ตั้งแต่ปี 2567 การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในหลายพื้นที่กลายเป็นข่าวระดับประเทศ พรรคการเมืองประกาศเปิดตัวว่าส่งใครลงสมัครในจังหวัดใดบ้าง และแกนนำคนสำคัญของพรรคต่างขนทัพกันลงไปช่วยหาเสียง สังคมจึงจับตาการวัดพลังของพรรคต่างๆ เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มผลการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2570
ใน 29 จังหวัดที่เลือกตั้งไปแล้ว มีผู้คว้าชัยทั้งหมดมาจากกลุ่มตระกูลการเมืองเดิม แบ่งได้เป็น
- 11 จากเพื่อไทย-เครือข่ายบ้านใหญ่
- 11 จากเครือข่ายบ้านใหญ่สายภูมิใจไทย
- 3 จากรวมไทยสร้างชาติ-เครือข่ายบ้านใหญ่
- 3 จากพลังประชารัฐ-เครือข่ายบ้านใหญ่
- 1 จากกล้าธรรม (กลุ่มธรรมนัส)
ส่วนพรรคประชาชน (เดิมก้าวไกล) ที่ผ่านมายังไม่ชนะเลยสักสนามด้วยหลายปัจจัย
วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศเป็นวันเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศไทย โดยการเลือกครั้งนี้จะเป็นการเลือก นายก อบจ.จำนวน 47 จังหวัดที่เหลือ และการเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ที่จะเลือกพร้อมกันทั่วประเทศ
ในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นเดือนหน้า พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครลง “ในนามพรรค” 15 จังหวัด และ “ในนามสมาชิกพรรค” 1 จังหวัด คือ เชียงใหม่
ทางด้านพรรคประชาชนส่งผู้สมัครในนามพรรคทั้งหมด 17 จังหวัด (เดิมเคยแถลงข่าวว่า 18 จังหวัด แต่ถอนตัวออกไปหนึ่งคน)
นำมาซึ่งคำถามที่น่าสนใจ อาทิ
- ทำไมการเลือกตั้ง อบจ. จึงสำคัญกับพรรคการเมืองขนาดนี้
- อะไรทำให้พรรคประชาชนยังไม่ประสบความสำเร็จในสนามท้องถิ่น
- อะไรทำให้การเมืองแบบบ้านใหญ่ยังตอบโจทย์ชาวบ้านในบริบทชนบท
- พรรคประชาชนและตระกูลการเมืองเดิมปรับตัวเพื่อแข่งขันกันอย่างไรในสนามท้องถิ่น
ประชาไทพูดคุยกับ ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทำไมจึงมีเหตุการณ์ที่นายก อบจ.ใน 27 จังหวัดลาออกก่อนครบวาระ สิ่งนี้ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งอย่างไร?
ณัฐกรอธิบายว่ามี 2 เหตุผลหลัก คือ หนึ่ง–เพื่อเป็นแท็กติกเพื่อหลบเลี่ยงปัญหาเชิงกฎหมาย ทั้งเรื่องการหาเสียงและงบประมาณ สืบเนื่องมาจากกฎหมาย 180 วันก่อนครบวาระ ที่ห้ามไม่ให้ผู้บริหารท้องถิ่นใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ที่ดำรงอยู่มาเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงต่อตนเองและพวกพ้อง
สอง – เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง เช่น ไปสืบทราบมาว่าคู่แข่งยังไม่พร้อม, ประหยัดค่าใช้จ่าย ในกรณีที่ลงชิงนายก อบจ.คนเดียวโดดๆ ไม่มีทีม ส.อบจ.ด้วย, พรรคการเมืองสามารถลงมาช่วยผู้สมัครหาเสียงได้
ทำไมการเลือกตั้ง อบจ. จึงสำคัญกับพรรคการเมือง?
อบจ.เป็นสนามท้องถิ่นที่พรรคการเมืองมองข้ามไม่ได้ เพราะใช้ทั้งจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเพื่อรักษาคะแนนนิยม ทั้งกรณีเจ้าของที่นั่งเดิม หรือสำหรับพรรคที่ส่งผู้สมัครลงท้าชิง หรือทวงคืนพื้นที่จากการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งก่อน หรือการเลือกตั้ง สส.ครั้งล่าสุด ด้วยเหตุนี้สนาม อบจ.จึงเป็นฐานเสียงสำคัญของการเมืองระดับชาติ
ในมุมพรรคการเมือง สนาม อบจ.จะทำให้รู้เลยว่าอําเภอไหนเป็นฐานเสียงของใคร แล้วก็เหตุผลที่ทําให้การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้มันโดดเด่นขึ้นมาก็คือพรรคเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2566 เพื่อไทยก็เลยคิดว่าจะต้องรื้อฟื้นฐานความนิยมใหม่ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ อบจ. นี่แหละ เพราะว่ามันเป็นสนามที่ประเมินได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
29 สนามที่เลือกตั้งนายก อบจ.ไปแล้ว ผู้ชนะมาจากบ้านใหญ่ ซึ่งคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งมักจะมองการเมืองแบบบ้านใหญ่เป็นเรื่องขาว-ดำ มันเป็นแบบนั้นจริงไหม และอะไรทำให้การเมืองแบบบ้านใหญ่ยังคงตอบโจทย์ชาวบ้าน?
เอาเข้าจริงซับซ้อน เริ่มจากเราต้องนิยมคำว่าบ้านใหญ่ให้ได้ก่อน สำหรับผมคือ ตระกูลการเมืองที่ผูกขาดอำนาจในพื้นที่อย่างยาวนาน ซึ่งเป็นลักษณะปกติของการเมืองท้องถิ่น ภาษาอังกฤษมีคำว่า Colossal Family เอาง่ายๆ ใครมีญาติเยอะย่อมได้เปรียบ ในการเลือกตั้งท้องถิ่นขนาดเล็กจะเห็นภาพนี้ชัดขึ้น พอเป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่มันจึงเป็นเรื่องของเครือข่ายความสัมพันธ์ ซึ่งปัญหารัฐรวมศูนย์คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเมืองบ้านใหญ่ ซึ่งพวกนี้พยายามเข้าไปกุมอำนาจรัฐ เพื่อดึงเอางบประมาณมาลงที่ของตัวเอง
นักการเมืองบ้านใหญ่สร้างมรรคผลทำนองนี้ บ่อยครั้งจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรส่วนตัว ก็เลยเป็นที่รู้จักมักคุ้นจนได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่นั้นๆ อย่างยาวนาน มีนักวิชาการญี่ปุ่นเรียกว่า “จังหวัดนิยม” ถ้านึกไม่ออกให้ลองนึกถึงสุพรรณบุรี บุรีรัมย์ หรือพะเยา หน้าคุณบรรหาร ศิลปอาชา คุณเนวิน ชิดชอบ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า สามคนนี้ก็จะลอยมาทันที ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามถึงเรื่องการใช้อิทธิพลและความโปร่งใส
แต่ว่าการเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ในวิถีชนบทมันพึ่งพาไม่ใช่แค่เรื่องตัวเงิน มันเป็นเรื่องของการพึ่งพา-ความใกล้ชิดระหว่างตัวบุคคล งานทางวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นงานแต่ง งานศพ งานบวช ในแต่ละเดือน เหล่านี้มันก็เป็นพื้นที่ให้นักการเมืองเข้าไปทํางาน สร้างความใกล้ชิดกับชาวบ้านส่วนสาเหตุว่าทำไมจึงมีการพึ่งพาตัวบุคคลสูง ถ้าพูดแบบยืมคําอาจารย์โอฬาร (รศ. ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา) ก็คือว่า เนื่องจากว่าการกระจายความเจริญ-กระจายอำนาจมันไปไม่ถึงชาวบ้าน พอกลไกรัฐลงไปไม่ถึง มันก็เปิดช่องให้มีผู้มีบารมี หรือคนที่คอยเป็นคนรับบทผู้ประสาน จัดการให้ ติดต่อหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ ทำให้คนพวกนี้ก็กลายเป็นคนที่มีบทบาทขึ้นมา
ต้องยอมรับความจริงว่าสังคมไทยยังอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ การเมืองท้องถิ่นไม่เป็นอิสระ ต้องพึ่งพาการเมืองระดับชาติ และกลไกราชการสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการดึงเอาโครงการ/กิจกรรมมาลงในพื้นที่
ณัฐกรขยายความเรื่องนี้ด้วยตัวอย่าง 2 กรณีในจังหวัดเชียงใหม่
หนึ่ง – การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งมอบ “สวนสาธารณะรถไฟเชียงใหม่” ให้กับ อบจ.เชียงใหม่ บริหารจัดการและดูแลให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ต่อมาเมื่อเกิดน้ำท่วมและสถานการณ์คลี่คลายลง แต่ว่ามีปัญหาเรื่องการจัดการขยะจำนวนมากหลังน้ำลด อบจ.เชียงใหม่ก็ได้ใช้พื้นที่สวนสาธารณะแห่งนี้เป็นจุดพักขยะ
สอง – อบจ.เชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมวิ่งเทรลระดับเอเชีย โดย อบจ.เป็นเจ้าภาพในแง่ของสถานที่ แต่อีกส่วนคือได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานส่วนกลางด้วย
ตัวอย่างข้างต้น อธิบายว่า ลำพัง อบจ.ไม่ได้มีอำนาจมากขนาดนั้น แต่ต้องอาศัยความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลกลางด้วยจึงจะสามารถสร้างผลงานได้ ฉันใดก็ฉันนั้น การเมืองระดับชาติก็หวังใช้การเมืองท้องถิ่นเป็นฐานเสียง มีลักษณะของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน
ถ้าเราจะบอกว่าการเมืองแบบ อบจ.เป็นอิสระ สามารถจัดการปัญหาของตัวเองได้โดยไม่ต้องไปสนว่าใครจะเป็นรัฐบาล ต่อให้รัฐบาลเป็นคนละขั้วเราก็อยู่ได้ อันนี้ไม่จริง คือเราก็อยู่ได้อย่างลําบาก แต่ว่าถ้าเราได้รัฐบาลเดียวกันกับ อบจ. เราก็จะทํางานราบรื่น
หลายคนมองว่าการมีอยู่ของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์นั้นไม่เป็นคุณต่อระบบประชาธิปไตย อาจารย์มองอย่างไร
ถ้ามองระยะยาว การเลือกจากตัวบุคคลก็ไม่ส่งผลดีต่อประชาธิปไตย เพราะจะทำให้โอกาสขับเคลื่อนทางนโยบายไม่เกิด เพราะมันจะเป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่ได้กระตุ้นให้คนทำนโยบายมาแข่งกัน
แต่ในสภาพจริงที่สังคมมันยังเหลื่อมล้ำอยู่เยอะ การปฏิเสธเรื่องความใกล้ชิดตัวบุคคล-ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาไปเสียทั้งหมด อีกทางหนึ่งมันจะส่งผลให้ชนชั้นรากหญ้ามีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยกว่าชนชั้นกลางหรือเปล่า
ถ้าจะเปลี่ยนระบบอุปถัมภ์ก็ต้องไปคิดโจทย์ใหม่ว่า รัฐสามารถมีงบสนับสนุนผู้สมัครได้ไหม เพื่อไม่ให้เขาต้องโกง หรือใช้เงินเพื่อสะสมทุนทางการเมือง
อีกอย่างก็คือ การเปลี่ยนเรื่องที่นักการเมืองเคยทำให้ในเชิงอุปถัมภ์ให้กลายเป็นบริการสาธารณะของท้องถิ่น ซึ่งพอเป็นบริการสาธารณะก็หมายความว่าทุกคนเข้าถึง เช่น รถแห่งานศพ หรือ เตนท์ แต่ต่อไปใครอยากจะใช้ก็ทำเรื่องขอเข้ามาตามระบบ เพื่อลดการพึ่งพิงเชิงอุปถัมภ์
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- มองมุมใหม่ ‘ขายเสียง' ฟังความรู้สึกรากหญ้า [คลิป]
แต่ละจังหวัดมีบริบทที่ต่างกันไป มีทั้งแดงชนน้ำเงิน, แดงชนส้ม, ส้มชนน้ำเงิน อาจารย์มองเห็นอะไรที่เป็นจุดร่วมในภาพรวมบ้าง?
ส่วนใหญ่เป็นแดงชนน้ำเงิน โดยเฉพาะทางอีสาน ศรีสะเกษ มหาสารคาม หนองคาย บึงกาฬ นครพนม กรณีที่เป็นแดงชนส้มไม่ได้เยอะ แต่ด้วยสื่อมวลชนนำเสนอเน้นย้ำก็เลยทำให้คนฟังรู้สึกว่าเยอะ แดงชนส้มเท่าที่นึกออกเจอแค่ภาคเหนือ อย่างเชียงใหม่-ลำพูน ที่ปราจีนบุรีก็ไม่ชัด พรรคประชาชนเห็นช่องเพิ่งตัดสินใจส่งคนลงทีหลัง
แต่จุดร่วมหลักๆ ของการเลือกตั้ง อบจ.หลายจังหวัดทั่วประเทศคือ การสู้กันระหว่างคนเก่ากับคนใหม่ ซึ่งค่อนข้างต่างกันสุดขั้ว ตั้งแต่อายุ การศึกษา ทัศนคติ วิธีการหาเสียง (ตัวบุคคล VS นโยบาย) พรรคการเมือง (พรรครัฐบาล VS พรรคประชาชน)
จะเห็นว่ามีความแตกต่างในเรื่องสโลแกนที่ใช้หาเสียง เป็นสูตรสำเร็จในการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น คนเดิมก็จะใช้คำอย่างเช่น “ไปต่อ” “ต่อยอด” “เดินหน้า” “มีผลงาน” แต่คนใหม่ก็จะใช้คำอีกแบบ อย่างเช่น “เปลี่ยนแปลง” “เลือดใหม่” “พันธุ์ใหม่” “ดีกว่าเดิม”
กระแสของพรรคส้มส่งผลให้บ้านใหญ่ในแต่ละพื้นที่ ปรับตัวหรือเปลี่ยนไปยังไงบ้าง?
อย่างน้อยเท่าที่เห็น บ้านใหญ่มีความพยายามปรับตัวมากขึ้น วิธีการหาเสียงเปลี่ยนแน่ๆ หันมาใช้สื่อโซเชียลเพื่อนำมาซึ่งคะแนนเสียงมากขึ้น เมื่อก่อนบ้านใหญ่จะไม่ค่อยให้ความสําคัญกับสื่อโซเชียล อาจเพราะเขามองว่าโซเชียลมีเดียเป็นแค่ภาพลักษณ์ แต่ไม่ได้นำมาซึ่งคะแนนจริงๆ แต่พอเห็นพรรคก้าวไกลใช้โซเชียลมีเดียและประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 ก็อาจทำให้บ้านใหญ่เริ่มเปลี่ยนความคิด คะแนนส่วนหนึ่งอาจมาจากโซเชียลก็ได้
อีกประเด็นคือ ให้ความสำคัญกับเรื่องนโยบายเพิ่มขึ้น ซึ่งมักเป็นนโยบายเหมือนกับที่พรรคประชาชนใช้เป็นจุดขาย ไม่ว่าน้ำประปาดื่มได้ ขนส่งสาธารณะ หรืออาจไปถึงขั้นส่งต่อทายาททางการเมืองที่มีความเป็นคนรุ่นใหม่มาแทนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่
ณัฐกรยกตัวอย่าง การใช้สื่อออนไลน์ของ วิทยา คุณปลื้ม ผู้สมัคร นายก อบจ. ชลบุรี ที่ดูทันสมัยขึ้นมาก มีภาพที่น่าดึงดูด คำสั้นกระชับ และแจกแจงนโยบายด้วย
เช่นเดียวกันกับ สื่อโซเชียลของ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ผู้สมัคร นายก อบจ. เชียงใหม่ในนามสมาชิกพรรคเพื่อไทย ณัฐกรตั้งข้อสังเกตว่า ข้อความที่เลือกสื่อสารระหว่างการหาเสียงในพื้นที่จริงกับออนไลน์เป็นคนละแบบ เพราะอาจเป็นสื่อสารกับเป้าหมายที่เป็นคนละกลุ่ม
การที่พรรคส้มยังไม่ชนะสักสนามเลย สามารถวิเคราะห์ได้ไหมว่าเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง
ไม่ชนะอยู่แล้ว เพราะว่าในจังหวัดที่พรรคส้มส่งผู้สมัครลงในนามพรรคที่มีการเลือกตั้งไปก่อนหน้านี้ เป็นจังหวัดที่มีตระกูลการเมืองครองพื้นที่อย่างเหนียวแน่น เช่น ราชบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี
ผมคิดว่ามันมีหลายจังหวัดที่น่าสนใจ ได้คะแนนในเขตเมือง เช่น ชัยนาท พิษณุโลก รวมถึงอุดรธานี ซึ่งพรรคประชาชนชนะในเขตเมือง ซึ่งมันก็พอเห็นภาพ ถ้าเขาเล่นการเมืองที่เล็กกว่าจังหวัด เจาะไปที่ตัวเมือง เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เขามีโอกาส แต่ไม่รู้นะว่าต่อไปเขาจะกระโดดลงมาเล่นในสนามเทศบาลเต็มตัวขนาดไหน แต่เขาเห็นแล้วว่าหลายจังหวัดเขาชนะในเขตเมือง
ขณะเดียวก็ต้องยอมรับว่าฐานเสียงหลักของพรรคประชาชนที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่/ชนชั้นกลางยังไม่อินกับการเมืองท้องถิ่นเท่าที่ควรเป็น ด้วยหลายปัจจัย ยังไม่ไปพูดถึงกลไกการเลือกตั้งที่ไม่เอื้อเลย อย่างที่เราทราบ ทั้ง กกต.กำหนดให้จัดเลือกตั้งวันเสาร์ ทั้งไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ไม่มีการเลือกตั้งนอกเขต แบบการเลือกตั้ง สส.
วัยรุ่นจะอินการเมืองระดับชาติ เพราะเขามองว่าสิ่งอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงมันแก้ไม่ได้ด้วยท้องถิ่น และตัวเขาเองก็อพยพไปเรียน ไปทำงานที่อื่น เขาไม่ได้ต้องพึ่งพาอะไรนักการเมืองท้องถิ่น
ในขณะที่คนรุ่นพ่อ-แม่ คนสูงวัยที่อยู่ในภูมิลำเนาจะอินกับการเมืองท้องถิ่นมากกว่า อย่างปัญหาเรื่องไฟเสีย บางทีเขาไม่รู้จะบอกใครก็อาจโทรบอกสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ที่ตัวเองรู้จักให้ช่วยเข้ามาดูให้หน่อย ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ใช่งานในหน้าที่ของของเทศบาล แต่นักการเมืองท้องถิ่นก็ต้องมาเป็นคนกลาง
หลายคนบอกว่า พรรคส้มเข้าใจปัญหาท้องถิ่น แต่ไม่เข้าใจวิถีการเมืองท้องถิ่น อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร
ผมว่าเขาเข้าใจนะ เพียงแต่ว่าพรรคน่าจะลองแนวทางที่เขาเคยประสบสําเร็จในการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งถ้าพรรคหวังผลให้ชนะก็อาจจะต้องเปลี่ยนวิธีการคัดสรรตัวบุคคลที่จะมาลงชิงนายก อบจ. แต่ว่ามันก็ยากอยู่ที่จะไปหาคนที่มันมีคุณลักษณะความเป็นนักการเมืองแบบเดิม ซึ่งคนแบบนี้อาจจะดี แต่พรรคก็อาจจะคิดว่าเรื่องแนวคิดเชิงอุดมการณ์ยังไม่ผ่าน
การเมืองระดับชาติเป็นเรื่องของความศรัทธาต่ออุดมการณ์ แนวทางนโยบาย ส่วนการเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นในตัวบุคคล ความใกล้ชิดผูกพันกับพื้นที่
เราต้องยอมรับว่าในสังคมชนบท มันมีการพึ่งพาอาศัยกันของเครือข่าย ความใกล้ชิด ความผูกพัน ซึ่งนักการเมืองแบบเดิมเขาให้ความสําคัญกับการทํางานแบบนี้ เช่น การลงพื้นที่ไปช่วยงานบุญ งานศพ อนุเคราะห์ชาวบ้านในเรื่องต่างๆ ดังนั้นด้วยเครือข่ายแบบนี้ ซึ่งก้าวไกลไม่มี ก้าวไกลเขาไม่ใช้แนวทางนี้ ดังนั้นเขาก็ไม่สามารถจะมั่นใจความนิยมของตัวเองในชนบทได้
ขณะที่กลุ่มคนในเมืองที่ตัดสินใจเลือกจากความเชื่อมั่นในพรรค ไม่สนตัวบุคคลเลยว่าจะเป็นใคร ความแตกต่างกันในเรื่องวิธีคิด-การตัดสินใจระหว่างสองกลุ่ม ผมเรียกว่า “พฤติกรรมการเลือกตั้งแบบคู่ขนาน” ซึ่งหมายถึง ระดับท้องถิ่นคนจะเลือกตัวบุคคล ระดับชาติคนจะเลือกพรรค
ซึ่งสมมติฐานนี้ยังรอการพิสูจน์ ถ้าเป็นแบบที่ผมว่า ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.รอบนี้ของหลายจังหวัดจะเปลี่ยน พูดง่ายๆ คือ คนที่เคยกาให้ก้าวไกลในการเลือกตั้ง สส. จะเปลี่ยนใจไปกาให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่น
แต่เราจะเห็นว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่นรอบนี้ พรรคประชาชนก็ปรับตัว ให้ความสำคัญกับการเลือกเฟ้นคนมากขึ้น ส่งสมัครน้อยลง แต่โดดเด่นขึ้น ในหลายจังหวัดไม่ใช่แค่คัดกรองอุดมการณ์ผ่าน แต่ยังต้องมีประสบการณ์ทางการเมือง หรือพอมีพื้นฐานตระกูลการเมืองเป็นต้นทุนอยู่บ้าง ไม่ใช่ไร้เดียงสาทางการเมืองมาเลย อย่างเช่นในกรณีจังหวัดนครนายก ที่แชมป์เก่าอย่าง จักรพันธ์ จินตนาพากานนท์ ลงสมัครในนามพรรคประชาชน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )