
‘กรมชลประทาน’ เปิดรับฟังความคิดเห็นฯ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก ‘พ.ร.บ.รักษาคลอง ร.ศ.121' หลังใช้มาแล้วกว่า 120 ปี ชี้มีกฎหมายอื่นใช้บังคับแทนกันได้-ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
……………………………..
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกพระราชบัญญัติรักษาคลอง รัตนโกสินทรศก (ร.ศ.) 121 (พ.ศ.2445) หลังจาก พ.ร.บ.รักษาคลอง ฉบับดังกล่าว บังคับใช้มาแล้วกว่า 120 ปี โดยกรมชลประทาน จะเปิดรับฟังความคิดเห็นฯไปจนถึงวันที่ 29 ส.ค.2568
สำหรับเหตุผลในการยกเลิก พ.ร.บ.รักษาคลอง รัตนโกสินทรศก 121 นั้น เนื่องจากบทบัญญัติบางมาตราแห่งกฎหมายว่าด้วยรักษาคลอง ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งการดูแลรักษาแหล่งน้ำสาธารณะ แม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ ทะเลในน่านน้ำไทย หรือบนชายหาดของทะเล อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน และมีกฎหมายอื่นที่สามารถใช้บังคับแทนได้
ทั้งนี้ พ.ร.บ.รักษาคลอง รัตนโกสินทรศก 121 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการจัดการบำรุงรักษาคลองที่ชำรุดตื้นเขิน เพื่อให้เป็นประโยชน์และความสะดวกแก่การสัญจรของราษฎรให้มากยิ่งขึ้น และเพื่อบำรุงรักษาคลองเก่าที่มีอยู่แล้วและคลองที่จะขุดขึ้นใหม่ให้เรียบร้อย และมีเนื้อหาสาระของกฎหมาย ได้แก่ การจัดให้มีถนนหลวงริมคลองฝั่งเดียวหรือทั้ง 2 ฝั่ง การห้ามทิ้งสิ่งโสโครกลงในคลอง ทางน้ำลำคู การห้ามพาสัตว์พาหนะขึ้นลงในคลอง นอกจากท่าข้าม
การห้ามกระทำการใดๆ ที่จะทำให้คลอง ฝั่งคลองหรือถนนหลวงเสียหาย การจัดซื้อที่ดินของราษฎรบริเวณริมคลองสำหรับเป็นถนนหลวงฝั่งละ 6 ศอก การห้ามปลูกสร้างใดๆ ลงในเขตถนนหลวง การห้ามทำสะพานข้ามคลองหรือสะพานท่าน้ำ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานปกครองในท้องที่นั้น และบทกำหนดโทษ เป็นต้น มี รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งขอบเขตหรือพื้นที่บังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ได้แก่คลองและทางน้ำ ลำคูอื่นซึ่งไหลมาลงคลองได้
ต่อมาภายหลัง พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 มีผลใช้บังคับ ได้มีบทบัญญัติมาตรา 3 ห้ามมิให้นำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.รักษาคลอง รัตนโกสินทรศก 121 มาใช้สำหรับทางน้ำที่ได้ประกาศให้เป็นทางน้ำชลประทาน โดยมีประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่อง กำหนดทางน้ำชลประทานตาม พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งส่งผลให้กรมชลประทานมีหน้าที่และอำนาจตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ไม่มีการนำบทบัญญัติใน พ.ร.บ.รักษาคลอง รัตนโกสินทรศก 121 มาใช้บังคับ
อีกทั้ง พ.ร.บ.รักษาคลอง รัตนโกสินทรศก 121 เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน การใช้ระบบอนุญาต ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ชื่อตำแหน่งและหน่วยงาน และโทษทางอาญากำหนดไว้ต่ำเกินไป ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน บทบัญญัติดังกล่าวซ้ำซ้อนกับบทบัญญัติของกฎหมายหลายฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
ประกอบกับข้อกำหนดต่างๆ ใน พ.ร.บ.รักษาคลอง รัตนโกสินทรศก 121 มีกฎหมายอื่นใช้บังคับแทนกันได้โดยเฉพาะ และมีลักษณะเหมาะสมกับสภาพการณ์มากกว่า บังคับใช้อยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พุทธศักราช 2456 พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )