
เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้จัดงานเสวนา ‘ห้อง (พิจารณาคดี) เเห่งความลับ กับหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย’ ณ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวันเดียวกับที่สภาผู้เเทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถึงเเม้ท้ายที่สุดหลังจาก ‘เบนจา อะปัน’ ชี้เเจ้งต่อสภาฯ รองประธานสภาฯ ประกาศปิดประชุม ทำให้การลงมติร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวถูกเลื่อนออกไป เเละจะมีการลงมติในวันที่ 16 ก.ค. 2568 เเทน
เสวนาเกิดขึ้น เนื่องจากในคดีการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2567) ศูนย์ทนายฯ พบว่า ศาลมักห้ามไม่ให้มีการนำเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดีมาเปิดเผย อาทิ กรณีของ ‘อานนท์ นำภา’ วันที่ 28 มี.ค.2568 ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีละเมิดอำนาจศาลของอานนท์ในห้องเวรชี้เเทนที่ห้องพิจารณาคดี ทำให้ประชาชนที่มารอฟังคำพิจารณาไม่สามารถเข้าฟังได้ มีเพียงทนายจำเลย เเละตัวอานนท์เท่านั้นที่ได้รับฟังคำพิจารณาคดี ทั้งที่การพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยเป็นรากฐานของสิทธิมนุษนยชน เสวนานี้ยังมุ่งหวังว่าจะสร้างความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวและนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอทางวิชาการต่อผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรม
วงเสวนาครั้งนี้ประกอบด้วยวิทยากร 4 คน ได้เเก่
- รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ซึ่งเคยนั่งฟังอานนท์ให้การต่อศาลหลายครั้ง มากไปกว่านั้นสมชายเคยเป็นพยานในคดีของอานนท์
- ผศ.ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับผิดชอบในรายวิชา กฎหมายกับสังคม,กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ
- จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความสิทธิมนุษยชน เเละเป็นทนายของอานนท์ในคดีละเมิดอำนาจศาล
- สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์ ผู้สื่อข่าวประชาไท ซึ่งมีประสบการณ์ในการสังเกตการณ์เเละรายงานข่าวจากห้องพิจารณาคดีตั้งเเต่ปี 2555
- ดำเนินรายการโดย ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช
ก่อนเริ่มเสวนา มาร์กาเร็ต แซทเทิร์ธไวต์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ กล่าวปาฐกถาเรื่อง ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ เธอนั้นยืนยันถึงความสำคัญของการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย เเละเเสดงความกังวลถึงกรณีการอ่านคำพิพากษาเเบบลับในคดีละเมิดศาลของอานนท์ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. อย่างไรก็ดี การกระทำดังกล่าวขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ซึ่งระบุว่าให้อ่านคำพิพากษาใน ‘ศาลโดยเปิดเผย' เธอยังกล่าวว่าหลักการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยเป็นพื้นฐานสำคัญของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
เกิดอะไรขึ้นในวันอ่านคำพิพากษา
วงเสวนาดังกล่าวเริ่มจากจันทร์จิรา ทนายความผู้อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 28 มี.ค. 2568 ซึ่งเป็นวันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในคดีละเมิดอำนาจศาล จันทร์จิราเล่าว่าในคดีนั้นศาลไม่ได้มีการสั่งพิจารณาคดีเเบบลับเเต่วันอ่านคำพิพากษาศาลกลับให้ทนายของอานนท์เเละอานนท์ลงไปในห้องเวรชี้ซึ่งอยู่บริเวณใต้ถุนศาลและใช้สำหรับพิจารณาคดีเล็กๆ หรือสำหรับการขึ้นศาลวันเเรกโดยปกติการการอ่านคำพิพากษาจะอ่านในห้องพิจารณาคดีเเละประชาชนสามารถร่วมรับฟังได้ อย่างไรก็ดีการกระทำดังกล่าวไม่ใช่การอ่านคำพิพากษาอย่างเปิดเผยเเละขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญา เพราะมิใช่การอ่านคำพิพากษาอย่างเปิดเผย
จันทร์จิรา เล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า ตนในฐานะทนายความของอานนท์ได้เดินทางไปที่ห้องพิจารณาคดี 809 ตามนัด เเต่เวลาผ่านไปศาลก็ยังไม่เบิกตัวอานนท์ขึ้นมาที่ห้อง ท้ายที่สุดตำรวจศาลได้ขึ้นมาเเจ้งว่าให้ทนายความลงไปที่ห้องเวรซี้ในห้องดังกล่าว ศาลได้ปรากฎตัวผ่านจอภาพ สื่อสารผ่านไมโครโฟน อานนท์โต้เเย้งว่าการกระทำนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องอ่านโดยเปิดเผย เเต่ศาลกล่าวว่าการอ่านคำพิพากษาเช่นนี้ได้ปรึกษาผู้บริหารศาลเป็นที่เรียบร้อยเเล้ว เเละมีการอ่านในลักษณะนี้มาเเล้วหลายคดี อานนท์ร้องขอว่าขอว่าให้ประชาชนเข้ามารับฟังด้วยจะได้เป็นการอ่านต่อหน้าประชาชนซึ่งศาลปฏิเสธ อานนท์จึงพยายามขัดขืน ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ศาลได้จับตัวอานนท์ขึ้นไปนั่งที่เก้าอี้เเละศาลเข้าไปอ่านคำพิพากษา
นอกจากนี้ ที่ผ่านมามี 7 คดีที่ศาลห้ามไม่ให้มีการเผยเเพร่กระบวนการพิจารณคดีโดย 6 คดีเเรกใช้คำสั่งตัวเดียวกันทั้งที่เป็นชุดผู้พิพากษาคนละชุด จันทร์จิราตั้งข้อสังเกตว่าอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เเต่เป็นเเนวนโยบายของผู้บริหารศาลอาญา มีเพียงคดีที่ 7 ที่การประกาศห้ามเเตกต่างออกไป
เมื่อข้อยกเว้นกลายเป็นบทหลัก: สิ่งผิดปกติในกระบวนการยุติธรรม
สมชาย ปรีชากุล เริ่มบทสนทนาโดยตั้งคำถามว่า ‘เราต้องคุยเรื่องการพิจาณาคดีในโลกปัจจุบันจริงเหรอ?’ สมชาย กล่าวว่า หลังจากการปฏิรูปการศาลไทยใน ค.ศ. 1908 ทำให้การพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยกลายเป็นสากล เเล้วเหตุไฉนเราจึงกลับมาคุยเรื่องกระบวนการยุติธรรม สมชายได้อ้างถึงเหตุการณ์ที่เขาได้มีโอกาสพูดคุยกับนิติกรชำนาญการพิเศษ เขาได้ซักถามนิติกรว่าเหตุใดจึงมีการอ่านคำพิพากษาในลักษณะเช่นนี้ นิติกรตอบว่า ‘การอ่านอย่างเปิดเผยคือเปิดเผยต่อหน้าจำเลย' ซึ่งผิดกับกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ที่การพิจารณาคดีต้องเป็นสาธารณะไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของจำเลย เเต่เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าการพิจารณาคดีนั้นถูกต้อง
ในรัฐธรรมนูญบางฉบับมีหลักประกันการพิจารณาโดยเปิดเผย เเต่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ระบุในส่วนนี้ ซึ่งสมชาย มองว่าถึงเเม้จะไม่ระบุเเต่ก็ไม่ได้ทำให้สาระสำคัญของการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยสูญเสียไป อย่างไรก็ดี บางคดีอาจมีข้อยกเว้นให้พิจารณาคดีลับได้ อาทิ คดีล่วงละเมิดทางเพศ เเต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าข้อยกเว้นจะกลายเป็นบทหลัก ตัวอย่างเช่นการใส่เครื่องพันธนาการ อาทิ กุญเเจเท้า ระบุว่าใส่ไม่ได้เว้นเเต่จะมีข้อยกเว้น เหตุใดจำเลยที่มาศาลถึงใส่เครื่องพันธนาการกันหมด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ราชทันฑ์ให้เหตุผลว่ารัฐไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะควบคุมดูเเลนักโทษจึงต้องใช้เครื่องพันธนาการ เป็นเหตุให้นักโทษทุกคนโดนรินลอดเสรีภาพในปัจจุบัน
เพราะอะไรถึงต้องพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย ?
ประเด็นถัดมาคือความสำคัญของการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยในต่างประเทศโดย พัชร์ นิยมศิลป ระบุว่าประเด็นที่ตนจะกล่าวถึงในวันนี้ประกอบด้วย 3 ประเด็นดังนี้
- การตัดสินคดีผิดพลาด
- ทำไมต้องมีการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย
- ข้อยกเว้นในการพิจารณาคดีเปิดเผย
สำหรับการตัดสินคดีที่ผิดพลาดนั้นโลกตะวันตกมองว่ากระบวนการยุติธรรมต้องค่อยเป็นค่อยไป ห้ามเกิดความผิดพลาด ปัจจัยที่ทำให้เกิดการพิจารณาคดีที่ผิดพลาดได้เเก่
- การตัดสินผิดพลาดอันเกิดจากตัวผู้พิพากษาหรือบุคคลในกระบวนการยุติธรรม อาทิ จับพยานเท็จไม่ได้
- ลูกขุนไม่เข้าใจกติกา หรือทนายความมีเวลาไม่พอทำให้ไม่สามารถสู้คดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การประพฤตติมิชอบของอัยการ, แรงกดดันจากภาคกการเมือง, การเลือกปฏิบัติจากศาล
เมื่อเกิดการพิจารณาคดีที่ผิดพลาดทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจกระบวนการยุติธรรม พัชร์ระบุว่าในระบบกฎหมายเเบบ General Law สร้างความไว้วางใจผ่านระบบลูกขุน นอกเหนือจากระบบลูกขุนศาลสามารถสร้างความไว้วางใจผ่านการเป็นอิสระ, ความโปร่งใส, บุคลากรมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น, ศาลได้มาตรฐานสากล, ศาลสามารถคาดหมายได้ กล่าวคือหากจะมีการเปลี่ยนเเนวทางคำพิพากษาต้องมีเหตุผลมากพอ
ประเด็นต่อมาคือเรื่องของสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาซึ่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ระบุว่า ทุกคนควรมีสิทธิ์ในการต่อสู้เเละการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยโดยศาลที่เป็นอิสระเที่ยงธรรม
พัชร์ ขยายความว่า การพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยในคดีอาญาจะต้องกระทำโดยวาจาเเละเปิดเผย ซึ่งช่วยรักษาผลประโยชน์ส่วนบุคคลเเละสาธารณะ สาเหตุที่ต้องกระทำโดยวาจาเพื่อให้เกิดการโต้เเย้งโดยทันที ซึ่งสามารถสังเกตได้ว่าสิ่งใดผิดปกติภายใต้น้ำเสียงนั้น การพิจารณาโดยเปิดเผยหมายถึงการประกาศนัดหมายเเละจัดเตรียมสถานที่ให้สาธารณชนสามารถรับฟังกระบวนการพิจารณาคดีได้ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ประชาชนทราบว่าศาลไม่ได้ทำอะไรผิดปกติ เเละทำให้สาธารณชนมั่นใจในการทำหน้าที่ของศาล ในส่วนของประเด็นข้อยกเว้นการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยพัชร์จะกล่าวถึงในเสวนารอบถัดไป
บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา: มุมมองจากเเวดวงสื่อ
สรวุฒิ นักข่าวจากประชาไท เริ่มพูดจากประสบการณ์การทำงานสื่อที่มักเข้าไปสังเกตการพิจารณาคดีบ่อยครั้ง สรวุฒิมองว่าในปัจจุบันศาลได้กลายเป็นคู่ขัดเเย้งกับประชาชนเป็นที่เรียบร้อยเเล้ว
10 ปีที่เเล้วประมาณปี 2555 สรวุฒิ ทำงานอยู่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.fifty three ทำให้ต้องไปติดตามคดีในศาลอยู่เสมอ ช่วงเวลานั้นสรวุฒิกล่าวว่าเป็นช่วงที่ทำงานง่ายที่สุดเพราะสามารถเข้าไปในห้องพิจารณาคดีเเละอัดเสียงหรือจดบันทึกการพิจารณาคดีได้อย่างง่ายดาย จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อวันหนึ่งมีทหารเดินเข้ามาในศาลพร้อมกับขอให้ผู้พิพากษาเเจ้งว่าไม่ให้มีการรายงานข่าวจากห้องพิจารณาคดี สรวุฒิมองว่าอาจเป็นเพราะในการรายงานมีการระบุรายชื่อทหารที่เป็นพยาน ท้ายที่สุดมีข้อตกลงกันว่าจะรายงานข่าวโดยไม่ระบุชื่อพยาน
ในยุคของศาลทหารภายใต้อำนาจของคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) มีการสั่งพิจารณาคดีลับ เเต่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ได้มีการปิดกันสื่อเพราะโดยปกตินักข่าวส่วนใหญ่ไม่ได้นิยมเข้าไปนั่งฟังในห้องพิจารณาคดี สรวุฒิระบุถึงบรรยากาศการสังเกตการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว การห้ามรายงานข่าวเริ่มหนักขึ้นภายหลังคดีในศาลทหารถูกย้ายไปศาลพลเรือน จากประสบการณ์สรวุฒิระบุว่า ช่วงเวลานั้นสื่อทำได้เเต่เพียงรอสัมภาษณ์อยู่หน้าศาล มีการสั่งห้ามเผยเเพร่การพิจารณาคดี ครั้งหนึ่งสรวุฒิเคยไปสังเกตการพิจารณาคดีเมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ศาลกลับถามว่า ‘มาทำอะไร’ ‘เป็นนักข่าวที่เคยอบรมกับศาลไหม’
จดหมายจากอานนท์ถึงอธิบดีศาลอาญา
วงเสวนาวนกลับมาที่จันทร์จิราอีกครั้ง ในรอบนี้เธอเล่าว่าได้โต้เเย้งศาลถึงความไม่ชอบในการอ่านคำพิพากษาในห้องเวรชี้ ศาลตอบเป็นลายลักษร์อักษระบุว่า การนำการพิจารณาคดีเผยเเพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ทำให้เกิดความวุ่นวาย เเละศาลได้ปรึกษาผู้บริหารศาลเเล้ว จึงใช้ดุลยพินิจในการอ่านคำพิพากษาต่อหน้าผู้ถูกกล่าวหาเเละทนายความโดยชอบด้วยกฎหมาย จันทร์จิราอธิบายว่าจากข้อความดังกล่าวทำให้เห็นว่าศาลยังอ้างว่าการอ่านโดยเปิดเผยคือการอ่านต่อหน้าคู่ความ
จันทร์จิรา ยังระบุว่าคดีละเมิดอำนาจศาลของอานนท์ยังมีความผิดปกติในเรื่องอื่นๆ ดังนี้
- ในตอนเเรกศาลสั่งว่าจะพิจารณาคดีดังกล่าวเป็นคดีลับ ท้ายที่สุดเกิดการโต้เเย้งระหว่างอานนท์เเละศาลทำให้ศาลตัดสินใจไม่พิจารณาคดีลับ
- ศาลไม่อนุญาตให้คัดดเอกสารหรือคลิปวีดิโอ ทั้งที่ปกติคู่ความสามารถเข้าถึงได้
หลังจากการพิจารณาคดีโดยมิชอบ อานนท์ได้ส่งจดหมายถึงอธิบดีศาลอาญาเเละจัดทำหนังสือเรียนถึงประธานศาลฎีกาเพื่อถามถึงความผิดปกติในกรณีดังกล่าวโดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
- อาศัยอำนาจใดในการอ่านคำพิพากษาในห้องเวรชี้
- การอ่านในห้องเวรชี้ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ภายใต้อำนาจของท่านอย่างไร
- ผู้พิพากษาเเละนิติกรชำนาญการพิเศษ ตีความว่าการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยคือการอ่านต่อหน้าโดยจำเลย ท่านตีความการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยว่าอย่างไร
- การใช้พละกำลังในการบังคับให้ฟังคำพิพากษาเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน อธิบดีทราบถึงการกระทำข้างต้นหรือไม่
ณ วันที่เสวนา จดหมายฉบับนั้นยังไม่ได้รับการตอบรับจากทั้งอธิการบดีศาลอาญาเเละประธานศาลฎีกา สุดท้ายนี้จันทร์จิรากล่าวทิ้งท้ายว่า “ควาไม่ปกติในกระบวนการพิจารณาที่เจอ ทำให้เราต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้ได้ความปกติตามหลักการปกติในคดีมาตรา 112”
คดีการเมืองสะท้อนกระบวนการยุติธรรม
สมชาย มองว่า การพิจารณาคดีที่อ่อนไหวสะท้อนว่ากระบวนการยุติธรรมประเทศนั้นเป็นอย่างไร เช่น คดีการเมืองอย่าง 112 สมชายยังตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดถึงเกิดปรากฎการณ์เช่นนี้ เขามองว่าไม่ใช่เพราะท่านผู้พิพากษาไม่รู้กฎหมาย แต่เป็นเรื่องของการที่ผู้พิพากษาไม่เป็นอิสระ ทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรม สุดท้ายสมชายกล่าวว่าข้อเสนอของตนนั้นเรียบง่ายคือขอให้ศาลทำตามหลักกฎหมาย
สาธารณชนคือกำลังสำคัญในการตรวจสอบ
พัชร์ เริ่มจากการอธิบายว่าในห้องพิจารณาคดีต้องอยู่ในสภาวะที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ให้มีบรรยากาศที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเหนือกว่า
ในรอบนี้พัชร์ อธิบายประเด็น ‘ข้อยกเว้นในการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย' ‘พัชร์ยังเเย้งถึงการที่จับขังผู้ต้องหาคดี 112 ก่อนที่จะมีการตัดสินคดี เขาระบุว่าในรัฐธรรมนูญกล่าวว่าห้ามปฏิบัติผู้ต้องหาอย่างนักโทษจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ข้อเรียกร้องของพัชร์คือกระบวนการยุติธรรมที่เป็นสากลซึ่งไม่ได้ง่าย ต่อมาพัชร์ได้กล่าวถึงข้อยกเว้นในการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยโดยต้องยืนอยู่บนข้อจำกัด 3 ข้อตามหลักสากล ได้เเก่
- ยืนอยู่บนศีลธรรม, ความสงบเรียบร้อย, ความมั่นคงของชาติ เเละฐานของประชาธิปไตย พัชร์ อธิบายว่า การที่ศาลสั่งห้ามการรายงานคือการห้ามการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งถือเป็นการจำกัดประชาธิปไตยในการมีส่วนร่วมของประชาชน
- เพื่อประโยชน์เเละรักษาชีวิตส่วนตัวของคู่กรณี
- การพิจารณาอย่างเปิดเผยจะทำลายความยุติธรรม ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของศาล
การอ่านคำพิพากษาอย่างเปิดเผยต่อสาธาณชน พัขร์ ขยายความว่า สาธารณชนในที่นี้หมายถึงสื่อมวลชนเเละห้ามจำกัดใครในการเข้าฟังคำพิพากษา สำหรับคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ข้อเสนออีกข้อคือ การทำให้คำพิพากษาทั้งหมดโปร่งใสcละเปิดเผยคำพิพากษาต่อสาธารณะ เพราะสาธารณชนจะเป็นผู้ตรวจสอบว่าการทำความผิดนี้สมควรได้รับโทษหรือไม่ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญของประชาธิปไตย
นั่งเล่นในห้องพิจารคดี ประชาชนได้เรียนรู้
สรวุฒิ อธิบายเพิ่มเติมการที่ศาลกลายเป็นคู่ขัดเเย้งโดยยกกรณีของอานนท์ กล่าวคือในคดีของอานนท์ไม่สามารถเบิกพยานหลักฐาน ซึ่งสรวุฒิระบุว่าในคดีการเมืองสื่อรายงานได้เพียงเเค่กระบวนการพิจารณาคดี การที่ศาลสั่งห้ามรายงานกระบวนการพิจารณาคดีทำให้สื่อไม่สามารถทำงานได้ การที่ศาลเเก้ปัญหาผ่านการอ่านคำพิพากษาในห้องเวรชี้ทำให้ศาลกลายเป็นคู่ขัดเเย้งกับประชาชนที่มารอฟังคำพิพากษา ข้อเสนอของสรวุฒิอาจดูเเตกต่างจากวิทยากรท่านอื่นๆ เขาสนับสนุนให้ประชาชนไปนั่งฟังการพิจารณาคดีในศาลเพื่อให้เห็นความเเตกต่างระหว่างคดีการเมืองเเละคดีอื่นๆ
ที่มา ประชาไท ( prachatai.com )