
“รัฐบาลจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร” ฝ่ายค้านถาม หลังสภาโหวตยืนยันกฎหมายประชามติ

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX
Article Files
-
- Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
- Role, ผู้สื่อข่าว.
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ 375 ต่อ 0 ยืนยันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่สภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบแล้ว หลังร่างกฎหมายนี้ “ถูกแขวน” เอาไว้กว่า 180 วัน โดยมี สส. อยู่ 80 คนที่งดออกเสียง
ในการประชุมสภาวันนี้ (16 ก.ค.) สภาได้ยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งถูกยับยั้งไว้ตามมาตรา 137 (3) ของรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาพิจารณาใหม่ หลังก่อนหน้านี้เมื่อ 18 ธ.ค. 2567 สภาลงมติ “ไม่เห็นชอบ” กับร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันได้พิจารณา
การลงมตินี้ต้องอาศัยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือ 248 เสียง จาก สส. ทั้งหมด 493 คน
เหตุที่การตรากฎหมายประชามติต้องล่าช้ากว่าครึ่งปี เป็นเพราะวุฒิสภาโหวตสวนมติของสภาผู้แทนฯ ด้วยการแก้ไขหลักการสำคัญของร่างกฎหมายนี้ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “อุปสรรค” ที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เกิดขึ้นในรัฐบาลภายใต้การนำจของพรรคเพื่อไทย (พท.)
ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ผ่านวาระ 3 ของสภาผู้แทนฯ ด้วยมติเอกฉันท์ 409 เสียง โดยกำหนดให้ใช้ “เสียงข้างมากชั้นเดียว” (Straightforward Majority) ในการหาข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต่อมาวุฒิสภาได้โหวตรับหลักการในวาระ 1 แต่มากลับหลักการ-พลิกมติตัวเองในวาระ 2 และ 3 ให้กลับไปใช้ “เสียงข้างมาก 2 ชั้น” (Double Majority) ในการหาข้อยุติกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
Skip ได้รับความนิยมสูงสุด and proceed studyingได้รับความนิยมสูงสุด
Stop of ได้รับความนิยมสูงสุด
เมื่อความเห็นของ สส. กับ สว. ไม่ตรงกัน จึงต้องตั้ง กมธ. ร่วมกัน 2 สภาเพื่อพิจารณาร่าง โดยที่แกนนำ สว. “สีน้ำเงิน” อย่าง พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว.กลุ่ม 2 (กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม) บุกไปยึดเก้าอี้ประธานและควบคุมทิศทางได้ ร่างที่ผ่านการพิจารณาของ กมธ. ร่วมฯ จึงยืนตามร่างของวุฒิสภา ก่อนส่งกลับไปให้แต่ละสภาพิจารณา
ผลปรากฏว่าสภาผู้แทนฯ โหวตไม่เห็นด้วย ร่าง พ.ร.บ.ประชามติจึงถูกแขวนไว้ 180 วัน เมื่อครบกำหนดเมื่อ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา (อยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา) สภาผู้แทนฯ สามารถนำร่างดั้งเดิมของตนมายืนยันได้ และถือว่าผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วโดยไม่ต้องกลับไปถาม สว. อีก

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX
ปชน. ถามนายกฯ จะเดินหน้าแก้ไขปัญหา รธน. ที่ค้างมาหลายปีอย่างไร
ก่อนการลงมติ มี สส. ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนการโหวตยืนยันร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เล็กน้อย โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) และนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ซึ่งเป็นเจ้าของญัตติขอให้ยกร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่ถูกยับยั้งไว้ ขึ้นมาพิจารณาใหม่ ระบุตรงกันว่า ร่างกฎหมายประชามติฉบับนี้ ไม่ได้ต้องการให้ประชามติผ่านง่าย แต่อยากให้การทำประชามติมีความชอบธรรมมากขึ้น
“การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และฉบับปี 2560 ก็ให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดาผ่านประชามติ จึงขอให้สภายืนยันร่างกฎหมายนี้เพื่อปลดล็อกกติกาออกเสียงประชามติให้เป็นเสียงข้างมากชั้นเดียว เพื่อเดินหน้าสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป” นายจาตุรนต์กล่าว
ด้านนายพริษฐ์เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความชัดเจนว่าจะจัดให้ทำประชามติเมื่อไร และใช้คำถามว่าอะไร รัฐบาลไม่ควรใช้เวลานานในการคิด เพราะรัฐบาลและสภาชุดนี้อาจอยู่ต่อไม่นาน จึงคิดว่าควรใช้โอกาสนี้จัดให้มีประชามติพร้อมการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางที่ทั้งสร้างความสะดวกให้ประชาชน ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน และเป็นแนวทางที่ พ.ร.บ.ประชามติฉบับใหม่ระบุไว้ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานจัดประชามติพร้อมเลือกตั้งให้สะดวกขึ้น
“วันนี้หากสภาผ่าน พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ใช่วันที่จะเฉลิมฉลอง แต่เป็นวันที่เราต้องมีคำตอบให้ประชาชนว่าจะแก้รัฐธรรมนูนอย่างไร” เขากล่าวและแสดงความคาดหวังว่านายกฯ และรัฐบาลจะมีคำตอบว่าจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญที่ค้างมาหลายปีอย่างไร
ด้านพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่เคยโหวตเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เมื่อครั้งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล กลาวย้ำสิ่งที่เคยอภิปรายไว้ และมาพูดซ้ำเป็นครั้งที่ 3
น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี พรรค ภท. แสดงความกังวลต่อการใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวในการผ่านประชามติ พรรค ภท. จึงไม่สามารถบอกว่าเห็นด้วยกับร่างนี้ได้อย่างเต็มปาก เพราะไม่ใช่เรื่องรัฐธรรมนูญอย่างเดียว หากในอนาคตต้องออกเสียงประชามติในเรื่องความมั่นคงของประเทศ ถ้าใช้ประชามติชั้นเดียว จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิเกินครึ่งหนึ่ง
“เมื่อต้องยืนยันร่าง พรรค ภท. ไม่ถึงขั้นไม่เห็นด้วย เราเห็นด้วยกับหัว แต่เนื้อใน เราอยากให้มีแนวความคิดรอบคอบมากกว่านี้ เป็นชั้นกรองเพื่อให้สามารถยืนยันประชาชนว่านี่คือเสียงข้างมาก เสียงส่วนใหญ่ในแนวความคิดออกประชามติในเรื่องนั้น ๆ”
“เราคงจะบอกว่าเราเห็นด้วยก็ไม่ได้ เราจะไม่เห็นด้วยก็ไม่ได้ เพราะเราอยู่ตรงกลางระหว่างความก้ำกึ่งของฉบับนี้” โฆษกพรรค ภท. กล่าว

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX
สาระหลัก กม.ประชามติฉบับใหม่
ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับใหม่ มีเนื้อหา 12 มาตรา เป็นการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติปี 2564 มีสาระสำคัญ ดังนี้
- กำหนดให้การออกเสียงที่ถือว่ามีข้อยุติ ใช้ “เสียงข้างมาก” ของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง และต้องมีคะแนนมากกว่าคะแนนไม่แสดงความเห็น จากเดิมให้ใช้ “เสียงข้างมาก 2 ชั้น” ในการผ่านประชามติ ชั้นแรกคือ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจำนวน “เกินกึ่งหนึ่ง” ของผู้มีสิทธิออกเสียง และชั้นที่สอง ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบ “เกินกึ่งหนึ่ง” ของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง
- กำหนดให้วันออกเสียงทำประชามติเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้งอื่นได้ ทั้งวันเลือกตั้ง สส. ใหม่เป็นการทั่วไป หรือวันเลือกตั้งสมาชิกหรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบวาระ เพื่อลดภาระของประชาชนที่ต้องออกไปใช้สิทธิ และลดภาระงานและงบประมาณแผ่นดิน
- กำหนดรูปแบบการออกเสียง โดยเพิ่มช่องทางการออกเสียงทางไปรษณีย์ หรือออกเสียงโดยเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ หรือออกเสียงทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และอาจใช้วิธีลงคะแนนวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี และใช้ในเขตออกเสียงหนึ่งหรือหลายเขตออกเสียง ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กกต. กำหนด จากเดิมที่ใช้บัตรออกเสียงลงคะแนนที่คูหาเท่านั้น
- กำหนดให้ กกต. ต้องจัดให้มีการแสดงความเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามติอย่างรอบด้านเท่าเทียมกัน ทั้งผู้เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ
ผ่านกฎหมายก่อนรู้ว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง
การผ่านกฎหมายประชามติของสภาเกิดขึ้นท่ามกลางข้อถกเถียงในหมู่นักการเมืองและนักวิชาการที่ยังไร้บทสรุปว่าต้องทำประชามติกี่ครั้งกันแน่ บ้างก็ตีความว่าต้องทำประชามติ 2 ครั้ง บ้างก็ว่า 3 ครั้ง
รัฐสภามีมติเมื่อ 17 มี.ค. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) หลังจากประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เข้าสู่การประชุมของรัฐสภา ทว่าไม่ทันได้พิจารณาเนื้อหา บรรดา สส. รัฐบาล และ สว. ก็เสนอญัตติส่งศาลตีความแทรกซ้อนเข้ามา
ต่อมา 9 เม.ย. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของประธานรัฐสภาไว้พิจารณา โดยรับคำถาม 2 ข้อหลัก
ข้อแรก หากรัฐสภามีอำนาจพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้แล้ว การดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ สามารถกระทำภายหลังที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว โดยทำพร้อมกับการทำประชามติว่า ประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ ได้หรือไม่ อย่างไร
ข้อที่สอง รัฐสภาจะพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่ได้มีการทำประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้หรือไม่
จากนั้นศาลได้ประชุมปรึกษาคดีนี้เป็นระยะ ๆ และสั่งให้พยานผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาล โดยกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อไปในวันที่ 22 ก.ค.

ที่มาของภาพ : THAI NEWS PIX
สำหรับข้อถกเถียงว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง เป็นผลจากคำวินิจฉัยที่ 4/2564 เมื่อ 11 มี.ค. 2564 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญระบุตอนหนึ่งว่า “หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้วต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”
ประชาชนจะได้เข้าคูหาประชามติเมื่อไร
แรกเริ่มเดิมที่แกนนำรัฐบาลเพื่อไทยคาดการณ์ว่าประชาชนจะได้เข้าคูหาประชามติครั้งแรกในเดือน ก.พ. 2568 พร้อมกับการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) แต่เมื่อเกิดกรณีวุฒิสภากลับหลักการร่างของสภาผู้แทนฯ ผู้เชี่ยวชาญจึงประมาณการณ์ใหม่ โดยคาดว่าจะทำประชามติครั้งแรกได้อย่างเร็วในเดือน ม.ค. 2569
ขั้นตอนหลังกฎหมายประชามติฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ กำหนดว่า เมื่อมีเรื่องที่ต้องทำประชามติ และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้นายกฯ ทราบ และให้นายกฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียง และกำหนดวัน-เวลาร่วมกับ กกต. ซึ่งต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วันนับตั้งแต่ได้รับแจ้งจากประธานรัฐสภา
หากพิจารณาเห็นว่า วันเลือกตั้ง สส. หรือวันเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อาจกำหนดให้วันออกเสียงประชามติเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้งได้ แต่ต้องไม่เร็วกว่า 60 วัน และไม่ช้ากว่า 150 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากประธานรัฐสภา
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองขณะนี้ถือว่าอยู่ในภาวะผันผวน หลังจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ชั่วคราวในระหว่างรอคำวินิจฉัยกรณีถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง จากกรณีมีการเผยแพร่คลิปสนทนากับประธานวุฒิสภากัมพูชา หรือที่รู้จักในชื่อ “คดีคลิปเสียง” จึงมีอีกข้อเสนอจากพรรค ปชน. กรณีนายกฯ คนที่ 31 ต้องพ้นจากตำแหน่งตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้มีการจัดตั้ง “รัฐบาลเฉพาะกิจ” มี “นายกฯ ชั่วคราว” ขึ้นมาแก้ไขปัญหาสำคัญเฉพาะหน้า จากนั้นให้ยุบสภาภายในปีนี้ และจัดให้มีการออกเสียงประชามติถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันเดียวกับที่มีการเลือกตั้งทั่วไป พูดง่าย ๆ ว่าทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญพ่วงไปในวันเลือกตั้ง สส.
ในการประชุมสภาวันนี้ นายพริษฐ์ โฆษกพรรค ปชน. ก็ได้ย้ำข้อเสนอเรื่องการทำประชามติในวันเดียวกับวันเลือกตั้ง
ที่มา BBC.co.uk