
‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ มีมติเอกฉันท์ ‘อนุญาต' ให้แก้ไขเพิ่มเติมคำร้อง ‘92 สว.’ ยื่นถอดถอน ‘ภูมิธรรม-ทวี’พ้นรัฐมนตรี ปมคดีฮั้วเลือกตั้ง สว.
…………………………………..
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(4) และ (5) หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ ดังนี้
1.อนุญาตให้ผู้ร้องแก้ไขเพิ่มเติมคำร้อง ฉบับลงวันที่ 19 มี.ค.2568 รวมถึงเอกสารแนบท้ายคำร้อง พร้อมส่งสำเนาคำร้องเพิ่มเติมคำร้องให้ผู้ถูกร้องทั้งสองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 55
2.ยกคำขอให้กำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 71 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 ข้อ 37 ข้อ 38 และข้อ 40
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญรับทราบว่า พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้มีอำนาจขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องหรือคำร้องเพิ่มเติม ยื่นบัญชีระบุพยานต่างๆ ยื่นคำร้อง คำแถลงการณ์เปิดและปิดคดี คำแถลง คำชี้แจง ให้การ ให้ถ้อยคำ หรือให้ถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็น และเบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดำเนินกระบวนพิจารณา หรือดำเนินการใดๆ ทั้งปวง ในคดีนี้ต่อผู้ร้องแทนคณะสมาชิกวุฒิสภาทุกคนจนเสร็จการ
ก่อนหน้านี้ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา รวม 92 คน เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) โดยกล่าวอ้างว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม (ผู้ถูกร้องที่ 1) ในฐานะประธานกรรมการคดีพิเศษ และ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม (ผู้ถูกร้องที่ 2) ในฐานะรองประธานกรรมการคดีพิเศษซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ
เสนอเรื่องขอให้ตรวจสอบกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ต่อคณะกรรมการคดีพิเศษ เพื่อมีมติให้การกระทำความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) เป็นการแทรกแซงหรือครอบงำหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยใช้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นเครื่องมือแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา อันเป็นการกลั่นแกล้ง กดดัน ข่มขู่ และครอบงำสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและฝ่าฝืนหลักนิติธรรม
จึงถือได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสองไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
ต่อมา พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา รวม 92 คน เข้าชื่อเสนอหนังสือขอส่งคำร้องเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 2 เม.ย.2568 ต่อผู้ร้อง เพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องฉบับลงวันที่ 19 มี.ค.2568 รวมถึงเอกสารแนบท้ายคำร้อง ขอมอบอำนาจให้ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการใดๆ ทั้งปวง ในคดีนี้แทนคณะสมาชิกวุฒิสภาทุกคนจนเสร็จการ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยไปยังผู้ถูกร้องทั้งสอง
ที่มา สำนักข่าวอิศรา ( isranews.org )