
สรุป 6 ประเด็นสำคัญจากการประทานสัมภาษณ์ของ ‘เจ้าชายแฮร์รี' ล่าสุดกับบีบีซี

Article info
- Creator, ฌอน เซดดอน
- Feature, บีบีซีนิวส์
เจ้าชายแฮร์รี ดยุคแห่งซัสเซกซ์ประทานสัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซีถึงแนวโน้มที่พระองค์จะได้เสด็จกลับสหราชอาณาจักร รวมถึงทรงต้องการคืนความสัมพันธ์กับสมาชิกในราชวงศ์ พร้อมกันนั้นพระองค์ยังทรงไม่พอพระทัยจากการสูญเสียสิทธิในการได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเสด็จกลับจากสหรัฐอเมริกา
การประทานให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่พระองค์ทรงแพ้คดีสิทธิการอารักขาของพระองค์เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งคดีดังกล่าวเป็นข้อพิพาทกับรัฐบาล โดยพระองค์ทรงเข้าใจว่า การตัดสินดังกล่าวจะทำให้พระองค์ทรงมีความเสี่ยงจากการถูกคุกคามต่อชีวิต
ต่อไปนี้คือหกช่วงสำคัญจากการประทานสัมภาษณ์ของพระองค์กับ นาดา ทาวฟิก ผู้สื่อข่าวบีบีซี ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ
‘ไม่มีหนทางกลับสหราชอาณาจักรเพื่อประทับกับราชวงศ์'
เจ้าชายแฮร์รี ตรัสกับบีบีซีว่า “เป็นไปไม่ได้” ที่จะมีโอกาสใด ๆ ในการเสด็จกลับสหราชอาณาจักรสำหรับพระองค์ เมแกน และพระโอรสและพระธิดาของพวกเขา – อาร์ชี วัยห้าขวบ และ เจ้าลิลีเบต วัยสามขวบ หลังจากคำตัดสินของศาลอุทธรณ์
เจ้าชายแฮร์รีซึ่งทรงย้ายที่ประทับไปยังสหรัฐฯ เมื่อปี 2020 ระบุว่า พระองค์ “ยังทรงไม่เห็นความเป็นได้ที่ข้าพเจ้าจะพาภรรยาและลูก ๆ กลับสหราชอาณาจักรในจุดนี้”
Skip ได้รับความนิยมสูงสุด and proceed readingได้รับความนิยมสูงสุด
Halt of ได้รับความนิยมสูงสุด
“สิ่งที่พวกเขาจะพลาดก็คือ อืม ทุกอย่าง” พระองค์ตรัสต่อ
พระองค์ตรัสกับบีบีซีว่า “ข้าพเจ้ารักประเทศ ข้าพเจ้าก็รักมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าจะมีบางเรื่องที่คนในประเทศนี้ทำไว้กับข้าพเจ้า…
“ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงคิดถึงสหราชอาณาจักร แน่นอนว่าข้าพเจ้าคิดถึงจริง ๆ และข้าพเจ้าคิดว่ามันค่อนข้างเศร้าที่ไม่สามารถพาลูก ๆ ไปเห็นบ้านเกิดของข้าพเจ้าได้”
‘ช่วงเวลาแห่งการประนีประนอม'
เจ้าชายแฮร์รีตรัสว่า ที่ผ่านมาเคยมี “ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันมากมาย” ภายในราชวงศ์ แต่ “สิ่งเดียวที่ยังหลงเหลือ” คือเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของพระองค์ ซึ่งพระองค์เคยตรัสว่า “เป็นจุดที่ยากที่จะเห็นตรงกันอยู่เสมอ”
“มันไม่มีประโยชน์ที่จะสู้กันต่อไปอีก ชีวิตมีค่านะ” พระองค์ตรัสต่อ
เจ้าชายแฮร์รียังตรัสถึง พระพลานามัยของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม ซึ่งทรงเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งในขณะที่มีพระชนมายุ 76 พรรษา
เจ้าชายแฮร์รีตรัสว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าพระบิดาทรงเหลือเวลาอีกเท่าไหร่ พระองค์ไม่ตรัสกับข้าพเจ้า เพราะเรื่องการรักษาความปลอดภัย แต่ว่ามันคงจะดีที่จะประนีประนอมกัน”
พระองค์ตรัสเสริมอีกว่า “สมาชิกบางคนในราชวงศ์ไม่มีวันจะให้อภัยข้าพเจ้า” สำหรับการเขียนหนังสือบันทึกความทรงจำของพระองค์ในชื่อ สแปร์ “Spare” และตรัสต่อไปว่า “มันจะดีถ้าเราสามารถประนีประนอมกันได้ในตอนนี้”
“ถ้าพวกเขาไม่ต้องการสิ่งนั้น มันก็เป็นเรื่องของพวกเขาแล้ว”
‘ความปลอดภัยอาจถูกใช้เพื่อควบคุม'
เจ้าชายแฮร์รีทรงอ้างว่า การลดระดับการจัดการด้านความปลอดภัยของพระองค์เมื่อปี 2020 ถูกใช้เพื่อเป็น “อำนาจต่อรอง” กับพระองค์ หลังจากที่ทรงตัดสินพระทัยถอนพระองค์จากการเป็นสมาชิกราชวงศ์ระดับสูงและทรงย้ายไปประทับในสหรัฐฯ
พระองค์ตรัสว่า คำตัดสินของศาลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ระบุว่าวิธีการที่พระองค์ทรงถูกถอดถอนการรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วนั้น ได้ “สร้างบรรทัดฐานใหม่ว่าความปลอดภัยสามารถถูกใช้เพื่อควบคุมได้” และจะเป็นการ “กักขังสมาชิกราชวงศ์คนอื่น ๆ ไม่ให้สามารถเลือกชีวิตแบบอื่นได้”
เจ้าชายแฮร์รีทรงตรัสว่า ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา พระองค์ได้เสด็จกลับสหราชอาณาจักรต่อเมื่อเสด็จร่วมพิธีศwหรือเพื่อฟังการพิจารณาคดีในศาล รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมการกุศล โดยทรงอ้างว่า พระองค์ทรงได้รับการรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มรูปแบบเฉพาะในการเสด็จเยือนอย่างเป็นทางการเท่านั้น
“ข้าพเจ้าจะกลับไปสหราชอาณาจักรได้อย่างปลอดภัยก็ต่อเมื่อได้รับเชิญเท่านั้น… พระบิดาของข้าพเจ้าทรงมีอำนาจควบคุมและมีความสามารถอยู่มาก”
เมื่อถูกถามว่า พระองค์ทรงต้องการให้กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม ทรงมีพระราชบัญชาเพื่อรับรองความปลอดภัยของพระองค์หรือไม่ เจ้าชายแฮร์รี่ตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยขอให้พระองค์เข้ามายุ่ง ข้าพเจ้าแค่ขอให้พระองค์ทรงถอยออกไปและทรงปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญได้ทำงาน”
พระองค์ทรงมองว่า การถอดถอนการรักษาความปลอดภัยเป็นความพยายามที่จะกันไม่ให้พระองค์และเมแกนออกจากราชวงศ์ โดยตรัสว่า “เรื่องนี้ โดยแก่นแท้ของมันแล้ว คือความขัดแย้งในครอบครัว”
“และมันทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้า เศร้าจริง ๆ ที่เรายังมานั่งกันอยู่ที่นี่ในวันนี้ ห้าปีมาแล้ว ซึ่งการตัดสินที่เกิดขึ้นค่อนข้างชัด และจริง ๆ แล้วข้าพเจ้าก็รู้ ว่า การตัดสินนี้มีขึ้นเพื่อเก็บเราไว้ใต้ชายคา”
‘ข้าพเจ้าหลีกหนีจากการเป็นสมาชิกราชวงศ์ไม่ได้'
เจ้าชายแฮร์รีตรัสสัมภาษณ์ว่า แม้พระองค์จะทรงปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่ของสมาชิกราชวงศ์หรือไม่ก็ตาม พระองค์ยังทรงเผชิญกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยเหมือนเดิม และความเสี่ยงนั้นเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
พระองค์ตรัสว่า “สถานะของข้าพเจ้าไม่ได้เปลี่ยนไปเลย มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ข้าพเจ้าก็คือข้าพเจ้า”
“ข้าพเจ้า เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ข้าพเจ้าเป็นอยู่ และไม่มีทางจะหนีมันได้ สถานการณ์ต่าง ๆ ของข้าพเจ้าจะเป็นเหมือนเดิมเสมอ”
เจ้าชายแฮร์รียังตรัสอีกว่า “ข้าพเจ้าได้ให้เวลาในการรับใช้ประเทศไปแล้ว 35 ปี รวมทั้งการเดินทางเพื่อปฏิบัติภารกิจในอัฟกานิสถานสองครั้ง”
“ข้าพเจ้าเกิดมาพร้อมความเสี่ยงเหล่านี้ ซึ่งมันมีแต่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป”
“นี่คือการจัดเตรียมไว้อย่างไม่ยุติธรรม”
เจ้าชายแฮร์รี่ทรงตำหนิคณะกรรมการที่รับผิดชอบในการอารักขาความปลอดภัยสมาชิกราชวงศ์อาวุโส คือคณะกรรมการอารักขาสมาชิกราชวงศ์และบุคคลสำคัญ (Safety of Royalty and Public Figures) หรือ ‘Ravec'
คณะกรรมการ Ravec ตัดสินใจในนามของรัฐบาลว่า เจ้าชายแฮร์รี่จะทรงไม่ได้รับการรักษาความปลอดภัยอย่างครอบคลุมโดยอัตโนมัติเมื่ออยู่ในสหราชอาณาจักร เนื่องจากพระองค์ทรงลาออกจากการเป็นสมาชิกระดับสูงของราชวงศ์อังกฤษเมื่อ 2020
เซอร์ ริชาร์ด มอตแทรม ประธานคณะกรรมการฯ ในขณะนั้น ได้ตัดสินใจโดยไม่ได้ผ่านการทบทวนภัยคุกคามที่เจ้าชายแฮร์รีทรงกำลังเผชิญ แต่ศาลอุทธรณ์สรุปว่า เขาทำเช่นนั้นด้วยเหตุที่ “เหมาะสม” และต่อให้มีการทบทวนก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอยู่ดี
เจ้าชายแฮร์รีตรัสว่า พระองค์ทรงรู้สึก “ตกตะลึงจนตรัสอะไรไม่ออก” เมื่อทรงทราบว่ามีตัวแทนจากราชวงศ์นั่งอยู่ในคณะกรรมการ Ravec และทรงอ้างว่า การกระทำดังกล่าวทำให้คณะกรรมการสามารถใช้อิทธิพลเหนือสิ่งที่สมาชิกราชวงศ์ได้รับจากหน่วยงานรักษาความปลอดภัยได้
เจ้าชายแฮร์รีตรัสอีกว่า เซอร์ ริชาร์ด “ละเลย” การทบทวนอย่างจริงจังถึงการจัดการด้านความปลอดภัยของพระองค์ หลังจากได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวัง
พระองค์ยังตรัสอีกว่า “มีคนอธิบายเรื่องนี้ให้ข้าพเจ้าฟัง เมื่อในที่สุดคนก็รู้ความจริง ว่านี่คือการจัดเตรียมไว้อย่างไม่ยุติธรรม ตามรูปแบบเดิม ๆ และนั่นคือสิ่งที่ข้าพเจ้ารู้สึก”
‘สิ้นสุดหนทางแล้ว แต่สตาร์เมอร์ต้องก้าวเข้ามา'
เจ้าชายแฮร์รีทรงยืนยันว่า พระองค์จะทรงไม่ดำเนินการทางกฎหมายกับรัฐบาลต่อในชั้นศาลสูงสุด ซึ่งเป็นทางเลือกเดียวที่พระองค์ทรงเหลืออยู่หลังจากคำตัดสินเมื่อวันศุกร์ที่ผ่าน
พระองค์ทรงตรัสว่า คำตัดสินดังกล่าวได้ “พิสูจน์แล้วว่าไม่มีทางที่จะชนะเรื่องนี้ในชั้นศาล” โดยตรัสเสริมว่า “ข้าพเจ้าไม่อยากให้การต่อสู้ใด ๆ ดำเนินต่อไปอีก”
“โลกนี้มีความทุกข์ทรมานและความขัดแย้งมากเกินไปอยู่แล้ว”
อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงโดยตรง เรื่องการตัดสินใจโดยคณะกรรมการ Ravec ซึ่งพระองค์ตรัสว่า “ไม่ได้ถูกจำกัดโดยกฎหมาย”
ดยุคแห่งซัสเซกซ์ตรัสว่า “ข้าพเจ้าจะขอให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาพิจารณา และข้าพเจ้าจะขอให้ อีเวตต์ คูเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเข้ามาดูเรื่องนี้อย่างละเอียด ๆ”
“และข้าพเจ้าจะขอให้เธอตรวจสอบ Ravec และสมาชิกในคณะกรรมการฯ เพราะหากนี่คือหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญ แล้วตัวแทนของราชวงศ์ไปมีบทบาทอะไรในนั้น หากไม่ใช่เพื่อใช้อิทธิพลและตัดสินเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์ตามที่พวกเขาต้องการ”
สำนักพระราชวังบักกิงแฮมตอบโต้อย่างไรบ้าง
สำนักพระราชวังบักกิงแฮม ให้ความเห็นหลังการสัมภาษณ์ของบีบีซี โดยระบุว่า “ศาลได้พิจารณาประเด็นทั้งหมดเหล่านี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนและซ้ำแล้วซ้ำอีก และได้ข้อสรุปเหมือนกันในแต่ละครั้ง”
ที่มา BBC.co.uk