
สำรวจมาตรฐานเหล็กจากบริษัทจีนในไทย หลังพบเหล็กไม่ได้มาตรฐาน มาจาก บริษัท “ซิน เคอ หยวน”

ที่มาของภาพ : Thai Recordsdata Pix
ผลการตรวจสอบตัวอย่างเหล็กเส้นที่เก็บมาจากซากอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ที่ได้พังถล่มหลังเหตุแผ่นดินไหว ที่มีจุดศูนย์กลางในประเทศเมียนมาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยออกแล้วเมื่อวานนี้ (31 มี.ค.) และพบว่ามีตัวอย่างเหล็กข้ออ้อย 2 ขนาด ที่ไม่ได้มาตรฐาน
จากการเปิดเผยของ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม ชิ้นส่วนเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน ได้แก่ เหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มม. ที่มีมวลน้ำหนักเหล็กเบากว่ามาตรฐาน และเหล็กข้ออ้อยขนาด 32 มม. ไม่ได้มาตรฐานค่าความสามารถในการต้านแรงดึง
ขณะที่นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ยืนยันในวันนี้ (1 เม.ย.) ว่า จะตรวจสอบเหล็กไม่ได้มาตรฐานที่ใช้ก่อสร้างตึก สตง. ว่า กระจายไปยังโครงการอื่น ๆ ด้วยหรือไม่
ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ ไทยแลนด์” ว่าเหล็กเส้น 2 ขนาดที่พบว่าไม่ได้มาตรฐานดังกล่าวนั้น มีสัญลักษณ์ “SKY” ที่บ่งบอกชื่อบริษัทผู้ผลิต คือ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเคยสั่งปิดชั่วคราวไปตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา และอายัดเหล็กจำนวนหนึ่งที่ไม่ผ่านมาตรฐานไปแล้ว
“ซิน เคอ หยวน” คือใคร และไทยยังคงไว้ใจเหล็กจากบริษัทจีนได้หรือไม่ บีบีซีไทยรวบรวมไว้ในรายงานชิ้นนี้
เรื่องแนะนำ
End of เรื่องแนะนำ
“ซิน เคอ หยวน” คือใคร ?

ที่มาของภาพ : Xin Ke Yuan Co., Ltd.
บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (Xin Ke Yuan Co., Ltd.) ระบุในเว็บไซต์ของบริษัทว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตเหล็กข้ออ้อยที่จดทะเบียนด้วยทุนจดทะเบียน 1.fifty three ล้านล้านบาท ตั้งอยู่ที่ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง บนเนื้อที่ทั้งหมด 134.5 ไร่
โดยพวกเขามี “เครื่องอบเหล็ก” ที่มีกำลังการผลิต 4,100 ตันต่อวัน แบ่งการผลิตเหล็กข้ออ้อยออกเป็น 2 สายการผลิต นอกจากนี้ ยังมี “เครื่องรีดเหล็ก” ที่สามารถเปลี่ยนลูกรีดตามขนาดที่ลูกค้าต้องการ ทำให้สามารถผลิตเหล็กได้อย่างรวดเร็วในหลายขนาด
เว็บไซต์ดังกล่าวยังระบุว่าบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ทั้งเหล็กเส้นกลมและเหล็กข้ออ้อย หลายขนาดและหลายชั้นคุณภาพ ซึ่งผ่านมาตรฐาน มอก. และบริษัทฯ ยังได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001:2015 ด้วย โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัท อยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าตัวย่อ “SKY”
โดยบริษัทฯ ยังเคยโพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจของตัวเองเมื่อ 9 มี.ค. 2560 เผยแพร่ภาพตัวเลขค่าต่าง ๆ ของเหล็กหลายรูปแบบและชั้นคุณภาพ ทั้ง คุณสมบัติเชิงกล (mechanical properties) ขนาดและหน่วยน้ำหนักของเหล็กข้ออ้อย (Deformed Bar Specification Dimension and Unit Weight) และองค์ประกอบทางเคมี (Chemical Composition)
โพสต์ดังกล่าวระบุข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า ทางกลุ่มสามารถผลิตเหล็กเส้นแรงดึงสูงได้ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ASTMA 722 ISO 6934-5 สำหรับการใช้ในการก่อสร้างขนาดใหญ่และการก่อสร้างทางธรณีวิทยา (geological constructions) ที่ต้องการความต้านทางแรงดึงสูง เช่น ระบบรถไฟฟ้า สะพาน อุโมงค์ ท่าเรือน้ำลึก เขื่อน และอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างอาคารที่ต้านทานแผ่นดินไหว
บีบีซีไทย ติดต่อไปยัง บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด เพื่อขอคำชี้แจงกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าเหล็กเส้นของบริษัทที่พบจากซากอาคาร สตง. ไม่ตรงตามมาตรฐาน
เจ้าหน้าที่โอเปอเรเตอร์รับสาย ก่อนจะตอบเพียงว่า เธอไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของผู้บริหาร และผู้บริหารยังไม่ได้มีคำสั่งใด ๆ ลงมา โดยเธอไม่สามารถฝากเรื่องไว้ให้ผู้บริหารได้ เนื่องจากเป็นผู้บริหารเป็นชาวจีนที่สื่อสารได้เพียงภาษาจีนเท่านั้น
ทั้งนี้ เธอยืนยันว่า บริษัทฯ ไม่ได้ผลิตหรือขายเหล็กมาตั้งแต่ตอนที่ถูกสั่งปิดในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ส่วนพนักงานยังเข้ามาในบริษัทอยู่ เป็นเพียงส่วนน้อย โดยเป็นพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการขาย “ฝุ่นเหล็ก” (ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตเหล็ก) เท่านั้น
บีบีซีไทย ตรวจสอบฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 23 ก.พ. 2554 โดยระบุประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียนเป็น “การขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น” โดยมีรายชื่อกรรมการ 3 คน เป็นชื่อจีน 2 คน และชื่อไทย 1 คน
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงประเภทธุรกิจเป็น “การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานขั้นต้นและขั้นกลาง” ในภายหลัง โดยงบการเงินของบริษัทฯ ที่นำส่งล่าสุดในปี 2566 พบว่า มีกำไรสุทธิกว่า 772 ล้านบาท

ที่มาของภาพ : Xin Ke Yuan Co., Ltd.
เคยเครนถล่ม-ไฟไหม้ คนงานเจ็บ/เสียชีวิต/ก่อหวอดประท้วง
29 มี.ค. 2567 เกิดเหตุเครนถล่มในโรงงานเหล็ก จ.ระยอง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน เป็นชาวเมียนมา 6 คน และชาวจีน 1 คน
สำนักข่าว “ไทยพีบีเอส” รายงานในเวลาต่อมาว่า สถานที่เกิดเหตุคือ “โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตแผ่นเหล็ก เหล็กรูปพรรณ และลวดเหล็ก ของบริษัท ซิน เคอ หยวน จำกัด” ตั้งอยู่ใน ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นขณะที่ช่างกำลังรื้อถอนขาปั้นจั่นหอสูง เพื่อลดระดับความสูง ทำให้ปั้นจั่นถล่มลงมาทับลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่ด้านล่าง
ขณะนั้นมีรายงานการรวมตัวกันของกลุ่มแรงงานในโรงงานเพื่อเรียกร้องเงินชดเชยให้ผู้เสียชีวิต และในเวลาต่อมาก็มีรายงานการรวมตัวของกลุ่มแรงงานอีกครั้งเพื่อเรียกร้องสิทธิค่ารักษาพยาบาลเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย ซึ่งพวกเขาระบุว่าที่ผ่านมาต้องจ่ายเงินเองในการรักษาพยาบาล

ที่มาของภาพ : Royal Thai Government
และวันที่ 18 ธ.ค. 2567 เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานของบริษัทฯ ใน ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บ 3 คน จากข้อมูลของหัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม
ขณะนั้น สำนักข่าว “ข่าวสด” รายงานในเบื้องต้น คาดการณ์ว่าเกิดเหตุที่บริเวณ “เตาหลอมเหล็ก” โดยมีพนักงานได้ยินsะเบิดดังสนั่นประมาณ 3 ครั้ง ก่อนเกิดไฟลุกท่วม
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวการตรวจสอบอย่างเป็นทางการจากกระทรวงอุตสาหกรรมในภายหลัง พบว่า เกิดการsะเบิดของถังแก๊ส LPG ซึ่งติดตั้งอยู่ใกล้อาคารโรงงานทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้อาคารบางส่วน โดยหลังเกิดเหตุ กระทรวงฯ ได้สั่งให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดในทันที โดยต้องปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้มีมาตรการความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล จึงจะอนุญาตให้ประกอบกิจการต่อ
ขณะที่สำนักข่าว “เดลินิวส์” รายงานการให้สัมภาษณ์ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ลงพื้นที่ในวันต่อมา เปิดเผยผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า บริษัทฯ มีการเคลื่อนย้ายถังก๊าซ LPG โดยไม่แจ้งขออนุญาตจากสำนักงานพลังงานจังหวัดระยอง ซึ่งอุตสาหกรรมจังหวัดระยองได้สั่งให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการ 30 วัน เพื่อแก้ไขตามข้อสั่งการให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย
ด้าน น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม ก็เปิดเผยกับ “เดลินิวส์” ด้วยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยังพบว่าบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ สมอ. ในสายการผลิตและผลิตภัณฑ์เหล็ก โดยมีการซื้อวัตถุดิบจากผู้ขายที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบทะเบียนของบริษัทฯ ไม่กำหนดเกณฑ์ตัดสินความสามารถของผู้ขายวัตถุดิบ และกำหนดเกณฑ์การตัดสินทางเคมีไม่สอดคล้องกับมาตรฐานที่ มอก. กำหนด
โดย สมอ. ได้เก็บตัวอย่างเหล็กของบริษัทฯ ไปตรวจสอบในครั้งนั้น ก่อนที่ 10 ม.ค. 2568 จะมีรายงานผลการตรวจสอบเหล็กข้ออ้อยที่บริษัทฯ ผลิต “ตกเกณฑ์ที่สำคัญที่ส่งผลโดยตรงกับความแข็งแรงของเหล็ก”
โดยส่วนที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ได้แก่ “รายการส่วนสูงของบั้ง” ที่มีผลทำให้ความสามารถในการยึดเกาะระหว่างเนื้อเหล็กและเนื้อคอนกรีตลดลงเมื่อนำไปใช้งาน และ “รายการธาตุโบรอน” มีผลทำให้เนื้อเหล็กเปราะ ความเหนียวของเนื้อเหล็กลดลง ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถรับแรงดึงได้ตามที่มาตรฐานกำหนด
ชุดทำงานที่เรียกว่า “ชุดตรวจการสุดซอย” จึงเข้าไปยึดอายัดเหล็กที่ไม่ผ่านมาตรฐาน จำนวน 2,441 ตัน มูลค่าราว 49.2 ล้านบาท จากบริษัทฯ พร้อมเตือนให้บริษัทแก้ไขกระบวนการผลิตภายในระยะเวลา 30 วัน โดยระบุว่าจะดำเนินคดีกับกรรมการของบริษัทฯ ฐานทำผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานด้วย

ที่มาของภาพ : Ministry of Commerce
น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยกับ บีบีซีไทยวันนี้ (1 เม.ย.) ว่า สถานะของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด นั้น ยังไม่สามารถกลับมาประกอบกิจการผลิตเหล็กได้ เนื่องจากเมื่อครบกำหนด 30 วัน กระทรวงอุตสาหกรรมไปตรวจสอบพบว่า ยังปรับปรุงไม่ตรงตามมาตรฐานการจะกลับมาประกอบกิจการใหม่ จึงขยายเวลาการหยุดประกอบกิจการของบริษัทมาเรื่อย ๆ
ส่วนการที่ยังมีพนักงานเข้าไปขาย “ฝุ่นเหล็ก” นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะลงพื้นที่ตรวจสอบในวันพรุ่งนี้ (2 เม.ย.) ว่าการขนฝุ่นเหล็กดังกล่าวกระทำอย่างถูกต้องหรือไม่
“โดยหลักการแล้ว การขออนุญาตเอากากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานได้ ต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งเข้าใจว่า กำลังไล่ดูไทม์ไลน์ว่าเขาขออนุญาตในช่วงเวลาไหน เพราะถ้าเกิดสมมุติว่าเป็นช่วงที่เรามีคำสั่งปิดไปแล้ว แล้วคุณมั่นใจได้ยังไงว่าคุณจะได้กลับมาเปิดในช่วงเวลาไหน ทำไมถึงมีการขออนุญาตนำกากออกในช่วงเวลานั้น” น.ส.ฐิติภัสร์ ระบุ
“ถ้าเกิดเขาขอก่อนที่เขาถูกคำสั่งปิด ถ้าเอาไปแล้วมันไม่ได้เกิดจากกระบวนการผลิต มันเป็นของที่มันเป็นกากอุตสาหกรรมที่มันถูกทิ้งไว้อยู่ในโรงงานอยู่แล้วก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามันเกิดจากกระบวนการผลิตเมื่อไหร่เนี่ย ผิดแน่นอน เพราะว่าถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน” เธออธิบาย
ส่วนเหล็กเส้นส่วนที่ก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่อายัดไว้นั้น เธอระบุว่า มีการพันเทปและปิดป้ายประกาศไว้แล้ว ซึ่งหากกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่าส่วนนี้เสียหาย รวมถึงของกลางถูกเคลื่อนย้ายหรือทำลาย ผู้เกี่ยวข้องจะต้องถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งจะมีโทษทั้งจำคุกและปรับ
โดยปัจจุบันฝ่ายกฎหมายจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (สมอ.) ได้เสนอคณะกรรมการพิจารณา ประกอบด้วย เลขาธิการ สมอ. อัยการ และตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดำเนินคดีกับบริษัทฯ ฐานผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หลังเพิ่งได้รับผลตรวจเหล็กรอบสองมาเมื่อ 24 ก.พ.
พบ 7 บริษัทฯ โรงงานเหล็กไม่ได้มาตรฐาน เกี่ยวข้องกับทุนจีน
หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรมที่ควบคุม “ชุดตรวจการสุดซอย” ของกระทรวง ยังระบุอีกว่า จากที่คณะทำงานชุดนี้ได้เริ่มปฏิบัติงานมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2567 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินคดีกับโรงงานเหล็กไปแล้ว 7 โรงงาน
“เหล็กนี่บางเจ้าที่เป็นทุนต่างชาติเข้ามา มักจะผลิตเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน” เธอเปิดเผยกับบีบีซีไทย “เราดำเนินการไปแล้ว 7 โรงงาน ดำเนินคดีทั้ง 7 โรงงาน แล้วก็ยึดอายัดเหล็กไปประมาณ 361 ล้านบาท”
เมื่อถามว่าทุนต่างชาติที่หมายถึงคือประเทศอะไรบ้าง เธอตอบว่า “จีน” ก่อนที่จะไล่เรียงชื่อและลักษณะการประกอบกิจการของแต่ละบริษัทที่ชุดตรวจการของเธอไปดำเนินคดี ประกอบด้วย
- บริษัททุนจีน 100% จำนวน 2 ราย
- บริษัทร่วมทุนไทย-จีน จำนวน 3 ราย
- บริษัทไทย ที่ผู้ประกอบการเป็นชาวเชื้อชาติจีนที่ได้สัญชาติไทย จำนวน 2 ราย
“ที่ตอนนี้มี บริษัท ข้ามชาติมาร่วมทุนกับไทยเนี่ย เพราะว่าเนื่องจากว่าท่านรัฐมนตรีมีนโยบายนะคะ รัฐบาลตั้งแต่ปี 2562 มีการประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องของการห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานเหล็ก เพราะว่าต้องการที่จะช่วยเซฟอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย เพราะตอนนี้เหล็กในประเทศไทยมีจำนวนค่อนข้างมากนะคะ ป้องกันการมาลงทุนแล้วก็มาทุ่มตลาดขายสินค้าแข่งตัดราคากับคนไทย” น.ส.ฐิติภัสร์ อธิบายเพิ่มเติม
“เดี๋ยวนี้เวลาคนจีนหรือทุนข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทย ก็จะมักวิธีใช้วิธีในการร่วมทุนกับคนไทยบ้าง หรือเทคโอเวอร์บริษัทคนไทยบ้าง แล้วก็มาลงทุนประกอบกิจการ” เธอระบุ พร้อมบอกด้วยว่า ในกลุ่มของบริษัทไทยที่เจ้าของเป็นคนเชื้อชาติจีนนั้น เธอพบว่าผู้ประกอบการบางคนก็แทบพูดภาษาไทยไม่ได้ แม้จะมีสัญชาติไทยแล้ว
โดยคุณภาพของเหล็กที่ตรวจพบว่าไม่ตรงตามมาตรฐานนั้น พบว่าส่วนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เช่น น้ำหนักมวลต่อเมตร ความสูงของบั้ง หรือค่าสาร “โบรอน” ซึ่งอาจกระทบกับความแข็งแรงหรือการยึดเกาะกับคอนกรีต
“ในทางเทคนิคพี่อาจจะไม่ค่อยชำนาญมากนักนะคะ บางทีความสูงของบั้ง เวลาเหล็กข้ออ้อยจะเห็นความสูงของบั้งใช่ไหมคะ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด พราะถ้าเกิดสมมุติว่าเหล็กมีความสูงของบั้งไม่เป็นไปในที่ ตามมาตรฐานกำหนด ก็จะเป็นเหตุให้เวลาที่เราเอาไปหล่อเสา หล่อเทพื้น ปูนมันจะไม่เกาะกับตัวของเหล็กนะคะ ก็อาจจะทำให้เกิดเหตุในเรื่องของการทรุดตัวหรือว่าไม่แข็งแรง” หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม ระบุ
“อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งท่านรัฐมนตรีเอกนัฏให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะว่าอย่างที่เรียนว่า เราอาจจะเอาเหล็กเส้นเหล่านี้ไปสร้างถนน สร้างสะพาน สร้างอาคาร สร้างบ้านเรือนให้กับพี่น้องประชาชน ถ้ามันไม่แข็งแรง มันก็อาจจะสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน แล้วประกอบกับมันก็จะเป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบการที่เขาตั้งใจที่จะทำดี ทำของมีคุณภาพนะคะ” เธอกล่าวสรุป
ที่มา BBC.co.uk