
แพร่ประกาศ ปปง.ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอรับ-ชดใช้คืนทรัพย์สิน คดี ชยาวรรณ กันทอง กับพวก อ้างเป็นผู้บริหารโครงการหลวง ชักชวนให้ร่วมลงทุน เป็นสมาชิกกรรมาธิการ ดูแลผลประโยชน์นับพันล้าน ให้ผลตอบแทนสูง ชื่อมูลนิธิชัยพัฒนาโดนอ้างด้วย คดีอยู่ในชั้นศาล หลัง คณะกรรมการธุรกรรมสั่งอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.israenws.org) รายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 23 พ.ค.2568 เผยแพร่ ประกาศสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เรื่อง ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเพื่อขอรับคืนหรือชดใช้คืนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือชดใช้ ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน รายคดี นางชยาวรรณ กันทอง กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กรณีอ้างว่าเป็นกลุ่มผู้บริหารโครงการหลวง ชักชวนกลุ่มผู้เสียหายและประชาชนทั่วไปให้ร่วมลงทุนและสมัครเข้าเป็นสมาชิกกรรมาธิการโครงการหลวงหลายโครงการ หลังคณะกรรมการธุรกรรมมีมติเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2568 ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน มีรายละเอียดดังนี้
ด้วยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2568 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ประธานกรรมการธุรกรรมได้มีคำสั่งที่ ย.118/2568 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) และ (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 คดีราย นางชยารรณ กันทอง กับพวก กล่าวคือ
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อเนื่องถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 นางชยาวรรณ กันทอง นายจารุเดช ใบบัว นายสิ่งชร ศิริโยธา นายวิโรจน์ แปะก๋งเส้ง และนางสาวพิชญา พรหมวี ได้ชักชวนกลุ่มผู้เสียหายและประชาชนทั่วไปให้ร่วมลงทุนและสมัครเข้าเป็นสมาชิกกรรมาธิการโครงการหลวงหลายโครงการ เช่น โครงการมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิภูบดินทร์ และมูลนิธิราชสกุลอาภากร
โดยนางชยาวรรณ กันทอง กับพวก กล่าวอ้างด้วยการแนะนำว่าตนเองได้รับการแต่งตั้งจากผู้ใหญ่ ให้เป็นประธานโครงการดังกล่าว มีนางชยาวรรณ กันทอง ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้สั่งการซึ่งจะเรียกกันว่า นายใหญ่ และมีนายจารุเดช ใบบัว แนะนำตัวว่าเป็นผู้ประสานงานกับ กองงาน นายสิงชร ศิริโยธา นายวิโรจน์ แปะก๋งเส้ง และนางสาวพิชญา พรหมวี อ้างว่าเป็นกลุ่มผู้บริหารโครงการและกล่าวอ้างว่าโครงการต้องการคนเข้ามาเป็นกรรมาธิการเพื่อดูแลผลประโยชน์ของโครงการซึ่งมีเงินทุนหลายพันล้านบาท
มีวิธีการร่วมลงทุน คือ กลุ่มผู้เสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินคนละ 63,325.42 บาท เพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกกรรมาธิการ โดยให้โอนเงินลงทุนไปยังบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 9291235636 ชื่อบัญชี นางชยาวรรณ กันทอง และแจ้งว่าจะได้รับเงินจากการลงทุน 13 ล้านบาท แบ่งจ่าย 2 งวด งวดที่ 1 จำนวน 25% จะได้รับภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 งวดที่ 2 อีกจำนวน 75% จะได้รับภายในวันที่ 31 มีนาคม 2566 โดยเงินจะถูกโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่กลุ่มผู้ต้องหาให้กลุ่มผู้เสียหายและสมาชิกเปิดบัญชีไว้แล้ว นอกจากนี้ยังจะได้รับเงินจาก 50 หน่วยงานของรัฐ อีกหน่วยงานละ 1 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 50 ล้านบาท ต่อคนต่อปี ภายหลังจากมีการประกาศรายชื่อกรรมาธิการในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ต่อมาเมื่อถึงวันครบกำหนดที่จะต้องได้รับเงินลงทุนพร้อมผลตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้ กลุ่มผู้เสียหายได้สอบถามไปยังผู้บริหารโครงการถึงผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าว แต่ได้รับการบ่ายเบี่ยงเรื่อยมาจนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 กลุ่มผู้เสียหายได้เห็นภาพข่าวกรณีนางชยาวรรณ กันทอง กับพวก ลวงลวงผู้อื่น จึงเชื่อว่าตนน่าจะถูกกลุ่มบุคคลดังกล่าวลวงลวงให้นำเงินเข้าร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน กลุ่มผู้เสียหายจึงเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่นางชยาวรรณ กันทอง กับพวก
ต่อมาพนักงานสอบสวนตามคดีอาญาที่ 4/2567 มีความเห็นควรสั่งฟ้องนางชยาวรรณ กันทอง กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 มาตรา 33 มาตรา 341 มาตรา 343 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1)
พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดธัญบุรีในคดีหมายเลขดำที่ อ 1731/2567 อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) และ (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 25542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นางชยาวรรณ กันทอง กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 49/1 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2565 และข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงการคืนหรือการชดใช้คืนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน พ.ศ. 2567 จึงขอให้บุคคลผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดมูลฐานในรายคดีดังกล่าวและไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้น ยื่นคำร้องเพื่อขอรับคืนหรือชดใช้คืนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินภายใน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ รายละเอียดการยื่นคำร้องปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้ ดูประกาศในลิงก์: https://ratchakitcha.soc.rush.th/paperwork/71492.pdf
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )