
เปิดเบื้องหลังประชุม “คอนเคลฟ” เลือกตั้งโป๊ปองค์ใหม่ การลงคะแนนเสียงที่ลับที่สุดในโลก

ที่มาของภาพ : Getty Photography
data
- Author, ซาราห์ เรนส์ฟอร์ด
- Characteristic, ผู้สื่อข่าวยุโรป, กรุงโรม
การเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันพุธที่ 7 พ.ค. ที่จะถึงนี้ อาจเป็นการลงคะแนนเลือกตั้งที่ลับที่สุดในโลก
เมื่อพระคาร์ดินัลคาทอลิกทั้ง 133 รูป ถูกกักตัวรวมกันภายในโบสถ์น้อยซิสทีนเพื่อเลือกผู้สืบตำแหน่งต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระคาร์ดินัลแต่ละรูปจะต้องสาบานตนบนพระวรสาร (gospels) ว่าจะเก็บรายละเอียดทุกอย่างไว้เป็นความลับตลอดชีวิต
ทุกคนที่อยู่ภายในวาติกันระหว่างการประชุมแบบปิดลับ หรือที่เรียกว่า การประชุม “คอนเคลฟ” (conclave) ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ 2 คนที่เตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉิน หรือพนักงานห้องอาหารที่ดูแลอาหารให้เหล่าคาร์ดินัลก็เช่นกัน ทุกคนต้องให้คำมั่นว่าจะรักษา “ความลับอย่างเด็ดขาดและตลอดไป”
โบสถ์และเกสต์เฮาส์ทั้งสองแห่งจะถูกตรวจหาการลอบดักฟังและไมโครโฟน เพื่อทำให้มั่นใจว่าทุกอย่างจะเป็นความลับ
“ที่นครวาติกันจะมีการติดตั้งเครื่องรบกวนสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันไม่ให้สัญญาณโทรศัพท์หรือไวไฟเข้าออกได้” จอห์น อัลเลน บรรณาธิการเว็บไซต์ข่าว Crux กล่าว
Skip ได้รับความนิยมสูงสุด ได้รับความนิยมสูงสุด
Discontinuance of ได้รับความนิยมสูงสุด
“วาติกันถือเรื่องการแยกตัวออกจากโลกภายนอกเป็นเรื่องจริงจังมาก”
ล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ
การล็อกดาว์นี้ไม่ได้มีแค่เพื่อรักษาความลับของกระบวนการลงคะแนนเสียงเท่านั้น แต่ยังมีจุดประสงค์เพื่อป้องกัน “อิทธิพลชั่วร้าย” ที่อาจแฮ็กข้อมูลหรือขัดขวางการดำเนินการ นอกจากนี้ยังเป็นไปเพื่อทำให้แน่ใจว่าผู้มีสิทธิลงคะแนนจะไม่ถูกรบกวนจากโลกภายนอก ในการตัดสินใจที่อาจยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของพวกเขา
แม้ชาวคาทอลิกจะบอกว่าการเลือกตั้งนี้ได้รับการชี้นำจากพระเจ้า ไม่ใช่การเมือง แต่ฝ่ายบริหารของวาติกันก็ไม่ประมาท
เมื่อเข้าสู่การประชุมลับหรือคอนเคลฟ ทุกคนต้องส่งมอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ให้กับเจ้าหน้าที่ โดยสำนักวาติกันมีตำรวจของตนเองเพื่อบังคับใช้กฎเหล่านี้อย่างเคร่งครัด
“แนวคิดคือ ‘ไว้ใจแต่ต้องตรวจสอบ'” จอห์น อัลเลน กล่าว
“ในเกสต์เฮาส์ของที่ประชุมลับจะไม่มีทีวี หนังสือพิมพ์ หรือวิทยุเลย ไม่มีอะไรทั้งนั้น” มงซินญอร์ (พระคุณเจ้า) เปาโล เด นีโกโล อดีตหัวหน้าฝ่ายดูแลบ้านพักพระสันตะปาปาที่ดำรงตำแหน่งมากว่าสามทศวรรษกล่าว
“แม้แต่จะเปิดหน้าต่าง คุณก็ทำไม่ได้ เพราะหลายห้องมีหน้าต่างที่มองออกไปยังโลกภายนอก”

ทุกคนที่ทำงานอยู่หลังกำแพงสูงของวาติกันในช่วงการประชุมลับต่างผ่านการตรวจสอบประวัติอย่างเข้มงวด แต่ถึงกระนั้นแล้วพวกเขาก็ยังถูกห้ามไม่ให้สื่อสารกับผู้มีสิทธิลงคะแนน
“เหล่าพระคาร์ดินัลจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง” อินเนส ซาน มาร์ติน จากสมาคมเผยแพร่ศาสนาของสันตะสำนักในสหรัฐฯ กล่าว
“จะมีเพียงวิทยุสื่อสารไว้ใช้ในกรณีจำเป็นเท่านั้น เช่น ‘ต้องการแพทย์ด่วน' หรือ ‘พระสันตะปาปาได้รับเลือกแล้ว ใครช่วยแจ้งคนตีระฆังในมหาวิหารด้วย'”
แล้วถ้ามีใครฝ่าฝืนกฎจะเกิดอะไรขึ้น
มงซินญอร์ เปาโลเด นีโกโล กล่าว จะ “มีการสาบาน และผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม มีความเสี่ยงที่จะถูกขับออกจากคริสตจักร” ซึ่งนั่นหมายถึงการถูกตัดขาดจากศาสนาโดยสิ้นเชิง
“ไม่มีใครกล้าทำแบบนั้นหรอก”
สื่อตามล่าพระคาร์ดินัล
แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงก่อนการประชุมคอนเคลฟเป็นหนังคนละม้วน แม้เหล่าพระคาร์ดินัลจะถูกห้ามมิให้แสดงความเห็นอย่างเป็นทางการแม้แต่ในตอนนี้ ทว่าทันทีที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสถูกฝัง สื่ออิตาลีบางส่วนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากก็เริ่มเปลี่ยนบทบาทมาเป็น “นักล่าคาร์ดินัล” และพยายามจับตาดูว่าใครมีแนวโน้มจะเป็นผู้สืบตำแหน่ง
พวกเขาเดินสำรวจร้านอาหารและโรงแรมรอบ ๆ นครวาติกัน พร้อมคาดเดาไปต่าง ๆ นานาเมื่อพบเห็นการพบปะหรือการร่วมกลุ่มที่อาจเกิดขึ้น
พาดหัวข่าวหนึ่งในสื่อที่ชื่อว่า “ลา รีพับลิกา” (La Repubblica) เขียนว่า “ไวน์กับริกาโตนี: มื้อค่ำสุดท้ายของเหล่าพระคาร์ดินัล” โดยเล่าถึง “เจ้าชายแห่งศาสนจักร” ที่เพลิดเพลินกับ “มื้อกลางวันสไตล์โรมันอย่างดี” ก่อนจะเข้าสู่ช่วงล็อกดาวน์
ผู้สื่อข่าวถึงกับสอบถามพนักงานเสิร์ฟว่าได้ยินอะไรบ้างหรือไม่
“ไม่มีเลยครับ” พนักงานคนหนึ่งจากร้านโรเบอร์โต (Roberto's) ซึ่งอยู่ห่างจากมหาวิหารนักบุญเปโตรไม่กี่ซอย ตอบกับผู้สื่อข่าวในช่วงสัปดาห์นี้
“พอพวกเขาเห็นเราเข้าใกล้ พวกเขาจะเงียบกริบทันที”

ที่มาของภาพ : Reuters
อีกหนึ่งสถานที่ที่ผู้คนพยายามจับตาเหล่าพระคาร์ดินัลมากที่สุด ก็คือบริเวณข้างมหาวิหารนักบุญเปโตร บริเวณแนวเสาคู่โค้งที่โอบล้อมจัตุรัสหลักไว้ ทุก ๆ เช้า มักช่างภาพกลุ่มใหญ่และนักข่าวมารวมตัวกันเฝ้ารอชายในชุดลูกไม้และเสื้อคลุมสีแดงเพลิงเดินผ่าน
ขณะนี้มีพระคาร์ดินัลราว 250 รูปเดินทางจากทั่วโลกมารวมตัวกันในกรุงโรม แต่มีเพียงพระคาร์ดินัลที่อายุต่ำกว่า 80 ปีเท่านั้น ที่จะสามารถเข้าร่วมประชุมเพื่อออกเสียงเลือกตั้งโป๊ปองค์ใหม่ได้
เมื่อพวกเขาเดินเข้าสู่วาติกันเพื่อเข้าร่วมประชุมหารือการเลือกตั้งในแต่ละวัน แต่ละคนก็จะถูกล้อมรอบด้วยคำถามจากนักข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้า แต่คำตอบที่สื่อได้รับกลับมีเพียงการพูดถึง “ความจำเป็นในการรวมใจเป็นหนึ่งเดียว” หรือคำยืนยันว่า การประชุมลับน่าจะใช้เวลาไม่นานเท่านั้น
โลกภายนอก
“ทั้งหมดควรเป็นการตัดสินใจทางศาสนา ไม่ใช่เรื่องการเมือง” อินเนส ซาน มาร์ติน อธิบาย
“เราถือว่าองค์พระจิตทรงเป็นผู้นำการสนทนาและการลงคะแนนเสียง”
ทว่าสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเป็นผู้นำของสถาบันขนาดใหญ่และมั่งคั่ง ซึ่งมีอำนาจทางศีลธรรมและบทบาทระดับโลกในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่การไกล่เกลี่ยความขัดแย้งไปจนถึงเรื่องสิทธิทางเพศ ดังนั้น ชายผู้ได้รับเลือก รวมถึงวิสัยทัศน์และการจัดลำดับความสำคัญของเขา ย่อมมีความสำคัญเกินกว่าแค่สำนักวาติกัน
ในอดีต กษัตริย์คาทอลิกบางพระองค์เคยมีสิทธิคัดค้านหรือวีโต้ผลการเลือกตั้งสมเด็จพระสันตะปาปาจนกระทั่งปี 1907 ปัจจุบันแม้จะไม่มีสิทธิวีโต้แล้ว แต่เสียงจากทุกทิศทางยังพยายามชี้นำการถกเถียง โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดที่สุดผ่านสื่อ
หนังสือพิมพ์ Il Messaggero แห่งกรุงโรม เคยตำหนิพระคาร์ดินัลพาโรลินของอิตาลี ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวเต็งว่า “เหมือนกำลังเสนอตัวเองเป็นผู้สมัคร”
ขณะเดียวกันก็มีคลิปวิดีโอของพระคาร์ดินัลทักเลจากฟิลิปปินส์ร้องเพลง อิมเมจิน (Imagine) ของจอห์น เลนนอน ถูกปล่อยออกมา คล้ายกับเป็นความพยายามลดความนิยมของพระคาร์ดินัล ทว่าผลกลับตรงกันข้าม คลิปดังกล่าวกลายเป็นไวรัลแทน

ในขณะเดียวกัน หนังสือภาพพิมพ์หรูเล่มหนึ่งที่นำเสนอผู้มีแนวโน้มจะได้รับเลือกกำลังถูกแจกจ่ายกันในหมู่ผู้เกี่ยวข้อง โดยชื่นชมบรรดาพระคาร์ดินัลสายอนุรักษนิยม เช่น คาร์ดินัลซาราห์จากกินี ที่ออกมาต่อต้าน “ภัยร้ายร่วมสมัย” อย่างการทำแท้งและ “วาระของกลุ่มรักร่วมเพศ”
“มีบางกลุ่มในกรุงโรมที่พยายามตีฆ้องร้องป่าวเรื่องที่พวกเขาสนใจ” จอห์น อัลเลน บรรณาธิการสื่อคาทอลิกที่ชื่อว่า Crux กล่าว
“พระคาร์ดินัลรับรู้เรื่องพวกนี้ดี พวกเขาอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ แต่ก็จะพยายามทุกทางเพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านี้เข้ามารบกวนจิตใจ”
“มีกลุ่มล็อบบี้หรือไม่ มีแน่นอน เหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไปนั่นแหละ” อินเนส ซาน มาร์ติน แสดงความเห็นด้วย แต่เธอบอกว่ามันไม่ได้เป็นไปอย่างโจ่งแจ้งเท่าที่เธอเคยคิดไว้
เธออธิบายว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้แต่งตั้งคาร์ดินัลชุดใหม่จำนวนมากจากพื้นที่ใหม่ ๆ ทั่วโลก
“มีพระคาร์ดินัลตั้ง 50–60% ที่ไม่รู้จักกันมาก่อนด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณเป็นกลุ่มภายนอกที่พยายามจะผลักดันวาระอะไรสักอย่าง มันยากมากที่จะเริ่มต้นเลือกพระคาร์ดินัลที่คุณจะล็อบบี้ได้เลยด้วยซ้ำ”
ปิดเสียงรบกวน
ภายในเช้าวันพุธ (7 พ.ค.) ผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมดจะต้องอยู่ภายในวาติกันแล้ว โดยปราศจากโทรศัพท์มือถือ และถูกตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสมบูรณ์
จอห์น อัลเลน เชื่อว่า ปัจจัยสำคัญจะไม่ใช่การเมือง ไม่ใช่การแบ่งฝ่าย “เสรีนิยม” หรือ “อนุรักษนิยม” และไม่ใช่เสียงโกลาหลของการถกเถียงในสาธารณะ แต่เป็น “ความชอบส่วนตัว” ของคาร์ดินัลแต่ละคนที่มีอิทธิพลมากกว่า
“ผมคิดว่าการพูดคุยกันระหว่างคาร์ดินัลเองในตอนนี้คือกุญแจสำคัญจริง ๆ” อินเนส ซาน มาร์ติน กล่าว
“หลายคนเพิ่งกล้าแสดงความคิดเห็นเป็นครั้งแรก และเราไม่มีทางรู้เลยว่าบางคนอาจเปล่งประกายสร้างแรงบันดาลใจได้ขนาดไหน”
ที่มา BBC.co.uk