แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/qjwv | ดู : 10 ครั้ง
วันที่-27-พค.-2568-ตามที่เพจเฟซบุ๊กของสหภาพคนทำงาน-ซึ่งเป็น

วันที่ 27 พ.ค. 2568 ตามที่เพจเฟซบุ๊กของสหภาพคนทำงาน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภาคประชาชนที่ร่วมผลักดันในประเด็นด้านสิทธิแรงงาน จะนัดรวมตัวเพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้าน พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. … (พ.ร.บ.แรงงานอิสระ) ณ ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ในฐานะเจ้ากระทรวงแรงงาน

เหตุผลที่ต้องคัดค้าน เพราะภาคประชาสังคม และนักสิทธิแรงงานบางส่วน กังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.แรงงานอิสระ ที่ผลักดันร่างโดยกระทรวงแรงงาน มีการนิยามให้ ‘แรงงานแพลตฟอร์ม' ไปเป็น ‘แรงงานกึ่งอิสระ' ซึ่งอาจทำให้แรงงานแพลตฟอร์มเข้าไม่ถึงการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับปี 2541 และ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้อาจแบ่งแยกและลดอำนาจการต่อรองของขบวนการแรงงาน

เพื่อให้เข้าใจข้อกังวลของกฎหมายดังกล่าว ประชาไทชวนอ่านข้อสังเกตด้านวิชาการ และสิทธิแรงงานของ กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้กล่าวในงาน “เจรจาทางสังคม : ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. …” ที่รัฐสภา จัดโดย คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร สหภาพคนทำงาน และสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) เมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะนำมาสู่คำถามประเด็นที่ว่าควรทบทวนร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่

แม้ว่า พ.ร.บ.นี้จะมีข้อดีเรื่องการประกันค่าตอบแทนของแรงงานแพลตฟอร์ม แต่อาจารย์กฤษฎา ได้ให้ข้อกังวลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.แรงงานอิสระ ไว้หลายประเด็น ทั้งการนิยามว่าแรงงานแพลตฟอร์มเป็นแรงงานกึ่งอิสระ สิทธิการรวมตัว คณะกรรมการที่สามารถตัดสินใจนโยบายเกี่ยวกับแรงงานอิสระที่ให้อำนาจฝ่ายข้าราชการที่มากเกินไป จนอาจละเลยเสียงของนายจ้างและคนทำงาน

ขณะที่ สมชาย หอมลออ นักกฎหมาย และผู้ขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน มองว่า กระทรวงแรงงานควรแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานเดิม ให้ครอบคลุมแรงงานแพลตฟอร์ม มากกว่าจัดกฎหมายใหม่ขึ้นมาอีกฉบับ

ทั้งนี้ จากการอัปเดตของกระทรวงแรงงานครั้งล่าสุด ระบุว่า ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. … ยังรอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม คณะรัฐมนตรี ถ้าสมมติผ่าน ครม.ไปแล้ว ร่างกฎหมายจะต้องผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ก่อนที่จะบังคับใช้ต่อไป

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์

นิยามให้คนงานแพลตฟอร์มเป็น ‘กึ่งอิสระ' เสี่ยงทำการคุ้มครองหลุดลอย

กฤษฎา อธิบายก่อนว่า เวลาเราแบ่งแยกแรงงานอิสระ หรือไม่อิสระ อย่างไร ตามหลักเกณฑ์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO แบ่งเป็น แรงงานอิสระ (Fair Workers) หรือแรงงานพึ่งพิง (Dependent Workers)

‘แรงงานอิสระ’ ยกตัวอย่างเช่น พ่อค้าขายหมูปิ้ง ที่ไม่ได้มีคนมาสั่งให้ทำงาน แต่แรงงานแพลตฟอร์ม อาจดูเหมือนแรงงานอิสระ แต่มันไม่ได้อิสระจริง อย่างไรเดอร์ยังต้องทำงานแบบนิติสัมพันธ์ที่ยังต้องรับงานตามเงื่อนไข หรือรับงานจากคนอื่นๆ ซึ่งทำให้ไรเดอร์เข้าหลักเกณฑ์เป็น ‘แรงงานไม่อิสระ หรือต้องพึ่งพิง’ (Dependent Workers) มีการจำแนกอย่างหลากหลายบางคนอาจทำงานพาร์ตไทม์ หรือเต็มเวลา แต่ร่างกฎหมายแรงงานอิสระที่กำลังพูดถึงกันไปนิยาม ‘แรงงานแพลตฟอร์ม' ให้กลายเป็น ‘แรงงานกึ่งอิสระ' ซึ่งแบบนี้เป็นการ “ติดกระดุมเม็ดแรกที่ผิด” และเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด เพราะอาจหมายความว่าแรงงานแพลตฟอร์มจะไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเลย

นิยามของ ‘แรงงานกึ่งอิสระ' ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. … มาตรา 10 กำหนดว่า ผู้ซึ่งมิใช่ลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และเป็นผู้ประกอบอาชีพที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) รับจ้างหรือให้บริการขนส่งคนโดยสาร สิ่งของ หรืออาหาร ทําความสะอาดหรือบริการอื่นๆ ซึ่งยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการตามที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล กําหนดไว้โดยได้รับค่าตอบแทนผ่านผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

(2) รับจ้างหรือให้บริการตาม (1) ซึ่งยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการตามที่ผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลกําหนดไว้ โดยได้รับค่าตอบแทนผ่านผู้ประกอบธุรกิจนั้น

แบ่งแยก แล้วควบคุม (?)

ต่อมา อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ ตั้งข้อสังเกตต่อสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองภายใต้ร่างกฎหมายแรงงานอิสระ เขามองว่าจริงๆ แล้วไรเดอร์ วินมอเตอร์ไซค์ หรือคนขับแท็กซี่ ตามนิยามของ ILO ควรจะเป็นพนักงานขนส่งมีอาชีพเดียวกัน และควรมีสิทธิการรวมตัวกันได้ในกลุ่มเดียวกัน แต่กระทรวงแรงงานไปให้คนที่ทำงานอาชีพเหล่านี้แยกกัน โดยวินมอเตอร์ไซค์ หรือแท็กซี่ ไปรวมกันในฐานะแรงงานอิสระ (เช่น แม่บ้าน คนรับงานไปทำที่บ้าน พ่อค้าแม่ค้าอาหารริมทาง ฟรีแลนซ์ วินมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ) และไรเดอร์ไปรวมตัวกันในฐานะแรงงานกึ่งอิสระ (แรงงานแพลตฟอร์ม รวมถึงไรเดอร์)

นอกจากนี้ ตัวกฎหมายแรงงานอิสระกำหนดด้วยว่า ‘แรงงานอิสระ' ที่ต้องการตั้ง ‘องค์กรผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ' จะต้องมีสมาชิก 5 คนขึ้นไป และหากต้องการจัดตั้ง ‘สภาองค์กรผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ' จะต้องรวมองค์กรอย่างน้อย 15 องค์กรขึ้นไป

ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระถ้าต้องการจัดตั้ง ‘องค์กรผู้ประกอบวิชาชีพกึ่งอิสระ’ ต้องมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 15 คน และหากต้องการจัดตั้งเป็น ‘สภาองค์กรผู้ประกอบวิชาชีพกึ่งอิสระ’ ต้องรวมตัวกันอย่างน้อย 15 องค์กรขึ้นไป

อาจารย์ มธ. มองว่าการกำหนดเงื่อนไขแบบนี้จะทำให้ขบวนการแรงงานเกิดความแตกแยก และต้องแข่งขันกันชิงดีชิงเด่นเพื่อมีอำนาจการตัดสินใจในองค์กรแรงงาน

ที่กล่าวเช่นนี้ เนื่องจากแต่ละอาชีพมีศักยภาพการรวมตัวไม่เท่ากัน ยกตัวอย่าง แม่ค้าขายหมูปิ้งริมทางเท้าอาจจะไม่ได้รวมตัวกับพ่อและแม่ค้าอาหารริมทางคนอื่นๆ ง่ายนัก แต่กลับกัน ยกตัวอย่างกรณีของวินมอเตอร์ไซค์ที่เป็นแรงงานอิสระ พวกเขามีโครงสร้างองค์กรที่เอื้อต่อการรวมตัวมากกว่า หากคนคุมวินฯ สั่งให้สมาชิกรวมตัวเป็นองค์กรแรงงานอิสระ ก็จะสามารถทำได้ง่าย และมีจำนวนมาก ทั้งนี้ ข้อมูลเมื่อปี 2563 ระบุว่า มีคนขับวินฯ อยู่ประมาณ 84,889 คน คิดดูว่าจะตั้งองค์กรของวินมอเตอร์ไซค์ได้กี่ร้อยองค์กร ดังนั้น กลุ่มจะเยอะมาก หรือเราจะมีสภาองค์การแรงงานฯ อีกเป็นร้อย ซึ่งจะทำให้เกิดความวุ่นวาย และในเวลาเดียวกันอาชีพที่ยิ่งมีองค์กรหรือจำนวนสมาชิกเยอะ โอกาสที่พวกเขาจะได้มีสิทธิมีเสียงในสภาองค์กรฯ อาจจะมีเยอะกว่าแรงงานอาชีพอิสระ/กึ่งอิสระอื่นๆ ที่มีจำนวนสมาชิกน้อยกว่า เลยเป็นข้อสังเกตว่ากฎหมายตัวนี้ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการรวมตัวของแรงงานอย่างแท้จริง แต่ว่ากำลังทำให้ขบวนการแรงงานเกิดความแตกแยก

คณะกรรมการแรงงานอิสระให้อำนาจข้าราชการล้นเกิน

กฤษฎา กล่าวว่า นอกจากการตั้งองค์กรแรงงานอิสระ/กึ่งอิสระแล้ว กฎหมายได้กำหนดให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระขึ้นมา 1 ชุด เพื่อทำหน้าที่ในการออกนโยบายที่เกี่ยวกับแรงงานอิสระ/กึ่งอิสระ

อย่างไรก็ดี กฤษฎา แสดงความกังวลว่าคณะกรรมการชุดนี้อาจมีปัญหา เนื่องจากให้อำนาจฝ่ายรัฐมากจนเกินไป โดยสะท้อนผ่านสัดส่วนสมาชิกไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ) ที่ไม่เท่าเทียมกัน

สมาชิกของคณะกรรมการแรงงานอิสระมีประมาณ 28 คน โดยทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเอาแค่ประเด็นแรก ก็มีคำถามว่ากระบวนการหรือหลักเกณฑ์การแต่งตั้งจะเป็นอย่างไร และอาจเป็นช่องโหว่ของกระบวนการลักษณะนี้ ทำให้ใครก็ตามที่ใกล้ชิดกับ รมว.แรงงาน ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมการ

อาจารย์ มธ. ระบุต่อว่า สัดส่วนของคณะกรรมการฯ ยังสะท้อนดุลย์อำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในระบบไตรภาคี โดยสมาชิกทั้งหมด 28 คน แบ่งเป็นภาครัฐ 10-16 คน นายจ้างธุรกิจแพลตฟอร์ม 4 คน และแรงงาน 8 คน สัดส่วนเช่นนี้ทำให้ฝ่ายรัฐมีสัดส่วนคณะกรรมการเกินกึ่งหนึ่ง สมมติกรณีที่นายจ้างและแรงงานต้องการบอยคอตไม่เข้าประชุม แต่ฝ่ายข้าราชการมี 16 คนครบก็ยังสามารถเปิดการประชุมได้ ซึ่งมองว่าเรื่องนี้อันตรายเพราะรัฐจะประกาศใช้นโยบายอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องสนใจความต้องการของฝั่งแรงงาน และนายจ้าง

สัดส่วนไตรภาคีในคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ

นายจ้างไม่ต้องร่วมจ่ายกองทุน

กฤษฎา กล่าวต่อว่า อีกข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างกฎหมาย คือการตั้งกองทุนส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ ซึ่งจะทำให้แรงงานสามารถกู้เงินประกอบอาชีพและใช้ในการดำรงชีวิต และมีประกันภัย ประกันสุขภาพ และประกันคุ้มครองสิทธิประโยชน์อื่นๆ ให้ เบื้องต้น ยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนในการเข้าถึงกองทุนฯ ว่าใครจะเข้าถึงได้ อย่างไร และอาจจะมีการเอาประกันของบริษัทเอกชนเข้ามา ซึ่งทับซ้อนและแข่งกับประกันสังคม

โดยอาจารย์กฤษฎา เสนอว่าควรจะขยายสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานแพลตฟอร์มมากกว่า อย่างไรก็ตาม การใช้ประกันที่มาจากเอกชนยังเป็นแค่ข้อสังเกตเท่านั้น

สำหรับแหล่งที่มาของเงินในกองทุนฯ กรณีเป็นแรงงานอิสระสามารถจ่ายเงินสมาชิกรายปีตามหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่เกิน 720 บาทต่อปี (ภาคสมัครใจ)

ขณะที่แรงงานกึ่งอิสระจะเป็นภาคบังคับ โดยต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนฯ ร้อยละ 3 ของค่าตอบแทนที่ได้รับแต่ละครั้ง หรือถ้าแรงงานแพลตฟอร์มที่ทำงานหลายๆ แอปฯ เขาจะให้คนที่จ้างงานแรงงานแพลตฟอร์มหักเงินหมดเลย การมีกองทุนฯ หลายคนบอกว่าดี แต่ติดตรงที่ว่าหน้าที่ความรับผิดชอบนายจ้างไม่ต้องจ่ายอะไรเลย ทั้งที่นายจ้างควรต้องรับผิดชอบ เพราะนายจ้างได้กำไรจากแรงงาน ดังนั้น ก็ควรมีส่วนต้องรับผิดชอบ

บทบาทหน้าที่ของกองทุนฯ

สิทธิในการรวมตัวต่อรองหดแคบลง

นอกเหนือจากข้อสังเกตข้างต้น อาจารย์จาก มธ. มองด้วยว่า กฎหมายตัวนี้กำลังจะทำให้สิทธิการรวมตัวและการต่อรองของแรงงานหดแคบลงไปด้วย คือไม่สามารถรวมตัวในฐานะสหภาพแรงงาน และการออกมาเรียกร้องตามท้องถนนก็อาจจะทำไม่ได้แล้ว

“ผมไม่เคยเชื่อเลยว่าออกมาแล้วมันจะคุ้มครองพวกเรา มันมีเพียงแค่จำแนกพวกคุณออกมาให้ชัดเจนตามที่เขาเป็นคนวาง และอีกส่วนในการรวมตัวที่จำกัดสิทธิมากเลย คุณลองคิดดูสิสมัยก่อนพวกคุณออกไปนั่งประท้วงค่ารอบกัน ไปเรียกร้องกัน คุณทำได้สบาย ทางกระทรวงฯ เขาฉลาดมาก เขาใช้กฎหมายมาบอกว่าพวกคุณต้องจดทะเบียนตามองค์กรพวกเขา และคุณออกไปเรียกร้องไม่ได้ผิดกฎหมายทันที

“กลายเป็นว่าการออกกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการจำกัดสิทธิ์พวกคุณ ที่เคยออกมาเรียกร้องบนท้องถนน พวกคุณอาจจะไม่สามารถทำได้อีกแล้ว” กฤษฎา ระบุ

ด้านมงคล ยางนาม รองประธานกลุ่มแรงงานเพื่อสังคม เสริมเรื่องนี้ว่า กฎหมายตัวนี้แตกต่างจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพราะไม่ได้บอกวิธีว่าพอรวมกลุ่มแล้วจะไปต่อรองหรือคุยกับใคร ใครเป็นนายจ้าง หรือทำอะไรได้บ้าง แล้วเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากการรวมตัว

ข้อดี เรื่องประกันค่ารอบคนงานแพลตฟอร์ม (?)

กฤษฎา เผยว่า ข้อดีที่แรงงานกึ่งอิสระอยากได้มากที่สุด คือ ข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

ทั้งนี้ กฎหมายระบุว่า การจ่ายค่าตอบแทน และค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ต้องเป็นไปตามอัตรา ระยะเวลา และเงื่อนไขที่ตกลงกัน ถ้าเกิดการร้องเรียนว่าค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระจะเข้ามากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำได้ โดยคำนึงถึงระยะเวลา ความยากง่ายของงาน และต้นทุนของการประกอบธุรกิจ

นอกจากนี้ ศาลแรงงานจะเข้ามาดูแลข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างแรงงานกึ่งอิสระ และนายจ้าง

อย่างไรก็ดี สมชาย หอมลออ นักสิทธิมนุษยชน มองข้อกังวลว่า กฎหมายที่ศาลแรงงานใช้จะอยู่บนฐานกฎหมายแรงงานอิสระ ไม่ได้ตัดสินบนกฎหมายของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

เสนอตั้งกองทุนทดแทน ช่วยไรเดอร์บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ

หลังจบการบรรยาย ได้มีการเปิดพื้นที่ให้แรงงานไรเดอร์ และผู้เข้าร่วมได้ซักถามวิทยากร เบื้องต้น มงคล ยางงาม รองประธานกลุ่มแรงงานเพื่อสังคม เสริมว่า ทุกคนไม่เห็นด้วยไม่อยากให้มีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ถ้ามันผ่านตราออกมาเป็นกฎหมาย และบังคับใช้ไปแล้ว เราควรต้องศึกษาต่อ เพื่อออกกฎหมายลูก หรือประกาศกระทรวงเพื่อขึ้นมาอุดช่องโหว่ในเรื่องนี้ ไม่อยากให้คัดค้านสุดโต่งเกินไป

นอกจากนี้ มีแรงงานบางคนอยากเสนอให้มีการตั้งกองทุนเงินทดแทนในกฎหมาย โดยที่มาของเงินมาจากผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม เนื่องจากบริษัทแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้รับเงินจากแรงงาน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรคุ้มครองแรงงาน เพื่อที่เวลาไรเดอร์เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจะได้นำเงินส่วนนี้มาช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล โดยไม่ต้องจ่ายสำรองก่อน

เสนอออกกฎกระทรวง/แก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

สหัสวัต คุ้มคง โฆษก กมธ.การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร และ สส.พรรคประชาชน ได้ให้ความเห็นว่า ถ้ากรณีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเสียงข้างมากรับหลักการของร่างกฎหมายแรงงานอิสระแล้ว ในชั้นวาระที่ 2 หรือชั้นกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณากฎหมายจะสามารถแก้ไขกฎหมายในรายมาตราหรือประเด็นย่อยๆ แต่จะไม่สามารถแก้ไขหลักการใหญ่ๆ

(ซ้ายสุด) สหัสวัต คุ้มครอง (คนที่ 2 จากซ้าย) ฉัตรชัย พุ่มพวง (คนที่ 2 จากขวา) สมชาย หอมลออ และ (กลาง) เยาวภา ดอนเส (ที่มา: สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร)

สหัสวัต กล่าวต่อว่า ความเห็นส่วนตัวของเขา ไม่ควรให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านตั้งแต่แรก เพราะมองว่ากฎหมายไม่ได้ให้ประโยชน์แรงงานแพลตฟอร์ม หรือไรเดอร์เลย จะเป็นเพียงเครื่องมือให้รัฐบาลเอาไปอ้างความชอบธรรมว่าออกกฎหมายมาคุ้มครองไรเดอร์แล้ว เขามองด้วยว่า ปัจจัยสำคัญว่าสิ่งที่จะทำให้กฎหมายไม่ผ่าน ไม่ได้มีแค่บทบาทของภาคการเมือง แต่ภาคประชาชนต้องช่วยกันส่งเสียงตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อให้ ครม.ถอนร่างกฎหมายออก เพราะถ้าปล่อยให้กฎหมายเข้าสภาฯ ต่อให้มีเสียงของฝ่ายค้านทั้งหมด ก็ยังสู้เสียงของฝ่ายรัฐบาลไม่ได้

ด้านสมชาย หอมลออ นักกฎหมายและสมาชิกมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เสนอว่าให้มีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แทนการทำกฎหมายใหม่ โดยอาจแก้ไขแค่ 1-2 มาตรา คือเรื่องคำจำกัดความของ ‘ลูกจ้าง’ ให้ครอบคลุมแรงงานแพลตฟอร์ม หรือไรเดอร์ ซึ่งจะทำให้ไรเดอร์สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานเพิ่มอำนาจการต่อรอง และได้เข้ากองทุนเงินทดแทนหรือกองทุนเงินประกันสังคม รวมถึงสามารถมีตัวแทนเข้าไปร่วมประชุมในระดับนานาชาติอย่างองค์กร ILO ได้

สมชาย เสนอว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อาจใช้อำนาจตามมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ออกกฎกระทรวงให้คุ้มครองไรเดอร์ อย่างที่เคยทำในกรณีของแรงงานประมง ที่ตอนแรกศาลตีความว่าแรงงานประมงไม่ใช่ลูกจ้าง แต่เป็น ‘หุ้นส่วน’ เพราะว่ามีการมาแบ่งรายได้จากการจับ-ขายปลา แต่หุ้นส่วนขอดูบัญชีไม่ได้นะ กระทรวงแรงงานเลยออกกฎกระทรวงฟันธงว่า ส่วนแบ่งที่ได้จากปลา ถือว่าเป็นค่าจ้าง ทำให้แรงงานประมงได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

ผู้เรียบเรียง

ให้คะแนนความพอใจของคุณ :

0 / 5 คะแนน 0

คุณให้คะแนน:

แชร์ลิ้งค์นี้ : https://ด่วน.com/qjwv | ดู : 10 ครั้ง
  1. ภาพวินาทีผู้ก่อเหตุ-ใช้อาวุธปืนยิvเจ้าหน้าที่-อส.-และ​-ครู-บ ภาพวินาทีผู้ก่อเหตุ ใช้อาวุธปืนยิvเจ้าหน้าที่ อส. และ​ ครู บ
  2. น้ำที่ท่วมในจังหวัดเชียงราย-และจังหวัดเชียงใหม่-ลดลงเข้าสู่ภ น้ำที่ท่วมในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่ ลดลงเข้าสู่ภ
  3. ทหารไทย-กัมพูชา-ประทะกัน-ที่ช่องบก-จ.อุบลราชธานี-วันที่-28-พ ทหารไทย-กัมพูชา ประทะกัน ที่ช่องบก จ.อุบลราชธานี วันที่ 28 พ
  4. 1000-น-กรุงเทพมหานคร-ฝนตก-เขตประเวศ-สะพานสูง-ลาดกระบัง-สวนหลวง-เคล-|-2025-05-28-03:00:00 10.00 น. กรุงเทพมหานคร ฝนตก เขตประเวศ สะพานสูง ลาดกระบัง สวนหลวง เคล 2025-05-28 03:00:00
  5. wwii-bomber-อะตอมเหลือ-11-โง่และ-‘ไม่สามารถกู้คืนได้’-4-ในที่สุดก็มาถึงที่อยู่อาศัย WWII Bomber อะตอมเหลือ 11 โง่และ ‘ไม่สามารถกู้คืนได้’ 4 ในที่สุดก็มาถึงที่อยู่อาศัย
  6. fm91-24-ชั่วโมงข่าว-:-วันที่-28-พฤษภาคม-2568-fm91-24-ชั่วโมง-|-2025-05-27-22:06:00 FM91 24 ชั่วโมงข่าว : วันที่ 28 พฤษภาคม 2568 FM91 24 ชั่วโมง 2025-05-27 22:06:00
  7. สภามีมติเอกฉันท์-454:0-เห็นชอบร่าง-พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์-พรรคประชาชนมีมติให สภามีมติเอกฉันท์ 454:0 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พรรคประชาชนมีมติให
  8. ปภ.-แนะขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วมปลอดภัย-–-ไร้อุบัติเหตุ-กรมป ปภ. แนะขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วมปลอดภัย – ไร้อุบัติเหตุ🚙 กรมป
  9. #dnpnews-:-ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพประชุมอุทยานมรดกอาเซียน-เสนอด DNPnews : ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพประชุมอุทยานมรดกอาเซียน เสนอด
  10. แผ่นดินไหวขนาด-26-ประเทศเมียนมา-2025-05-28-08:21:16-ตามเวลาประเทศไทย-|-วันพุธที่-28-พฤษภาคม-พศ.-2568 แผ่นดินไหวขนาด 2.6 ประเทศเมียนมา 2025-05-28 08:21:16 ตามเวลาประเทศไทย | วันพุธที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
  • No recent comments available.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *


Share via
Click to Hide Advanced Floating Content
Send this to a friend