
เรื่อง: พัชญ์สิตา รุ่งโรจน์ธนกุล
ภาพปก: คชรักษ์ แก้วสุราช
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา ประชาไทลงพื้นที่รอบๆ บริเวณตึก สตง.ถล่ม เพื่อสังเกตการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมด้านประชากรข้ามชาติ และพูดคุยกับญาติผู้เสียชีวิตที่มารอรับศw ในเรื่องการเข้าถึงกระบวนการเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวพม่ากระเทือนไทยผ่านไปเกือบหนึ่งเดือน
ทั้งนี้ ประชาไทอยู่ระหว่างการติดต่อขอความคิดเห็นจากสำนักงานประกันสังคม และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง เกี่ยวกับการประสานงานเยียวยาญาติผู้เสียชีวิตที่อยู่ในพม่า
พี่ชายของจ่อธูวิน
ญาติคนแรกที่ผู้สื่อข่าวได้พบคือ “ขิ่นอ่องทุน” ชายชาวพม่าวัย 41 ปี เขามารอรับศwผู้เป็นน้องชาย เราพูดคุยกันผ่านล่าม
ขิ่นอ่องทุนเป็นลูกคนที่สอง น้องชายที่เสียชีวิตเป็นคนที่สาม ส่วนพ่อวัย 70 ปีกับแม่อาศัยอยู่ที่ภาคเอยาวดี ประเทศwม่า
น้องชายของเขามีชื่อว่า “จ่อธูวิน” ทำงานก่อสร้างให้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และเป็นหนึ่งในคนงานพม่าที่เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมอาคารที่ทำการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) 30 ชั้น พังถล่มลงมาหลังจากได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว 8.2 แมกนิจูดที่มีศูนย์กลางในพม่า
ภารกิจการค้นหาผู้สูญหายยังคงดำเนินไป เพจกรุงเทพมหานครรายงานข้อมูลเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ว่าในขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิต 74 ราย ส่วนยอดผู้สูญหายที่อยู่ระหว่างการติดตามอยู่ที่ 20 ราย
จ่อธูวิน น้องชายผู้จากไป มีภรรยาและมีลูก 2 คน สิทธิในการรับเงินเยียวยาจึงจะเป็นของภรรยาและลูกๆ ซึ่งอยู่อาศัยในพม่า
ช่วงหนึ่งในระหว่างการพูดคุย ทนายความบอกกับขิ่นอ่องทุนว่าเขาต้องเป็นคนเตรียมเอกสาร เช่น ใบรับรองการแต่งงาน, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของภรรยา รวมทั้งพ่อกับแม่ เพื่อนำไปยื่นเรื่องขอรับการเยียวยาต่อไป
คอรีเยาะ มานุแช ทนายความจากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ที่ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับญาติผู้เสียหาย บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ปัญหาเรื่องเอกสารเป็นเรื่องที่พบบ่อยครั้ง เมื่อแรงงานข้ามชาติต้องยื่นเรื่องขอรับการเยียวยา โดยมักจะมีกรณีเช่น การแต่งงานกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ทำให้ขาดเอกสารยืนยัน เป็นต้น
ขิ่นอ่องทุนเปิดเผยด้วยว่า ตัวเขาเองเป็นคนงานอิตาเลียนไทยเช่นเดียวกับน้องชาย ปกติแล้วเขาจะได้รับเงินเดือนเดือนละครั้ง จ่ายทุกวันที่ 5 ของเดือน แต่หลังจากวันแผ่นดินไหว เขาก็ตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร ทำงานไปแค่ 6 วัน จึงทำให้เขาไม่แน่ใจเกี่ยวกับสถานะการจ้างงานในช่วงที่หยุดงานไป และเขาจะได้รับเงินเดือนเช่นเดิมหรือไม่
เขาอาจเผชิญภาวะเลิกจ้างหรือขาดรายได้ในระหว่างรอความชัดเจนของสถานการณ์ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้าง แม้ในกรณีที่ต้องหยุดงานชั่วคราว
เราพบกับขิ่นอ่องทุนในช่วงสาย ทำให้ได้ทราบว่าหลังจากที่พูดคุยกัน เขาจะเดินทางไปรับศwน้องชายที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ เพื่อนำไปประกอบพิธีฌาปนกิจในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ร่วมกับคนงานพม่าอีก 2 ศw ณ วัดดิสหงษาราม กรุงเทพฯ
ที่งานฌาปนกิจแรงงานพม่าที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม
ภาพเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568
ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่วัดเพื่อสังเกตการณ์ รอจนกระทั่งเวลาประมาณ 15.30 น. การทำพิธีก็เริ่มขึ้น บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างเงียบๆ ผู้เข้าร่วมงานส่วนมากเป็นเพื่อนคนงานประมาณ 40 คน มีคนหนึ่งเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวด้วยว่าเป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ตึกถล่ม
ในงานเผาศw มีบุคลากรจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นประธานในพิธี และมีการมอบเงินเยียวยาเบื้องต้นแก่ญาติของคนงานทั้งสอง ใส่ในซองสีน้ำตาลจำนวน 3 ซอง เขียนหน้าซองดังนี้ 1. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน 2. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 3. กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี (ITD-CREC)
ทว่าไม่มีศwของจ่อธูวินในวันนั้น เนื่องจากขิ่นอ่องทุนยังไม่สามารถนำศwของน้องชายออกมาได้ เพราะติดปัญหาทางเอกสาร ท้ายที่สุด ศwของจ่อธูวินก็ถูกเผา ช้าออกไปจากกำหนดการหนึ่งวัน
รูปภาพของ จ่อธูวิน วางไว้บนพื้นวัด ร่างของเขาถูกเผาช้าออกไปจากกำหนดการเดิม 1 วัน
เนื่องจากติดปัญหาเอกสารทำให้ญาติไม่สามารถนำศwออกมาจากนิติเวชได้ทัน (ภาพเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568)
สาวโรงงานเย็บผ้า ญาติห่างๆ ของชิตอู
ญาติคนที่สองที่ผู้สื่อข่าวได้พบ คือหญิงชาวพม่าอายุราว 30 ปี ทำงานในโรงงานเย็บผ้าแถวพระราม 3 เธอขาดงานมาหลายวันแล้ว จากที่ต้องเดินทางไปๆ กลับๆ เพื่อมารอรับศwญาติที่เสียชีวิต
ญาติผู้จากไปของเธอมีชื่อว่า ชิตอู (Chit Oo) ชาวพม่าอายุ 25 ปีที่ยังโสด
ย้อนไปวันที่แผ่นดินไหว เธอเล่าว่าแม่ของชิตอูที่อาศัยในมัณฑะเลย์โทรมาหาเธอตั้งแต่วันเกิดเหตุเพื่อขอให้เธอช่วยมาดูที่ไซต์งานตึก สตง. แต่กว่าเธอจะได้มาที่นี่ก็ผ่านไปหลายวัน ระหว่างนั้น เธอได้ติดต่อองค์กรภาคประชาสังคมแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร พวกเขาแนะนำให้เธอแจ้งความ
ความสัมพันธ์ของเธอกับชิตอูเรียกได้ว่าเป็นญาติห่างๆ เป็นลูกพี่ลูกน้องกันทางฝั่งแม่ เธอแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเขาเลย ก่อนหน้านี้ไม่เคยติดต่อกัน รู้เพียงแค่ว่าชิตอูย้ายมาอยู่เมืองไทยได้ประมาณ 2-3 ปีแล้ว โดยชิตอูมีน้องสาวด้วย แต่เธอไม่ทราบอายุ
ญาติรอเคว้ง-ขาดคนประสาน-ไม่รู้ข้อมูล
“ญาติไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร 1 2 3 4 ไม่มีคนประสาน พาไปให้ข้อมูล”
คอรีเยาะ มานุแช ทนายความเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติที่ลงพื้นที่พูดคุยกับญาติผู้เสียหาย กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงปัญหาที่ญาติของผู้เสียหายเผชิญ
- ญาติเดินทางมาที่ไซต์งานได้ เผชิญปัญหาการเข้าไม่ถึงข้อมูลและขั้นตอนการช่วยเหลือเยียวยา ไม่รู้ว่าต้องติดต่ออย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง จึงควรมีการประชาสัมพันธ์ที่ดีกว่านี้
- หรือในกรณีที่ญาติอยู่ฝั่งพม่า ไม่สามารถเดินทางมาที่ไซต์งานได้ แบบนี้จะมีการประสานตรวจดีเอ็นเอและช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร
- มีแรงงานจำนวนหนึ่งที่เผชิญภาวะสุญญากาศหลังตึกถล่ม ไม่มีงานแต่นายจ้างไม่ได้แจ้งกับกระทรวงแรงงานถึงเหตุที่จะหยุดกิจการชั่วคราว ทำให้แรงงานเกิดภาวะงานไม่มี เงินไม่มี คำถามคือสถานการณ์นี้เข้าเงื่อนไขที่แรงงานจะได้ค่าจ้างหรือไม่ หรือต้องขึ้นทะเบียนคนว่างงานตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม ซึ่งเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหน้างานไม่สามารถให้ข้อมูลได้
ทั้งสองกรณีที่ผู้สื่อข่าวได้พบ คือขิ่นอ่องทุนผู้เป็นพี่ชายของจ่อธูวิน และพนักงานโรงงานเย็บผ้าที่เป็นญาติห่างๆ ของชิตอู มีความเหมือนกันตรงที่ เป็นเวลาเกือบเดือนหลังเกิดเหตุ แต่ญาติยังไม่ได้ติดต่อสำนักงานประกันสังคม
ส่วนความต่างคือ ขิ่นอ่องทุนสามารถตรวจดีเอ็นเอได้ เพราะเป็นญาติทางตรงกับผู้เสียชีวิต ส่วนพนักงานโรงงานเย็บผ้า ตรวจดีเอ็นเอไม่ได้ เพราะเป็นลูกพี่ลูกน้อง
รัฐจ่ายเยียวยาผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 38 ล.
ทวีเผย ITD-ไชน่าเรลเวย์ เตรียมจ่าย 95 ล.
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลเปิดเผยว่ากระทรวงแรงงานจ่ายเงินผู้เสียชีวิตจากเหตุตึก สตง.ถล่มแล้วกว่า 38 ล้านบาท
ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 เม.ย. หลายสำนักข่าวได้แก่ มติชน และ เดอะสแตนดาร์ด รายงานตรงกันถึงกรณี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ได้หารือกับบริษัทอิตาเลียนไทย และไชน่า เรลเวย์ฯ และได้ข้อสรุปว่าทั้ง 2 บริษัทจะเตรียมเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรวมกว่า 95 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุตึก สตง. ถล่ม
โดยเสนอเยียวยา
- ผู้เสียชีวิตรายละ 1,000,000 บาท และ
- ผู้บาดเจ็บรายละ 200,000 บาท
ซึ่งเงินจำนวนนี้ไม่รวมค่ารักษาพยาบาล และเป็นการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ไม่เกี่ยวข้องและไม่มีผลผูกพันกับคดีอาญาหรือคดีแพ่งที่กำลังดำเนินอยู่แต่อย่างใด ซึ่งทั้งสองบริษัทจะรับผิดชอบเยียวยาผู้ประสบเหตุทั้งสิ้น 103 ราย แบ่งเป็นผู้เสียชีวิตและสูญหาย 94 ราย และผู้บาดเจ็บ 9 ราย
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )