
ย้ายที่พักอาศัยไม่ต้องกังวล ผู้มีสิทธิบัตรทองเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำตัวได้ 4 ครั้งต่อปี
สปสช.เผยประชาชนสิทธิบัตรทองหากย้ายที่พักอาศัยไม่ต้องกังวล สามารถเปลี่ยนหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำได้ปีละ 4 ครั้ง ผ่านช่องทางออนไลน์หรือติดต่อที่หน่วยบริการ ดูรายชื่อหน่วยบริการและเครือข่ายตรงตามที่พักอาศัยปัจจุบันได้ที่เว็บไซต์ สปสช. แต่ละปีมีประชาชนเปลี่ยนหน่วยบริการประจำประมาณ 2 ล้านครั้ง
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. เปิดเผยว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อสิทธิบัตรทอง หรือบัตร 30 บาทนั้น ประชาชนที่มีสิทธิจะต้องลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำตัว โดย สปสช.จะประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนทราบข้อมูลของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการที่สามารถเลือกลงทะเบียนได้ ซึ่งจะเป็นหน่วยบริการที่อยู่ใกล้กับที่พักอาศัยของผู้มีสิทธิ เพื่อให้ได้รับบริการสาธารณสุขตามสิทธิประโยชน์ได้สะดวก ใกล้บ้านใกล้ใจ
กรณีย้ายที่พักอาศัย ก็สามารถลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการประจำได้ 4 ครั้งต่อปีงบประมาณ (1 ตุลาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน ของปีถัดไป) ซึ่งไม่จำเป็นต้องย้ายทะเบียนบ้าน เพียงแค่มีหลักฐานเอกสารว่าพักอาศัยอยู่ที่นั่นจริง ก็สามารถเปลี่ยนหน่วยบริการได้ และสามารถดูรายชื่อหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการประจำได้ที่เว็บไซต์ สปสช. เมนูประชาชน เลือกค้นหาเครือข่ายหน่วยบริการ หลังจากนั้นก็เลือกหน่วยบริการตามที่พักอาศัยในปัจจุบันได้เลย (http://mscup.nhso.jog.th/mastercup/index.zul)
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการเปลี่ยนหน่วยบริการประจำทำได้ง่ายๆ ผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. หรือ ไลน์ OA สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso) เลือกเปลี่ยนหน่วยบริการ และดำเนินการตามขั้นตอน เอกสารที่ต้องใช้คือบัตรประชาชน สำหรับเด็กเล็กที่ไม่มีบัตรประชาชนใช้สูติบัตรคู่กับบัตรประชาชนของผู้ปกครอง หากไม่สะดวกเปลี่ยนผ่านแอปฯ และ ไลน์ OA สปสช. สามารถมาเปลี่ยนด้วยตนเองได้ที่ ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ สปสช. ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคารบี ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ในวันและเวลาราชการ หรือ โทร. สายด่วน สปสช. 1330 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้
กรณีทะเบียนบ้านไม่ตรงกับที่พักอาศัยอยู่ในปัจจุบัน แสดงหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ หนังสือรับรองของเจ้าบ้าน ผู้นำชุมชน ผู้ว่าจ้าง นายจ้าง หรือทำหนังสือรับรองตนเอง รวมไปถึงเอกสารหรือหลักฐานที่มีชื่อของผู้ที่ต้องการเปลี่ยนหน่วยบริการ เช่น ใบเสร็จค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าที่พัก สัญญาเช่าที่พัก เป็นต้น
ทั้งนี้ในแต่ละปี มีประชาชนเปลี่ยนหน่วยบริการประจำตัวเฉลี่ย 2 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้เป็นการเปลี่ยนที่หน่วยบริการ 70% และเปลี่ยนผ่านช่องทางออนไลน์ 30%
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )