
พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว.-ประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เชิญ 3 บริษัท ผู้ควบคุมงาน-บริษัทออกแบบก่อสร้าง ชี้แจง ตึกสตง.แห่งใหม่ ถล่ม
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 ที่รัฐสภา พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมกมธฯ เพื่อพิจารณาระเบียบวาระ ศึกษาประเด็นกรณีโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ทรุดตัวทั้งอาคาร เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 โดยได้เชิญบริษัทผู้ควบคุมงานและบริษัทออกแบบออกก่อสร้างชี้แจง จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ กิจการร่วมค้า (Joint Endeavor) PKW (ผู้ให้บริการควบคุมงาน) กิจการร่วมค้า บริษัทฟอ-รัม อาร์คิเทคจำกัด และบริษัท ไมน์ฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้ออกแบบ)
พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ครั้งที่แล้วกมธฯได้เชิญโรงงานเหล็ก แต่ไม่มา ซึ่งการพิจารณาจะดูว่าจุดใดบกพร่อง หรือดำเนินการไม่เป็นไปตามสัญญา และจัดทำเป็นรายงานและข้อสังเกตให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
พล.ต.ต.ฉัตรวรรษกล่าวว่า จากการซักถามในส่วนบริษัทกิจการร่วมค้าเป็นผู้ควบคุมการออกแบบการก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญา กรณีการแก้สัญญา ได้ชี้ว่า เป็นไปตามเงื่อนไข เนื่องจากช่วงที่มีการขยายสัญญาเป็นช่วงการเกิดโรคระบาดโควิด-19 โดยให้ถ้อยคำยืนยันมาว่า ทุกอย่างทำตามขั้นตอนทุกอย่างในการควบคุมเวลาการก่อสร้าง รวมถึงการประสานกับวิศวกรควบคุมงานก่อสร้างตามระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงการตรวจของคณะกรรมการตรวจงานของ สตง
พล.ต.ต.ฉัตรวรรษกล่าวว่า ขณะที่บริษัทฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ออกแบบสถาปัตยกรรม ในแต่ละชั้นของอาคารสตง.แห่งใหม่ ก็ดำเนินการไปตามวัตถุประสงค์ของ สตง. ที่ได้ทำสัญญาไว้ ซึ่งได้สอบถามว่าเกินความจำเป็นหรือไม่ ซึ่งได้ชี้แจงมาว่า สตง.มีความประสงค์ที่จะใช้งานทุกตางนิ้วในพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
พล.ต.ต.ฉัตรวรรษกล่าวว่า สำหรับ บริษัท ไมน์ฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งบริษัทออกแบบโครงสร้างนั้น ทุกอย่างได้ประสานงานกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และเป็นไปตามกฎหมายทั้งฉบับเก่าและฉบับใหม่เมื่อปี 2561 ที่ออกมากำหนดให้การออกแบบรองรับการเกิดแผ่นดินไหวได้
“ส่วนที่บอกว่ามีการแก้แบบหรือโครงสร้างนั้น ไม่ได้เป็นโครงสร้างหลัก ไม่ว่าจะเป็นความหนาของสิ่งที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามความเหมาะสมการใช้งาน หรือใช้ประโยชน์ เช่น ช่องบันไดหนีไฟ เป็นการออกแบบโครงสร้างที่เป็นไปตามกฎหมาย และมาตรฐานสากล โดยมีประสบการณ์สร้างอาคารสูงมากกว่าตึกสตง.มากมาย”พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าว
@ พลตำรวจตรี ฉัตรวรรษ แสงเพชร @
พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า การทำงานของ กมธ.ฯเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งจาก การออกแบบ โครงสร้างและสถาปัตยกรรม ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีผู้รับรองหรือไม่ และมีการตรวจสอบทุกระยะหรือไม่
“การออกแบบขั้นต้น ทุกฝ่ายดูแล้วชอบ ถูกต้อง เพราะตอนออกแบบในปี 61 62 ยังไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดแผ่นดินไหว เพราะฉะนั้น ทุกอย่างก็เป็นไปตามสเปคที่กฎหมายกำหนด และมาตรฐาน และที่สำคัญก็คือ โยธาธิการรับรองทุกอย่างในการออกแบบไปแล้ว”พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าว
พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า ส่วนการให้การในเรื่องการแก้แบบปล่องลิฟต์ ไม่ได้เป็นการแก้แบบในส่วนของโครงสร้าง เป็นการปรับเพิ่มลดเพียงเล็กน้อย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง เช่น ผนัง ซึ่งในการแก้แบบหรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยมีการประชุมทุกขั้นตอน โดยผู้ชี้แจงได้ยืนยันว่า สร้างไปตามแบบ
พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า กมธฯ จะมีการประเมิน หรือพิจารณาในครั้งสุดท้าย ต้องฟังรอบด้านจากทุกองค์กร เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว เอกเชน นักวิชาการ นักธรณีวิทยาเกี่ยวกับแผ่นดินไหว กรุงเทพมหานคร และกรมโยธาฯ ต้องเชิญเข้ามาชี้แจง และจะนำข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่ดำเนินการตรวจสอบมาศึกษาสรุปเพื่อชี้ข้อบกพร่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไข ปรับปรุง หรือแม้กระทั่งดำเนินคดี แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถก้าวล่วงได้ เป็นการดำเนินการคู่ขนานให้สังคมได้รับทราบ
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )