
เปิดชื่อ 5 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งไต่สวน ‘สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ-ทักษิณ' ชี้อาจมีการบังคับคำพิพากษาไม่เป็นไปตามหมายจำคุก 1 ปี
จากกรณีเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำสั่งกรณีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลฯดำเนินการไต่สวนฯและออกหมายจับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาขังไว้ตามหมายศาลฯ เนื่องจากนายทักษิณไม่ได้ถูกจำคุกตามคำพิพากษาเป็นเวลา 1 ปี และถูกส่งตัวไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจโดยมิชอบ ศาลวินิจฉัยว่า นายชาญชัยไม่ใช่คู่ความในคดีหมายเลขแดง อม.4/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2552 และคดีหมายเลขแดงที่ อม.5/2551 ของศาลนี้ อีกทั้งไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อน ไม่มีส่วนได้เสียในคดี จึงไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาล
แต่ศาลเห็นว่าอาจมีการบังคับคำพิพากษาไม่เป็นไปตามหมายจำคุก ศาลย่อมมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร จึงเห็นควรให้โจทก์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. ) และจำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) แจ้งต่อศาลว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร กับสำเนาคำร้องให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์และนายแพทย์ใหญ่รพ.ตำรวจ ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาล โดยนัดไต่สวนในวันที่ 13 มิ.ย. 2568 เวลา 9.30 น.
แหล่งข่าวจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา . ว่า เกี่ยวกับคดีนี้ภายหลังจากที่ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลฯ ดำเนินการไต่สวนฯและออกหมายจับนายทักษิณ มาขังไว้ตามหมายศาล นายอรพงษ์ ศิริกานต์นนท์ ประธานเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งองค์คณะผู้พิพากษาขึ้นมาพิจารณาคำร้องจำนวน 5 ราย ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ประกอบไปด้วย 1. นายฉัตรชัย ไทรโชต 2. นายอดุลย์ อุดมผล 3. นายไตรรัตน์ แก้วศรีนวล 4. นางสุพิชญ์ กรอบคำ และ 5. นายพัฒนไชย ยอดพยุง
@ นายฉัตรชัย ไทรโชต
@นายอดุลย์ อุดมผล
@ นายไตรรัตน์ แก้วศรีนวล
@ นางสุพิชญ์ กรอบคำ
@ นายพัฒนไชย ยอดพยุง
แหล่งข่าวยังระุบด้วยว่า ขณะที่การออกคำสั่งเรียก โจทก์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช. ) และจำเลย (นายทักษิณ ชินวัตร) และแจ้งให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์และนายแพทย์ใหญ่รพ.ตำรวจ ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาล ดังกล่าวเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธี พิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ระบุว่า ศาลมีอํานาจออกหมายอาญาและหมายใด ๆ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติ
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )