
‘มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์’
‘ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง’
คือ 2 คุณสมบัติรัฐมนตรี ที่ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญ และเป็นจุดตั้งต้นให้ 36 สว.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย
‘ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์’ และ ‘มาตรฐานจริยธรรม’ เป็น 2 คำสำคัญที่เพิ่งกำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างเป็นระบบ พร้อมกำหนดโทษไว้อย่างรุนแรง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยกร่างโดยคน 21 คนที่ คสช.แต่งตั้งขึ้น นำทีมโดย มีชัย ฤชุพันธุ์
ทั้งสองคำนี้ค่อนข้างกว้างและอำนาจการตีความอยู่ในมือผู้ตัดสิน สำหรับคำว่า ‘จริยธรรม’ นั้นรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งหมดไปยกร่างกำหนดมาตรฐานร่วมกัน เพื่อเอาไว้ควบคุมหน่วยงานตนเอง พร้อมๆ กับเขียนเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญว่า ให้ใช้ควบคุมฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติอย่าง สส. สว. และ ครม.ด้วย
นี่นับเป็นครั้งแรกที่มีจริยธรรมกลางที่ถูกกำหนดโดยคนกลุ่มหนึ่งเพื่อใช้กับส่วนงานอื่นๆ ที่ผ่านมาโดยปกติแล้ว แต่ละองคาพยพจะมีการยกร่างจริยธรรมในการทำงานที่เหมาะแก่งานวงงานของตนเอง โดยไม่ได้มีโทษทางการเมืองหรือทางอาญาอย่างชัดเจน เนื่องจากบรรดาคดีทุจริตหรือการทำผิดกฎหมายใดๆ สามารถดำเนินคดีกันตามปกติได้อยู่แล้ว
โทษทัณฑ์ของการ ‘ขาดจริยธรรม’ ในเบื้องต้น คือ
1. พ้นจากตำแหน่ง
2. ถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง (ตลอดชีพ) แปลว่า ไม่มีสิทธิสมัครเป็น สส.สว.สภาท้องถิ่น หรือดำรงตำแหน่งทางกาเรมืองใดๆ
3. อาจจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยก็ได้
สำหรับกระบวนการตั้งเรื่องจนถึงตัดสิน จะมีเส้นทางดังนี้ คือ หากสงสัยว่า สส. สว. ครม. หรือใครในองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ให้ร้องไปยัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อไต่สวนข้อเท็จจริง ถ้า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติลงมติมากกว่ากึ่งหนึ่งเห็นว่ามีมูล ก็จะส่งต่อไปยังศาลฎีกา หากศาลรับฟ้อง ศาลอาจสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
ที่ผ่านมา ผู้ที่โดนข้อหา ‘จริยธรรม’ จนหลุดจากตำแหน่งและเข้าสู่การเมืองอีกไม่ได้อีกต่อไป มีอยู่ 6 คน แบ่งเป็น
- สส. 5 คน จากพรรคพลังประชารัฐ 2 คน, พรรคภูมิใจไทย 1 คน, พรรคเพื่อไทย 1 คน, พรรคก้าวไกล 1 คน
- นายกฯ 1 คนจากพรรคเพื่อไทย คือ เศรษฐา ทวีสิน
- นายกฯ 1 คนจากพรรคเพื่อไทย คือ แพทองธาร ชินวัตร
กรณีหลังสุดนี้ ศาลเพียงสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่หลังรับพิจารณาคดี (1 ก.ค.2568) ซึ่งต้องรอดูว่าท้ายที่สุดจะตัดสินอย่างไร
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า 5 สส.ที่ถูกตัดสินนั้น ผ่านกระบวนการของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติโดย ‘ศาลฎีกา’ เป็นผู้พิพากษา ขณะที่ 2 นายกฯ ของพรรคเพื่อไทยนั้น เป็นกระบวนการที่ผ่าน ‘ศาลรัฐธรรมนูญ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw ตั้งข้อสังเกตด้านกฎหมายว่า ข้อหาจริยธรรมนี้เมื่ออ่านตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ต้องอยู่ในมือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผ่านไปยังศาลฎีกา เขาจึงโพสต์ตั้งคำถามเพื่อสอบถามผู้รู้ทางกฎหมายว่า ศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยประเด็นนี้รวมถึงสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จากเหตุนี้ได้หรือไม่
ยิ่งชีพยกเหตุผลสรุปได้ว่า
1. ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเจ้าภาพยกร่างมาตรฐานจริยธรรม การให้คนร่างเป็นคนบังคับใช้เองด้วยเป็นเรื่อง ‘ผิด’ ดังนั้นจึงควรให้องค์กรอื่นมีอำนาจบังคับใช้และตีความ
2. รัฐธรรมนูญเขียนถึงอำนนาจ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไว้อย่างละเอียด เกี่ยวกับการดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรร้ายแรง ซึ่งกำหนดว่าให้ส่ง ‘ศาลฎีกา’
3. หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าตัวเองก็มีอำนาจตีความ และก็สั่งเป็นว่าเล่นว่าคนต่างๆ ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เราจะมีองค์กรที่มีอำนาจตีความและตรวจสอบมาตรฐานทางจริยธรรม 2 องค์กร คือทั้งศาลฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญ และสุดท้ายคนจะไปใช้บริหารศาลรัฐธรรมนูญเพราะง่ายกว่า ใช้เวลาสั้นกว่าด้วย
“แปลว่าการกระทำหนึ่งๆ ของนักการเมืองหนึ่งคน สามารถขึ้นศาลได้สองศาลไปพร้อมๆ กัน และมีโอกาสที่คำพิพากษาจะออกมาแตกต่างกัน ซึ่งในทางกฎหมายปกติแล้วทำแบบนี้ไม่ได้ เมื่อคดีขึ้นศาลหนึ่งแล้วจะขึ้นอีกศาลหนึ่งไม่ได้” ยิ่งชีพระบุ
นอกจากนี้ยิ่งชีพยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมถึงคำร้องของ 36 สว.ที่ร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ปลดแพทองธาร เพราะขาดคุณสมบัติตามมาตรา 101, 111 ของรัฐธรรมนูญ เขาบอกว่าภายใต้คุณสมบัติที่เขียนเชื่อมโยงกันจนเวียนหัว ไม่มีเรื่องจริยธรรม
“คนเขียนรัฐธรรมนูญเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัตินักการเมืองด้วยศาลรัฐธรรมนูญ เขาเขียนโดยรู้อยู่แล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีหน้าที่วินิจฉัยมาตรฐานทางจริยธรรม มีหน้าที่วินิจฉัยคุณสมบัติเรื่องอื่นๆ ส่วนเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมไม่ใช้กระบวนการมาตรา 82 แต่ใช้กระบวนการมาตรา 234 235 ไปทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และไปศาลฎีกา” ยิ่งชีพระบุ
ท้ายที่สุด ยิ่งชีพสรุปว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะยุ่งเกี่ยวกับข้อหาจริยธรรมได้ เมื่อกรณีที่ศาลฎีกาสั่งแล้วว่าใครฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงจะวินิจฉัยถอดถอนออกจากตำแหน่ง และตัดสิทธิทางการเมือง ทำนองเดียวกับตอนถอดถอน สว. สมชาย เล่งหลัก ที่เคยถูกศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567
นี่คือคำถามในทางกฎหมายว่า สรุปแล้ว ข้อหาจริยธรรม ศาลใดกันแน่ที่จะต้องพิจารณา, หากศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัย เท่ากับยกร่างมาตรฐานเอง ตีความเอง บังคับใช้เอง นั้นถูกต้องเพียงใด, หากทั้งศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญต่างวินิจฉัยได้ และคดีก็สามารถเดินคู่กันได้ (เพราะไม่มีกฎหมายห้าม) ตีความออกมาต่างกัน น่าจะดูไม่จืด ปกติทำกันเช่นนี้ไหม ฯลฯ
สำหรับกรณีของแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7:0 รับคำร้องที่ 36 สว.ยื่นผ่านประธานวุฒิฯ ร้องเรียนไว้ และมีมติ 5:2 ให้แพทองธารหยุดปฏิบัตินายกฯ ไว้ก่อนจะว่าจะมีคำตัดสินนั้น เหตุสืบเนื่องมาจากคลิปเสียงการสนทนาระหว่างแพทองธาร-ฮุนเซน
สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 2 เสียง คือ นายนครินทร เมฆไตรรัตน และนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม แม้ไม่โหวตให้ ‘หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯ’ มองว่าเป็นนายกฯ ต่อได้แต่ก็ให้หยุดใช้หน้าที่และอำนาจด้านความมั่นคง การต่างประเทศ การคลัง จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
“ข้อเท็จจริงตามคำร้องยังไม่ยุติชัดเจน ให้ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้อง มีกรณีตามที่ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคสาม ประกอบมาตรา ๘๒ วรรคสอง แต่เพื่อป้องกันความเสียหาย ที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง ให้ใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าดวยวิธีพิจารณาของศาลรฐัธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๗๑ ห้ามมิให้ผู้ถูกร้องใช้หน้าที่และอำนาจด้านความมั่นคง ด้านการต่างประเทศ และด้านการคลัง จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย” ความเห็นของ 2 ตุลาการเสียงข้างน้อยที่ระบุในการแถลงของศาลรัฐธรรมนูญ
ข้อหา ‘ฝ่าฝืนจริยธรรม’ สามารถเกิดขึ้นได้อีกเรื่อยๆ โดยแต่ละครั้งมีผลเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
กรณีของแพทองธาร ไม่ใช่กรณีสุดท้าย คดีจริยธรรมที่ถูกจับตามองอย่างยิ่งและกำลังจะมีคำตัดสินคือ 44 สส.ก้าวไกลที่ลงชื่อในร่างแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งอยู่ในมือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเตรียมส่งศาลฎีกา และไม่มีใครรู้ว่าดาบจะลงมาเมื่อใด แต่เชื่อขนมกินได้ว่า จะลงมาในเวลาที่เหมาะสมต่อการทำให้ ‘ฝ่ายการเมือง’ อ่อนแอไม่อาจแข็งข้อใดๆ
ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 มีนักการเมืองถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตแล้วอย่างน้อย 6 ราย
1. ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ
กรณีเข้ายึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.โดยมิชอบเมื่อ 18 ปีก่อน 25 มี.ค.2564 ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
2. กนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ
พรรคภูมิใจไทย จากกรณีสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐออกโฉนดที่ดินรุกป่าเขาใหญ่ซึ่งกรณีเกิดขึ้นนานแล้ว เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2566 ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
3. ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ อดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ
กรณีถูกกล่าวหาเสียบบัตรลงคะแนนแทนผู้อื่น เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2566 ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
4. อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีต ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย
กรณีเรียกรับเงิน 5 ล้านบาท จากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลแลกกับการผ่านงบประมาณ 6 ม.ค.2566 ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี
5. พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่
กรณีโพสต์ภาพและข้อความลงเฟซบุ๊กพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ในแง่ร้าย เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2566 ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่ไม่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
6. เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย
กรณีแต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้เศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกฯ คำวินิจฉัยดังกล่าวมีผลให้เศรษฐาและคณะรัฐมนตรีพ้นสภาพจากตำแหน่งโดยทันที
มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561
แบ่งจริยธรรมออกเป็น 3 หมวด
หมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์
หมวด 2 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก
หมวด 3 จริยธรรมทั่วไป
การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ส่วนการฝ่าฝืนในหมวด 2 และหมวด 3 จะถือว่าร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืน เจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้น
หมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์
- ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
- ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพ แห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน
- ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
- ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเอง หรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตําแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
- ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการ ที่อาจทําให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่
- ต้องไม่รับของขวัญของกํานัล ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการรับจากการให้โดยธรรมจรรยา และการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้รับได้
หมวด 2 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก
- ไม่กระทําการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
- ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน
- ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ โดยไม่กังวลไหวต่ออิทธิพล กระแสสังคม หรือแรงกดดันอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยคํานึงถึงสิทธิและ เสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมแห่งสถานภาพ
- รักษาไว้ซึ่งความลับในการประชุม การพิจารณาวินิจฉัย รวมทั้งเคารพต่อมติของที่ประชุมฝ่ายข้างมาก และเหตุผลของทุกฝ่ายอย่างเคร่งครัด
- ให้ข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริงแก่ประชาชนหรือสื่อมวลชนอันอยู่ในความรับผิดชอบ ของตน ถูกต้องครบถ้วนและไม่บิดเบือน
- ไม่ให้คําปรึกษาแก่บุคคลภายนอก หรือแสดงความคิดเห็น หรือข้อมูลต่อสื่อสาธารณะ หรือสาธารณชนในเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสียความเป็นธรรม แก่การปฏิบติหน้าที่ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายขององค์กร
- ไม่กระทําการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดํารงตําแหน่ง
- ไม่ปล่อยปละละเลยหรือยินยอมให้บุคคลในครอบครัวหรือบุคคลที่อยู่ในกํากับดูแลหรือ ความรับผิดชอบของตน เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากคู่กรณี หรือจากบุคคลอื่นใด ในประการที่อาจทําให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตน
- ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน ในการปฏิบัติหน้าที่
- ไม่กระทําการอันมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ จนเป็นเหตุทําให้ผู้ถูกกระทําได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรือกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยผู้ถูกกระทําอยู่ในภาวะจําต้องยอมรับในการกระทํานั้น ไม่นําความสัมพันธ์ทางเพศที่ตนมีต่อบุคคลใดมาเป็นเหตุหรือมีอิทธิพลครอบงําให้ใช้ดุลพินิจ ในการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด
หมวด 3 จริยธรรมทั่วไป
- ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกําลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคํานึงถึง ผลประโยชน์ของชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม
- อุทิศเวลาแก่ทางราชการ ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น
- ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเต็มใจ ให้บริการด้วยความรวดเร็ว เสมอภาค ถูกต้อง โปร่งใส ปราศจากอคติ และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- ดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัด คุ้มค่า โดยระมัดระวังมิให้ เสียหายหรือสิ้นเปลืองโดยไม่จําเป็น
- รักษาความลับของทางราชการตามกฎหมาย และระเบียบแบบแผนของราชการ
- ปฏิบัติ กํากับดูแลหรือบังคับบัญชาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดําเนินการอื่น ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และระบบคุณธรรม รวมทั้งส่งเสริมและ สนับสนุนให้เกิดความสามัคคีในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )