เช็กปฏิกิริยา สว. ล็อตแรกหลังรับทราบข้อกล่าวหา “คดีฮั้วเลือก สว.” ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจาก สว. เสียงข้างน้อยให้ชะลอเลือกองค์กรอิสระ

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

ทั้งประธานวุฒิสภา มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา และรองฯ เกรียงไกร ศรีรักษ์ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา “คดีฮั้วเลือก สว.” ซึ่งถูกออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา 19 พ.ค.

  • Creator, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าว.

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แสดงความ “โล่งใจ” และ “ไม่กังวล” หลังทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนกฎหมายการได้มาซึ่ง สว. หรือที่ถูกเรียกขานว่า “คดีฮั้วเลือก สว.”

พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คือหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา ที่เดินทางมายังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ ในวันนี้ (19 พ.ค.) โดยใช้เวลาอยู่ภายในสำนักงาน กกต. ราว 1.5 ชม.

จากนั้นเขากล่าวกับผู้สื่อข่าวสั้น ๆ ว่า ไม่มีอะไร แค่มารับทราบข้อกล่าวหา การซักถามของคณะกรรมการเป็นไปตามปกติ ส่วนเป็นเรื่องอะไรไม่สามารถบอกได้

“วันนี้ก็โล่งใจ ก็โล่งใจมาตลอดที่ได้ชี้แจง” รองฯ เกรียงไกร ผู้เข้าสภาด้วยคะแนนเป็นอันดับ 1 ของกลุ่ม 1 (กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง) กล่าว

ส่วนการที่ประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา “คดีฮั้วเลือก สว.” จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของวุฒิสภาอย่างไรนั้น พล.อ.เกรียงไกรตอบว่า ต้องถามผู้สื่อข่าว

Skip ได้รับความนิยมสูงสุด ได้รับความนิยมสูงสุด

ได้รับความนิยมสูงสุด

คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน คณะที่ 26 ที่มี ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต. เป็นประธาน โดยมีตัวแทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมด้วย ได้ออกหนังสือเชิญ สว. ชุดแรกจำนวน 55 คน ให้มารับทราบข้อกล่าวหาตลอดสัปดาห์นี้ (19-21 พ.ค.) และเปิดให้ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงหลักฐาน รวมถึงให้ถ้อยคำแก้ข้อกล่าวหา

ในจำนวนนี้มี สว. อยู่ 6 คนที่ถูกนำ “หมายเรียก” ไปแปะประกาศที่หน้าบ้านพักใน กรุงเทพมหานคร เมื่อ 9 พ.ค.

สว. เหล่านี้ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาหลังพบว่า “มีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏต่อ กกต.” ว่าได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 70 ประกอบมาตรา 36 มาตรา 77 (1) และมาตรา 62

อลงกต เลี่ยงตอบคำถามสื่อ พูดภาษาฝรั่งเศส-จีน

นอกจากรองประธานวุฒิสภา ยังมี สว. อีกหลายคนเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาตลอดทั้งวัน เฉพาะที่ปรากฏตัวต่อหน้ากองทัพสื่อมวลชนที่ไปปักหลักรอทำข่าวอยู่มีอย่างน้อย 7 จาก 22 คนที่ถูกคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯ ออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ (19 พ.ค.) ทว่ามีหลายคนที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและตอบข้อซักถามของกับผู้สื่อข่าว

สว. ผู้ถูกกล่าวหาระบุตรงกันว่า ไม่ทราบว่าพฤติการณ์ที่นำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาคืออะไร เพราะเอกสารที่ได้รับในหมายเรียกเป็นการพูด “ภาพรวม” และ “กล่าวอ้างลอย ๆ” จึงขอพบเจ้าหน้าที่ กกต. ก่อน

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

นิพนธ์ เอกวานิช (คนซ้าย) บอกว่า ข้อกล่าวหาของอนุ กกต. “เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ”

นายนิพนธ์ เอกวานิช สว. ที่เข้าสภาด้วยคะแนนอันดับ 1 ของกลุ่ม 9 (กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม” เดินทางมายังสำนักงาน กกต. เพราะต้องการ “ขอดูหลักฐานเพิ่มเติม เพราะที่มีการกล่าวหานั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่ชัดเจน” ซึ่งจะขอตอบเป็นลายลักษณ์อักษร

เช่นเดียวกับนายสิทธิกร ธงยศ สว. กลุ่ม 19 (กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ) ที่บอกว่า หนังสือของสำนักงาน กกต. เป็นภาพรวม เป็นการจัดกลุ่มว่าเราอยู่สถานที่นั้นสถานที่นี้ แต่ในตัวข้อกล่าวหาคดีฮั้วไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเราอยู่จังหวัดใด พร้อมแสดงความความมั่นใจในที่มาของตัวเอง

สว. รายนี้ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ดีเอสไอเข้ามาทำคดีให้ กกต. หากได้รับการพิจารณาก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานในการทำคดีเลือกตั้งอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง สส. หรือท้องถิ่น ซึ่งถือเป็น “เครื่องมือในการแทรกแซง กกต.” เพราะดีเอสไอมีรัฐมนตรีสังกัดพรรคการเมืองกำกับดูแล หากมาทำคดีเกรงจะเกิดความไม่เป็นธรรม และกรณีนี้เหมือนมีการสอดคล้องและรับลูกกันระหว่างดีเอสไอกับบรรดาผู้เสียผลประโยชน์ ทั้ง สว. สำรอง และ สว. อีกกลุ่มที่ออกมาล่ารายชื่อในตอนนี้

ส่วนที่มีข้อมูลว่าดีเอสไอให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) วิเคราะห์ผลการลงคะแนนเลือก สว. ระดับประเทศ รอบเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ เมื่อ 26 มิ.ย. 2567 โดยพบว่าผู้สมัครราว 1.1 พันคนมีพฤติกรรม “ฮั้ว” นั้น สว.สิทธิกร จาก จ.นครพนม ให้ความเห็นว่า เอไอเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง มันอยู่ที่จุดประสงค์ของผู้ใช้ว่าต้องการอยากได้อะไร และ “ไม่ทราบว่าเอไอที่นำมาใช้ได้รับมาตรฐานหรือมีผู้รับรองหรือไม่ อยู่ ๆ จะมากล่าวอ้างว่าเอไอมีความเที่ยงธรรมอย่างนั้นอย่างนี้… เอไอที่เอามาจับพันกว่าคนได้รับมาตรฐานที่ใด อย่างไร ก็ต้องตอบให้ประชาชนทราบ ไม่ใช่กล่าวอ้างขึ้นมาเฉย ๆ”

.ถามว่า อะไรทำให้คนลงคะแนนเหมือนกันเป๊ะ ๆ ตาม “โพย” ที่ปรากฏทางหน้าสื่อ นายสิทธิกร ผู้ได้คะแนนเป็นอันดับ 3 ของกลุ่ม 19 ตอบว่า ไม่ทราบ เพราะการลงคะแนนเป็นการลงคะแนนโดยลับ และยังนำกรณีการเลือกสมาชิกเทศบาล (สท.) มาเปรียบเปรยกับการเลือก สว. โดยบอกว่าผู้สมัครหลายเทศบาลก็มากันยกทีม “หากจะเปรียบเทียบกับการตั้งข้อสังเกตว่ามีการกาซ้ำกัน มันก็มีเหตุการณ์เปรียบเทียบได้”

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

สิทธิกร ธงยศ เรียกร้องให้ดีเอสไอตรวจสอบ สว. ตัวจริงทั้ง 200 คน และ สว.สำรอง 100 คน โดยใช้มาตรฐานเดียวกัน หลังพบว่าผู้สมัครอีกกลุ่มนัดรวมตัวที่กันโรงแรมหน้าทางเข้าเมืองทองธานี และมี “โพย” ออกมาก่อนวันเลือกระดับประเทศ 26 มิ.ย. 2567

ด้านนายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี สว. กลุ่ม 1 (กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง) กล่าวยืนยันว่า ไม่กังวล และไม่ได้เตรียมข้อมูลอะไรมาเป็นพิเศษ “ยังมั่นใจในตัวเอง แต่ก็แล้วแต่ กกต. จะพิจารณา”

นายวีระศักดิ์ ที่ถูกเรียกขานว่า “ผู้ว่าฯ ปู” ยังตอบคำถามถึงกระแสข่าวรัฐมนตรีและแกนนำพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ถูกคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯ แจ้งข้อกล่าวหาคดีฮั้วเลือก สว. เพิ่มเติม โดยบอกเพียงว่า “ไม่กังวล”

สื่อมวลชนหลายสำนัก อาทิ มติชน เนชั่น รายงานตรงกันว่า คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯ ได้ทำหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาคดีฮั้วเลือก สว. เพิ่มเติม โดยมีรายชื่อออกมาอย่างน้อย 10 คน ในจำนวนนี้มี สว. 3 คน, รมต. 1 คน, อดีตรองประธานสภา 1 คน, นายก องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 คน

นายอลงกต วรกี สว. กลุ่ม 20 (กลุ่มอื่น ๆ) ซึ่งเป็น 1 ใน 6 สว. ที่ถูกนำหมายเรียกไปแปะหน้าบ้านพัก และยังเป็นเจ้าของวาทะอันลือลั่น “ผมมีศักดิ์สูงกว่า” ดีเอสไอ ไม่ต้องการตอบข้อซักถามใด ๆ ของสื่อมวลชน จึงเลือกสื่อสารเป็นภาษาต่างประเทศ โดยตอนแรกที่เขาเห็นผู้สื่อข่าว เขาทำท่าเม้มปาก ส่ายศีรษะ ก่อนตอบคำถามเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วยประโยคเดิม ๆ ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “ผมพูดไม่ได้” และ “ผมไม่อยากพูด” ไม่ว่าผู้สื่อข่าวยิvคำถามใดใส่ก็ตาม

เขากล่าวย้ำหลายครั้งว่าจะพูดแต่ภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น และในตอนท้ายยังพูดคุยกับผู้สื่อข่าวเป็นภาษาจีน 1 ประโยค ซึ่งไม่เกี่ยวกับเนื้อหาคดีแต่อย่างใด

ย้อนที่มา สว. ชุดที่ 13 ก่อนกลายเป็น “คดีฮั้วเลือก สว.”

สว. ชุดที่ 13 จำนวน 200 คน มาจาก 20 กลุ่มอาชีพ โดยทั้งหมดมาจากการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพและเลือกไขว้กลุ่มใน 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด จนถึงระดับประเทศ โดยกระบวนการทั้งหมดนี้กินเวลา 47 วันนับจากมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว. เมื่อ 11 พ.ค. 2567 (เฉพาะกระบวนการเลือก 3 ระดับ ใช้เวลา 18 วัน) ก่อนได้ สว. ตัวจริง 200 คน และตัวสำรอง 100 คน

จากผู้สมัคร สว. ทั้งประเทศราว 4.8 หมื่นคน คัดเหลือ 200 คนสุดท้ายเข้าไปทำหน้าที่ ทั้งนี้บุรีรัมย์คือจังหวัดที่ส่งผู้สมัครเข้าสู่ “สภาจันทรา” ได้มากที่สุด 14 คน รองลงมาคือ กรุงเทพมหานคร มี สว. 9 คน ขณะที่ 13 จังหวัดที่ไม่มีตัวแทน สว. แม้แต่คนเดียว

ทันทีที่ กกต. ประกาศผลคะแนนการเลือกระดับประเทศในรอบ “เลือกไขว้กลุ่ม” ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายเมื่อ 26 มิ.ย. 2567 ทั้งผู้สมัคร ภาคประชาชนที่เป็นผู้สังเกตการณ์กระบวนการเลือก นักวิชาการ และสื่อมวลชนต่างตั้งข้อสังเกตตรงกัน กรณีว่าที่ สว. “หัวตาราง” ได้รับเลือกด้วยคะแนนพุ่งสูง และมีคะแนนเกาะกลุ่มกัน 6-7 อันดับแรก ทิ้งห่างจากว่าที่ สว. ท้ายตาราง 3-4 คนหลัง

จากการตรวจสอบของ. พบว่า สว. ที่เข้าสภาด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศคือ น.ส.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สว.กลุ่ม 19 (กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ) ได้ 79 คะแนน รองลงมาคือ นายชินโชติ แสงสังข์ สว.กลุ่ม 7 (กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ) ได้ 77 คะแนน ส่วนคนที่ได้คะแนนต่ำสุดในหมู่ 200 คนคือ นายอภินันท์ เผือกผ่อง สว. กลุ่ม 1 (กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง)

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

การเลือก สว. ระดับประเทศเมื่อ 26 มิ.ย. 2567 ต้องนับคะแนนข้ามคืนไปเสร็จราวเวลา 04.00 น. ของวันถัดไป ท่ามกลางข้อสังเกตว่าคนหัวตารางของทุกกลุ่มได้คะแนน “สูงแบบเกาะกลุ่ม” ทิ้งห่างคนกลางและท้ายตารางลงมา

ตลอดปีที่ผ่านมา มีทั้ง สว.สำรอง และผู้สมัคร สว. ยื่นคำร้องต่อ กกต. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีมี “โพยฮั้วเลือก สว.” หลุดออกมา

คดีการเมือง: กกต. ได้สั่งให้ดำเนินการไต่สวน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนส่วนกลางคณะที่ 26 ของสำนักงาน กกต. เป็นผู้รับผิดชอบ

คดีอาญา: ดีเอสไอโดยคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) รับเป็น “คดีพิเศษ” ในความผิดฐานฟอกเงิน และเพิ่มฐานเป็นอั้งยี่ที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่ง สว. ปี 2567

ขั้นตอนต่อไป

สำหรับขั้นตอนหลังจาก สว. เข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในวันนี้ มีดังนี้

  • คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯ มีเวลา 90 วันในการประมวลข้อเท็จจริงและพิจารณาวินิจฉัย (แต่ขอขยายเวลาได้)
  • คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯ เสนอความเห็นไปยังเลขาธิการ กกต. โดยมีเวลาพิจารณา 60 วัน
  • เลขาธิการ กกต. เสนอความเห็นต่อคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง เพื่อพิจารณากลั่นกรอง
  • คณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ เสนอความเห็นต่อ กกต. ชุดใหญ่เพื่อพิจารณาชี้ขาดหรือสั่งการ
  • ถ้าที่ประชุม กกต. เห็นว่าไม่จำเป็นต้องสอบเพิ่มเติม เนื่องจากข้อมูลหลักฐานไม่เพียงพอก็ยุติเรื่อง แต่ถ้าพบว่ามีความผิดจริง ก็จะส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งต่อไป เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
  • ถ้าศาลฎีกาฯ มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา จะส่งผลให้ สว. ผู้ถูกกล่าวหาต้องยุติปฏิบัติหน้าที่ทันที

ที่มา: .สรุปจากคำให้สัมภาษณ์ของประธาน กกต. เมื่อ 10 พ.ค. 2568

หากศาลตัดสินว่ากระทำความผิดจริง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 20 ปี

สว. ข้างน้อยชง 3 แนวทางชะลอเฟ้นองค์กรอิสระ

ในระหว่างที่ สว. กลุ่มใหญ่ที่ถูกขนานนามว่า “สว. สีน้ำเงิน” อย่างน้อย 1 ใน 4 ของวุฒิสภาถูกแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว โดยที่ตัวเลขจริงอาจพุ่งสูงถึง 150 คนตามรายงานข่าวที่ออกมาจากแหล่งข่าวที่อ้างว่าเป็นคณะอนุกรรมการ กกต. ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวจาก สว. นอกกลุ่มใหญ่นำโดย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส จากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “สว.พันธุ์ใหม่” ในการล่ารายชื่อเพื่อน สว. 1 ใน 10 ของวุฒิสภา หรือ 20 คน เพื่อยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ สว. 200 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ โดยคาดการณ์ว่าการล่าชื่อจะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้

น.ส.นันทนาให้เหตุผลว่า ขณะนี้ สว. จำนวนมากถูกตรวจสอบโดย กกต. และดีเอสไอ และเชื่อว่าน่าจะมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา นั่นแปลว่าที่มาของ สว. ไม่ชัดเจนว่าถูกต้อง ชอบธรรม สุจริตหรือไม่ หากยังไปร่วมให้ความเห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระ จะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และกระบวนการนี้อาจถูกร้องว่าเป็นโมฆะได้

“ไม่ใช่กระบวนการสีน้ำเงินเซแล้วเราซ้ำ แต่เกรงจะส่งผลเสียรุนแรง และเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เมื่อ สว. เองกำลังถูกตรวจสอบ แต่จะไปเห็นชอบผู้เข้าไปดำรงตำแหน่งใน กกต. อาจจะเป็นในลักษณะต่างตอบแทน เหมือนเลือกผู้พิพากษามาตัดสินคดีของตัวเองจึงมิควร จึงขอร้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนี้เพื่อความสง่างาม” สว.พันธุ์ใหม่ กล่าว

ด้าน พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา ไม่ขอให้ความเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของ สว.นันทนา โดยโยนคำถามกลับไปเพียงว่า “ทำได้หรือเปล่า”

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

นอกจากแนวทาง “ยืมดาบศาลรัฐธรรมนูญ” ของ น.ส.นันทนา ยังมี สว. เสียงข้างน้อยอีก 2 คนออกมาเสนอความเห็นในทำนองเดียวกันให้ชะลอการเดินหน้าเลือกกรรมการองค์กรอิสระ เพราะเกรงเกิดปัญหา “ผลประโยชน์ทับซ้อน” แต่เลือกใช้วิธีการที่แตกต่างกัน

คนแรกคือ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกกลุ่ม “สว. พันธุ์ใหม่” อยู่ระหว่างล่ารายชื่อเพื่อน สว. เพื่อเสนอญัตติด่วนต่อประธานวุฒิสภา ขอให้ชะลอการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. ) จนกว่าจะมีคำตัดสินใจคดีที่ สว. จำนวนมากตกเป็นผู้ถูกร้องและผู้ร้องในขณะนี้

“การชะลอการใช้อำนาจรับรององค์กรที่จะให้คุณให้โทษตัวเอง เป็นเรื่องที่พึงพิจารณา เพื่อหลักประกันความเป็นอิสระและความยุติธรรมของกระบวนการตัดสินและตรวจสอบ”

อีกคนคือ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม “สว. สีขาว” เตรียมเสนอให้ประธานวุฒิสภายับยั้งการบรรจุวาระแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระออกไปก่อนในช่วงที่ สว.จำนวนมากกำลังถูกตรวจสอบโดยดีเอสไอและ กกต. และยังเตรียมทำหนังสือถึงนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้พิจารณากรณีที่วุฒิสภาเร่งรัดเร่งรีบกระบวนการแต่งตั้งองค์กรอิสระด้วย

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX

การพิจารณาและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งใน 6 องค์กรอิสระ และ 7 ตำแหน่งในองค์กรอื่นตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ ถือเป็นหนึ่งในอำนาจหน้าที่สำคัญของวุฒิสภาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ทั้งนี้ตั้งแต่ สว. ชุดที่ 13 เข้ารับตำแหน่งในเดือน ก.ค. 2567 เคย “เห็นชอบ” การแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระไปแล้ว 2 องค์กร ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. ) 1 คน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) 4 คน และ “ตีตก” ไป 3 องค์กร ได้แก่ กรรมการ คตง. 2 คน, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน, ผู้ตรวจการแผ่นดิน 1 คน

นอกจากนี้ยังให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด, ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และอัยการสูงสุด (อสส.) ด้วย

ในระหว่างการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ 29-30 พ.ค. นี้ นอกจากวาระพิจารณากฎหมายสำคัญ คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ยังบรรจุวาระการตั้ง กมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรง 3 ตำแหน่งคือ กรรมการ กกต. 1 คน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน และ อสส. 1 คน