แผนคืนชีพแมมมอธ-หมาป่ายักษ์ไดร์วูล์ฟ มีภัยอันตรายแฝงอยู่หรือไม่ ?

ที่มาของภาพ : Mammoth Biosciences

  • Author, ราเชล นูเวอร์
  • Characteristic, บีบีซี ฟิวเจอร์

บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ “โคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์” (Mammoth Bioscience) ที่เมืองดัลลัสของสหรัฐฯ ตกเป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่แล้ว หลังประกาศว่าได้คืนชีพ “หมาป่าไดร์วูล์ฟ” (dire wolf) ที่สูญพันธุ์ไปนานแล้วได้สำเร็จ โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ให้กำเนิดลูกสุนัข 3 ตัว ซึ่งมีพันธุกรรมเหมือนกับหมาป่ายักษ์อันดุร้ายน่าเกรงขาม ที่เคยดำรงชีวิตอยู่บนโลกเมื่อ 13,000 ปีที่แล้ว

ข่าวการคืนชีพหมาป่าไดร์วูล์ฟทำให้ผู้คนทั่วโลกตื่นตะลึง เพราะสัตว์ในตำนานชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันดีจากซีรีส์ดัง “เกมออฟโธรนส์” (Game of Thrones) ในชื่อของ “หมาป่าโลกันตร์” ซึ่งในตอนนี้พวกมันยิ่งโด่งดังขึ้นไปอีก เมื่อจอร์จ อาร์.อาร์. มาร์ติน ผู้เขียนนวนิยายต้นฉบับของเกมออฟโธรนส์ ออกมาเผยภาพที่ตัวเขากำลังอุ้มลูกสุนัขสีขาว พร้อมกับลงข้อความกำกับภาพในบล็อกของเขาว่า “ผมต้องขอบอกว่า การถือกำเนิดใหม่ของหมาป่าไดร์วูล์ฟ เป็นข่าววิทยาศาสตร์ที่ทำให้ผมตื่นเต้นที่สุดยิ่งกว่าครั้งใด ๆ นับตั้งแต่นีล อาร์มสตรอง ไปเหยียบดวงจันทร์”

จอร์จ อาร์.อาร์. มาร์ติน ซึ่งเป็นหนึ่งในนักลงทุนผู้ถือหุ้นของโคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ ยังบอกว่าสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอีกหลายชนิดพันธุ์หรือสปีชีส์ กำลังจะถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพมาด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมถึงช้างแมมมอธขนยาว, เสือทัสมาเนีย, และนกโดโด้

ปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพแห่งนี้ มีมูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนและผู้บริจาคคนสำคัญหลายราย รวมทั้งดาราดังอย่างคริส เฮมส์เวิร์ธ, ไฮโซคนดังอย่างปารีส ฮิลตัน, และแม้กระทั่งสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือซีไอเอ (CIA) ทำให้เว็บไซต์ของบริษัทกล้าประกาศอย่างชัดเจนว่า จะรับเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการสูญพันธุ์ของสรรพสัตว์

แมตต์ เจมส์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสัตว์ของโคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ บอกกับผู้สื่อข่าวบีบีซีว่า จุดมุ่งหมายของการคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ไม่ใช่เพื่อการสร้างสวนสัตว์โบราณเหมือนกับในภาพยนตร์ “จูราสสิก พาร์ก” แต่เพื่อนำสัตว์ที่เคยหมดสิ้นไปจากโลกกลับคืนสู่ถิ่นที่อยู่เดิม ซึ่งทางบริษัทหวังว่า เมื่อพวกมันสามารถปรับตัวให้เข้ากับถิ่นที่อยู่เดิมนั้นได้แล้ว ก็จะส่งผลเชิงบวกต่อระบบนิเวศในถิ่นนั้นด้วยเช่นกัน

Skip ได้รับความนิยมสูงสุด and proceed learningได้รับความนิยมสูงสุด

Cease of ได้รับความนิยมสูงสุด

“เราพยายามมุ่งคืนชีพสัตว์ชนิดพันธุ์ที่จะส่งผลดี โดยต้องสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อกันไปเป็นทอด ๆ ภายในระบบนิเวศนั้น เพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพ, เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ, ทั้งยังอาจจะช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ด้วย” เจมส์กล่าว

แม้การคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ จะเป็นประเด็นที่ผู้คนกล่าวขวัญถึงและอยู่ในความสนใจมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ความพยายามของนักวิทยาศาสตร์จะทำให้เรื่องเหลือเชื่อนี้เป็นจริง ปรากฏชัดเจนและดูเอาจริงเอาจังมากที่สุดในครั้งนี้ โดยโคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ นำพันธุกรรมของหมาป่าสีเทา (grey wolf) มาดัดแปลงด้วยเทคนิคการตัดต่อยีน 20 ตำแหน่ง จนทำให้ได้ลูกหมาป่าสีเทา ที่มีลักษณะภายนอกเหมือนกับหมาป่าไดร์วูล์ฟทุกประการ

หลังการป่าวประกาศข่าวข้างต้น นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยพากันออกมาวิจารณ์ตำหนิวิธีการของโคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ โดยบอกว่าความพยายามจะคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปนานแล้วนั้น ถือเป็นการกระทำที่สูญเปล่า สิ้นเปลืองเงินทองและทรัพยากรโดยใช่เหตุ ทั้งยังเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของแวดวงวิทยาศาสตร์ ให้ละสายตาและวางมือจากงานที่สำคัญกว่า ซึ่งก็คือการช่วยชีวิตและเร่งอนุรักษ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์

หนึ่งในประเด็นที่เป็นกังวลกันมากที่สุด คือเรื่องคำอวดอ้างที่ว่าสามารถคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะอันที่จริงคำอวดอ้างแบบนี้อาจนำไปสู่การทำลายล้างสปีชีส์ที่ยังมีชีวิตอยู่ จนเกิดการสูญพันธุ์เพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้ เนื่องจากบรรดานักการเมืองและนายทุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ พากันคิดว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยการคืนชีพสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่าง ๆ ได้ทั้งหมด

ที่มาของภาพ : Mammoth Biosciences

บริษัทโคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ ตกเป็นข่าวดังไปทั่วโลก หลังนำพันธุกรรมของหมาป่าสีเทามาดัดแปลงด้วยเทคนิคการตัดต่อยีน จนได้ลูกหมาป่าสีเทา 3 ตัว ที่มีลักษณะภายนอกเหมือนกับหมาป่าไดร์วูล์ฟทุกประการ

เดวิด ชิฟฟ์แมน นักชีววิทยาทางทะเลสายอนุรักษ์ ซึ่งอยู่ที่กรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ บอกว่าคำอวดอ้างเรื่องการคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว อาจส่งผลเสียร้ายแรงมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่สหรัฐฯ กำลังถอนตัวจากข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งได้ยกเลิกมาตรการคุ้มครองสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมไปอีกหลายประการ

“คำอวดอ้างของคนพวกนี้ (โคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์) มันยิ่งกว่าไร้ความรับผิดชอบเสียอีก กล้าพูดออกมาได้ว่าประสบชัยชนะในการอนุรักษ์ขั้นหนึ่งแล้ว ทั้งที่อยู่ในสถานการณ์แบบนี้” ชิฟฟ์แมนกล่าว

ความห่วงกังวลของชิฟฟ์แมนดูเหมือนจะเป็นจริงขึ้นมาในทันที เมื่อดัก เบอร์กัม รัฐมนตรีกิจการภายในประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งมีโอกาสได้พบกับทีมวิจัยของโคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ ก่อนการประกาศข่าวคืนชีพไดร์วูลฟ์ ลงข้อความสรรเสริญชื่นชมผลงานดังกล่าว ในบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ “เอ็กซ์” (X) ของเขาเองว่า “นี่คือแนวทางแห่งยุคใหม่สู่การอนุรักษ์สปีชีส์ต่าง ๆ”

เบอร์กัมยังวิจารณ์ระบบบัญชีรายชื่อสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์หรือใกล้จะสูญพันธุ์ว่า “ไร้ประสิทธิภาพ” อย่างเช่นบัญชีแดง (red checklist) ขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) หรือบัญชีรายชื่อของสปีชีส์ที่ถูกคุกคาม ซึ่งรวบรวมโดยหน่วยงานของสหรัฐฯ เอง

รัฐมนตรีกิจการภายในประเทศผู้นี้ยังกล่าวยกย่องการใช้เทคโนโลยีว่า มีข้อดีเหนือกว่าการอนุรักษ์โดยออกกฎควบคุมแบบที่ทำอยู่ในระบบบัญชีรายชื่อ “นับตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งประเทศของเรามา การประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมคือสิ่งที่เสริมสร้างความยิ่งใหญ่ให้สหรัฐอเมริกา ไม่ใช่การออกกฎควบคุม”

วิทยาศาสตร์สุดเจ๋ง

ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก กำลังเผชิญกับภัยคุกคามมากมายมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่ง IUCN ระบุว่า มีสาเหตุหลักมาจากการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย, การรุกรานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น, การผลาญทรัพยากรเกินเหตุในการทำประมงและล่าสัตว์, การค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย, มลภาวะ, และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

“หากโคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ ต้องการจะอวดอ้างว่าผลงานคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วของตน เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์โดยตรง ก็ควรจะต้องค้นหาความเชื่อมโยงเกี่ยวข้อง ระหว่างผลงานนี้กับสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพให้ได้ว่า มันมีความสัมพันธ์ในแง่ที่ช่วยบรรเทาหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง” เคนต์ เรดฟอร์ด อดีตผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า WCS กล่าวแสดงความเห็น “แม้มันจะเป็นผลงานวิทยาศาสตร์สุดเจ๋ง แต่ผมไม่คิดว่ามันช่วยบรรเทาหรือยับยั้งภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพเลย”

อย่างไรก็ตาม โคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ มองเรื่องนี้ต่างออกไปจากบรรดานักอนุรักษ์ โดยได้ชี้แจงผ่านทางเว็บไซต์ของตนเองว่า หากมีการคืนชีพแมมมอธขนยาวและนำไปปล่อยไว้ในเขตอาร์กติก พวกมันจะช่วยให้ถิ่นที่อยู่เดิมของตนเองมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น จนสามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ เนื่องจากพฤติกรรมการหาอาหารของช้างแมมมอธ จะชอบถอนต้นไม้ใบหญ้าที่ปกคลุมดินและกวาดเอาหิมะที่หน้าดินออก จนชั้นดินเยือกแข็งคงตัวหรือเพอร์มาฟรอสต์ (permafrost) ได้สัมผัสกับอากาศเย็นโดยตรง ทำให้ไม่เปียกชื้นจนละลายตัวมากขึ้น และสามารถกักเก็บคาร์บอนเอาไว้ได้ต่อไป

คำกล่าวอ้างข้างต้นถูกโต้แย้งโดย นิทิน เสขาร์ นักวิทยาศาสตร์สายอนุรักษ์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้างเอเชียของ IUCN ซึ่งบอกว่าไม่พบหลักฐานจากงานวิจัยใด ๆ ในอดีต ที่สนับสนุนข้อเสนอของโคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ และในงานวิจัยหนึ่งที่เปรียบเทียบการกักเก็บคาร์บอนของทุ่งหญ้าทุนดรา (Tundra) กับป่าไทกา (Taiga) ซึ่งต่างก็อยู่ในเขตอาร์กติก ผลวิจัยชี้ชัดว่าพื้นดินในป่าที่มีต้นไม้จะกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าทุ่งหญ้าถึงเกือบสองเท่า

งานวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในเขตอาร์กติกระบุว่า สัตว์กินพืชในพื้นที่หนาวเย็นแห่งนี้ สามารถจะช่วยลดการละลายของชั้นดินเยือกแข็งคงตัวได้ โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ชี้ว่าแมมมอธน่าจะมีบทบาทดูแลรักษาสภาพภูมิอากาศของยุคไพลสโตซีน (Pleistocene) อยู่บ้าง ซึ่งควายไบซันและม้าในยุคปัจจุบัน สามารถจะรับบทบาทหน้าที่นั้นได้บางส่วนเช่นกัน แต่ต้องมีการดูแลให้ประชากรของสัตว์ชนิดดังกล่าวคงอยู่ในระดับสูงและหนาแน่น โดยอาจต้องให้มนุษย์คอยเลี้ยงดูพวกมันไว้ในคอก

นอกจากนี้ระบบนิเวศของเขตอาร์กติกในยุคของเรา แตกต่างไปอย่างมากจากในยุคไพลสโตซีน จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำนายหรือคาดการณ์ได้ว่า ช้างลูกผสมที่เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมจนดูคล้ายแมมมอธขนยาว จะส่งผลกระทบแบบเดียวกันต่อสิ่งแวดล้อม โดยช่วยเหลือกระบวนการกักเก็บคาร์บอนได้ดีเท่ากวางคาริบูและกวางเรนเดียร์ ซึ่งเป็นสัตว์กินพืชเขตอาร์กติกในยุคปัจจุบันหรือไม่

ในทางตรงกันข้าม สัตว์ใหญ่อย่างแมมมอธขนยาวอาจส่งผลเสียต่อการกักเก็บคาร์บอนด้วยซ้ำ เพราะเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น การเหยียบย่ำและกวาดหิมะที่หน้าดินจะเร่งให้ชั้นดินเยือกแข็งโดนแสงอาทิตย์มากขึ้น จนละลายตัวไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปรากฏการณ์นี้อาจเกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ลุ่มชุ่มน้ำของเขตอาร์กติก

เสขาร์กล่าวสรุปในประเด็นนี้ว่า “โดยรวมแล้วจากข้อมูลที่เรามีอยู่ เป็นไม่ได้เลยที่จะล่วงรู้ว่า แมมมอธส่งผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อหลายพันปีที่แล้ว ทั้งยังไม่อาจรู้ได้ว่า ช้างลูกผสมที่ดูคล้ายแมมมอธขนยาว จะมีพฤติกรรมอย่างไรในอนาคตที่อากาศจะอบอุ่นกว่านี้ มันช่างแปลกพิลึกที่จะมาพนันขันต่อกันเรื่องภาวะวิกฤตการดำรงอยู่ ทั้งที่ยังมีทางเลือกอื่น”

“อันที่จริงแล้ว แมมมอธขนยาวและหมาป่าไดร์วูล์ฟต้องสูญพันธุ์ไป เพราะพลวัตความเปลี่ยนแปลงของโลกอันซับซ้อนด้วย ซึ่งปัจจัยนี้อยู่นอกเหนือจากการกระทำของมนุษย์ เราจึงไม่อาจจะพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ มาแก้ไขสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้พวกมันหมดสิ้นไปจากโลกในตอนแรกได้” คอรีน เคนดัลล์ ผู้อำนวยการโครงการแอฟริกาใต้ ของกองทุนเพเรกรีน (Peregrine Fund) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งอนุรักษ์นกผู้ล่าทั่วโลกกล่าว

เคนดัลล์ยังบอกว่า แนวทางการอนุรักษ์สมัยใหม่จะเลือกวิธีแก้ปัญหาอย่างกว้างขวางครอบคลุม จากมุมมองระดับภูมิทัศน์ทางนิเวศวิทยา มากกว่าจะมุ่งอนุรักษ์เพียงสัตว์ชนิดพันธุ์ใดชนิดพันธุ์หนึ่ง “นี่คือสิ่งที่โคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ มองข้ามไป แม้การจัดการกับพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีจะน่าสนใจอย่างยิ่ง หากใช้มุมมองด้านการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ แต่นั่นเท่ากับว่า คุณกำลังสร้างต้นไม้ต้นหนึ่งขึ้นมาโดยปราศจากป่า”

จูลี มีเชน นักบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลัง จากมหาวิทยาลัยดีมอยน์ (Des Moines College) ในรัฐไอโอวาของสหรัฐฯ กลับมองว่า เทคนิคใหม่ทางพันธุวิศวกรรมของโคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ จะช่วยงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่นแรดขาวเหนือ, ช้าง, และพิราบสายพันธุ์หายาก ซึ่งทางบริษัทก็กำลังดำเนินโครงการเพื่อใช้เทคโนโลยีช่วยอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตเหล่านี้อยู่

“เราสามารถประยุกต์ใช้เทคนิคนี้ กับสัตว์ชนิดพันธุ์ใดก็ตามที่กำลังเผชิญวิกฤตสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรม โดยใช้มันช่วยลดการผสมพันธุ์แบบเลืoดชิด หรือแก้ปัญหาการเกิดคอขวดทางพันธุกรรม เนื่องจากมีกลุ่มประชากรขนาดเล็กเกินไปได้” มีเชนกล่าว “ฉันคิดว่าทางโคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ ก็กำลังช่วยงานอนุรักษ์ในแง่นี้อยู่ แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน เท่ากับข่าวการคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ซึ่งประเด็นหลังนี้ตกเป็นข่าวฮือฮามากกว่า”

ด้านแมตต์ เจมส์ หัวหน้าผู้ดูแลสัตว์ของโคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ แสดงความเห็นด้วยว่า การคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วเป็นเพียงองค์ประกอบเล็ก ๆ ส่วนหนึ่ง ในกระบวนการอนุรักษ์อันใหญ่โตซับซ้อน ทว่าการช่วงชิงความสนใจจากสื่อและผู้คนทั่วโลกมาได้สำเร็จ ก็สามารถจะทำหน้าที่เป็นเสมือน “เรือยักษ์” ที่ช่วยฉุดลากนำพาโครงการอนุรักษ์ในด้านอื่นให้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันได้

ธรรมชาติและการฟูมฟักเลี้ยงดู

สิ่งที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์อีกประเด็นหนึ่ง นั่นคือโคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ ได้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ในการคืนชีพสัตว์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วนับหมื่นปีจริงหรือไม่

แจ็กเกอลีน กิลล์ นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเมนของสหรัฐฯ บอกว่าตัวอย่างเนื้อเยื่อของหมาป่าไดร์วูล์ฟและแมมมอธขนยาวที่เก็บได้จากซากฟอสซิลนั้น ขาดเซลล์สำคัญที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ จึงไม่อาจใช้เทคนิคการโคลนเพื่อคืนชีพพวกมันโดยตรงได้ “สิ่งที่โคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ ทำลงไป คือการตัดต่อดัดแปลงพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตในยุคปัจจุบัน เพื่อให้มีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกับสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว”

เหล่านักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นว่า ลูกหมาป่าสามตัวที่ทางบริษัทเพาะพันธุ์ขึ้นมา แท้จริงคือ “หมาป่าสีเทาที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรม” เพราะจีโนมหรือข้อมูลพันธุกรรมทั้งหมดของหมาป่าสีเทาที่เป็นสัตว์ยุคใหม่ ถูกตัดต่อให้คล้ายกับชิ้นส่วนเล็ก ๆ บางส่วนในดีเอ็นเอของสัตว์ยุคโบราณ ซึ่งทางบริษัทเองก็ยอมรับว่า มันคือหมาป่าสีเทาที่มีลักษณะภายนอกของหมาป่าไดร์วูล์ฟจริง ๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่แน่ว่าลักษณะภายนอกดังกล่าว จะถูกต้องตรงกับรูปร่างหน้าตาของหมาป่าไดร์วูล์ฟตัวจริงในอดีต เช่นการที่ขนของลูกหมาป่าดัดแปลงพันธุกรรมเป็นสีขาว ทั้งที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าขนของหมาป่าไดร์วูล์ฟยุคโบราณควรเป็นสีอะไรนั้น เป็นการตัดสินใจเลือกของโคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ เนื่องจากอิทธิพลของซีรีส์เกมออฟโธรนส์ ที่มีตัวละครหมาป่าโลกันตร์ซึ่งมีสีขาวทั้งตัว “นี่เป็นการกำหนดลักษณะจากมุมมองทางสุนทรียศาสตร์ ไม่ใช่จากข้อเท็จจริงทางชีวภาพหรือวิทยาศาสตร์” กิลล์กล่าว

มีเชนกล่าวเสริมว่า แม้โคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ จะสามารถสร้างสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรมที่คล้ายกับสัตว์โบราณในยุคน้ำแข็งอย่างมากได้ แต่พวกมันก็จะไม่สามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติได้เหมือนเดิม เพราะสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศแบบยุคไพลสโตซีนได้สูญสลายหายไปหมดสิ้นแล้ว “หมาป่าไดร์วูล์ฟหรือสัตว์ชนิดพันธุ์ใด ๆ ก็ตาม จึงไม่ใช่แค่ยีนหรือหน่วยพันธุกรรมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ดำรงอยู่ในถิ่นเดียวกันด้วย”

ที่มาของภาพ : Alamy

แมมมอธขนยาวได้สูญพันธุ์ไปจากโลกนานนับหลายพันปี จนถิ่นที่อยู่เดิมของมันในปัจจุบัน มีสภาพแวดล้อมที่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

ด้านโคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ ชี้แจงว่ายังไม่มีแผนจะปล่อยหมาป่าไดร์วูล์ฟรุ่นใหม่คืนสู่ธรรมชาติ แต่มีความมุ่งมั่นจะฟื้นฟูบางส่วนของเขตอาร์กติก ให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของแมมมอธขนยาวอีกครั้ง ซึ่งขั้นต่อไปทางบริษัทจะต้องเพาะพันธุ์ลูกแมมมอธดัดแปลงพันธุกรรมจำนวนมาก โดยใช้ช้างเอเชียหรือช้างแอฟริกาเป็นแม่อุ้มบุญตัวอ่อนแมมมอธดังกล่าว

ผู้คนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกตะวันตก ยังพากันตั้งคำถามทางจริยธรรม ในเรื่องที่ช้างซึ่งเป็นสัตว์สังคมที่มีสติปัญญาและสำนึกตระหนักรู้ในระดับสูง สมควรจะต้องมาถูกกักขังหรือถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทดลองของมนุษย์หรือไม่ ซึ่งเสขาร์อธิบายถึงประเด็นนี้ว่า แม้แต่ช้างธรรมดาในสวนสัตว์ที่ไม่ใช่แมมมอธ ยังประสบปัญหาการเจริญพันธุ์มีลูกยาก, ลูกช้างเสียชีวิตแต่แรกคลอด, หรือถูกฆ่-าโดยพวกเดียวกันตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งเหตุการณ์อย่างหลังนี้พบได้บ่อยกว่าถึงสองเท่าในสวนสัตว์ เมื่อเทียบกับช้างซึ่งอยู่ในพื้นที่ชายขอบติดกับป่า

อย่างไรก็ตามทางโคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ ได้ให้คำมั่นว่า จะพยายามดำเนินการควบคุมคุณภาพ เพื่อให้มั่นใจได้ถึงสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของแมมมอธขนยาวที่จะเกิดมา โดยจะมีการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพช้าง เพื่อป้องกันการเกิดข้อผิดพลาดล่วงหน้า

ผลที่ได้อาจไม่คุ้มค่า

แม้โคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ จะไม่เปิดเผยว่าได้ลงทุนในโครงการคืนชีพหมาป่าไดร์วูล์ฟไปกี่ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ชิฟฟ์แมนกล่าวเตือนว่า งบประมาณสำหรับการคืนชีพสัตว์โบราณนั้นแพงหูฉี่ หรือแม้จะทำให้ถูกลงได้ในภายหลัง หากมีการเพาะพันธุ์สัตว์ดัดแปลงพันธุกรรมในปริมาณมาก แต่ก็ยังแพงกว่างบประมาณที่ใช้เพื่อมุ่งอนุรักษ์สัตว์ไม่ให้สูญพันธุ์ไปตั้งแต่แรกหลายเท่าตัว และหากไม่มีการแก้ปัญหาพื้นฐาน อันเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ชนิดนั้นสูญพันธุ์ไปเมื่อหลายพันปีก่อน สัตว์ที่ฟื้นคืนชีพมาจะต้องสูญพันธุ์ไปอย่างรวดเร็วอีกครั้งอย่างแน่นอน

ด้านเรดฟอร์ดมองว่า งานอนุรักษ์ที่โคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ ประกาศว่าจะทุ่มเททำอย่างสุดตัวนั้น หากต้องการแสวงหาผลกำไรในฐานะบริษัทเอกชนไปด้วย เกรงว่าจะเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย ซ้ำร้ายการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ด้วยเทคนิคพันธุวิศวกรรมเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพจนโครงการล้มเหลวได้

ตัวอย่างเช่นโครงการคืนความหลากหลายทางพันธุกรรมให้ประชากรหมาป่าสีแดง (red wolves) ของสหรัฐฯ และโครงการดัดแปลงพันธุกรรมช้างให้มีภูมิต้านทานต่อไวรัสเริม (herpes) ซึ่งโคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วนนั้น เคนดัลล์แสดงความเห็นว่า ภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่แท้จริงของหมาป่าสีแดง คือการถูกรถชนและถูกคนไล่ล่า ดังนั้นหากไม่จัดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในถิ่นที่อยู่ของมัน การดัดแปลงพันธุกรรมก็เปล่าประโยชน์

เสขาร์ยังกล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า ไวรัสเริมไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่คร่าชีวิตช้างป่าเอเชียส่วนใหญ่ในแต่ละปี ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับจำนวนประชากรช้างที่ถูกมนุษย์สังหาร โดยสถิติของรัฐบาลอินเดียระบุว่า ทุกปีจะมีช้างป่าเสียชีวิตไป 2 ตัว เพราะล้มป่วยด้วยเชื้อไวรัสเริม ในขณะที่มีช้างป่าถึง 100 ตัว ต้องเสียชีวิตลงด้วยการกระทำของมนุษย์

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เสขาร์ได้กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า โคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ สามารถใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ สร้างประโยชน์ให้กับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากกว่านี้ “หากทีมนักชีววิทยาที่เปี่ยมความสามารถของบริษัท หันมาสนใจแก้ไขปัญหาที่ช่วยฟื้นฟูโลกของเราได้จริงแทน พวกเขาจะกลายเป็นวีรบุรุษแห่งการอนุรักษ์อย่างแน่นอน”