
เหตุใดการระงับส่งออกแร่หายากของจีน จึงเป็นหมากสำคัญในการตอบโต้สหรัฐฯ

ที่มาของภาพ : Getty Photos
ในขณะที่สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ รุนแรงขึ้น ความสนใจต่างมุ่งไปที่การขึ้นภาษีตอบโต้ระหว่างกันของทั้งสองประเทศ แต่การขึ้นภาษีต่างตอบแทนโต้กลับไปยังสหรัฐฯ ของจีน ไม่ได้เป็นเพียงหนทางเดียวที่จีนใช้ในการตอบโต้
ตอนนี้จีนได้กำหนดมาตรการควบคุมการส่งออกแร่หายากและแม่เหล็กสำคัญ ๆ หลายชนิด ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสหรัฐฯ
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของจีนทำให้เห็นว่าอเมริกาพึ่งพาแร่สำคัญ ๆ เหล่านี้มากเพียงใด
ในช่วงสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์หาทางเพิ่มการผลิตแร่ธาตุสำคัญและลดการพึ่งพาการนำเข้า ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการทวงคืนอุตสาหกรรมสำคัญด้านนี้
ว่าแต่ทำไมแร่หายากเหล่านี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก และมันจะเขย่าสงครามการค้าครั้งนี้อย่างไร
Skip ได้รับความนิยมสูงสุด ได้รับความนิยมสูงสุด
End of ได้รับความนิยมสูงสุด
แร่หายากคืออะไรและมันใช้ทำอะไร ?
แร่หายากหรือแรร์เอิร์ธ (Uncommon earths) คือกลุ่มธาตุโลหะ 17 ธาตุ ซึ่งมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเทคโนโลยีระดับสูงหลายประเภท
ส่วนใหญ่แล้วแร่เหล่านี้มีมากมายในธรรมชาติ แต่เหตุที่เป็นแร่หายาก เนื่องจากว่าการพบแร่ดังกล่าว ยากที่จะขุดเจอได้ในรูปแบบของแร่บริสุทธิ์ และกระบวนการสกัดแร่มีสารเคมีที่เป็นพิษออกมาจำนวนมาก
ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะไม่คุ้นชื่อแร่หายากเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นแร่นีโอดิเมียม อิตเทรียม และยูโรเพียม แต่คุณอาจจะคุ้นกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้แร่หายากเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ เช่น แร่นีโอดิเมียมเป็นแร่ที่ใช้ในแม่เหล็กที่มีแรงดูดสูงซึ่งใช้ในการผลิตลำโพง คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดไดรฟ์ มอเตอร์ของยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องยนต์ของเครื่องบินเจ็ท มันช่วยให้อุปกรณ์เหล่านี้มีขนาดเล็กลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนแร่อิตเทรียมและยูโรเพียม ใช้ในการผลิตโทรทัศน์และหน้าจอคอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีคุณสมบัติเกี่ยวกับการแสดงสีบนหน้าจอ
“ทุกสิ่งทุกอย่างที่เปิดปิดได้ มักจะใช้แร่หายากเป็นกลไกในการทำงาน” โธมัส ครูมเมอร์ ประธานบริษัทจิงเจอร์อินเตอร์เนชันแนลแอนด์อินเวสท์เมนต์ ระบุ
นอกจากนี้ แร่หายากยังมีความสำคัญต่อเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่นการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ และการสแกนเอ็มอาร์ไอ รวมทั้งเทคโนโลยีด้านกลาโหมที่สำคัญหลายชนิด
จีนคุมแร่หายากอะไรบ้าง ?
จีนแทบจะเป็นผู้ผูกขาดการสกัดและกลั่นแร่หายากทั้งหมด ซึ่งเป็นกระบวนการแยกแร่หายากออกจากแร่ธาตุชนิดอื่น ๆ
องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (Global Vitality Agency) ประเมินว่าจีนผลิตแร่ธาตุหายากราว 61% ของการผลิตทั้งโลก และครองสัดส่วนการแปรรูปมากถึง 92%

นั่นหมายความว่าจีนผูกขาดห่วงโซ่อุปทานแร่หายากของโลกเอาไว้และมีอำนาจในการตัดสินใจว่าบริษัทใดจะได้แร่หายากมาป้อนให้กับการผลิตของตัวเอง
ทั้งการสกัดแร่และกระบวนการผลิตแร่หายากเหล่านี้มีราคาสูงและเป็นมลพิษ เนื่องจากแหล่งของแร่ธาตุหายากเต็มไปด้วยสารประกอบกัมมันตรังสี ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายประเทศอย่างเช่นประเทศในสหภาพยุโรปลังเลที่จะผลิตแร่เหล่านี้
“ของเสียกัมมันตรังสีที่เกิดจากกระบวนการผลิตจำเป็นต้องได้รับการกำจัดอย่างถาวร ด้วยวิธีที่ปลอดภัย และเป็นไปตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด แต่ในปัจจุบัน สถานที่กำจัดของเสียทั้งหมดในสหภาพยุโรปยังเป็นเพียงสถานที่ชั่วคราวเท่านั้น” ครูมเมอร์กล่าว
แต่การผูกขาดของจีนในห่วงโซ่อุปทานของแร่หายากไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากการลงทุนและยุทธศาสตร์การวางนโยบายของจีนมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ

ที่มาของภาพ : Getty Photos
ในระหว่างการเยือนเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน (Inside Mongolia) ในปี 1992 เติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีนซึ่งเป็นผู้นำการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน ได้กล่าววลีอันโด่งดังว่า “ตะวันออกกลางมีน้ำมัน ส่วนจีนมีแร่หายาก”
“ในช่วงเริ่มต้นปลายศตวรรษที่ 20 จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาการขุดแร่หายากและพัฒนาความสามารถในการถลุงและสกัดแร่ ซึ่งโดยมากมีมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมที่ต่ำและมีต้นทุนด้านแรงงานที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับชาติอื่น” เกวิน ฮาร์เปอร์ นักวิจัยรับเชิญที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับแร่ธาตุหายาก ระบุ
“สิ่งนี้ทำให้จีนตัดราคาคู่แข่งในโลกได้ และเกือบจะผูกขาดได้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การขุดและกลั่นแร่ ไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย อย่างเช่น แม่เหล็ก”
จีนจำกัดการส่งออกแร่หายากอย่างไร ?
เพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการกำแพงภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ จีนเริ่มจำกัดการส่งออกแร่ธาตุหายาก 7 ชนิด เมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ส่วนมากเป็นแร่หายากชนิดธาตุน้ำหนักสูง ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญต่ออุตสาหกรรมด้านกลาโหม แร่หายากชนิดธาตุน้ำหนักสูงหาได้ยากกว่าและกระบวนการสกัดทำได้ยากกว่าแร่หายากชนิดธาตุน้ำหนักเบา จึงทำให้แร่น้ำหนักสูงมีมูลค่าสูงกว่าด้วย
ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา บริษัททุกบริษัทต้องมีใบอนุญาตพิเศษสำหรับการส่งออกในการส่งแร่หายากและแม่เหล็กออกนอกประเทศ
เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากว่าจีนเป็นภาคีของสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation of Nuclear Weapons) จีนจึงมีความสามารถในการควบคุมการค้า “ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้สองทาง” ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์โดยทั่วไปหรือนำไปพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ก็ได้
ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ (Centre for Strategic and Global Studies – CSIS) ระบุว่าเงื่อนไขเช่นนี้ยิ่งทำให้สหรัฐฯ เปราะบาง เนื่องจากไม่มีการผลิตแร่หายากน้ำหนักสูงที่อื่นนอกเหนือไปจากในประเทศจีน

ที่มาของภาพ : Getty Photos
เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ อย่างไร ?
รายงานของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกาชี้ว่า ระหว่างปี 2020-2023 สหรัฐฯ พึ่งพาการนำเข้าสารประกอบแร่หายากรวมถึงโลหะจากจีนอยู่ถึง 70%
นั่นหมายความว่า มาตรการจำกัดการส่งออกล่าสุดของจีนอาจเป็นโจมตีสหรัฐฯ อย่างรุนแรง
แร่หายากน้ำหนักสูงเป็นแร่ที่ใช้ในการทหารหลายแขนง ตั้งแต่การผลิตจรวดมิสไซล์ เรดาร์ และแม่เหล็กถาวร
รายงานของ CSIS ชี้ด้วยว่าเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ อย่างเครื่องบินเอฟ-35 จรวดโทมาฮอว์ก และอากาศยานไร้คนขับพรีเดเตอร์ ต่างต้องพึ่งพาแร่ธาตุเหล่านี้ทั้งสิ้น
CSIS ระบุด้วยว่า สถานการณ์เช่นนี้ของสหรัฐฯ เกิดขึ้นในขณะที่จีน “ขยายการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์และมีอุปกรณ์และระบบอาวุธขั้นสูงเพิ่มขึ้นในอัตราที่มีความเร็วกว่าสหรัฐฯ 5-6 เท่า”
“ผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสหรัฐฯ มีมากมหาศาล” ครูมเมอร์ ระบุ
ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเท่านั้น แต่ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ที่ทรัมป์หมายมั่นที่จะฟื้นขึ้นขึ้นมาใหม่ด้วยการตั้งกำแพงภาษีปกป้อง ก็อาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงด้วย
“ผู้ผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและเทคโนโลยีชั้นสูง อาจเผชิญกับความขาดแคลนและความล่าช้าในการผลิต เนื่องจากการระงับการขนส่งและสินค้าคงคลังมีปริมาณเหลืออยู่อย่างจำกัด” ดร.ฮาร์เปอร์ กล่าว

ที่มาของภาพ : Getty Photos
“คาดการณ์ว่าราคาของแร่หายากสำคัญจะสูงขึ้นมาก และส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนที่สูงขึ้นของส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สินค้ามากมาย ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงอุปกรณ์ทางการทหาร” เขากล่าว และเสริมว่านี่อาจทำให้บริษัทอเมริกันที่ได้รับผลกระทบต้องชะลอการผลิตลง
หากการขาดแคลนแร่หายากจากจีนยังคงดำเนินต่อไปในระยะยาว มีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ จะมองหาห่วงโซ่อุปทานใหม่ และเพิ่มกำลังการผลิตภายในประเทศ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและสกัดแร่หายาก ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะยังต้องการ “การลงทุนที่ยั่งยืนและจำนวนมาก รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งยิ่งทำให้ต้นทุนโดยรวมสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้าที่พึ่งพาแร่หายากจากจีน”
เป็นที่ชัดเจนว่านี่เป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดของทรัมป์อยู่แล้ว สัปดาห์นี้ ทรัมป์ได้ออกคำสั่งให้ตรวจสอบความเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติจากการที่สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าจากชาติอื่น อย่างเช่น แร่หายาก
“ประธานาธิบดีทรัมป์ยอมรับว่า การพึ่งพาแร่ธาตุสำคัญและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแร่ธาตุเหล่านี้จากต่างประเทศมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพด้านการป้องกันประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ” คำสั่งของทรัมป์ระบุ
“แร่ธาตุสำคัญ ซึ่งรวมถึงส่วนประกอบจากแร่หายากมีความจำเป็นต่อความมั่นคงของชาติและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ”
สหรัฐฯ ไม่สามารถผลิตแร่หายากได้เอง จริงหรือไม่ ?
สหรัฐฯ มีเหมืองแร่หายากที่เปิดดำเนินการอยู่เพียงแห่งเดียว แต่ยังไม่มีความสามารถในการแยกธาตุหายากชนิดหนัก จึงต้องส่งแร่ดิบไปให้จีนเป็นผู้ดำเนินการแปรรูปแทน
ในอดีตเคยมีบริษัทอเมริกันหลายแห่งที่ผลิตแม่เหล็กแร่หายาก ทั้งนี้ ย้อนไปในช่วงทศวรรษ 1980 สหรัฐฯ ถือว่าเป็นผู้ผลิตแร่หายากรายใหญ่ที่สุดของโลก
ทว่าบริษัทเหล่านี้ออกจากตลาดไปเมื่อจีนเริ่มครองตลาด และเอาชนะบริษัทอเมริกันได้ทั้งในแง่ของขนาดและต้นทุน
เชื่อว่านี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กระตือรือร้นที่จะลงนามข้อตกลงแร่ธาตุกับยูเครน เนื่องจากต้องการลดการพึ่งพาจีน
อีกแห่งที่ทรัมป์เล็งไว้คือเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งมีแหล่งสำรองแร่หายากมากเป็นอันดับ 8 ของโลก
ทรัมป์แสดงความสนใจหลายครั้งในการเข้าควบคุมเขตปกครองตนเองของเดนมาร์กแห่งนี้ และไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจหรือทางทหารเพื่อเข้าควบคุมกรีนแลนด์
แหล่งต่าง ๆ ข้างต้นนี้อาจเป็นที่ที่สหรัฐฯ นำแร่หายากบางส่วนเข้ามาที่สหรัฐฯ ได้ แต่ท่าทีอันเป็นปฏิปักษ์ของทรัมป์ ก็ทำให้สหรัฐฯ มีแหล่งซัพพลายแร่ที่เป็นทางเลือกเหลือน้อยมาก
“ความท้าทายที่สหรัฐฯ เผชิญมีสองด้าน ด้านหนึ่งคือ การทำให้จีนซึ่งเป็นผู้ครอบครองแร่หายากแต่เพียงผู้เดียวห่างเหินออกไป และอีกด้านหนึ่งคือ สหรัฐฯ ได้ทำให้หลายประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรที่เป็นมิตร เกิดความไม่พอใจจากการใช้มาตรการด้านภาษีและการกระทำที่เป็นปรปักษ์อื่น ๆ” ดร.ฮาร์เปอร์ กล่าว
“พวกเขาจะยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับสหรัฐฯ อยู่หรือไม่ ยังต้องติดตามกันต่อไป ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่ปั่นป่วนของรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ”
ที่มา BBC.co.uk