
กรุงเทพมหานครเปิดเผยหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียววงเงิน 74,721 ล้านบาท จ่ายไปแล้ว 37,476 ล้านบาท ยังเหลืออีก 37,245 ล้านบาท ชี้หนี้ดังกล่าวยังไม่รวมหนี้งานโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกรุงเทพมหานครกับกระทรวงการคลังอีก 5.6 หมื่นล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร ( กทม. ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานะภาระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีดังนี้
1. หนี้ค่าจ้างติดตั้งงานระบบเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) (E&M) ส่วนต่อขยาย 2 จำนวนเงิน 23,000 ล้านบาท กรุงเทพมหานครชำระให้กรุงเทพธนาคม (KT) แล้ว โดยใช้งบเพิ่มเติมปี 2567 และโอนกรรมสิทธิ์งานระบบเป็นของ กรุงเทพมหานครแล้ว
2. หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 จะมี 3 ส่วน คือ
2.1 หนี้ที่เกิดจาก BTS ฟ้องครั้งที่ 1 ส่วนต่อขยาย 1 ช่วงอ่อนนุช – แบริ่งและช่วงสะพานตากสิน – บางหว้า (เดินรถช่วง พ.ค. 62-พ.ค. 64) และส่วนต่อขยาย 2 ช่วงแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการและช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต (เดินรถช่วง เม.ย. 2560-พ.ค. 2564) จำนวนเงิน 14,476 ล้านบาท กรุงเทพมหานครได้ชำระให้สำนักงานบังคับคดี สำนักงานศาลปกครองแล้วเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567
2.2 หนี้ที่เกิดจาก BTS ฟ้องร้องครั้งที่ 2 ส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ( เดินรถช่วง มิ.ย. 2564‐ต.ค. 2565) กรุงเทพมหานครค้างชำระจำนวนเงิน 12,245 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครอง
2.3 หนี้หลังจากฟ้องร้องครั้งที่ 2 ประมาณ 25,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการชำระเงิน เนื่องจากมีประเด็นของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชี้มูลความผิด โดยมีการสอบถามไปยัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและอัยการสูงสุด แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงยังไม่สามารถดำเนินการจ่ายเงินได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากจำแนกหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวออกมา จะมีหนี้รวมกัน 74,721 ล้านบาท จ่ายไปแล้ว 37,476 ล้านบาท ยังเหลือยอดหนี้ค้างชำระอีก 37,245 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หนี้ดังกล่าวยังไม่รวมหนี้งานโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกรุงเทพมหานครกับกระทรวงการคลัง เกี่ยวเนื่องกับการรับโอนภาระทรัพย์สินและหนี้สินส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูต และช่วงแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) มูลค่ารวม 56,112 ล้านบาท ซึ่งหนี้ส่วนนี้มีการชี้แจงว่า กรุงเทพมหานครจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยให้กระทรวงการคลัง แต่ต่อมาได้หยุดจ่ายเนื่องจากมีการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีแนวคิดที่จะให้กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อปิดหนี้ในส่วนนี้ และปัจจุบันยังค้างการพิจารณาในที่ประชุมครม.
ที่มาภาพ: Fb รถไฟฟ้าบีทีเอส
อ่านประกอบ
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )