
‘สภาผู้บริโภค’ เรียกร้อง ‘นายกฯ-กสทช.’ แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย ปม AIS เสนอซื้อฐานลูกค้า ‘บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ’ กังวลทำให้เกิด ‘การผูกขาดอย่างสมบูรณ์'
………………………………..
จากการที่มีกระแสข่าว บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS เสนอซื้อฐานลูกค้าของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT รัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมของประเทศ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลและส่อให้เกิดความเสี่ยงว่า จะทำให้ตลาดโทรคมนาคมของไทยตกอยู่ภายใต้การผูกขาดอย่างเบ็ดเสร็จ เนื่องจากเหลือผู้ให้บริการโทรคมนาคมหลักเพียง 2 รายใหญ่เท่านั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พ.ค. น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า ดีลการซื้อฐานลูกค้าของ NT โดย AIS นั้น ไม่ควรเกิดขึ้น และขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนการครอบครองกิจการ (Takeover) ซึ่งเป็นการควบรวมธุรกิจในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ซ่อนอยู่ภายใต้การอ้างว่าเป็นเพียงการซื้อฐานลูกค้า
พร้อมทั้งเรียกร้องให้กรรมการบริหารของ NT และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกมาชี้แจงและแสดงวิสัยทัศน์ต่อสาธารณะว่าจะยังคงให้ NT เป็นผู้เล่นในตลาดเพื่อความสมดุล และรักษาอธิปไตยของประเทศด้านการสื่อสารไว้
น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า การที่ NT กำลังจะถอยออกจากตลาดมือถือ ไม่ว่าจะด้วยการไม่ขยายฐานลูกค้า หรือไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ล้วนเป็นสัญญาณอันตรายของการล่มสลายของหน่วยงานรัฐในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่ออธิปไตยของประเทศในระยะยาว เพราะคลื่นความถี่ถือเป็นทรัพยากรสาธารณะที่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
ทั้งนี้ หากรัฐสูญเสียส่วนแบ่งในการครอบครองคลื่นสัญญาณมือถือ ปล่อยให้อยู่ในมือเอกชนเพียงสองรายที่มีลักษณะการผูกขาดอย่างสมบูรณ์แบบจะทำให้เสียสมดุลในธุรกิจโทรคมนาคมที่มีมูลค่าทางการตลาดหลายหมื่นล้าน และจะเกิดผลเสียหากประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤติ
“แม้ว่า NT จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดค่อนข้างน้อย และถูกมองว่าเป็นผู้เล่นรายเล็กในตลาดมือถือ แต่ยังคงมีประชาชนกลุ่มหนึ่งที่เลือกใช้บริการ NT เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความต้องการทางเลือกในตลาดยังคงมีอยู่จริง หาก NT ต้องหลุดจากสมรภูมินี้ ก็เท่ากับว่าประชาชนจะถูกบังคับให้เลือกใช้งานจากผู้ให้บริการค่ายมือถือเพียงสองราย คือ AIS และทรู ที่ควบรวมดีแทคไปแล้ว รวมถึงอินเทอร์เน็ตบ้านที่มีการควบรวมกันระหว่าง AIS และ 3BB ซึ่งเป็นสถานการณ์ผูกขาดอย่างสมบูรณ์” น.ส.สุภิญญา ระบุ
น.ส.สุภิญญา กล่าวถึงการเปิดประมูลคลื่นโทรศัพท์มือถือ ซึ่งคาดว่า กสทช. จะจัดการประมูลในเดือน มิ.ย.นี้ ว่า กติกาการประมูลที่อยู่ในกระบวนการจัดทำโดย กสทช.ขณะนี้ยังไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนว่าจะเอื้อต่อการแข่งขัน หรือเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่หรือรายเล็กสามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างแท้จริง ทั้งยังไม่มีข้อกำหนดด้านการควบคุมราคาค่าบริการ หรือกลไกคุ้มครองผู้บริโภคอย่างรัดกุม
“หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ การประมูลก็จะตกอยู่ในกำมือของทุนใหญ่ และผู้บริโภคก็จะไร้ทางเลือก โดยอำนาจต่อรองจะถูกผูกไว้กับสองรายใหญ่แทบทั้งหมด ดังนั้น จึงเห็นว่าดีลการซื้อฐานลูกค้า NT โดย AIS นั้น ไม่ควรเกิดขึ้น” น.ส.สุภิญญากล่าว
น.ส.สุภิญญา ยังกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคได้ติดตามและตรวจสอบการควบรวมกิจการโทรคมนาคมอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ทั้งกรณีทรู-ดีแทค และ AIS-3BB พร้อมทั้งยื่นหนังสือ เสนอข้อคิดเห็นเชิงนโยบาย และสะท้อนความกังวลของประชาชนต่อรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอบางประการ เช่น การออกแบบกติกาประมูลเพื่อส่งเสริมผู้เล่นรายใหม่ การกำหนดราคาค่าบริการขั้นสูง-ขั้นต่ำ หรือการเปิดเผยข้อมูลการวิเคราะห์ผลกระทบต่อผู้บริโภค กลับไม่ได้รับการตอบสนองอย่างจริงจัง
ดังนั้น ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ สภาผู้บริโภคจะเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายของสภาผู้บริโภคเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินงานต่อไป รวมถึงอาจพิจารณาใช้กลไกการตรวจสอบในระดับที่สูงขึ้น หากยังไม่มีหน่วยงานใดลุกขึ้นมารับผิดชอบเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร องค์กรอิสระอย่าง กสทช. หรือแม้แต่ฝ่ายนิติบัญญัติ สภาผู้บริโภคอาจพิจารณา คือ การดำเนินการผ่านกระบวนการยุติธรรม เช่น การยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หากพบว่าอาจเข้าข่ายละเมิดหลักการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาด
“กรณีนี้ไม่ใช่แค่เรื่องผู้บริโภคเสียประโยชน์ แต่คือสัญญาณเตือนระดับชาติว่าเรากำลังเดินถอยหลังกลับไปสู่ยุคโทรคมนาคมที่ไร้ทางเลือกและทุนใหญ่ผูกขาดทุกมิติ หากปล่อยผ่านไป ก็จะไม่มีวันย้อนกลับมาแก้ไขอะไรได้อีก” น.ส.สุภิญญา กล่าว
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )