
สภามีมติเอกฉันท์ 454:0 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พรรคประชาชนมีมติให้ สส. เปิด “ไฟเขียว” ด้วย

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรผ่านกฎหมายจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฉบับใหม่ 3 วาระรวด ด้วยมติ “เอกฉันท์” โดยพรรคประชาชน (ปชน.) มีมติพรรคให้ สส. ร่วมโหวตเห็นชอบ ด้วยเหตุผล “ไม่ได้มีประเด็นอะไรที่จะคัดค้าน”
สภาผู้แทนราษฎรใช้เวลาเพียง 40 นาที ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซี่งเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาสมัยวิสามัญ เป็นเรื่องด่วนที่ 3 ในช่วงบ่ายวันนี้ (28 พ.ค.)
สาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 เพื่อเปลี่ยนชื่อ “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” เป็น “สำนักงานพระคลังข้างที่” และโอนกิจการของสำนักพระราชวังเฉพาะส่วนของงานพระคลังข้างที่ไปเป็นของสำนักงานพระคลังข้างที่
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนของรัฐบาล “แพทองธาร” ในการนำเสนอหลักการของร่างกฎหมายที่มีเนื้อหารวม 6 มาตรา และขอให้ที่ประชุมสภาพิจารณาแบบ 3 วาระรวด (ดูสรุปสาระสำคัญสำคัญของร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้ที่นี่)
ต่อมามี สส. จากฝ่ายค้านและรัฐบาลรวม 3 คนลุกขึ้นอภิปราย โดยมุ่งเน้นที่กระบวนการพิจารณากฎหมาย ไม่ได้มีประเด็นในเชิงเนื้อหา
Skip ได้รับความนิยมสูงสุด and proceed finding outได้รับความนิยมสูงสุด
Terminate of ได้รับความนิยมสูงสุด

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX
จากนั้นเป็นการลงมติของสมาชิก ซึ่งมีผลดังนี้
- วาระหนึ่ง (ขั้นรับหลักการ) สภามีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 451 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน ไม่มี
- จากนั้นที่ประชุมสภาเดินหน้าตั้ง กมธ. เต็มสภาพิจารณาต่อในวาระ 2 (พิจารณารายมาตรา) โดยไม่มีการแก้ไขถ้อยคำใด ๆ จึงมาต้องลงมติ
- วาระ 3 (พิจารณาทั้งฉบับ) สภามีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 454 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน ไม่มี
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ก็จะส่งร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX
ณัฐพงษ์: “ไม่ได้มีประเด็นอะไรที่จะคัดค้าน”
ก่อนการลงมติ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ปชน. เป็นหนึ่งใน สส. ที่ลุกขึ้นอภิปราย โดยกล่าวว่า เมื่อทราบว่า ครม. จะเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฉบับนี้เข้าสภา “ก็ให้ความสนใจเป็นพิเศษ” เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของแผ่นดินที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือทรัพย์สินสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เขากล่าวว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีการประเมินกันเอาไว้ว่าทรัพย์สินในส่วนนี้มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านบาท
สำหรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่บัญญัติขึ้นตั้งแต่ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2561 นายณัฐพงษ์ชี้ว่า การออกกฎหมายในครั้งนั้น “ส่งผลให้การดูแลพระราชทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ” ทั้งชื่อเรียกและการดูแลและบริหารจัดการพระราชทรัพย์
ในรัชสมัยก่อนหน้านี้ การดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แยกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ การดูแลทรัพย์สินส่วนพระองค์จะเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย การดูแลทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ดูแลโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
แต่ผลของกฎหมายปี 2561 ทำให้เส้นแบ่งตรงนี้เบลอลงไป ไม่มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์อีกแล้ว แต่เปลี่ยนไปเป็นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยการดูแลและบริหารจัดการพระราชทรัพย์ทั้ง 2 ส่วน ล้วนแต่ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย พระองค์จะทรงมอบหมายให้บุคคลใด หน่วยงานใด เป็นผู้จัดการพระราชทรัพย์ทั้ง 2 ส่วนก็ได้

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX
หัวหน้าพรรค ปชน. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของพระราชทรัพย์ซึ่งเป็นของสถาบันฯ ซึ่งไม่ใช่ส่วนของพระองค์ เราจะมีวิธีจัดการดูแลอย่างไรให้ทรัพย์สินของแผ่นดินในส่วนนี้มีความมั่นคงสถาพรที่สุด เพื่อธำรงไว้ซึ่งพระเกียรติยศและพระราชสถานะในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั่นไม่ใช่ประเด็นที่จะมาถกเถียงกันในวันนี้ เพราะร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอไม่ได้กระทบหรือส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการดูแลพระราชทรัพย์ทั้ง 2 ส่วน เรื่องจากการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญได้กระทำเสร็จไปแล้วตั้งแต่ยุค คสช. แล้ว สาระสำคัญจริง ๆ ของกฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อเท่านั้น
“ด้วยเหตุนี้พวกผมไม่ได้มีประเด็นอะไรที่จะคัดค้านในร่างกฎหมายที่รัฐบาลที่เสนอมา แต่ในฐานะผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง ผมอยากให้การเสนอกฎหมายนี้เป็นไปตามกระบวนการนิติบัญญัติปกติ ไม่อยากให้เสนอด้วยกระบวนการพิเศษ เช่น การพิจารณา 3 วาระรวด ผ่านกฎหมายเต็มสภาให้เพียงแค่ 1 วันที่ ครม. เสนอมา เพราะยิ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันที่เป็นพระประมุขของชาติ สภาเรายิ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน รวมถึงต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย ต้องโปร่งใส ไม่ทำให้เกิดการตั้งคำถามในหมู่พี่น้องประชาชน”
เขายืนยันด้วยว่า สส. พรรค ปชน. จะทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ Constitutional Monarchy ซึ่งก็คือระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เราจะระวังไม่ให้กฎหมายใดเกิดการติฉินนินทา หรือมีข้อครหาได้ว่ามีใครที่พยายามทำให้หลุดพ้นไปจากกรอบที่ว่านี้ ที่พระมหากษัตริย์ ‘ทรงปกเกล้าฯ ไม่ปกครอง' อันเป็นการรักษาพระราชประมุขให้ปราศจากการเมืองอย่างแท้จริง ดังนั้นถึงแม้พวกตนสามารถรับหลักการร่าง พ.ร.บ. นี้ได้ แต่ไม่อาจเห็นด้วยกับกระบวนการที่ ครม. เสนอให้ใช้ กมธ. เต็มสภาเพื่อเร่งรัดกระบวนการพิจารณากฎหมายนี้
ไม่ใช่แค่เปลี่ยนชื่อ แต่ธำรงไว้ซึ่ง “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนเป็นสุข”
ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า เคารพความเห็นของผู้นำฝ่ายค้านที่มีจุดยืนของตัวเอง แต่ส่วนตัวก็โตมาในจุดยืนที่เชื่อและเคารพ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ สำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขยิ่ง สิ่งที่อยากเรียนคือผมไม่เคลือบแคลงใน พ.ร.บ. นี้แม้แต่น้อย”
จากนั้นเขายกตัวอย่างการพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ในการดูแลช่วยเหลือประชาชนในหลายกรณี เช่น เด็กชาติพันธุ์ 3.7 หมื่นคนตามตะเข็บชายแดน, การซ่อมแซม รพ.สมเด็จพระยุพราชเดชอุดมที่ประสบเหตุเพลิงไหม้, การผลิตรถตรวจเชื้อโควิด-19
“พ.ร.บ. นี้ไม่ใช่แค่เปลี่ยนชื่อ แต่ธำรงไว้ซึ่งคำว่าประเทศชาติมั่นคง ประชาชนเป็นสุข พิสูจน์แล้วว่ากฎหมายนี้โปร่งใส ไม่เคลือบแคลง และเป็นประโยชน์แก่ประชาชนแน่นอน” นายจุติกล่าว

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX
ก่อนการประชุมสภาจะเริ่มขึ้น น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค ปชน. กล่าวถึงทิศการลงมติของพรรคต่อร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ว่า “เขียวค่ะ เพราะเราดูเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. นี้ไม่ได้มีอะไรที่ต้องเป็นกังวล เป็นแค่การเปลี่ยนชื่อสำนักงาน และย้ายหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานระดับเล็กมากเพื่อมารวมกับสำนักงานทรัพย์สินฯ ดังนั้นเราเลยคิดว่าในตัวหลักการ เราสามารถจะเห็นด้วยได้ แต่สิ่งที่เราไม่เห็นด้วยคือการพิจารณา 3 วาระรวดในสภา กับกระบวนการต่าง ๆ ที่ไม่มีการสอบถามประชาชน”
ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากพิจารณาตัวบทกฎหมาย พรรคได้ประเมินผลกระทบทางการเมืองด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะ “คดี 44 สส.” ก่อนตัดสินใจลงมติอย่างหนึ่งอย่างใด น.ส.ศิริกัญญา ปฏิเสธว่าไม่ได้ดูในเรื่องนั้นเลย ต้องว่ากันในเนื้อหาจริง ๆ
“ถ้าเราเล่นการเมืองอาจจะบิดมันไปว่าเราไม่เห็นด้วยกับหลักการได้ แต่ว่าตัวเนื้อหาไม่ได้มีอะไรที่เราจะไปไม่เห็นด้วย แต่ถ้ามีการตั้งข้อสังเกตในตัว พ.ร.บ. จริง ๆ ทำได้ แต่ก็ไม่ได้กระทบต่อการเปลี่ยนชื่อหรือไม่เปลี่ยนชื่อ” รองหัวหน้าพรรค ปชน. กล่าวกับ.
สส. หญิงรายนี้ เป็น 1 ใน 44 นักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อครั้งเป็น สส. พรรคก้าวไกล (ก.ก.)
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าพรรค ปชน. หารือกันอย่างเคร่งเรียดและเกิดภาวะ “เสียงแตก” ในระหว่างการประชุมพรรคเมื่อ 27 พ.ค. น.ส.ศิริกัญญาปฏิเสธจะให้ความเห็นโดยบอกว่า ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมด้วย ไม่มีรายละเอียดตรงนี้

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX
เบื้องหลังข้อถกเถียงในหมู่ สส. ประชาชน ก่อนมีมติพรรค
รายงานข่าวจากพรรค ปชน. แจ้งว่า ก่อนจะมีมติพรรคให้สมาชิกโหวต “เห็นชอบ” ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ผู้บริหารพรรคและ สส. ได้ใช้เวลาถกเถียงกันยาวนาน เนื่องจากเกิดความเห็นไม่เป็นเอกภาพภายใน โดยมีทั้งผู้เสนอให้ลงมติ “เห็นชอบ” “ไม่เห็นชอบ” และ “งดออกเสียง” ด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป
สมาชิกที่เสนอให้โหวต “เห็นชอบ” มองว่า เนื้อหาของร่างกฎหมายนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อ ส่วนความเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ที่เกี่ยวกับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของสำนักทรัพย์สินฯ เกิดขึ้นไปแล้วในกฎหมายฉบับก่อน ๆ อีกทั้งไม่ต้องการให้เกิดปัญหาทางกฎหมายกับ สส. ของพรรคหลังจากนี้ ไม่ว่ากับกลุ่ม สส. ที่มีคดีคาอยู่ในองค์กรอิสระ ซึ่งคาดว่าจะถูก “เร่งคดี” หรือกลุ่ม สส. สมัยแรกที่ยังไม่มีมลทินใด ๆ จากกลไก “นิติสงคราม”
“ตอนนี้ สส. ประชาชนทำหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน เช่น การออกมาเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลในการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ มันมีอะไรที่เราทำได้และควรอยู่ทำต่อไป ไม่ควรแหย่ตัวเองเข้าไปเสี่ยงในเกมนิติสงคราม เพราะมันจะนำไปสู่จุดจบแบบที่เคยโดนมาแล้ว แต่เข้าใจว่าเราก็จำเป็นต้องมีคำอธิบายให้แฟนคลับดั้งเดิมของพรรคด้วย” .ได้รับฟังความเห็นของฝ่ายที่เสนอให้โหวต “เห็นชอบ” ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่
ด้านสมาชิกที่เสนอให้โหวต “ไม่เห็นชอบ” หรือ “งดออกเสียง” มองว่า กรณีนี้ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนชื่อ แต่เป็นการ “รุกคืบทางการเมืองวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าสำคัญมาก” สอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่ระบุว่า การเปลี่ยนชื่อจะทำให้เกิดการเปลี่ยนความหมาย เพราะ “ชื่อ” จะไปกำหนดวิสัยทัศน์และแนวทางการทำงานขององค์กรต่อไป
“ถ้าเรากลัวว่าจะถูกยุบพรรค หรือกลัวจะถูกเร่ง “คดี 44 สส.” มันเปรียบเหมือนมีมีดจ่อคอหอยอยู่แล้ว คนที่ถือมีดก็คงต้องการสอบว่าเราจะยอมแบบที่พรรคใหญ่ทำหรือไม่ ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ เรายิ่งต้องยืนยันจุดยืน” สส. เสียงข้างน้อยในพรรคสีส้ม ให้เหตุผล

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX
ก่อนหน้านี้ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ว่า การเปลี่ยนชื่อมีผลกระทบต่อการเมืองวัฒนธรรมไทยอย่างมีนัยสำคัญ คิดว่าเป็น “สัญลักษณ์แห่งจินตนากรรมแห่งสภาวะยกเว้นย้อนยุคแห่งนิติรัฐ”
เช่นเดียวกับ ศ.กิตติคุณ ธงชัย วินิจจะกูล จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ที่กำลังคิดในทางกลับว่าผู้เสนอกฎหมายต้องการอะไรจากการเปลี่ยนชื่อ ซึ่งไม่รู้สึกประหลาดใจที่ทำในยุครัฐบาลอุ๊งอิ๊ง “รายการคุณขอมา เขา (รัฐบาล) ไม่ใช่คนริเริ่ม… ผมเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะกลับไปเปลี่ยนความหมายของพระคลังข้างที่”
ย้อนวีรกรรม สส. “พรรคส้ม”
เหตุที่การลงมติของ สส. ประชาชน ซึ่งสืบทอดอุดมการณ์มาจากพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นที่จับตามองของสังคม เป็นเพราะพวกเขาเคยฝากวีรกรรมเอาไว้ไว้ 2 กรณี
กรณีแรก เคยเกิดปรากฏการณ์ “พรรคปริ” และเกิด “งูเห่า” ภาคแรกขึ้นในคราวพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม (เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์) ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562
ที่ประชุมสภา 17 ต.ค. 2562 มีมติ “อนุมัติ” พ.ร.ก. ด้วยคะแนนเสียง 374 ต่อ 70 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง โดย 70 เสียงที่ร่วมโหวตคว่ำกฎหมายดังกล่าวล้วนมาจาก สส. อนาคตใหม่ซึ่งโหวตตามมติพรรค ทว่ากลับมี สส. ของพรรค 3 คนร่วมโหวตเห็นชอบ 1 คนงดออกเสียง และมีอีก 5 คนไม่อยู่เป็นองค์ประชุม
นายปิยบุตร แสงกนกกุล สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค อนค. อภิปรายกลางสภาถึงเหตุผลที่ไม่สามารถลงมติอนุมัติ พ.ร.ก. ดังกล่าวได้ว่า เป็นเพราะ “ตราขึ้นโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ไม่เป็นเรื่องจำเป็นฉุกเฉินรีบด่วน” พร้อมวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่าเป็น “โรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ”
แม้มีคำยืนยันจากแกนนำพรรค อนค. ว่า การอภิปรายเป็นไปเพื่อยืนยันอำนาจของสภาตามรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายบริหาร รักษาระบบรัฐสภา และที่สำคัญที่สุดคือการปกป้องรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่นักวิเคราะห์การเมืองและคนในพรรคสีส้มหลายคนเห็นตรงกันว่า กรณีนี้เป็น “เชื้อมูล” ที่ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชนชั้นนำฝ่ายจารีตนิยม และนำไปสู่การยุบพรรคหลังจากนั้น
ขณะที่ 4 สส. อนาคตใหม่ ที่ “แหกมติพรรค” ได้ถูกขับพ้นพรรค ก่อนย้ายเข้าสังกัดพรรครัฐบาล
กรณีที่สอง ขณะนี้มีคดี “44 สส.” อยู่ในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. ) จากข้อกล่าวหาจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
คนในพรรค ปชน. บางส่วนแสดงความกังวลว่า หากโหวต “ไม่เห็นชอบ” หรือ “งดออกเสียง” ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ อาจถูกจับไปเชื่อมโยงและเพิ่มน้ำหนักในเชิงพฤติการณ์ให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวได้แม้เป็นคนละเรื่องเดียวกัน
การตรวจสอบจริยธรรมฯ ของนักการเมืองพรรคสีส้ม เป็นผลพวงจากคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค ก.ก. และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เป็นเวลา 10 ปี จาก “คดีล้มล้างการปกครอง”
สำหรับ 44 บุคคลที่ถูก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตรวจสอบจริยธรรมฯ คืออดีต สส. ก้าวไกลที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขมาตรา 112 โดยมี 25 คนเป็น สส. พรรค ปชน. รวมถึงนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค ปชน. ด้วย, 11 คนอยู่นอกสภา, 8 คนเป็น กก.บห. ที่ถูกสั่งให้ “เว้นวรรคการเมือง”
ที่มา BBC.co.uk