ผู้ป่วยพีทีเอสดีค้นหาเคล็ดลับความสุขมา 30 ปี สุดท้ายชีวิตดีขึ้นเพราะ “ทำงานเพื่อความสงบใจ”

Article records

  • Creator, เฟอร์กัล คีน
  • Characteristic, ผู้สื่อข่าวพิเศษ บีบีซี อินเด็ปท์

เมื่อเกือบสองปีก่อน เกิดเหตุการณ์ที่ความเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจของผม ส่งผลสะเทือนต่อตัวผมเองอย่างรุนแรงในชั่วขณะเดียว ตอนนั้นผมกำลังเดินเล่นกับคนที่ผมรัก ตรงบริเวณฝั่งตะวันออกของหาดเคอร์ราห์ (Curragh seaside) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านอาร์ดมอร์ เคาน์ตี วอเทอร์ฟอร์ด (Ardmore, County Waterford) ในประเทศไอร์แลนด์ สถานที่แห่งนี้คือแหล่งหลบภัยที่ผมมักใช้ซ่อนตัว เพื่อให้รู้สึกอบอุ่นหัวใจมาตั้งแต่เด็ก

เราทั้งสองหยุดเดินที่ริมฝั่งแม่น้ำซึ่งไหลลงสู่ทะเลที่อ่าวอาร์ดมอร์ ผมหยุดฟังสรรพเสียงต่าง ๆ รอบตัว ทั้งเสียงกระแสน้ำไหลเร็วรี่และเสียงคลื่นทะเลซัดกระทบฝั่ง ในตอนนั้นเองพลันมีเสียงอากาศถูกผลักให้เคลื่อนไหวด้วยปีกนกหลายสิบคู่ สายตาผมมองไปเห็นฝูงห่านเบรนต์ (Brent geese) กำลังร่อนบินอยู่เหนือหน้าผา โดยพวกมันอาศัยกระแสลมทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า

ชั่วขณะนั้นผมรู้สึกได้ถึงความปลอดโปร่งโล่งเบาภายใน รวมทั้งความรู้สึกอยากขอบคุณอย่างเปี่ยมล้น จนอดที่จะหัวเราะออกมาดัง ๆ ไม่ได้ “ที่แท้มันเป็นความรู้สึกแบบนี้” ผมคิดในใจพลางนึกถึงนวนิยายดังของมิลาน คุนเดอรา (Milan Kundera) เพราะสิ่งอัศจรรย์ที่ผมรู้สึกได้ตอนนั้น ช่างคล้ายกับสิ่งที่เขาเคยกล่าวถึงเอาไว้ มันคือ “ความเบาหวิวของการดำรงอยู่” นั่นเอง

ที่มาของภาพ, Fergal Keane

คำบรรยายภาพ, เฟอร์กัล คีน ผู้เขียนบทความนี้กล่าวว่า “ก่อนวันที่ผมได้เห็นฝูงห่านบินอย่างสง่างาม ผมเพิ่งหลุดพ้นจากภาวะจิตใจพังทลายได้ไม่นานนัก”

ในช่วงสัปดาห์ที่กำลังเขียนบทความนี้ ความรู้สึกโล่งเบาและเป็นสุขในใจดังกล่าวได้หวนกลับมาหาผมอีกครั้ง ทั้งที่ตอนนั้นเป็นวันจันทร์ในเดือนมกราคม ซึ่งผู้คนมักจะบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่คนเรารู้สึกหม่นหมองและเศร้าซึมได้มากที่สุดในแต่ละปี หรือที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์บลูมันเดย์” (Blue Monday phenomenon)

อย่างไรก็ตาม คนอย่างผมและทุกคนที่เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า รวมทั้งคนที่เคยเผชิญกับโรค “พีทีเอสดี” (PTSD) หรือภาวะความผิดปกติเพราะความเครียดหลังประสบเหตุสะเทือนใจมาแล้ว ต่างรู้ดีว่าความรู้สึกทุกข์ตรมหมองเศร้านั้นเกิดขึ้นได้โดยไม่เลือกวันเวลา แม้แต่ในวันที่สดใสที่สุดหรือในสถานที่งดงามที่สุด คุณก็ยังคงรู้สึกเหมือนหัวใจจะถูกฝังอยู่ในดินเยือกแข็งไปตลอดกาลได้

Skip เรื่องแนะนำ and proceed finding outเรื่องแนะนำ

Stay of เรื่องแนะนำ

หากวันแสนเศร้าอย่างบลูมันเดย์ ยังสามารถทำให้ผู้ป่วยจิตเวชอย่างผมระลึกถึงความสุขขึ้นมาได้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายในใจของผมตอนนั้นคืออะไรกันแน่ และมันมีความหมายต่อชีวิตของผมอย่างไร

วันสีเทาและคืนอันมืดมิด

ก่อนวันที่ผมจะได้เห็นฝูงห่านบินอย่างสง่างาม ผมเพิ่งหลุดพ้นจากภาวะจิตใจพังทลาย (emotional breakdown) ได้ไม่นานนัก โดยครั้งหลังสุดที่ผมเกิดการล่มสลายทางอารมณ์ดังกล่าว คือช่วงเดือนมี.ค. ของปี 2023 ในตอนนั้นผมรู้สึกสะบักสะบอมเหมือนผ่านการชกกับนักมวยตัวใหญ่รุ่นเฮฟวีเวตมาถึง 12 ยก แต่คนที่ผมต่อสู้ด้วยจริง ๆ ในตอนนั้น ก็คือตัวผมเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมทำมาโดยตลอดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

ในอดีตนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ผมเวียนเข้าเวียนออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง เพื่อต่อสู้ในสงครามที่ดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุดกับความกลัว, ความละอาย, ความโกรธ, และความพยายามปฏิเสธไม่ยอมรับสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับความสุข ทำให้วันคืนของผมเป็นสีเทาหม่นหมองและน่าหวาดกลัว ต้นไม้ทุกต้นดูเหมือนจะปราศจากใบเขียวขจี แม้จะเป็นช่วงกลางฤดูร้อนก็ตาม ในแต่ละคืนผมตื่นขึ้นมาด้วยเหงื่อชุ่มโชกตัว ตื่นแล้วก็เฝ้าหมกมุ่นครุ่นคิดถึงบางสิ่ง จนเหมือนกับว่าฝันร้ายยามค่ำคืน ได้ติดตามมาหลอกหลอนในเวลาตื่นตอนรุ่งเช้าด้วย

ที่มาของภาพ, Fergal Keane

คำบรรยายภาพ, ทุกวันนี้เฟอร์กัลเขียนหนังสือและผลิตสารคดีเกี่ยวกับสุขภาพจิต

แม้ผมจะฟื้นตัวจากโรคพิษสุราเรื้อรัง (alcoholism) ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และได้ศึกษางานวิจัยมากมายเกี่ยวกับสุขภาพจิต ตลอดช่วงค่ำคืนอันมืดมิดทางจิตวิญญาณที่นอนไม่หลับอย่างยาวนานนั้น แต่เมื่อประสบกับภาวะจิตใจพังทลายอีกครั้งในปี 2023 สถานการณ์กลับเลวร้ายเกินแก้ จนผมไม่อาจจะหวังให้ตนเองมีความสุขในชีวิตได้อีกแล้ว ในตอนนั้นผมยอมทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ตนเองได้สงบจิตใจลงบ้าง ดังนั้นผมจึงลาออกจากงานในตำแหน่งบรรณาธิการของบีบีซีแผนกทวีปแอฟริกาในปี 2019 เนื่องจากโรคพีทีเอสดียังคงรบกวนไม่หยุดหย่อน

สองปีต่อมาผมเขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งเกี่ยวกับโรคพีทีเอสดี ทั้งยังได้ผลิตสารคดีทางโทรทัศน์ให้บีบีซีในหัวข้อเดียวกันด้วย แต่ถึงกระนั้น หลังจากที่ได้ทุ่มเททำไปแล้วทุกอย่าง ผมก็ยังต้องเจอกับภาวะจิตใจพังทลายที่หวนกลับมาอีกครั้งอยู่ดี

วิทยาศาสตร์ของความสุข

ศาสตราจารย์บรูซ ฮูด จากมหาวิทยาลัยบริสตอลของสหราชอาณาจักร บอกว่ามนุษย์มักมีแนวโน้มที่จะ “ตีโพยตีพายเพื่อขยายให้ทุกสิ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่เกินจริง เฝ้าจดจ้องแต่ความล้มเหลวและสิ่งที่ตัวเองขาดอยู่เสมอ” ศ.ฮูดเปิดหลักสูตร วิทยาศาสตร์แห่งความสุข” ซึ่งใช้เวลาเรียน 10 สัปดาห์ โดยพูดถึงความจำเป็นที่คนเราต้องค้นหาจุดสมดุลในชีวิต เนื่องจาก “จิตใจของเรามีอคติที่ทำให้ตีความทุกสิ่งในเชิงลบ”

คำแนะนำข้างต้นถือว่าสอดคล้องและตรงกับกรณีของผมอย่างมาก เพียงแต่หลักสูตรของศ.ฮูด ให้คำแนะนำในเรื่องการจัดการอารมณ์ในภาวะสุขภาพจิตตกต่ำทั่วไป เขาย้ำเตือนอย่างชัดเจนแต่แรกว่า การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์แห่งความสุขอาจจะไม่สามารถรักษาผู้ป่วยที่มีโรคทางใจ อย่างเช่นโรคพีทีเอสดีได้

ผมได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคพีทีเอสดีตั้งแต่ปี 2008 หมอบอกว่าผมเป็นโรคทางใจชนิดนี้ เพราะเคยเผชิญกับบาดแผลทางอารมณ์มาหลายครั้งในตอนที่เป็นผู้สื่อข่าวสงคราม รวมทั้งมีประวัติการเลี้ยงดูในวัยเด็กแบบที่ต้องเติบโตขึ้นมาในบ้านของผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังด้วย ทำให้ผมมีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลอย่างหนัก ซึ่งล้วนเป็นอาการทางจิตส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง

นอกจากจะใช้เหล้าดับทุกข์แล้ว ผมยังหลีกหนีโลกของความเป็นจริงด้วยวิธีหมกมุ่นทุ่มเทกับการรายงานข่าวสงคราม เพราะรู้สึกว่าได้รับพลังงานจากความตื่นเต้นเร้าใจ เกิดความผูกพันเป็นมิตรในหมู่เพื่อนพ้อง และรู้สึกว่าตัวเองมีเป้าหมายในชีวิตจากการทำงาน

ก่อนที่ผมจะเล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้มาและเริ่มแบ่งปันประสบการณ์ ผมขอย้ำอีกครั้งว่า เคล็ดลับที่ใช้ได้ผลกับผมในระหว่างที่กำลังทำภารกิจค้นหาความสุขอยู่นั้น ไม่จำเป็นจะต้องใช้ได้ผลกับคนอื่น ๆ ด้วยเสมอไป เนื่องจากมีโรคและภาวะทางสุขภาพจิตบางอย่างที่ต้องใช้วิธีรักษาอย่างเฉพาะเจาะจง ส่วนโรคพีทีเอสดีของผมนั้น การบำบัดที่ผสมผสานกันหลายแบบช่วยได้มาก ส่วนการทำความรู้จักเป็นเพื่อนกับผู้ป่วยคนอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์แบบเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นประโยชน์กับผมไม่น้อย

คำบรรยายภาพ, เฟอร์กัลในตอนที่เริ่มอาชีพผู้สื่อข่าวใหม่ ๆ

แม้ยาที่หมอจ่ายจะช่วยบรรเทาอาการทางกาย ซึ่งเกิดจากความวิตกกังวลและหวาดระแวงเกินเหตุได้ แต่แค่จานใบหนึ่งตกแตก หรือเชื้อเพลิงเกิดระเบิดจนไฟลุกที่ปลายท่อไอเสียของรถยนต์ ผมก็จะขวัญเสียจนหน้าซีดตัวสั่นและเหงื่อออกท่วมได้ในทันที นอกจากนี้ ฝันร้ายในยามค่ำคืนก็ทำให้ผมนอนดิ้นไปมาอย่างรุนแรงทั้งที่ยังหลับอยู่ได้เช่นกัน

ผมยังโชคดีที่เป็นคนมีสิทธิพิเศษกับเขาอยู่บ้าง ทำให้สามารถเข้าถึงการบำบัดรักษาที่ดีที่สุด เท่าที่การแพทย์ในปัจจุบันจะให้ได้ แต่ก็ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากในสังคมของเรา ที่ไม่อาจเข้าถึงการรักษาโรคทางใจดังกล่าวได้โดยง่าย แพทยสมาคมแห่งอังกฤษระบุว่า มีคนในประเทศกว่าหนึ่งล้านคนที่กำลังรอคอยโอกาสเข้ารับการรักษาอยู่ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตระหนักไว้เสมอว่า มีปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอีกมากมาย ที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการมีความสุขของคนเรา

ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาวิจัยถึงความเกี่ยวข้องระหว่างพันธุกรรมกับโรคซึมเศร้าและการเสพติด โดยขบวนการสุขภาวะโลก (World Wellbeing Circulate – WWM) องค์กรการกุศลที่ส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดี ในหมู่องค์กรธุรกิจและการวางแนวนโยบายสาธารณะของภาครัฐ บอกว่าผลการสำรวจที่ตนเองจัดทำขึ้น พบว่าชาวอังกฤษ 1 ใน 8 คน มีความสุขความพึงพอใจในชีวิต ในระดับที่ต่ำกว่าเส้นความยากไร้ขาดแคลนความสุข (Happiness Poverty Line) ข้อมูลนี้คำนวณได้จากรายงานประจำปีของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งมีการตั้งคำถามกับกลุ่มประชากรในการสำรวจว่า “หากสามารถให้คะแนนได้จากระดับ 0-10 โดยรวมแล้วคุณรู้สึกพอใจแค่ไหนกับชีวิตที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้”

องค์กร WWM บอกว่าสัดส่วน 1 ใน 8 ของคนอังกฤษที่ชีวิตหม่นหมองไร้สุขนั้น ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงอย่างน่าตกใจ ทั้งยังระบุว่า “มีประเด็นที่น่าห่วงกังวลมากมายเกี่ยวกับสุขภาพจิต ซึ่งยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ”

คำบรรยายภาพ, กราฟแสดง “คะแนนความสุข” ที่ชาวอังกฤษรู้สึกได้โดยเฉลี่ยในแต่ละปีจากระดับคะแนนเต็มสิบ ระหว่างช่วงเดือน มี.ค. 2012-2023 เส้นประในปี 2020 คือช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

หลังจากที่ผมได้เผยจุดอ่อนของตนเองไปแล้ว ผมหวังว่าจะมีบางสิ่งในประสบการณ์ส่วนตัว ที่สามารถเป็นเครื่องมือช่วยเหลือในกระบวนการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กับผู้อื่น หลังจากที่ผมเคยได้รับความช่วยเหลือดังกล่าวอย่างเหลือเฟือมาแล้ว โดยผมหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังต่อสู้กับความโดดเดี่ยวจากโรคซึมเศร้า ความปั่นป่วนทางอารมณ์จากโรคพีทีเอสดี หรือแม้แต่คนที่แค่รู้สึกเป็นทุกข์ในบางครั้งบางคราว เพราะความเจ็บปวดธรรมดาสามัญที่ทุกคนต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน

เคล็ดลับแห่งความสุขไม่ใช่เรื่องลับ

ในประสบการณ์ของผม เคล็ดลับแห่งความสุขก็คือ…ไม่มีเคล็ดลับอะไรเลย ความสุขตั้งอยู่ตรงหน้าและเห็นได้ชัดเจนรอบตัวเรา เฝ้ารอให้เราค้นพบมันอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ความสุขไม่ได้มีอยู่ในทุกที่ทุกเวลา ทั้งไม่ใช่สภาพธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้ในทุกวัน ไม่ต่างจากอารมณ์ลบอย่างความเศร้าและความโกรธ

วิทนีย์ กู๊ดแมน นักจิตบำบัดชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือ “คิดบวกจนเป็นพิษ: เราจะยอมรับอารมณ์ทุกแบบได้อย่างไร ในโลกที่หมกมุ่นกับความสุข” (Toxic Positivity: How to embody each and each emotion in a chuffed-obsessed world) เคยกล่าวเตือนเอาไว้ว่า “คนที่คอยแต่จดจ้องจะให้คุณมีความสุขอยู่ตลอดเวลานั้น ในมุมมองของฉันแล้ว ไม่ต่างจากพ่อค้าแม่ค้าที่อวดอ้างสรรพคุณของสมุนไพรวิเศษ มันไร้เหตุผลสิ้นดีและไม่ช่วยอะไรเลย ฉันขอคิดต่างเรื่องการเที่ยวไปตอกย้ำกับผู้คนว่าคุณต้องมีความสุขนะ หากมันได้ผลจริงตอนนี้ก็คงไม่มีใครป่วยทางใจกันแล้ว”

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, เฟอร์กัลบอกว่า “ในประสบการณ์ของผม เคล็ดลับแห่งความสุขก็คือ…ไม่มีเคล็ดลับอะไรเลย ความสุขตั้งอยู่ตรงหน้าและเห็นได้ชัดเจนรอบตัวเรา”

ที่ผ่านมาผมใช้เวลาเอนตัวกึ่งนั่งกึ่งนอนบนเก้าอี้ของนักจิตบำบัดมาหลายปี บางครั้งก็เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่างของแผนกจิตเวชในโรงพยาบาล ฝันกลางวันว่าจะมีวิธีรักษาที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งสามารถแก้ไขสมองและจิตวิญญาณของตัวเองได้ แต่อันที่จริงแล้ว ปัญหาใหญ่ในใจของผมคือความโดดเดี่ยวอ้างว้าง เนื่องจากค้นหาลึกลงไปในตนเองแล้วกลับไม่พบสิ่งที่จะรักหรือชื่นชมได้เลย ผมจึงปิดประตูและปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก

คำตอบของปัญหาที่ผมเผชิญอยู่ ไม่ได้เผยตัวโดยสว่างวาบขึ้นในหัวภายในชั่วพริบตา แต่ในที่สุดผมก็ค้นพบว่า สิ่งที่สร้างความแตกต่างให้ชีวิตผมได้มากที่สุด หลังได้รับการรักษาจนอาการคงที่แล้ว ก็คือ “การทำงาน” แต่ไม่ใช่งานแบบที่ขับเคลื่อนตัวผมให้อยู่ในภาวะเหนื่อยล้าเกือบจะตลอดเวลา งานแบบที่ว่าทำให้ผมต้องไล่ตามสกู๊ปข่าวและล่ารางวัล เพราะมันสำคัญอย่างยิ่งกับตัวตนที่ปราศจากความมั่นคงปลอดภัยของผม

ผมขอเตือนทุกคนที่แสวงหาการยอมรับด้วยวิธีมุ่งมั่นทำงานว่า แท้จริงแล้วการบ้างานนั้นเป็นสิ่งเสพติดที่โลกยอมรับมากที่สุด คนบ้างานจะได้รับการชื่นชมยกย่อง ทำให้พวกเขาไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเพราะเจ้านายและคนรอบข้างต่างปรบมือให้อยู่เสมอ งานจึงเป็นสิ่งเสพติดตัวแม่ที่สังคมอนุญาตให้เราหลงใหลกับมันไปได้เรื่อย ๆ

ทว่างานที่ช่วยเยียวยาจิตใจนั้นแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ไม่มีใครจะมาคอยชื่นชมว่าคุณกล้าหาญหรือเปี่ยมด้วยความสามารถ หากคุณทำงานเพื่อความสุขอันแท้จริง อย่างไรก็ตาม คุณจะรู้สึกถึงความชื่นชมยินดีจากการทำงานดังกล่าวได้ เมื่อเห็นปฏิกิริยาตอบสนองของคนที่คุณรัก รวมทั้งรับรู้ได้จากความรู้สึกของคุณเองหลังตื่นนอนขึ้นมาโดยไม่หวั่นกลัว คุณจะเริ่มตระหนักถึงความงามที่อยู่รอบตัว ทั้งรู้แน่แก่ใจว่าคุณจะรักษาคำมั่นสัญญา ใช้ชีวิตเยี่ยงคนทำจริงที่ไม่ดีแต่พูดในเรื่องของการดูแลคนอื่น แต่จะพยายามทำดีที่สุดเพื่อรักษาคำพูด

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, เฟอร์กัลขณะกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีรับรางวัลเมื่อปี 2016 เขาเล่าไว้ในบทความว่า “งานขับเคลื่อนตัวผมให้อยู่ในภาวะเหนื่อยล้าเกือบจะตลอดเวลา ผมไล่ตามสกู๊ปข่าวและล่ารางวัล เพราะมันสำคัญอย่างยิ่งกับตัวตนที่ปราศจากความมั่นคงปลอดภัยของผม”

คืนหนึ่งขณะผมเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการพีทีเอสดีในปี 2023 ผมได้รับชมสารคดีเรื่องหนึ่งที่ฟิล สทุตซ์ นักจิตบำบัดชาวอเมริกัน กล่าวถึงหลักพื้นฐานสามประการที่ผู้ป่วยจิตเวชต้องเปิดใจยอมรับ นั่นคือการที่ชีวิตของคนเราล้วนเต็มไปด้วยความเจ็บปวดและความเปลี่ยนแปลง การที่เราจะอยู่กับมันได้นั้น ต้องอาศัยการทำงานอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ

ตอนนั้นผมเหนื่อยล้ากับความทุกข์มามากแล้ว แต่ก็ยังเต็มใจจะทำงานทุกสิ่งเท่าที่สามารถทำได้ เพื่อแสวงหาความสงบใจให้ตนเอง ส่วนความสุขจะติดตามเรามาภายหลังจากนั้น

กลับคืนสู่ความเรียบง่าย

ในตอนแรกผมเริ่มจากการทำสิ่งที่เรียบง่ายธรรมดาก่อน ผมเขียนรายการขอบคุณสิ่งต่าง ๆ ในทุกเช้า บันทึกบัญชีของความดีที่ตนเองได้ทำไปในชีวิตเป็นประจำทุกวัน อ่านบทกวีมากขึ้นเพราะมันทำให้ผมใจเย็นลง เดินเล่นไกล ๆ กับสุนัขตัวโปรดเลียบฝั่งแม่น้ำเทมส์ หรือไปที่สวนหลวงริชมอนด์ชานกรุงลอนดอน ผมทำแม้กระทั่งเริ่มฝึกนั่งสมาธิ ซึ่งนับเป็นเรื่องเหลือเชื่อสำหรับคนที่ไม่เคยอยู่นิ่งได้ถึงห้านาที ผมไปดูหนังบ่อยขึ้น ทำงานบ้านง่าย ๆ มากขึ้น แม้ไม่ใช่การเป็นพ่อครัวรับเชิญเหมือนในอดีต แต่ผมทำความสะอาด ซักผ้า ทำกับข้าว จัดการจ่ายบิลต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ และน่าอัศจรรย์อย่างยิ่งว่าผมทำได้สำเร็จ

ผมให้เวลามากขึ้นกับมิตรภาพและความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาคนที่สำคัญที่สุดในชีวิต ผมรับฟังมากขึ้นจากที่เคยเอาแต่เทศนาคนอื่น ผมพยายามอย่างมากที่จะปิดปากเงียบ ในเวลาที่มีคนต้องการแสดงความไม่พอใจออกมา แทนที่จะโต้เถียงอย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนเด็ก ๆ

ผมเสนอให้ความช่วยเหลือกับคนที่กำลังประสบความทุกข์ยาก คนที่ฟื้นตัวจากสิ่งเสพติดแล้วเท่านั้น จึงจะรู้ดีถึงประโยชน์ใหญ่หลวงของการสร่างเมา ดังเช่นที่มีคำกล่าวว่า “ก่อนจะได้มาคุณต้องยอมเสียไป” ความสุขก็เช่นเดียวกัน

ที่มาของภาพ, Getty Photos

คำบรรยายภาพ, กรุงเฮลซิงกิของฟินแลนด์ ประเทศที่มีดัชนีความสุขในอันดับสูงสุดของโลก

แฟรงก์ มาร์เทลา นักปรัชญาชาวฟินแลนด์จากมหาวิทยาลัยอาลโต แนะนำให้ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเมตตากรุณา เพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต เขากล่าวว่า “จงเชื่อมสัมพันธ์กับผู้อื่นและเชื่อมต่อกับตนเอง” ไม่น่าแปลกใจที่ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ครองอันดับหนึ่งในดัชนีความสุขโลก

“จงเชื่อมสัมพันธ์กับผู้อื่น ผ่านการสานสายใยทางสังคม จงทำสิ่งดีงามเพื่อคนอื่น บำเพ็ญประโยชน์ผ่านการทำงานของคุณ หรือช่วยเหลือผู้อื่นในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยใจเมตตากรุณา” มาร์เทลากล่าว

“คุณแกร่งกว่าที่ตัวเองคิด”

กอร์ดอน ดันแคน เพื่อนเก่าของผมที่เป็นนักให้คำปรึกษาในการบำบัดผู้เสพติด เป็นคนแรกที่เตือนว่าผมมีความโกรธมากมายอัดอั้นสะสมอยู่ในตัว ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าและทำให้ผมติดสุรา เราทะเลาะกันอย่างรุนแรงในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ที่พบกัน แต่หลังจากนั้นเราได้กลายเป็นเพื่อนสนิทไปในที่สุด

วันหนึ่งตอนที่ดันแคนนอนรอความตายอยู่ในโรงพยาบาล ผมไปเยี่ยมและได้เห็นว่าเขาตกอยู่ในสภาพโคมาไปแล้ว แม้เราทั้งสองคนจะไม่มีใครเคร่งศาสนาเลยก็ตาม แต่ผมตัดสินใจกระซิบบทสวดภาวนาที่เราต่างชื่นชอบข้างหูของเขา

พระเจ้าโปรดประทานความสงบเยือกเย็น เพื่อให้ฉันยอมรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

โปรดประทานความกล้าเพื่อเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ฉันทำได้

และโปรดประทานปัญญา เพื่อให้หยั่งรู้ถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้น

ผมไม่รู้ว่าเขาได้ยินหรือไม่ หรือบางทีอาจจะไม่ได้ยินเลยก็ได้ แต่ผมจดจำสิ่งที่เขาเคยพูดกับผมในตอนที่อารมณ์ดิ่งเหวได้ว่า “คุณแกร่งกว่าที่ตัวเองคิดไว้นะลูกชาย คุณเข้มแข็งกว่าที่คิด”

ผมขอส่งต่อประสบการณ์ทั้งหมดนี้แก่คนที่กำลังทุกข์ทนภายในจิตใจ สำหรับตัวผมแล้ว ผมรู้ว่าทุกสิ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีหลักประกันของความสุขหรือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น แต่ผมยอมรับมันได้

เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ นักเขียนชาวอเมริกันที่รอดชีวิตจากโรคพิษสุราเรื้อรัง จนสามารถมาเขียนบทกวีอันงดงามเกี่ยวกับความเศร้าและความสุข ได้ทิ้งบทกวีหนึ่งไว้ก่อนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวัย 50 ปี ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเสมือนคำไว้อาลัย ที่กล่าวสรุปถึงการเดินทางแสวงหาความสุขได้ดีทีเดียว

แต่ถึงกระนั้น คุณได้สิ่งที่ต้องการจากชีวิตนี้หรือไม่ ?

ผมได้มาแล้ว

แล้วคุณต้องการอะไร ?

เรียกตัวเองได้ว่าเป็นที่รัก รู้สึกถึงการที่ตนเองได้รับความรักบนโลกใบนี้

ผมจะตื่นขึ้นในวันพรุ่งนี้และรู้สึกยินดีที่ได้ดึงเปิดผ้าม่าน ดื่มกาแฟ คิดถึงคนที่ผมรักทั้งที่อยู่ใกล้และห่างไกล จากนั้นผมจะกลับไป “ทำงาน” งานอันแท้จริงที่มีความหมายลึกซึ้งและดำเนินอยู่เรื่อยไปในทุกวัน