
กสม. ขอบคุณรัฐบาลรับข้อเสนอแก้ปัญหาการศึกษาลูกหลานแรงงานข้ามชาติหลังเกิดกรณีปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว
สำนักข่าวอิศรา . รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2568 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ กรณี กสม. มีมติเห็นควรแจ้งข้อเสนอแนะไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกรณีหน่วยงานของรัฐปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็ก โดยเฉพาะสิทธิด้านการศึกษา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของ กสม.นั้น
ล่าสุด ครม. ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2568 รับทราบผลการพิจารณาของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อข้อเสนอแนะของ กสม. เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา ดังนี้
ในระยะเร่งด่วน (1) กำหนดแนวทางการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าว เพื่อให้ทำหน้าที่ประสานงานหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดรับเด็กต่างด้าวที่มีความประสงค์เข้าเรียนครบทุกคน (2) การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวควรดำเนินการเฉพาะในเขตพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศเมียนมา (3) การจดแจ้งจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวจะต้องขึ้นทะเบียนครูและนักเรียน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบข้อมูลเชิงสถิติอย่างเป็นทางการ และ (4) การปิดศูนย์การเรียนรู้มิตตาเย๊ะบางกุ้ง จังหวัดสุราษฎร์ธานีและศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระทรวงศึกษาธิการได้แจ้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารับเด็กต่างด้าวเข้าเรียนให้ครบทุกคนตามความสมัครใจแล้ว
และในระยะถัดไป จะต้องผลักดันให้ศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวมีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย โดยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
กสม. ขอขอบคุณรัฐบาลที่ขานรับข้อเสนอของ กสม. ที่มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิทางการศึกษา และสิทธิเด็ก ซึ่งรวมถึงเด็กต่างด้าว กสม. เห็นว่าเพื่อให้มาตรการดังกล่าวเกิดผล และลดกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการจะต้องสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องถึงเจตนารมณ์ดังกล่าว และต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ โดยไม่ให้เกิดการไล่ปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กอีก การปิดศูนย์การเรียนรู้ที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้เด็กจำนวนมากขาดโอกาสทางการศึกษา ยังจะทำให้เด็กอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด แสวงประโยชน์ กระทั่งเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ รวมถึงอาจมีประเด็นการใช้แรงงานเด็กที่จะกระทบต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของไทย
กระทรวงศึกษาธิการควรเร่งสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานทางการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าว เพื่อให้เด็กต่างด้าวทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ในประเด็นการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ซึ่งจะต้องมีการจดแจ้ง ขึ้นทะเบียนครูและนักเรียน อย่างไรก็ตาม เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กที่มีข้อจำกัดในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องอายุเกินเกณฑ์สำหรับนักเรียน และภาษา ได้เข้าถึงสิทธิทางการศึกษา เห็นควรให้มีจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวในพื้นที่ที่มีเด็กต่างด้าวจำนวนมากได้ด้วย ไม่เฉพาะในเขตพื้นที่ชายแดน เช่น จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี พังงา และจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะช่วยอุดช่องว่างปัญหาความไม่พร้อมในเรื่องสถานศึกษา บุคลากร และงบประมาณที่จะรองรับ และตอบโจทย์ประโยชน์สูงสุดของเด็ก อันเป็นการสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่ประเทศไทยให้การรับรองสิทธิของเด็กทุกคนที่จะได้รับโอกาสทางการศึกษา เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ กสม. ยินดีและพร้อมที่จะร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนให้เด็กทุกคนบนแผ่นดินไทยเข้าถึงสิทธิด้านการศึกษา และยกระดับสิทธิเด็กให้ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )