมื้อเที่ยงกับมื้อเย็น”

เมื่อครบรอบปีต้องต่อสัญญาปีถัดไป เป็นช่วงที่คนพิการต้องลุ้นมากว่าจะได้ต่อสัญญาอีกหรือไม่ จะตัดสินใจทำงานกับสถานประกอบการเดิมหรือที่ใหม่ (กฎหมายกำหนดการต่อสัญญาในมาตรา 35 เป็นแบบรายปี)

ด้วยความที่ไม่มีทางเลือกมากนัก เอต้องตัดสินใจต่อสัญญากับสถานประกอบการเดิม เพราะการออกมาทำงาน แม้จะมีรายได้ไม่มาก แต่สำหรับคนพิการที่ไม่ได้มีต้นทุนทางการศึกษาและเศรษฐกิจ การมีงานทำสามารถช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวได้ นั่นทำให้รู้สึกถึงการมีคุณค่าในตัวเองเพิ่มขึ้น และเพิ่มความภูมิใจที่เติบโตด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง แต่เขาก็รู้สึกเสมอว่าสัญญาการจ้างงานแบบนี้ไม่ค่อยเป็นธรรม

“ผมเองไม่ได้เก่งหนังสือ สัญญาหนึ่งปี บริษัทก็ทําตามกฎหมาย ค่าจ้างคนพิการตามค่าแรงขั้นต่ํารายวัน แล้วคูณจํานวนวันของแต่ละเดือน แต่บริษัทจ่ายเฉพาะวันที่ทํางาน วันหยุดไม่รวม ท้ายสัญญาระบุด้วยว่าจะไม่เรียกร้องอะไรเพิ่มเติม พอต่อสัญญารอบใหม่ เรารู้ แต่ก็ต้องยอม เพราะว่าดีกว่าอยู่บ้าน ไม่มีรายได้เลย”

ปี 2568 เอได้ทำการต่อสัญญาจ้างใหม่กับสถานประกอบการรายใหม่ ในมาตรา 35  โดยได้ค่าตอบแทนเป็นรายเดือน เดือนละ 10,043 บาท เอสะท้อนว่าดีกว่าสถานประกอบการเดิม และตั้งข้อสังเกตว่าทำไมแต่ละที่ถึงปฏิบัติไม่เหมือนกัน

“เข้าปีที่ 2 จะต้องต่อสัญญาใหม่ปี 68 เราอ่านสัญญาแล้วเป็นบริษัทใหม่ ไม่ใช่บริษัทเดิมแล้ว ในสัญญาระบุว่าอัตราการจ้างจะเป็นเงินเดือน ได้มาตรา 35 เหมือนเดิม แต่เปรียบเทียบกับบริษัทเก่ารู้สึกว่าบริษัทใหม่เป็นธรรมมากกว่า ดีขึ้น หยุดก็ไม่โดนหัก แต่ว่าถ้าไม่แจ้งลาโดนหัก”

เอสะท้อนทิ้งท้ายถึงความคาดหวังว่า จะมีการพัฒนาการจ้างงานในมาตรา 35 ให้มีความมั่นคง เพิ่มระยะเวลาต่อสัญญาให้ยาวนานขึ้น และเพิ่มสวัสดิการกองทุนเงินสะสมยามแก่ชรา

“อยากได้สัญญาให้ยาวกว่านี้ ให้เขารับเราไปตลอดจนกว่าจะทําไม่ได้แล้ว ไม่ต้องมาต่อสัญญาปีต่อปี แล้วมีสวัสดิการอื่นๆ แบบว่าหักไปเดือนละร้อยเหมือนยอดกระปุก ออมเงินแบบกองทุนให้สะสมยามปลดเกษียณ มีเงินสักก้อนยามแก่ชราตอนที่ออกไปทํางานไม่ไหว อย่างน้อยจะได้มีใช้จ่ายเช่าที่อยู่ มีของกิน ไม่ใช่เบี้ย 800 หรือ 1,000 ในแต่ละเดือน แบบนั้นไม่พอกิน”

คนพิการรุนแรงกับความรู้สึกความไม่มั่นคงในงาน มาตรา 35

“เปลี่ยนบริษัทจ้างงานทุกปี ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ไม่แฟร์กับคนพิการที่มีความรับผิดชอบในการทํางาน รู้สึกไม่มั่นคง”

ในมุมมองของบี (นามสมมุติ) หญิงสาวพิการรุนแรง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เธอมีวุฒิระดับ ปวส. เล่าถึงประสบการณ์กับการทำงานที่แรกหลังจากนอนอยู่บ้านมาร่วม 10 ปี เธอได้รับการจ้างงานตามมาตรา 35 ในปี 2560 งานแรกเป็นงานในองค์กรคนพิการแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคกลาง โดยได้รับการประสานการจ้างงานผ่านหน่วยงานกลางแห่งหนึ่ง

บี

เธอทุ่มเทพยายามทำงานด้วยความมุ่งมั่น ทั้งลงพื้นที่ชุมชนและงานเอกสาร ในแต่ละสัปดาห์ต้องลงพื้นที่และเข้าออฟฟิตอย่างละ 1 วัน อีก 3 วันทำงานเอกสารที่บ้าน ในแต่ละปีช่วงท้ายปีต้องมาลุ้นว่าจะผ่านการประเมินจากหน่วยงานกลางเพื่ออนุมัติให้ต่อสัญญาได้หรือไม่

บีได้ค่าตอบแทนเป็นรายเดือนและได้รับโอนจากที่ทำงานโดยตรง ประมาณ 9,500 กว่าบาท โดยวุฒิการศึกษาไม่มีผลต่อการเพิ่มค่าแรง ทําสัญญาจ้างแบบปีต่อปี เธอได้ทำอยู่เพียง 4 ปี ก็ต้องเปลี่ยนที่ทำงานเพราะโควิคระบาด

“ทำงานที่เดิมมา 4 ปี เปลี่ยนบริษัทตัวกลางทุกปี ซึ่งไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เพราะไม่แฟร์กับคนพิการที่มีความรับผิดชอบในการทํางาน รู้สึกไม่มั่นคง ในขณะที่คิดว่าตัวเองพยายามและตั้งใจทํางาน ตามบทบาทหน้าที่ได้รับการจ้างงานมาอย่างเต็มที่ ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย มีแค่เงินเดือน ประกันอุบัติเหตุก็ไม่มี

“แล้วเจอสถานการณ์โควิด หน่วยงานกลางแจ้งว่า ปีนี้โควต้าจ้างงานคนพิการต้องลดลง เพราะบริษัทลดการจ้างพนักงานประจําที่ไม่พิการลง โควต้าคนพิการก็ต้องลด ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนอยากมีรายได้หมด เราก็เสียวว่าจะเป็นหนึ่งในคนที่ถูกตัดออก รู้สึกบีบคั้น และสุดท้ายเราเป็นคนไม่ได้ต่อสัญญา ตกใจมากจนร้องไห้”

บีสะท้อนถึงความพยายามต่องานที่ทำว่า ทำด้วยความตั้งใจ จริงจัง ทำตามเกณฑ์ประเมินทุกอย่างตามระบบการประเมินการทำงานจากหน่วยงานกลางที่ประสานการจ้างงานให้ เธอเห็นด้วยกับการมีตัวชี้วัดการทำงาน เพราะถือเป็นระบบการตรวจสอบ แต่ไม่ได้เห็นด้วยในชุดการประเมินในบางหัวข้อที่ดูเหมือนก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัวและไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้องานที่ทำ แต่ด้วยเป็นข้อบังคับที่มีผลต่อโอกาสการได้ต่อสัญญา เธอจึงต้องทำตามตัวชี้วัดด้วยความลำบากใจ

“ในการประเมินของหน่วยงานกลาง เราต้องให้ที่บ้านช่วยถ่ายรูปให้ บางครั้งพ่อแม่ไม่ค่อยว่างมาถ่ายรูปขณะเราทำงาน ต้องลําบากเขา แล้วตอนช่วงโควิดต้องส่งภาพทุกวัน เขาจะดูปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวเป็นตัวชี้วัด หัวข้อแบบนี้เกี่ยวข้องกับเนื้องานหรือเปล่า เขาจําเป็นต้องรู้ไหม ในระบบรายงานของหน่วยงานกลาง จะต้องทำรายงานการทํางาน ต้องมีรูปถ่ายประกอบด้วยทั้งด้านปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว ด้านสุขภาพอนามัย เช่น ออกกําลังกายไหม เหมือนกับเราต้องสร้างภาพไปเรื่อยๆ ต้องกินผักด้วย ถามถึงขั้นว่าสูบบุหรี่กี่ม้วน ดื่มเหล้ากี่แก้ว เล่นการพนันไหม มีเงินเก็บเท่าไหร่ แล้วเขาถามไหมว่าเราพอกินไหม มันไม่พออยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้เอาข้อมูลนี้ไปบอก บอกแต่ว่าคนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีสร้างคุณค่าให้สังคม ถ้าไม่ทําตามตัวชี้วัดก็จะมีผลต่อการต่อสัญญาเพราะข้อมูลไม่ครบ”

การมีงานทำย่อมทำให้คนพิการรุนแรงอย่างบี สามารถพอหล่อเลี้ยงชีวิตและพอช่วยลดลงภาระทางครอบครัวลงได้บ้าง แต่เอาเข้าจริงมันก็ยังไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของตัวเองในการเดินทางไปทำงานนอกบ้าน หากไม่ได้รับการสนับสนุนค่าเดินทางมาเพิ่มเติม เช่น ค่ารถ ค่าผู้ช่วยคนพิการ

“ครอบครัวเรามีแค่แม่คนเดียว ค่าใช้จ่ายเยอะ เรามีโอกาสที่ได้ทํางาน สามารถแบ่งเบาภาระได้บ้าง จากการเริ่มทํางานที่แรก รายได้ไม่พอรายจ่ายที่ต้องออกไปทํางาน ค่าใช้จ่ายมีค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าผู้ช่วยคนพิการ ค่าผู้ช่วยคนพิการวันละ 300 บาท ค่าเดินทางไปกลับตอนนั้นจ้างรถแบบเป็นเหมาไปกลับ 600 บาท รวมแล้ว 900 บาทต่ออาทิตย์ เดินทางอาทิตย์ละ 1 วันไปที่ทำงาน ตอนนั้นที่ทำงานเขาเห็นเราอยู่ไกล ก็ช่วยว่าเข้าออฟฟิศ 2 ครั้งต่อเดือนก็พอ และมีค่าผู้ช่วยคนพิการให้ ถ้าไม่มีคงแย่”

หลังจากบีได้สมัครหางานผ่านหน่วยงานกลางรายใหม่จนได้รับการจ้างงานในรูปแบบเดิมตาม มาตรา 35 ในบทบาทงานที่เกี่ยวข้องกับ AI ค่าตอบแทนเดือนแรกได้ 9,000 กว่าบาท เพิ่มขึ้นไม่กี่สิบบาท แต่เธอรู้สึกพอใจเพราะรูปแบบการทำงานไม่ต้องลงพื้นที่ ทำงานที่บ้านอย่างเดียวให้ครบ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่ต้องมีระบบประเมินเหมือนที่เดิม แต่ต้องมีชิ้นงานส่งเข้าไปในระบบออนไลน์เป็นตัวชี้วัดการทำงาน และเก็บยอดเวลารวมการทำงานผ่านระบบออนไลน์

ด้วยโควต้าการจ้างงานในแต่ละปีมีจำนวนมากน้อยต่างกัน จึงทำให้มีการแข่งขันสูงในการต่อสัญญา บีต้องพยายามทำงานให้ได้มาตราสูงกว่าเดิม โดยทํางานเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง ยามว่างก็ทําสะสมเวลาไว้ หากทำงานไม่ครบเวลาจะได้รับใบแจ้งเตือน ซึ่งจะมีผลต่อการต่อสัญญา ถึงอย่างนั้นเมื่อใกล้สิ้นปี เธอก็จะรู้สึกถึงความไม่มั่นคงอยู่ดี เพราะหากปีไหนโควต้ามีน้อย โอกาสต่อสัญญาก็ 50/50

“มีความกังวลเรื่องสัญญาจ้างงานทุกปี ความกังวลนี้เกิดขึ้นช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม ต้องมีการประเมิน มีการทําข้อสอบ ประเมินจากการทํางานจริง แต่ก็ยังกังวลเรื่องเกี่ยวกับการต่อสัญญาเพราะมีการแข่งขันในที่ทํางานเสมอ เราไม่ได้ทํางานคนเดียวกับหน่วยงานกลางรายใหม่นี้ ยังมีอีกหลายสิบชีวิตหรือหลายร้อยชีวิตด้วยซ้ํา ต้องไปสู้กับคนพวกนั้น”

บีทิ้งท้ายว่า รัฐและสถานประกอบการควรสนับสนุนคนพิการรุนแรงให้มากกว่าเดิม เพิ่มเงินที่ช่วยสนับสนุนสำหรับจ่ายค่าแรงผู้ช่วยคนพิการ และคาดหวังระยะเวลาต่อสัญญาที่ยาวมากขึ้นด้วย ไม่ต้องลุ้นไปเรื่อยๆ ทุกปี

ขาดโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ

อีกหนึ่งมุมมองและเสียงสะท้อนที่ปนมาด้วยความน้อยใจของซี (นามสมมุติ) ชายหนุ่มพิการทางสายตาที่มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรี เขาผ่านประสบการณ์การทำงานที่ผกผันมาหลากหลายที่ อดีตเริ่มทำงานที่แรกในมาตรา 33 ในปี 2558 ด้วยเงินเดือน 12,000 บาท แต่อยู่ได้เพียง 2 ปี และต้องเปลี่ยนงานอีก 3 ครั้ง ผ่านทั้งการจ้างตามมาตรา 33 และมาตรา 35 สาเหตุการเปลี่ยนงานมาจากความกดดันจากทัศนคติของเพื่อนร่วมงาน

นอกจากนี้ซียังมองว่ามาตรา 35 หรือการจ้างเหมาบริการนั้นไม่มีความก้าวหน้าทางอาชีพ เงินเดือนไม่ขึ้นตามอายุงาน แต่ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำในปีนั้นๆ ปัจจุบันซีได้รับการจ้างจากหน่วยงานภาครัฐแห่งหนึ่ง เขาตั้งคำถามว่าทำไมคนพิการถึงไม่มีโอกาสก้าวหน้าได้ และอยากให้มีการจ้างงานตามมาตรา 33 (จ้างประจำ) มากกว่า

“แบบนี้คนพิการจะดิ้นรนไปเรียนกันเพื่ออะไร”

“จริงๆ แล้วเราอยากให้มีการจ้างงานคนพิการในรูปแบบมาตรา 33 มากกว่า เพราะมีความมั่นคงและมีสวัสดิการที่ดีกว่า มาตรา 35 เป็นสัญญาปีต่อปี ทำให้เราไม่มั่นใจในอนาคต ในหน่วยงานที่ผมทำอยู่ปัจจุบันก็มีการบรรจุพนักงานราชการที่เป็นคนปกติมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คนพิการกลับไม่มีตำแหน่ง ไม่มีโอกาส ทั้งที่ทำงานมาพร้อมกัน หรือบางคนอายุน้อยกว่าด้วยซ้ำ เหมือนเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน เวลาเราเสนอความคิดเห็นอะไรไป เขาก็รับฟังแต่ก็เหมือนปล่อยผ่านไม่ได้นำไปปฏิบัติจริง”

“คนพิการไม่ได้ต้องการแค่เงินเดือนเพิ่ม โดยที่งานเท่าเดิม แต่ต้องการงานที่หลากหลายขึ้น อยากทำงานที่ท้าทายและได้ใช้ความสามารถที่มี อยากเติบโตในสายอาชีพ การบรรจุเป็นพนักงานประจำมันคือความมั่นคง ตอนนี้มีเฉพาะบางหน่วยงานที่มีการบรรจุคนพิการเป็นลูกจ้างประจำ”

เช่นเดียวกับ ดี (นามสมมุติ) หญิงสาวพิการทางสายตา ที่เพิ่งจบการศึกษาเมื่อปี 2564 ผ่านการทำงานมา 2 แห่งด้วยการจ้างงานตามมาตรา 35 ดีเห็นด้วยกับซีในเรื่องความก้าวหน้าทางอาชีพพร้อมกันนี้เธอยังชวนตั้งคำถามถึงทัศนคติที่มีต่อการจ้างคนพิการว่า ทุกภาคส่วนควรมองว่ามันเป็นการพัฒนาศักยภาพคนพิการ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำเพียงเพราะกฏหมายบังคับให้ทำ

“อยากให้หน่วยงานต่างๆ รับฟังความคิดเห็นของคนพิการให้มากขึ้น อยากให้เข้ามาสัมผัสชีวิตการทำงานของคนพิการให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่จัดจ้างตามมาตรา 35 อย่างเดียว แต่ไม่เคยถามเลยว่าชอบงานประเภทอะไร อยากให้ลองให้โอกาสคนพิการได้ทำงานที่หลากหลายก่อน ถ้าไม่ได้ค่อยว่ากัน ต่อให้มีกฎหมายที่ดีกว่านี้ แต่ถ้าทัศนคติของคนในองค์กรยังเหมือนเดิม ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น บางทีการจ้างงานคนพิการก็เป็นไปเพื่อแค่ผลประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ไม่ได้มีเจตนาที่จะพัฒนาศักยภาพของคนพิการจริงๆ”

หน่วยงานกลาง ตัวแมชชิ่งคนพิการ-นายจ้างผู้ประกอบการ

ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจัดหางานกล่องดินสอเพื่อคนพิการ เป็นอีกคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการจ้างงานคนพิการในภาคเอกชน

เดิมทีเขาทำงานเรื่องสื่อเด็กตาบอดมาก่อน และพบว่าเหตุเด็กพิการไม่อยากเรียน ไม่ใช่แค่เรื่องสื่อหรือโรงเรียน แต่เป็นเพราะไม่เห็นเหตุผลในการเรียนรู้ เรียนจบมาก็ได้แค่นวดแผนโบราณ ยิ่งจบสูงกลับยิ่งหางานยาก ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการศึกษาคนพิการจึงต้องทำควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาการจ้างงาน

ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล

ฉัตรชัยเล่าให้ฟังถึงช่วงเริ่มต้นผลักดันเรื่องการจ้างงานคนพิการว่า เมื่อ 7-8 ปีที่แล้วยากมาก องค์กรจัดหางานของเขาขาดทุนมาตลอด ไม่ได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาล ทำงานกับบริษัทที่ตั้งใจจะจ้างจริงๆ เท่านั้น แต่ช่วงหลังสถานการณ์เริ่มดีขึ้น มีบริษัทให้ความสนใจมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระแสเรื่อง social inclusion ที่ขยายวงกว้าง ทั้งประเด็นเรื่องคนผิวสี, ผู้หญิง, LGBTQ+ อีกปัจจัยคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้การทำงานง่ายขึ้น และการทำงานจากที่บ้าน (work from dwelling) ในช่วงโควิด-19 ก็เป็นตัวเร่งให้หลายบริษัทเห็นความเป็นไปได้ในการจ้างงานคนพิการมากขึ้น

“หากมองในแง่ธุรกิจอย่างเดียวอาจจะไม่น่าสนใจนัก แต่เป้าหมายขององค์กรเราคือการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ออกจากบ้านได้ ผมเชื่อว่าชีวิตต้องมีโอกาสและทางเลือก การมีงานทำไม่ใช่แค่เรื่องเงินแต่เป็นเรื่องของคุณค่าความเป็นมนุษย์และคุณค่าในตัวเอง ทำให้พวกเขามีเป้าหมายในชีวิตและมีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเอง”

ปัญหาของการจ้างงานคนพิการในปัจจุบันคืออะไร ?

ในมุมมองของฉัตรชัย พบว่าปัญหาไม่ใช่เรื่องความต้องการจ้างงาน (question) แต่เป็นเรื่องอุปทาน (present) ล้วนๆ บริษัทพร้อมจ่ายค่าจ้างในตำแหน่งที่ว่างอยู่ แต่ไม่สามารถหาคนพิการที่เหมาะสมกับความต้องการของบริษัทได้ บริษัทที่จ่ายค่าจ้างตามราคาตลาดย่อมต้องการคนที่มีคุณภาพ จบปริญญาตรี ใช้คอมพิวเตอร์ได้ ภาษาอังกฤษพอได้ และมีประสบการณ์ คนพิการที่มีคุณสมบัติเหล่านี้มักจะมีงานทำอยู่แล้ว ทำให้หลายครั้งไม่สามารถหาคนพิการให้บริษัทที่ติดต่อเข้ามาได้ จึงต้องเจรจาให้บริษัทลดมาตรฐานลง แต่พวกเขาก็ไม่สามารถลดได้มากนักจึงกลับมาเป็นปัญหา ‘ไก่กับไข่’

ฉัตรชัยสะท้อนถึงความท้ายทายว่า การหาคนพิการที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของบริษัทซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุด อีกความท้าทายคือการสร้างความมั่นใจให้คนพิการกล้าที่จะไปทำงาน หลายครั้งที่สัมภาษณ์และเตรียมพร้อมทุกอย่างแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ไปทำงานเพราะความกลัว เรื่องเอกสารก็มีความวุ่นวาย แต่ไม่ยากเท่าเรื่องความมั่นใจและการปรับตัวของคนพิการ

เปรียบเทียบการจ้าง มาตรา 33 (จ้างประจำ)  กับ 35 (เหมาบริการ)

ที่กล่องดินสอ สัดส่วนการจ้างงานมาตรา 35 เยอะกว่ามาตรา 33 ฉัตรชัยบอกว่า เพราะมาตรา 35 จ้างง่ายกว่า เป็นทางเลือกที่ดีกว่าไม่มีอะไรเลย แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือการจ้างงานในรูปแบบ มาตรา 33 ซึ่งเป็นการจ้างเป็นพนักงานประจำที่ออฟฟิศ เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องเงินเดือนและประกันสังคม แต่เป็นเรื่องของการเข้าสังคม การเติบโตในหน้าที่การงานและการทำงานเป็นทีม

การจ้างงานคนพิการในรูปแบบมาตรา 33 สิ่งที่ยากคือ การทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน หลายครั้งผู้บริหารและ HR อยากทำ แต่คนที่ต้องทำงานด้วยโดยตรงอาจจะไม่อยาก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมให้กับทีมงานที่ต้องทำงานร่วมกับคนพิการจึงสำคัญมาก การจ้างงานคนพิการอาจดูเหมือนยาก แต่สามารถเริ่มต้นจากง่ายๆ ด้วยมาตรา 35 ก่อนก็ได้ สิ่งที่น่าจะขาดหายไปคือกระบวนการสร้างความพร้อมร่วมกัน นอกจากนี้หากรัฐเพิ่มแรงจูงใจทางการเงินสำหรับการจ้างงานมาตรา 33 เช่น ลดหย่อนภาษีมากขึ้น หรือเพิ่มบทลงโทษสำหรับการไม่จ้างงานในรูปแบบอื่นๆ ก็อาจจะช่วยได้

เจตนารมณ์กฎหมายจ้างงานคนพิการ

รัตน์ กิจธรรม ฝ่ายต่างประเทศและกิจการพิเศษ สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เป็นอีกคนที่อยู่ในช่วงเวลาจุดเริ่มต้นของการเกิดกฏหมายจ้างคนพิการ ทั้งสามมาตรา และยังเป็นหนึ่งในอนุกรรมาธิการ ศึกษาเรื่องการส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการในหน่วยของงาน ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ของวุฒิสภาในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา ปี 2563-2566 ได้เล่าถึง ประเด็นสำคัญ ที่มาและวิวัฒนาการของกฎหมายการจ้างงานคนพิการ เหตุผลของการมีกฎหมาย แบบระบบโควต้าการจ้างงานรวมทั้งบทบาทและปัญหาของมาตรา 35

รัตน์ กิจธรรม

รัตน์เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นโดยกล่าวถึงอาจารย์มนเฑียร บุญตัน อดีต สว.ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นคนที่เริ่มและศึกษากฎหมายของอเมริกาที่เรียกว่า Randolph-Sheppard Act (1)  ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 1936 เป็นกฎหมายกลางที่ควบคุมทุกรัฐ ให้มีมาตรการส่งเสริมการจ้างงานคนตาบอด โดยให้สิทธิ์และสัมปทานในการใช้เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและบริการบางอย่างของรัฐ

จากจุดเริ่มต้นก็มีการขยายขอบเขตออกไป ทำให้เกิด พ.ร.บ. ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 เนื้อหาการจ้างงานคล้ายกับมาตรา 33 และ 34 ปัจจุบัน มีเพียง 2 อย่าง – จ้างงานหรือจ่ายเงิน ถ้าไม่จ้างก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน โดยบังคับเฉพาะภาคเอกชนเท่านั้น ไม่มีภาครัฐ อัตราส่วนตอนนั้นคือ 200:1 ตอนปี 2550 เถียงกันเรื่องนี้ สุดท้ายรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยอมให้เป็น 100:1 และเริ่มบังคับในภาครัฐด้วย

การคิดมาตรา 35 มีที่มาเพราะมาตรา 34 ที่บังคับใช้มากว่า 20 ปี ทำอะไรไม่ได้ จึงหาทางออกโดยเอา Randolph-Sheppard Act มาเป็นทางเลือก เพราะแค่ “จ้างหรือจ่าย” ดูยากไป จึงต้องเพิ่ม 7 อย่าง คือ ให้สัมปทาน จัดสถานที่จําหนายสินค้า หรือบริการจัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใด แก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการแทนก็ได้

รัตน์ย้ำถึงที่มาสำคัญของกฎหมายเหล่านี้คือ มาตรการเชิงบวก (Certain Measures) หรือ Affirmative Circulation (2) ซึ่งเป็นมาตรการที่มุ่งเน้นการขจัดการเลือกปฏิบัติและส่งเสริมโอกาสให้กับกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส เป็นการให้แต้มต่อกับคนที่เสียเปรียบในสังคม

“ต้องยึดหลักให้มั่นว่ามันมาจากหลักสิทธิมนุษยชน หลักการสากล และมาตรการแต้มต่อ เมื่อปลายปีที่แล้วมีนายจ้างส่งคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญว่ามาตรา 33 และ 34 ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพของนายจ้าง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัด เพราะมาตรา 27 บอกว่ามาตรการใดที่เป็นการส่งเสริมโอกาสให้คนพิการเท่าเทียมกับคนอื่น ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติและไม่ได้สร้างภาระเกินสมควร”

โควตาการจ้างงานคนพิการในไทยน้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลก

หากพูดถึงเรื่องโควตาการจ้างงานคนพิการ 1:100 รัตน์ระบุว่า สัดส่วนโควตาของไทยนั้น นับว่าน้อยที่สุดแล้ว ระบบโควตามีมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อช่วยเหลือทหารผ่านศึกพิการ ปัจจุบันมีกว่า 100 ประเทศที่มีระบบโควตา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) บอกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 4-6% ของเอเชียอยู่ที่ 2-4% แต่ของไทยอยู่ที่ 1% โดยสภาคนพิการเสนอให้ปรับเป็น 100:2 หรือ 50:1 แต่อย่างไรปัจจุบันยังไม่มีการปรับแก้ไข

สำหรับกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน รัตน์ระบุว่า เจตนารมณ์กฏหมายต้องการให้มาตรา 33, 34 และ 35 มีความสมดุลกัน โดยมาตรา 33 เป็นเป้าหมายหลัก มีการลดหย่อนภาษีมากกว่า แต่คนไทยก็มีนวัตกรรมเยอะ มีศรีธนญชัยแยะ กฎหมายไม่ได้คิดมาให้ใช้มาตรา 35 เป็นหลัก เราหวังดี แต่ก็มีคนใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพราะมันเห็นผลเร็วกว่า คนเลยไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า แต่ถึงเวลาที่เราจะมาเห็นภาพกว้าง ตั้งเป้าหมายร่วมกัน และดูว่าจะทำอย่างไร เป็นการแก้ปัญหา Wretchedness Level ของฝั่งนายจ้าง คือนายจ้างอยากจ้างคนพิการ แต่หา ‘คนที่ใช่’ ไม่ได้ การจ้างงานเชิงสังคมจึงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่นั่นก็ทำให้คนพิการส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะคนที่เดินทางไม่สะดวกได้มีงานทำ มีรายได้บ้างก็ยังดี ทุกอย่างมันต้องมีวิวัฒนาการ

รัตน์สะท้อนว่ามาตรา 33, 34 และโดยเฉพาะ 35 เป็นนวัตกรรม แต่ทุกนวัตกรรมก็ต้องมีการลองผิดลองถูก กฎหมายไทยล้ำหน้าหลายประเทศมาก แต่ก็ต้องช่วยกันพัฒนาปรับปรุงให้มันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ต้องพัฒนาคนพิการ พัฒนาระบบ สร้างแรงจูงใจให้คนออกจากมาตรา 35 ไปสู่มาตรา 33 มากขึ้น เช่น ให้มาตรา 33 ได้ลดหย่อนภาษี 3 เท่า

(1) Randolph-Sheppard Act คือกฎหมายของสหรัฐอเมริกาที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมสิทธิของคนตาบอดในการดำเนินกิจการจำหน่ายสินค้าและบริการภายในอาคารของรัฐบาลกลาง โดยผ่านโครงการที่รัฐต่างๆ ดำเนินการร่วมกับรัฐบาลกลาง

(2) Affirmative Circulation คือ นโยบายหรือมาตรการเชิงรุกที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางสังคม โดยเฉพาะในด้าน โอกาสทางการศึกษา การจ้างงาน และการเข้าถึงทรัพยากร สำหรับกลุ่มคนที่เคยถูกเลือกปฏิบัติในอดีต เช่น คนผิวสี ผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย หรือคนพิการ

ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

“พิพัฒน์” นำขบวนวันแรงงาน68 มอบของขวัญ เปิดทางเข้าถึง “ทุนอา 2025-05-01 11:34:00

พาไปมู 3 วัดดังขึ้นชื่อของเซี่ยงไฮ้

ปปง.ให้ผู้เสียหายยื่นขอชดใช้คืน คดี บ.แม็กซ์ อินเตอร์ฯ ฉ้อโกงลงทุนผลิตน้ำมันรำข้าว

ฝันไว้ไกล แต่ชีวิตพาไปอีกทาง

กรมศิลปากรรับแจ้ง “สหรัฐ” เตรียมส่งคืนโบราณวัตถุประติมากรรมส 2025-05-01 11:49:00

'สนธิญา' รุกยื่นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติสอบเพิ่ม 'พีระพันธุ์' ถือหุ้น 4 บ.-ไม่จัดการปันทรัพย์มรดกด้วย

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ปฏิบัติภา

การกินอาหารมื้อใหญ่ส่งผลต่อร่างกายคุณอย่างไร ?

2 พ.ค. นี้ เวลาบ่ายโมง 🕐 อย่าตกใจ หากมือถือของท่านมีเสียงเ

ผู้เรียบเรียง

ให้คะแนนความพอใจของคุณ :

0 / 5 คะแนน 0

คุณให้คะแนน:

แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/wrlk | ดู : 10 ครั้ง
  1. รู้ยัง-ห้ามครูทำคอนเทนต์เด็ก-ละเมิดสิทธิเด็ก-เสี่ยงต่อภัยออ-|-2025-04-30-10:26:00 รู้ยัง ห้ามครูทำคอนเทนต์เด็ก ละเมิดสิทธิเด็ก-เสี่ยงต่อภัยออ 2025-04-30 10:26:00
  2. หาดใหญ่-ยิv-คลิปเสียงปืนจากบริเวณใกล้เคียง-(feed--|-2025-04-30-12:58:00 หาดใหญ่ ยิv คลิปเสียงปืนจากบริเวณใกล้เคียง 2025-04-30 12:58:00
  3. สาวผวา สาวผวา
  4. แผ่นดินไหวขนาด-20-ประเทศเมียนมา-2025-05-01-05:26:44-ตามเวลาประเทศไทย-|-วันพฤหัสบดีที่-1-พฤษภาคม-พศ.-2568 แผ่นดินไหวขนาด 2.0 ประเทศเมียนมา 2025-05-01 05:26:44 ตามเวลาประเทศไทย | วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
  5. -ตำรวจสอบสวนกลาง-โดย-(บกปอศ)-แถลงผลการปฏิบัติ.-ปฏิ . ตำรวจสอบสวนกลาง โดย (บก.ปอศ.) แถลงผลการปฏิบัติ . ปฏิ
  6. “บุญสิงห์”-ปัดกล้าธรรมต่อรองเก้าอี้-รมต.เพิ่ม-ข่าวที่คุณวาง “บุญสิงห์” ปัดกล้าธรรมต่อรองเก้าอี้ รมต.เพิ่ม ข่าวที่คุณวาง
  7. (30/4/68)-สำรวจเมืองใหม่-จุดมุ่งหมายสร้างเมืองชเวกโก๊ะโกเมือ (30/4/68) สำรวจเมืองใหม่ จุดมุ่งหมายสร้างเมืองชเวกโก๊ะโกเมือ
  8. สหรัฐฯ-ยูเครน-ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับแร่ธาตุที่สำคัญแล้ว-สาระสำคัญมีอะไรบ้าง-? สหรัฐฯ-ยูเครน ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับแร่ธาตุที่สำคัญแล้ว สาระสำคัญมีอะไรบ้าง ?
  9. อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-ประกาศข่าวน่ายินดี-หลังพบเสือโคร่งเดิน อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ประกาศข่าวน่ายินดี หลังพบเสือโคร่งเดิน
  10. ร้านน้องภูผา-ไก่ย่างวิเชียรบุรี-087-52623569-ริมถนนจรัญยานน-|-2025-04-30-23:33:00 ร้านน้องภูผา ไก่ย่างวิเชียรบุรี 087-52623569 ริมถนนจรัญยานน 2025-04-30 23:33:00

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *


Share via
Click to Hide Advanced Floating Content
Send this to a friend